โลกร้อนเสี่ยงน้ำท่วมสลับฝนแล้ง


มติชนรายวัน หนังสือพิมพ์คุณภาพ 9 ตุลาคม ตีพิมพ์เรื่อง "บทเรียนจากไต้หวัน ฟิลิปปินส์" โดยท่านอาจารย์ เสรี ศุภราทิตย์ ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานนานาชาติสิ่งแวดล้อมสิริธร

ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ ขอความกรุณาแวะไปเยี่ยมเยียนเว็บไซต์ "มติชนรายวัน" กันครับ

[ บทความคัดลอกจาก "มติชนรายวัน" ]

...

"วัวหาย ล้อมคอก" หรือ "ไม่เห็น โรงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" เป็นสุภาษิตที่คนไทยคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ผู้เขียนเจ็บปวดที่สุดเมื่อได้เห็นภาพเหตุการณ์ทางอินเตอร์เน็ตที่เกิดขึ้นที่ประเทศไต้หวันจากพายุไต้ฝุ่นมรกต (9-10 สิงหาคม) และประเทศฟิลิปปินส์จากพายุกิสนา (เมื่อวันที่ 25-26 กันยายน)

... 

ภาพผู้หญิง เด็ก และคนชราที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ต้องบาดเจ็บ และสังเวยชีวิตหลายร้อยคน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย

ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นอาจรู้ตัวล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ก่อนที่พายุจะพัดเข้ามายังพื้นที่เป้าหมาย และเขาคงจะทราบดีว่า ในปีหนึ่งๆ จะมีพายุพัดเข้ามากี่ลูกในช่วงเวลาใด

...

ดังนั้น อย่าไปโทษธรรมชาติ จงพิจารณาให้รอบคอบว่าบทเรียนที่เกิดขึ้น จะนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการในบ้านเราได้อย่างไร

เหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นมรกตที่พัดเข้าถล่มพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไต้หวัน และพายุโซนร้อนกิสนาที่พัดเข้าถล่มประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดฝนตกหนักที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตหลายร้อยปี

... 

กล่าวคือ ปริมาณฝนที่วัดได้ที่ประเทศไต้หวัน ประมาณ 2,500 มม. ใน 24 ชั่วโมง (เทียบกับปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปีในบ้านเรา) 

และที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณ 400 มม. ใน 6 ชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่

...

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าจากหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแม่นยำถึงปริมาณฝนตกได้

บางครั้งการคาดการณ์ก็ต่ำกว่าความเป็นจริง (เช่นกรณีของพายุกิสนา) อาจทำให้มีการประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงเกิดความเสียหายตามมาดังที่ปรากฏเป็นข่าว

...

ในขณะเดียวกัน พายุกิสนาได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 กันยายน และมุ่งสู่ประเทศเวียดนามด้วยความเร็วประมาณ 10 กม/ชม. โดยมีความเร็วสูงสุดประมาณ 130 กม/ชม. และส่งผลกระทบกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา 

บทเรียนจากประเทศทั้งสอง ทำให้เราต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท และหลายหน่วยงานคงไม่ต้องออกมายืนยันว่า "คงจะไม่เกิดขึ้นในบ้านเรา"

...

ประเด็นที่สำคัญไม่ใช่เป็นเรื่องของการเกิด หรือไม่เกิด แต่ควรมาวิเคราะห์ และประเมินว่า "ขีดความสามารถของเรารับได้หรือไม่ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศไทย"

คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของภาวะโลกร้อน เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ

...

ผู้เขียนได้รับการคัดเลือกจากคณะทำงาน IPCC (WG2) ให้เป็นผู้วิเคราะห์ประเมิน และร่วมเขียนรายงานผลกระทบจากการแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านความเสี่ยง ความรุนแรง และการปรับตัวของชุมชน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2555 

การได้เข้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกทำให้เราสามารถรับรู้ข้อมูล การเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

...

สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ บ่งชี้แนวโน้มที่สำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยดังต่อไปนี้

1) ปริมาณฝน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน (สิงหาคม-กันยายน) แต่ในช่วงหน้าแล้ง (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) และช่วงต้นฤดูฝน เราอาจจะได้รับผลกระทบกับภัยแล้ง (มิถุนายน-กรกฎาคม) ในภาพรวมปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5%

2) ความเข้มฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ประมาณ 10-15%) ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยง และความรุนแรงของเหตุการณ์อุทกภัย

3) ระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 มม./ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนริมชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะชุมชนบริเวณสันดอนปากแม่น้ำ ที่มีการทรุดตัว

4) การบริหารจัดการน้ำต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้น้ำก็ต้องปรับตัวให้มีมีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้การวางแผนการปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชพลังงาน ต่างๆ เพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์การเป็นครัวของโลกตามวาระประเทศที่ได้ประกาศไว้อาจจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

5) ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ยุทธศาสตร์ของการบริหารจัดการจึงควรมุ่งเน้นไปยังแนวทาง Scenario-based approach ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ การปรับตัว (Adaptive strategy)


หน้า 6

หมายเลขบันทึก: 304633เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท