ค่าโง่ (สำหรับข้าราชการที่ชอบโอนไปโอนมา)


ถ้าจะโอนไปโอนมาละก็ให้ทำช่วงปลายปีต่อต้นปีงบประมาณนะครับ จะได้ไม่เสียค่าโง่เมื่อพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน

ผู้เขียนรับราชการอยู่ที่ส่วนราชการแห่งหนึ่งมาเป็นเวลานานพอสมควร จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องโอนไปหาประสบการณ์ที่ส่วนราชการอื่น แต่ด้วยความรีบร้อนและดีใจเหลือเกินที่จะได้โอนไปเป็นครั้งแรกในชีวิต ทำให้ไม่รอบครอบในการไปดูสถานที่ทำงาน คนที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาเราและเพื่อนร่วมงาน คิดแต่เพียงว่ามันเป็นหน่วยงานใหญ่ถึงระดับกระทรวง ทุกอย่างคงจะสวยหรู่ไปหมด แต่เมื่อเข้าไปปฏิบัติงานจริงๆ ปรากฏว่ามันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราวาดฝันไว้โดยสิ้นเชิง รวมฟ้ากับดิน

ผู้เขียน ตัดสินใจทำเรื่องขอโอนกลับมายังหน่วยงานเดิมในช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่กว่าจะทำเรื่องเสร็จก็ปาเข้าไปประมาณเดือนเมษายน และได้กลับมาปฏิบัติงานที่ส่วนราชการเดิม ก็ 1 พฤษภาคม 2552 พอดี (ก็น่าคิดว่านี้คือการกลับมาตั้งหลัก เพื่อจะก้าวเดินต่อไป)

แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น เมื่อถึงเวลาประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนรอบครึ่งปีหลัง (เมษายน-กันยายน 2552) ปรากฏว่าส่วนราชการมีงบประมาณที่จะใช้ในการเลื่อนขั้นเงินเดือนจำกัด ต้องมีคนได้รับการประเมินที่ 0.5 ขั้น ประมาณ 10 คน (คนกลุ่มแรกที่จะโดนก็คือข้าราชการที่บรรจุใหม่ และผมนี่แหละ เพราะเพิ่งกลับมาปฏิบัติงานได้เพียง 5 เดือน)

สรุปแล้ว ผู้เขียนเลยได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีงบประมาณ 2552 ดังนี้

    0.5 ขั้น (รอบตุลาคม 2551-มีนาคม 2552) จากหน่วยงานใหม่ที่โอนไป

    0.5 ขั้น (รอบเมษายน 2552-กันยายน 2552) จากหน่วยงานเดิมที่โอนกลับมา

ทำให้เงินเดือนหายไปประมาณ 2% จากที่ควรจะได้

จึงเขียนเล่ามาเป็นข้อเตือนใจของข้าราชการที่จะโอนไปรับราชการที่ส่วนราชการอื่นดังนี้

1. ก่อนจะโอนไปหน่วยงานไหนอย่าคิดเอาเองว่ามันจะดีกว่าที่เดิมเสมอไป เพราะบางทีคนเราเจอสภาพแย่ในหน่วยงานเดิมแล้วมักจะคิดว่าที่ใหม่จะดีกว่าทั้งที่ไม่ได้ไปเห็น เราจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ โดยดูทั้งสภาพแวดล้อม คนที่จะเป็นผู้บังคับบัญชา คนที่จะเป็นเพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมการทำงาน อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ สอบถามข้อมูลจากคนในองค์กร...บางหน่วยงานมักจะสร้างภาพ เช่นเวลาเชิญเราไปสัมภาษณ์ก็จะให้เห็นพาไปสัมภาษณ์ในห้องประชุมที่สวยหรู่ กว้างขวาง แต่ห้องทำงานจริงกลับคับแคบและแย่สุดๆๆ หรือผู้ที่สัมภาษณ์เราเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร แสดงวิสัยทัศน์ดีเยี่ยมจนเราหลงไปว่านี่แหละคือองค์กรที่ใช่ แต่พอเข้าไปทำงานจริงกลับเจอ ผอ. ที่ขาดวิสัยทัศน์ หรือทำงานแก้ปัญหาไปวันๆ ก็มี...ต้องดูสิ่งเหล่านี้ให้ระลึกเสมอว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา

2. ควรทำเรื่องขอโอนให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นเพื่อจะได้เดินทางไปรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานที่หน่วยงานใหม่ให้ทันในช่วงต้นปีงบประมาณ คือ เดือนตุลาคม 2552

3. หากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าโอนกลับมาหน่วยงานเดิม หรือโอนไปที่อื่นกลางคัน เพราะจะทำให้ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ถ้าจะโอนก็จะต้องมาทำงานที่หน่วยราชการที่โอนไปในช่วงเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะเริ่มการประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนรอบครึ่งปีงบประมาณ (แต่จงจำไว้ว่าคุณจะได้ขั้นเงินเดือนที่ต่ำภายใต้เหตุผลเรื่องระยะเวลาทำงาน โดยที่เขาจะไม่ไปดูที่ผลงานคุณหรอกว่าดีมากน้อยแค่ไหน)

ผู้เขียนก็อยากฝากรัฐบาลว่าอยากให้มองภาพรวมว่าภาคราชการทั้งหมดคือหนึ่งองค์กรใหญ่ การที่ข้าราชการจะปฏิบัติงานที่ไหน ในช่วงเวลาใดๆ ก็ควรที่จะเอาผลการปฏิบัติงานนั้นมาเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ในช่วงเวลาที่ต้องพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เพราะต่างก็ทำงานเพื่อราชการของประเทศ ไม่ใช่ให้แต่ละหน่วยงานสร้างกรอบ หรืออาณาจักรขึ้นมา ยึดติดว่าตัวกูของกู ...แต่ที่สำคัญจะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องว่าระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System) ให้ดี และเที่ยงตรงเสียก่อน

มิใช่การประเมิน

- เป็นนามธรรม ใช้ความรู้สึกในการตัดสิน

- เป้าหมายการปฏิบัติงานไม่ชัดเจน

- ระบบโควตาและการหมุนเวียน

- ไม่สามารถระบุความเชื่อมโยงของการปฏิบัติงานกับเป้าหมายขององค์กร

- การมอบหมายและกระจายงานไม่เหมาะสม

(ที่มา: สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล, สำนักงาน ก.พ., 2552)

 

...แต่ดูไปแล้วก็คิดว่าระบบประเมินผลการปฏิบัติงานและค่าตอบแทน ที่สำนักงาน ก.พ. จะนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป (ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)

ก็น่าจะดีขึ้น แต่คงไม่มาก เพราะยังมีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส

เช่น (1) การแจ้งผลการเลื่อนเงินเดือนเฉพาะตัวบุคคล จะประกาศรายชื่อเฉพาะผู้มีผลงานระดับดีมาก/ดีเด่น (ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใสในการประเมินผล) ผู้เขียนเข้าใจว่าแนวคิดนี้ถูกนำมาจากภาคเอกชน แต่คงลืมไปว่าระบบราชการไม่ใช่เอกชน เงินเดือนที่เอามาจ่ายให้ข้าราชการไม่ใช่เงินของผู้บริหารหน่วยงาน แต่มันคือเงินภาษีประชาชน ซึ่งประชาชนก็ควรมีสิทธิที่จะทราบถึงผลการปฏิบัติของข้าราชการได้

(2) การนำ "สมรรถนะ" หรือ "Competency" มาเป็นส่วนหนึ่งของผลการปฏิบัติงาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำหนักประมาณ ร้อยละ 30 กล่าวคือ คะแนนจากผลงานตามอำนาจหน้าที่ 70 คะแนน , ประเมิน Competency อีก 30 คะแนน รวมเป็น 100 คะแนน

ซึ่งโดยสากลในการบริหารงานบุคคลเขาจะไม่เอา Competency มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลเพื่อให้ค่าตอบแทน แต่จะประเมินผลไปเพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาบุคลากรเหล่านั้นให้มี Competency ที่เพิ่มสูงขึ้น และในการประเมินก็เป็นการใช้ความรู้สึกและดุลพินิจ (คุณเชื่อเหรอว่ามันจะมีความเที่ยงตรงในผลการประเมินนั้นอย่างแท้จริง)

 

 ก็คงต้องติดตามกันต่อไปละครับ

 

หมายเลขบันทึก: 304222เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

โอนไม่โอนก็ค่าเท่ากัน ถ้าทำงานอย่างเดียวไม่ประจบ.... ความดีความชอบอยู่ที่ความพอใจ อย่าคิดอะไรมากถือว่าได้ประสบการณ์ มีงานทำก็ดีแล้วดีกว่าตกงาน

ทศพนธ์ นายแน่มาก ขอชม

ผมว่ามันไม่ใช่ค่าโง่ แต่เป็นวิธีหลักเกณฑ์การโอน  ย้ายปกติตามระเบียบการบริหารราชการแผนดิน การโอนคือการไปปฏิบัติราชการข้ามกรมข้ามกระทรวง  แต่การย้ายคือการไปปฏิบัติหน้าที่ต่างหน่วยในกรมเดิม  ซึ่งรายละเอียดไม่แน่ชัดว่าโอนหรือย้าย   การดำเนินการนับว่าเร็วแล้ว   อีกประเด็นข้าราชการนั้นขึ้นกับระดับตำแหน้งด้วย ถ้าคุรตำแหน่งเล็กๆ หรือระดับเริ่มต้น มันก็มีหน้าที่ปฎิบัติเป็นเนื้องาน อยู่   ผมเคยย้ายไปหลายหน่วยงาน แต่เป็นการย้ายตามคำสั่งให้ไปปฎิบัติหน้าที่ที่สูงขึ้นและย้ายด้วยความต้องการตนเองในการสลับเปลี่ยนหน่วยที่คิดว่าเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตน จึงขอนำเรียนว่า ถ้าจะย้ายหรือโอนควรไปเพื่อความก้าวหน้าเช่น  ไปเพื่อเลื่อนในระดับที่สูงขึ้น(ทุกอย่างเค้าจะเตรียมไว้ให้คุณหมด) หรือย้ายสลับไประดับเดิมที่เป็นหัวหน้าหน่วย หรือ ผช ในหน่วยระดับสำนักหรือกรม ถ้าท่านย้ายไประดับกรม  ท่านควรมีตำแหน่งพื้นฐานไม่น้อยกว่า ชำนาญการพิเศษ เพื่อต่อยอดไปเชี่ยวชาญ  ถ้าเพียงตำแหน่ง ปฏิบัติการ/ชำนาญการ (ตำแหน่งเลื่อนไหล) อยู่ที่ไหนก็ไม่แตกต่างครับ..

ไม่ได้โอนไปไหน ยังได้เท่าคุณเลย อยากได้ เย๊อะ ๆ ก็ ประจบนายเข้าไป เดี๋ยวก็ได้เอง

เป็นกำลังใจให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องคับ โดนมาเหมือนกัน หนีเสือปะจรเข้มีปืน แทบเอาชีวิตไม่รอด คนตรงอยู่ที่ไหนก็ลำบากต้องไซด์โค้งหน่อยๆ เพื่อนก็เชียร์ให้สู้ แต่สู้อยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวถ้าชนะได้ใจเพื่อนร่วมงาน หากแพ้รับรอง ไ่ม่มีที่ไหนในหน่วยงานให้ลี้ภ้ย เห็นคุณออกมาพูดจาปราศัยเป็นกำลังใจครับ เพื่อระบบราชการที่ดีกว่า

เหมือนกันดิฉันก็โอนจากข้าราชการพลเรือน โอนมาท้องถิ่น รู้สึกคิดผิดอย่างมหันต์ แต่ก็คงไม่ย้อนหลังกลับไปที่เก่า คงหาที่ใหม่ที่จะโอนไป คราวนี้คงต้องดูให้รอบครอบกว่าเก่า บทเรียนครั้งนี้ยิ่งใหญ่ต่อความรู้สึกมาก แย่ที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา

บางหน่วยงานฉลาดมาก ต้องการโอนเพียงเพื่อต้องการให้เกิดสิทธิค่าเช่าบ้าน ทำให้เกิดการเลื่อมล้ำ เป็น 2 มาตรฐาน คนที่รักองค์กรกลับเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้ แต่คนที่มาเพียงชุปมือเปิบ สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้ มันน่าน้อยใจนะ

ดิฉันคิดว่า การที่โอนบ่อยๆ เป็นการค้นหาความสามารถของตัวเองค่ะ

ส่วนเรื่องปรับเงินเดือนต่างกันนิดหน่อย ถือว่าเป็นค่าโอกาสที่เราจะได้รับในอนาคตค่ะ

อยากโอนเหมือนกัน

เบื่อกับการทำงานที่ไม่เข้าตา

(มีแต่คนของตัวเอง)

อยากใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์กับราชการ

แต่กลับใช้มันไม่ได้

เห็นควรปรับเปลี่ยนผู้บริหารทุกกระทรวง

ปล. ผลงานดีมาก แต่สมรรถนะต่ำ คงเกิดกับหลายๆคน

       เอาใจช่วยทุกคน เพราะเราก็คงไม่ต่างกัน


อยากโอนมั่งจังแต่คงจะสายไปเพราะอายุเยอะแล้วอดทนมานานคิดว่าจะดีขึ้นแต่ก็ป่าวงานไม่มีจะให้ขยับในขณะที่จุดอื่นงานล้นจนทำไม่ทันทำให้ไม่มีผลงานทั้งๆที่หัวหน้าบอกทำงานดีแต่ก็ไม่มีงานจะทำงงกับระการกระจายงานกับการบริหารงานบุคคลถ้าเป็น

เอกชนคงโดนบีบออกไปแล้ว

ตอนนี้ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสภาวะเดียวกับคุณ ดิฉันได้โอนมาย้ายเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยฯแห่งหนึ่ง แต่ดูแล้วสภาพการทำงานกับสภาพการจัดสวัสดิการให้ข้าราชการไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราคาดคิดไว้ เลยเครียด เลยคิดว่าจะกลับไปอยู่ในหน่วยงานเดิม อยากทราบว่าต้องปฏิบัติราชการให้ครบ 6 เดือนไหมค่ะ

อดีต ดิฉันบรรจุที่หน่วยงานแรก อยู่มาประมาณ 6ปี ก็หาที่โอน เพราะหาประสบการณ์ แต่ไม่ทันได้ดูหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างที่คุณเจ้าของโพสต์ลงไว้ค่ะ ปรากฎว่าพอโอนมา อยู่ในช่วงปีที่จะได้เลื่อนระดับ ก็ต้องยอมเสียไปอีก 1ปีเต็ม ย่ำอยู่ระดับเดิม (ปฏิบัติงาน)

แค่นั้นไม่พอ ผ่านพ้นไปปีนึงก็แล้ว ก็รอหนังสือแจ้งการประเมินก็ไม่เห็นมา จนต้องไปตามที่ กกจ. ปรากฎว่า หน่วยงานนี้แย่มาก บอกเลย กกจ. เป็นหน่วยงานที่ต้องตรวจติดตามและแจ้งผลการเลื่อนการบรรจุการย้ายต่างๆ แต่กลับไม่แจ้งข่าวสารอะไรให้ หนำซ้ำพอไปถามถึงเอกสารที่ต้องใช้เลื่อนก็บอกว่าต้องไปเตรียมทำเรื่องเกื้อกูลมา และต้องรออีกเมื่อนั่นเมื่อนี่ถึงจะให้เลื่อนได้

เงิบค่ะ วุฒิ อนุปริญญา ย่ำอยู่ระดับปฏิบัติงานมา 9ปี ยังไม่ได้ขึ้น ชำนาญงาน แล้วใครจะอยู่ไหวคะ เก็บเสื้อผ้าย้ายสิคะ ลงไป อบต. เลยทีนี้

เดชะบุญสอบติดแท่งวิชาการ อีกหน่วยงาน (หน่วยงานล่าสุด) เค้าไม่นับอายุราชการ 9 ปีที่ผ่านมานั้น เพราะเหตุว่า เรามาจาก อบต. เราก็คิดซะว่าฟาดเคราะห์ไปกับหน่วยงาน กทด. ละกัน

ตอนนี้เริ่มต้นใหม่ กับแท่งใหม่ แม้อายุจะมากแล้ว และไม่ได้นับร่วม9ปีที่รับราชการให้ ก็ไม่เป็นไร ที่นี่ กกจ. เขาตามเขาถามเขาไถ่ เขาบอกกล่าวอะไรๆให้เหมือนเราเป็นพี่น้องกัน


ก็ขอให้คนที่อยากย้าย ดูที่ดูทางให้ดีๆ.. มองให้เยอะๆ .. คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยากค่ะ

ถ้าไป ก็ต้องไปข้างหน้า ไม่ควรเลยที่จะกลับไปที่เดิมด้วยอาการสะบักสะบอม ถ้าคิดจะกลับ ก็ต้องกลับอย่างเหนือขั้นกว่าเดิม เหตุผลต้องไม่ใช่เพราะคิดผิด

ที่ใหม่อุปสรรค ยากแค่ไหน ก็ต้องสู้ และไม่ควรด่วนสรุปเปรียบเทียบ แบบนี้จึงจะเป็นของแท้ และได้ประโยชน์จริง ไม่มีอะไรเกินความสามารถของคนที่จะทำได้ มีความรู้ท่วมหัวต้องเอาตัวให้รอด

เคยมีเพื่อนที่ทำแบบกระทู้นี้เหมือนกัน ดูไม่ดีเอาเสียเลย แถมเสียเวลาอีกต่างหาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท