อัดคลังเอื้อรพ.เอกชน


นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผอ.ฝ่ายประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า รู้สึกแปลกใจกับนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่เสนอให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาสู่ระบบจ่ายตรงกรณีรักษาฉุกเฉินในระบบสวัสดิการข้าราชการได้
         
ทั้งนี้รวมถึงนโยบายการขยายสิทธิประกันสังคมของผู้ประกันตนไปยังคู่สมรสและบุตรที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังผลักดันเพราะทั้งสองนโยบายนี้จะทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้จะเกิดผลกระทบตามมาอีก 2 ด้านสำคัญ คือการดึงบุคลากรจากภาครัฐไม่ว่าแพทย์พยาบาลที่ขาดแคลนอยู่แล้วให้ลดน้อยลงไปอีก ส่วนการขยายสิทธิประกันสังคมไปสู่คู่สมรสและบุตรก็มีแนวโน้มสูง ที่ทำให้คนกลุ่มเหล่านี้จะไปใช้บริการสถานพยาบาลเอกชนมากกว่าของรัฐเนื่องจากคำนึงถึงความสะดวกสบายในการรับบริการ         
         "นโยบายของกระทรวงการคลัง ที่เสนอให้ปรับลดสวัสดิการข้าราชการในส่วนครอบครัวลง ถือว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและไม่ได้ทำให้งบประมาณลดลงเลย ยิ่งจ่ายตรงก็ยิ่งไม่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีแต่จะทำให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่าเดิม" นางวรวรรณ กล่าว
         
ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า การดำเนินการขยายสิทธิประกันสังคมไปสู่คู่สมรสและบุตรยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีมติคัดค้านเพราะหากกฎหมายออกมาบังคับใช้ทุกคนก็ต้องทำตามไม่สามารถปฏิเสธได้
         
"ถ้า สปสช.บอกว่า เงินค่าหัวไม่พอ ก็ให้ สปสช.ไปขอจากรัฐบาลเพิ่มได้ ผมขอยืนยันว่าในส่วนของประกันสังคมจะต้องได้รับงบค่าหัวไม่ต่ำกว่าที่ สปสช. ได้รับคือ 2,400 บาท" นายไพฑูรย์ กล่าว
         
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บอร์ด สปสช. มีมติไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2552 ที่ให้โอนย้ายคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมจำนวน 5.88 ล้านคนจาก สปสช.ไปอยู่กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เนื่องจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศ
         นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. ให้เหตุผลไว้ขณะนั้นว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับการโอนสิทธิดังกล่าวมีเหตุผล 3 ประเด็น คือ
1. กระทบการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ไม่แน่ใจว่าโอนสิทธิแล้วจะได้รับบริการที่ดีกว่าเดิม  
2.หลักการของสปส.เป็นการจ่ายสมทบ 3 ฝ่าย หากโอนคน 5.88 ล้านคน ไปอยู่ สปส. และได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินหรือไม่ ขณะที่สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนที่มีอยู่ก็ยังให้บริการได้ไม่เต็มที่หรือมีสิทธิแต่ไม่ได้รับบริการ
3.ระบบสปส.ออกแบบให้รองรับการใช้บริการเขตเมืองไม่ครอบคลุมในพื้นที่ชนบท จึงอาจกระทบต่อคุณภาพการให้บริการได้
โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 ตุลาคม 2552
หมายเลขบันทึก: 304227เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท