ความเป็นมาของการพัฒนาทุนมนุษย์


ครูสอนไม่ให้เด็กทำอะไร ครูก็ต้องไม่ทำเช่นนั้น

วันนี้ขออนุญาตนำบทความของท่าน พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ที่เขียนเรื่อง"ทุนมนุษย์" ใน  “โพสต์ทูเดย์” เมื่อ ๑๔ ก.ย.๕๒ มาฝากนะคะ ดิฉันเห็นว่าช่วยให้มองเห็นวิวัฒนาการการพัฒนาทุนมนุษย์ดีค่ะ ในที่นี้ดิฉันตัดมาเพียงส่วนหนึ่งนะคะ

... วิวัฒนาการ การพัฒนา “คน” ตามทฤษฎีพัฒนาองค์กร ในอดีตจะเน้นที่การพัฒนากระบวนการทำงานเป็นหลัก และใช้การบริหารจัดการคนตามหลักบรรจุคนให้ตรงกับงาน (Put the Right Man on the Right Job) เป็นแนวทางในการบริหารคน

แต่หลังจากทศวรรษที่ ๙๐ ได้เกิดแนวคิดที่มองว่า “คน” เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร จำเป็นต้องมีการออกแบบและสร้าง “คน” ให้เหมาะสมกับ “งาน” ที่องค์กรจะต้องทำในอนาคต จึงมีการยกระดับการบริหารจัดการคนขององค์กรเป็น “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” (Human Resources Management) เพื่อ “เตรียมคน” โดยเฉพาะ “ผู้นำ” ระดับต่างๆ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานขององค์กรที่มีสภาพการแข่งขันสูงในอนาคต

ต่อมาในศตวรรษที่ ๒๑ ได้มีการพัฒนาแนวคิดตามหลักทุนนิยม ทำให้เห็นว่า “คน” เป็น “ทุน” ประเภทหนึ่งที่องค์กรต้องเตรียมไว้ใช้ควบคู่กับ “เงิน” และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการทำให้ภารกิจขององค์กรสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ แนวคิดในการสร้าง “ทุนมนุษย์” จึงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี “คน” ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณลักษณะอันเดียวที่ชัดเจนเช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ แต่คนมีคุณสมบัติ (Attribute) ทั้งความรู้ ความสามารถ ค่านิยม ทัศนคติ และบุคลิกภาพ ซึ่งอาจมีความจำเพาะเจาะจงมาก โดยเฉพาะผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูง ซึ่งต้องมีการตัดสินใจเชิงจริยธรรม และความมั่นคงทางจริยธรรมเป็น “ตัวแปร” สำคัญอันจะบ่งบอกถึงสภาพ “คุณธรรมความดี” ที่คงเส้นคงวาของบุคคลนั้นได้

ดังนั้น องค์กรจึงต้องสร้าง “คน” เพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุน” ที่องค์กรต้องเตรียมไว้ใช้ควบคู่กับทุนด้านอื่นๆ แต่ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า “คน” มีจิตใจ ไม่สามารถนำไปใช้ได้ตาม “อำเภอใจ” ของผู้บริหาร ทำให้ต้องมีการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของผู้บริหารให้เป็น “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง”  เพื่อให้สามารถใช้ “คน” ในฐานะทรัพยากรหรือทุนขององค์กรได้ ควบคู่ไปด้วย

แนวคิดเรื่อง “ทุนมนุษย์” นี้ สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของครูและนักเรียนของ สพฐ.ได้ ด้วยการจัดวางระบบการสร้างผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็น “ทุน” ในด้านคุณธรรม จริยธรรมขององค์กร โดยกำหนดเป้าหมายในการฝึกอบรมให้สามารถเป็นวิทยากรและ “ต้นแบบ” หรือ “แม่พิมพ์” ในสิ่งที่ดีงามให้กับครูในโรงเรียนและนักเรียนได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า “ทำดีให้เด็กดู เป็นครูให้เด็กเห็น” อันจะส่งผลให้ครูและนักเรียนมีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมตามไปด้วย ...

 ... บทสรุปในเรื่องนี้อยู่ที่ “รัฐบาล” ซึ่งกำลังมีงบประมาณ “ไทยเข้มแข็ง” จำนวนมาก จะเจียดจ่ายมาสร้างความเข้มแข็งในเรื่อง “ทุนมนุษย์” ให้กับสังคมไทยได้หรือไม่ โดยอาจเริ่มจากการอบรมข้าราชการของรัฐ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ ที่อยู่ในนิยามของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้มีความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งเรื่องประโยชน์ทับซ้อนและการทุจริตเชิงนโยบายที่ “ตรงกัน” แล้วให้แต่ละส่วนราชการต่างๆ ไปจัดอบรมผู้บริหารของหน่วยในลำดับต่อไป

โดยตั้งเป้าหมายว่า ให้บุคคลเหล่านี้เป็น “ทุนมนุษย์” ทางคุณธรรม จริยธรรมของประเทศ ซึ่งสามารถเป็นวิทยากรที่เป็น “แบบอย่าง” ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและคนในสังคมได้ ประเทศไทยก็จะ “ใสสะอาด” สามารถพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองได้โดยง่าย

.............

ติดตามสาระดี ๆ ของท่านได้ใน โพสต์ทูเดย์ ค่ะ

คนึงนิจ อนุโรจน์

คำสำคัญ (Tags): #hrd
หมายเลขบันทึก: 305138เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท