เศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม


เศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม เป็นการรวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม

 

เศรษฐศาสตร์บนรากฐานทางวัฒนธรรม *

 ฉัตรทิพย์  นาถสุภา

แนวคิดที่ว่าเศรษฐศาสตร์ควรมีรากฐานบนวัฒนธรรม เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวไทยเรา เป็นแนวคิดของผู้นำชาวบ้านจำนวนมาก ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน นักคิดและปัญญาชนในท้องถิ่น อาจารย์ในสถาบันราชภัฏและมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ผู้นำองค์กรทางศาสนาพุทธและคริสต์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา นักคิดไทยคนสำคัญหลายคนก็มีความคิดเห็นเช่นนั้น เช่น ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง และศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวานิช เรียกเป็นกระแสว่าความคิดการพัฒนาแนววัฒนธรรมชุมชน

ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคน ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ รัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้พัฒนาประเทศในแนวทางนี้

มาบัดนี้ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาในประเทศไทย การต่อสู้ระหว่างสองแนวคิด คือระหว่างแนวทางการพัฒนาตามคำแนะนำของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมและแนวทางเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมหรือแนวทางเศรษฐกิจชุมชน เป็นการต่อสู้ทางความคิดและนโยบายที่สำคัญที่สุดในประเทศเรา เริ่มจากการเสนอความคิดของนักคิดไทยชั้นนำที่ได้เอ่ยนามมาแล้ว ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน จนสามารถผลักดันให้ปรากฏแนวคิดในส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) ที่ว่าจะส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวและชุมชนเป็นสถาบันหลักของการพัฒนา จนมาถึงที่สำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปราศรัยในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ทรงเสนอ “ทฤษฎีใหม่” ทรงเรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” (Self - Sufficient Economy)

ข้าพเจ้าได้ผ่านการศึกษาและการหล่อหลอมมาในแนวทางกระแสหลัก แต่ข้าพเจ้าได้ปฏิเสธแนวทางนั้น ในการบรรยายนี้ ข้าพเจ้าจะอธิบายว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงปฏเสธแนวทางความเชื่อเดิมของตัวเองนั้น ? ทำไมแนวทางเศรษฐศาสตร์บนรากฐานทางวัฒนธรรม จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ? และเราจะทำอย่างไร แนวทางการพัฒนาในเส้นทางนี้ จึงจะปรากฏเป็นจริง ?

ข้าพเจ้าขอแบ่งการบรรยายเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรก ว่าด้วยปัญหาของการพัฒนาประเทศไทยตามแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ส่วนที่สอง ว่าด้วยความเหมาะสมของการพัฒนาในแนวทางเศรษฐศาสตร์บนรากฐานทางวัฒนธรรม และส่วนที่สาม ว่าด้วยข้อเสนอวิธีการและกลไกเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปในแนวทางอันพึงปรารถนานี้

ส่วนที่หนึ่ง : ปัญหาของการพัฒนาประเทศไทยตามแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะศตวรรษที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาทุนนิยม แบบที่ถ่ายโอนทรัพยากรออกจากชุมชนหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเหมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ ผลประโยชน์ผลได้ส่วนใหญ่ของการพัฒนา ตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว เมืองกับชนบทแตกต่างกันอย่างมาก ชนชั้นนายทุนและข้าราชการแตกต่างมากจากชนชั้นชาวนา ความเจริญกระจุกตัว ขณะที่ทรัพยากรถูกทำลายการพัฒนาประเทศไทยก่อให้เกิด “ภาพซ้อน” ภาคธุรกิจ คือภาคการค้าและอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจนายทุน เป็นภาคที่เจริญร่ำรวย ส่วนใหญ่จากการเอารัดเอาเปรียบภาคเกษตรกรรมภาคเศรษฐกิจชุมชน หรือจากการใช้แรงงานชาวบ้านราคาถูก แต่ภาคธุรกิจนี้ เจ้าของส่วนใหญ่เป็นนายทุนต่างประเทศ เทคโนโลยีส่วนสำคัญเป็นของต่างชาติ ถูกควบคุมโดยต่างชาติ แทบจะถือไม่ได้ว่าเป็นส่วนที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย อีกภาคหนึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจเกษตรกรรมชนบท ภาคเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้าน เป็นภาคที่ยากจน แต่ภาคนี้เป็นส่วนแท้ของประเทศ เป็นของประชาชนไทย เป็นภาคที่ส่งวัตถุดิบ สินค้าเกษตร และแรงงานให้ภาคการค้าและอุตสาหกรรม การพัฒนาในแนวทางทุนนิยมแบบที่ผ่านมานี้ ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่น่าพึงปรารถนาที่สุดของประเทศ เพราะเป็นการพัฒนาแต่ส่วนเดียว คือส่วนหัว เอารัดเอาเปรียบและละทิ้งส่วนอื่นของประเทศ คือละทิ้งส่วนชนบท อันประกอบด้วยประชาชนส่วนใหญ่

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ศึกษากันในมหาวิทยาลัย และกำกับการวิจัยในประเทศไทย ไม่ตั้งปัญหากับกลไกและแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมที่กล่าวมา เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานอยู่กับแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยม มองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมทุกจุด เป็นการแข่งขันผลประโยชน์แบบตัวใครตัวมัน จุดหมายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ มุ่งเอากำไรสูงสุด มองเห็นความสัมพันธ์แทบทุกด้านของผู้คนในสังคมเป็นความสัมพันธ์แบบสินค้าและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ผูกโยงกันด้วยเงินตรา แทนความผูกพันแบบครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ สนใจเศรษฐกิจส่วนที่เป็นเศรษฐกิจเงินตรา การธนาคาร การคลัง การค้าระหว่างประเทศแทนเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเอง พอเพียงในครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น กล่าวได้ว่า การศึกษาและการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย หลัง พ.ศ. ๒๕๐๓ คือ หลังจากที่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลทหาร เป็นแบบที่รับแนวคิดปัจเจกชนนิยม ( individualism ) และบริโภคนิยม ( consumerism ) เต็มที่ สุดโต่งยิ่งกว่าในตะวันตก ซึ่งให้ความสำคัญด้วยกับปัจจัยด้านบวกของแนวคิดปัจเจกชนนิยม คือเรื่องประสิทธิภาพการผลิต การวิจัยและพัฒนา คิดค้นสร้างสรรค์เทคโนโลยีการผลิตใหม่ แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในประเทศไทย แทบไม่ได้ตั้งคำถามกับการพัฒนาแบบทุนนิยม แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคือให้มีการแข่งขันเสรี ระบบตลาดและการแข่งขันจะจัดการทุกอย่างลงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและดีที่สุด รัฐบาลเพียงช่วยสร้างสิ่งที่เป็นพื้นฐานการพัฒนา ภายใต้แนวคิดนี้ระบบที่เกิดขึ้นจริงคือ ระบบทุนนิยม ผู้ที่มีทุนมีอำนาจจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน เป็นผู้ผูกขาด บงการตลาดและกิจกรรมเศรษฐกิจและกอบโกยส่วนเกิน ในประเทศไทยนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ระบบทุนนิยมขยายตัว เกิดความแตกต่างในรายได้และทรัพย์สินระหว่างนายทุนและประชาชนธรรมดาที่สูงมาก วิชาเศรษฐศาสตร์ซึ่งสนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบนี้ จึงเป็นวิชาที่ห่างออกจากชีวิตจริงของประชาชนส่วนใหญ่ ชาวไทยส่วนใหญ่คือชาวนา ชาวบ้าน ผู้ผลิตเพื่อเลี้ยงชีพให้พอเพียงเป็นเป้าหมายหลัก แม้มีศักดิ์ศรีแแต่ก็ไม่ได้มีฐานะทางการเงินและอำนาจอภิสิทธิ์ที่จะมาต่อรองอย่างเท่าเทียมในระบบตลาด เมื่อเข้ามาสู่ระบบตลาดก็มักถูกเอารัดเอาเปรียบในการซื้อขายสินค้า หรือเข้ามาขายแรงงานราคาถูก ระบบแบบปัจเจกชนนิยมและการแข่งขันแบบสุดโต่ง ไม่ใช่ระบบที่พวกเขาคุ้นเคยและดีที่สุดสำหรับเขา วิชาเศรษฐศาสตร์จึงดูเป็นวิชาสำหรับภาคธุรกิจ มากกว่าวิชาเพื่อประชาชนธรรมดาสามัญ เป็นวิชาของข้าราชการ นายะนาคาร นักอุตสาหกรรมและพ่อค้า ชาวไทยถูกผลักดันให้รับระบบคิดใหม่ ที่มีจุดหมายเพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุและกำไรสูงสุดแทนระบบน้ำใจและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งเป็นปรัชญาของชาวไทยแต่เดิมมา ทำให้ชาวไทย ละเลยการส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันเก่าแก่ยั่งยืนอันเป็นของตัวเอง คือ สถาบันชุมชนละเลยการพยายามพึ่งตัวเองและการพึ่งกันเองภายในชุมชนและระหว่างชุมชนให้เพียงพอก่อนหันไปพึ่งระบบตลาด มุ่งผลิตเพื่อเอากำไรแทนการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง โดยไม่ได้คำนึงว่าระบบตลาดโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศไม่ใช่ระบบของเรา มีความไม่แน่นอนสูง และในระบบแบบปัจเจกชนและระบบทุนนิยม ย่อมถูกเอารัดเอาเปรียบได้ การผูกประเทศเข้ากับระบบทุนนิยมโลกอย่างแน่นแฟ้น ก็อาจไม่ใช่วิะการที่จะทำให้ประเทศเจริญ หากพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือพัฒนาการของทุนนิยมโลก และกระบวนการพัฒนานี้เอาเปรียบเศรษฐกิจก่อนทุนนิยม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจชายขอบในที่ต่าง ๆ เอาเศรษฐกิจชายขอบทั้งหลายเข้ามาเป็นส่วนสนองทุนนิยมศูนย์กลาง โดยเฉพาะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานของเศรษฐกิจชายขอบเหล่านั้น ทำลายระบบที่เป็นตัวของตัวเองของเศรษฐกิจชายขอบ ให้กลายเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของระบบทุนนิยมโลกลาตินอเมริกา เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาแบบทุนนิยม เปิดประเทศเต็มที่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของทวีปนั้น ก็ยังคงยากจนมาก ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงเป็นทฤษฎีที่อำนวยประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มเดียว คือ นายทุน ซึ่งส่วนสำคัญเป็นต่างชาติ เป็นแนวคิดแบบเจ้าอาณานิคม เป็นทฤษฎีที่ไม่สามารถทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจผู้คนธรรมดาและการทำมาหากินของพวกเขา วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ถูกครอบงำโดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กลายเป็นวิชาของรัฐและของระบบทุน ขณะเดียวกันกลับไม่มีที่ให้ชุมชนและประชาชน

แนวทางที่วิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้ปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว จากภายในวงการนักวิชาการและปัญญาชนเอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งตำแหน่งธรรมศาสตราจารย์ และได้แต่งตั้งอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นธรรมศาสตราจารย์คนแรก ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เรียกเศรษฐศาสตร์แบบเดิมว่า หินเศรษฐศาสตร์ หมายถึงเศรษฐศาสตร์อย่างแคบ และเศรษฐศาสตร์แบบที่คำนึงถึงมนุษย์และวัฒนธรรมว่า ธรรมเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เคยมีกลุ่มกิจกรรม เรียกตัวเองว่ากลุ่มเศรษฐธรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง ขยายแนวทางโดยให้ความสำคัญแก่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เริ่มออกวารสารชื่อเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อชุมชนติดต่อกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้วิจารณ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักโดยกล่าวว่า ควรเอาพวกเขาไปโยนทิ้งทะเล ดังที่ได้เรียนในตอนต้น บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาและการที่วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยถูกครอบงำโดยทฤษฎีกระแสหลักเป็นความผิดพลาดเป็นปัญหา และขณะนี้เกิดเป็นหัวข้อถกเถียงสาธารณะที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย : ประเทศไทยจะพัฒนาแนวทางไหน ? แนวทางทุนนิยมหรือแนวทางชุมชน ? หรืออีกนัยหนึ่งในแง่ทางวิชาการ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม ?

ส่วนที่สอง : ความเหมาะสมของการพัฒนาในแนวทางเศรษฐศาสตร์บนรากฐานทางวัฒนธรรม

เศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมหมายถึง หลักเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ผู้คน ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” ท่านอธิบายว่า เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานความเข้มแข็งของเราเอง ท่านเรียกอีกชื่อว่า “เศรษฐกิจพื้นฐาน” หรือ “เศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเอง” ท่านอาจารย์ประเวศได้เสนอว่าหลักเศรษฐกิจที่ถูกต้องควรเป็นเศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเอง เพราะ

“ การพึ่งตนเองเป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงความเข้มแข็ง ความยั่งยืน
ความเป็นอิสระ การมีภูมิคุ้มกัน เศรษฐกิจกระแสหลักควรเป็นเศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเอง
การพึ่งตนเองต้องคำนึงถึงพื้นฐานของตนเอง พื้นฐานของสังคมคือวัฒนธรรม วัฒนธรรม
ของประเทศใดก็เป็นจุดแข็งของประเทศนั้น วัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ
วัฒนธรรมจึงเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานความมั่นคงของตนเอง เศรษฐกิจวัฒนธรรม
ไม่ใช่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงเงินโดด ๆ…. สัมพันธ์อยู่กับครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม และ
สิ่งแวดล้อมพร้อมกันไป เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ทอดทิ้งฉีกขาดจากกันไป แต่เป็นเศรษฐกิจ
บูรณาการที่เชื่อมโยงชีวิตจิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อมหรืออีกนัยหนึ่งเป็นเศรษฐกิจที่แท้…
เชื่อมโยงชีวิตจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างได้ดุลยภาพ…เป็นเศรษฐกิจดุลยภาพ
หรือเศรษฐกิจศีลธรรมหรือเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสถึง เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม
๒๕๔๐” (ประเวศ วะสี “เศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเอง ความเข้มแข็งจากฐานล่าง”
วันเข้าพรรษา กรกฎาคม ๒๕๔๐ และประเวศ วะสี “ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจพื้นฐาน
ทางรอดของสังคมไทย” ๙ มกราคม ๒๕๔๑ ลงพิมพ์ในประเวศ วะสี เศรษฐกิจพอเพียง
และประชาสังคม แนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจสังคม (กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน ๒๕๔๒)

ท่านอาจารย์ประเวศได้เสนอให้พัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากฐานล่าง จากครอบครัว ชุมชน ตำบล และท้องถิ่น ท่านย้ำว่าสังคมที่จะเข้มแข็งและมั่นคงนั้นฐานล่างต้องแข็งแรง ถ้าพัฒนาแต่ข้างบน โดยซอนเซาะให้ข้างล่างอ่อนแอ สังคมทั้งสังคมจะถล่มลงมา สิ่งนี้เป็นหลักทั่วไปที่เราทราบกันดี อะไรที่ข้างบนหนักแต่ฐานล่างไม่แข็งแรงจะถล่ม

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับข้อเสนอ “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” ของท่านอาจารย์ประเวศอย่างยิ่ง และเห็นว่าคำอธิบายของท่านที่ว่าเศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะให้ความสำคัญแก่การสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น คือให้แก่สถาบันที่เป็นรากฐานของสังคม จะทำให้สังคมมีโครงสร้างที่มั่นคง คำอธิบายของท่านมีเหตุผลและชัดเจนมาก แนวคิดของท่านอาจารย์ประเวศนี้ คือแนวคิดเดียวกันกับแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ขององค์กรพัฒนาเอกชน เนื่องจากสถาบันของไทยที่สำคัญที่สุด ณ ระดับท้องถิ่นตลอดมาคือ ชุมชน การเน้นสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบนฐานรากแห่งความเป็นจริงของสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็คือการเน้นเอาชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนเป็นตัวตั้งในการพัฒนานั่นเอง

ข้าพเจ้าอยากขอสืบสานความคิดของท่านอาจารย์ประเวศ นักคิดไทยที่สำคัญท่านอื่น และองค์กรพัฒนาเอกชน แนว “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” ข้าพเจ้าได้วิจัยเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและวัฒนธรรมหมู่บ้านของชนชาติไทในและนอกประเทศไทย ข้าพเจ้าและคณะวิจัยของข้าพเจ้าได้พบข้อเท็จจริงที่สับสนุนแนวคิด “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” อย่างน้อยที่สำคัญมาก ๒ ประการ คือ

๑) ชุมชนหมู่บ้านไทยมีลักษณะโบราณและความเป็นชุมชนเข้มข้น ชุมชนหมู่บ้านไทนอกประเทศมีระบบแบ่งที่ดินทำกินใหม่เป็นระยะ ( repartition ) ตามขนาดของครอบครัว มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและน้ำใจเป็นพื้นฐานของชีวิต มีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่แสดงความสำคัญของบรรพบุรุษ ผู้เฒ่าผู้แก่ ครอบครัว และชุมชน เช่น พิธีเรียกขวัญ และพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษและผีแห่งธรรมชาติแวดล้อม พิธีสืบชะตาบ้าน ฯลฯ เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนไทนอกประเทศไทย เราสามารถสืบสาวย้อนกลับ เห็นการดำรงอยู่สืบเนื่องตลอดมาของสถาบันชุมชน ข้ามกาลเวลา ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจสังคมที่ครอบอยู่ข้างบนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร คุณลักษณะสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมไทยเดิมคือ การรักความอิสระ และความมีน้ำใจ คนไทยชอบทำอะไรตามใจ ไม่ชอบการบังคับกดขี่ ไม่ชอบการใช้อำนาจ ไม่ชอบรัฐ ขณะเดียวกันคนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ถือเป็นพี่เป็นน้อง แบ่งกันอยู่แบ่งกันกิน อยู่รวมเป็นชุมชนขนาดเล็ก เรียกว่าบ้าน สังคมและวัฒนธรรมชาวบ้านไทยเป็นอนาธิปัตย์นิยม ( anarchism ) เมื่อค้นคว้าโยงไปถึงชุมชนชาวไทนอกประเทศ ในรัฐอัสสัม รัฐฉาน ในสิบสองพันนา ลาว และสิบสองจุไท ก็ได้พบลักษณะอนาธิปัตย์นิยนนี้เช่นเดียวกัน ต่างจากสังคมและวัฒนธรรมจีน หรืออินเดีย ที่เป็นระบบรวมศูนย์และมีลำดับชั้นเข้มงวดในสังคมตามแบบขงจื้อและฮินดู การดำรงอยู่ขององค์กรชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนในชนชาติไทนี้ อาจเนื่องมาจากการที่สังคมไทไม่ได้อยู่ ณ ศูนย์กลางของทวีปเอเชีย แต่อยู่ ณ ขอบริมรอยต่อของรัฐและวัฒนธรรมใหญ่แห่งเอเชียสองวัฒนธรรม คือจีนและอินเดีย อีกทั้งมีความหนาแน่นของประชากรต่ำกว่า ณ สองอาณาจักรนั้น คือมีทรัพยากรต่อบุคคลมากกว่า ทั้งเมื่อถึงสมัยระบบอาณานิคมเข้ามาครอบครอง ระบบทุนนิยมแทรกเข้าไปทำลายชุมชนหมู่บ้าน ประเทศไทยก็ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม

๒) วัฒนธรรมของชนชาติไท เป็นวัฒนธรรมกลางที่เชื่อมชนชาติหลายชนชาติในเอเชียอาคเนย์ตอนบน ณ ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน รวมด้วยถึงรัฐฉานของพม่า รัฐอัสสัมของอินเดีย เขตตะวันตกใต้คง และเขตใต้สิบสองพันนาของมณฑลยูนานของจีน ประเทศลาว และเขตเหนือด้านตะวันตกสิบสองจุไทของเวียตนาม ชนชาติต่าง ๆ ในเขตเหล่านี้ ได้รับวัฒนธรรมและภาษาไทเป็นสมบัติร่วมกัน ชนชาติต่าง ๆ หลายชนชาติ เช่น ลัวะ ละว้า ปะหล่อง ขมุ ถิ่น กะฉิ่น แม้ว และชาวเขาอื่น ๆ อาศัยอยู่บนภูเขาใกล้ ๆ กับชนชาติไทซึ่งอาศัยอยู่บนที่ราบ ทุกชนชาติเหล่านี้ลงมาค้าขายกับชาวไทและชาวเผ่าอื่น บนที่ราบ เขาได้รับใช้ภาษาไทเป็นภาษากลาง ชนชาติเหล่านี้มีสองวัฒนธรรม วัฒนธรรมของตนเอง และวัฒนธรรมไท เนื่องจากวัฒนธรรมของชนชาติไทเป็นวัฒนธรรมของชนชาติที่อาศัยอยู่บนที่ราบลุ่ม วัฒนธรรมไทจึงทำหน้าที่เป็นวัฒนธรรมกลางโดยธรรมชาติ โดยความสมัครใจของทุกฝ่าย ภายในเขตดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเอง ก็มีเครือข่าย ( network ) การแลกเปลี่ยนมากมายระหว่างชุมชนหมู่บ้านในอดีตและในปัจจุบัน ในภาคใต้ชุมชนชายฝั่งแลกปลากับข้าวของชุมชนบนพื้นราบ และแลกปลากับผลไม้ของชุมชนชายภูเขา ในภาคเหนือชุมชนบนที่ราบในหุบเขาแลกข้าวกับผักของชุมชนบนภูเขา ในภาคอีสานปัจจุบันก็มีการแลกอย่างแพร่หลาย เช่น แลกระหว่างปลากับข้าว ผักหรือพริกกับข้าวหรือปลา เป็นต้น อัตราการแลกเปลี่ยนในตลาดชาวบ้านเหล่านี้ขึ้นกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้แลกเปลี่ยน วัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนคือ เพื่อความพอเพียงยิ่งขึ้น ไม่ใช่กำไร ชาวบ้านเรียกว่า “เปลี่ยนกันกิน” ตลาดไม่ได้ขับเคลื่อนโดยกฎแห่งระบบทุนนิยม

ข้อเท็จจริงทั้งสองประการนี้สำคัญมาก หมายความว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ มีสถาบันหลักคือชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว สถาบันนี้อุดมด้วยวัฒนธรรมแห่งชุมชน คือ ความเป็นมิตรไมตรีและน้ำใจ ความเป็นชุมชนเป็นลักษณะหลักของชาวไทยอยู่แล้ว สืบเนื่องเก่าแก่มาแต่โบราณกาล คงทนข้ามกาลเวลา อีกทั้งวัฒนธรรมแห่งชุมชนไทยนี้ ยังเป็นวัฒนธรรมกลางของทุกชนชาติในอาณาเขตแถบนี้ ประกอบรวมชุมชนจำนวนมากเข้าเป็นประเทศชาติโดยสมัครใจ ไทยมีวัฒนธรรมชุมชนเป็นหลักของชนชาติอยู่แล้ว และวัฒนธรรมนี้มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมร่วมของหลายชนชาติอยู่ด้วย บนพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันและรอบข้าง นี้เป็นลักษณะเฉพาะพิเศษ ดังนั้นสำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจวัฒนธรรมอันหมายถึงเศรษฐกิจที่ยึดโยงอยู่ด้วยสถาบันชุมชนและวัฒนธรรมชุมชน จึงย่อมจะมีความเข้มแข็งโดยธรรมชาติ เพราะวางอยู่บนสถาบันที่เป็นของชนชาติเราอย่างแท้จริง ที่เรามีด้วยตัวของเราเองอย่างเข้มข้น อีกทั้งมีความหมายว่า เป็นเศรษฐกิจที่มีขอบเขต ไม่เฉพาะแต่ ณ ระดับชุมชนท้องถิ่นผ่านทางวัฒนธรรมร่วมได้ร้อยรวมหลายท้องถิ่นขึ้นเป็นเขตเดียวกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งชาติ การพัฒนาแนวเศรษฐกิจวัฒนธรรมจึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยทั้งระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศชาติ

ตัวอย่างของประเทศที่เจริญแล้วที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยรักษาไว้ซึ่งชุมชนและวัฒนธรรม คือ สวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น ในประเทศทั้งสองนั้น มโนภาพของความเป็นชุมชนยังคงมีความสำคัญอย่างมาก และถือว่าประเทศชาติประกอบขึ้นมาจากชุมชน ในสวิตเซอร์แลนด์ หมู่บ้านและเมืองยังคงรักษาระบบปกครองตัวเอง และมีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง และประเทศก็เป็นระบบอำนาจกระจาย แต่ละท้องถิ่นยังรักษาวัฒนธรรมและประเพณี ประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจของผู้คน ที่ญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเมื่อสมัยญี่ปุ่นเร่งรัดพัฒนาประเทศ ได้มีคำขวัญว่า “Wakon Yosci” คือ “เทคโนโลยีตะวันตก จิตใจญี่ปุ่น” คือญี่ปุ่นรับแต่เทคโนโลยีตะวันตก แต่ดำรงคงจิตใจหรือวัฒนธรรมญี่ปุ่นไว้ ดังนั้นเราจะเห็นว่าระบบทุนนิยมญี่ปุ่นเหมือนกับทุนนิยมตะวันตกเพียงข้างนอก แต่ภายในเป็นระบบครอบครัวและชุมชน มีความอบอุ่นมาก ข้าพเจ้าคิดว่าทั้งสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นน่าจะเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจบนรากฐานของวัฒนธรรมได้

พิจารณาในทางทฤษฎี แนวคิดเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมมีใครบ้างเป็นผู้เสนอคนสำคัญ? นักคิดผู้ซึ่งเรารู้จักดี คือ มหาตะมา คานธี ( Mahandas K. Gandhi 1869 - 1948 ) แนวคิดสืบเนื่องสรรโวทัยในอินเดียและศรีลังกา นักเศรษฐศาสตร์ E.F. Schumacher ผู้เขียนหนังสือ Small is Beautiful ( 1973 ) นักคิดแนวอนาธิปัตย์นิยม
 ( anarchism ) และแนวชุมชนนิยม ( Communitarianism ) Jose Carlos Mariatequi (1894 - 1930 ) นักคิดชาวลาตินอเมริกา นักคิดกลุ่ม Slavophile และกลุ่มนารอดนิก ( Narodnik ) ของรัสเซีย เช่น Alexander Herzen ( 1812 - 1870 ) A.V. Chayanov ( 1888 - 1939 ) นักคิดและนักวิชาการรัสเซีย สำนักองค์กรการผลิต นักสังคมวิทยาเศรษฐกิจและนักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ เราจะพิจารณาแนวคิดนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมเหล่านี้บางท่านบางประการ พร้อมไปกับสาระในส่วนที่สามของบทความนี้

ส่วนที่สาม : ข้อเสนอวิธีการและกลไกเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปในแนวทางอันพึงปรารถนานี้

เพื่อให้ประเทศได้พัฒนาไปในแนวทางเศรษฐกิจวัฒนธรรม การมุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันชุมชนหมู่บ้านเป็นหัวใจของวิธีการและกลไกการพัฒนา รวมทั้งการสร้างเครือข่ายสถาบันชุมชน ขยายหน้าที่ไปสู่การแปรรูปผลผลิตเกษตรกรรม การค้าและกิจกรรมรากฐานของท้องถิ่นอาจเรียกว่าสหกรณ์ โยงชุมชนหมู่บ้านและเครือข่ายเข้ากับโรงงานและกิจกรรมในเมือง เมื่อชุมชนและเครือข่ายเข้มแข็งขึ้น ก็อาจทำให้ระบบทุนนิยมไทยยอมรับพื้นฐานวัฒนธรรมไทยชาวบ้าน ประกอบเป็นประเทศชาติในลักษณะใหม่ คือ ที่มีวัฒนธรรมชุมชนร้อยรัดทั้งระบบเศรษฐกิจชุมชนและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้าไว้ด้วยกัน แทนการเชื่อมโยงหมู่บ้านกับเมืองโดยการบังคับบัญชาของอำนาจรัฐและอำนาจเงินที่ปรากฏในปัจจุบัน

การมุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันชุมชนหมู่บ้านน่าจะกระทำโดยพยายามทำให้ชุมชนหมู่บ้านพึ่งตนเองให้ได้ระดับหนึ่ง หลายครอบครัว หลายหมู่บ้านได้ใช้วิธีผลิตเพื่อจุดหมายให้เลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน แล้วจึงค่อยคิดขายเป็นขั้นตอนต่อไป ข้อเสนอการเกษตรผสมผสาน คือทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่างพร้อมกันนั้น น่าสนใจ นักคิดสำนักองค์กรการผลิตของรัสเซียเมื่อต้นศตวรรษนี้ก็มีข้อเสนอเช่นเดียวกันนี้ พวกเขาให้เหตุผลว่าหากชาวบ้านผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองเป็นเป้าหมายหลัก ก็อาจใช้แรงงานของตนเองของครอบครัวตนเองเข้มข้นขึ้นได้หากผลผลิตยังไม่พอบริโภค คือขูดรีดแรงงานตัวเองมากขึ้นได้ จนได้ผลผลิตพอกับการบริโภค แต่ถ้าผลิตเพื่อขายเป็นเป้าหมายหลักแบบในระบบทุน ถ้าผลผลิตขายได้ต่ำกว่าทุนก็จะขาดทุน จะขูดรีดแรงงานตัวเองอย่างไรก็ชดเชยไม่พอเพราะเป็นการผลิตปริมาณมาก ข้อเสนอของสำนักองค์กรการผลิตคือ ให้ชาวนาผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองเป็นเป้าหมายแรก และขายเป็นกิจกรรมเสริม รวมทั้งการไปหางานทำนอกการเกษตรก็เป็นกิจกรรมเสริมในกระบวนการผลิตให้เพียงพอนี้ การพยายามปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเป็นแนวทางที่สำคัญด้วยเพราะชาวนาจะได้ไม่ต้องหักโหมแรงงานขูดรีดตัวเองอีกต่อไป มหาตะมา คานธี ก็มีข้อเสนอในลักษณะเดียวกัน คือให้ชุมชนหมู่บ้านสร้างความเพียงพอให้ได้เท่าที่จะทำได้ จากทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัว คิดแลกเปลี่ยนกับหน่วยที่อยู่ใกล้ตัวก่อนเป็นลำดับลูกโซ่ไป เนื่องจากทรัพยากรของเรามีอยู่จำกัด ความหมายก็คือครอบครัวสมาชิกทั้งหลายของชุมชนหมุ่บ้าน ควรที่จะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อกันเองก่อน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเองก่อน แลกเปลี่ยนกันเองก่อน เมื่อชุมชนมีกิจกรรมภายในเข้มข้น ชุมชนก็จะปรากฏเป็นจริง มีความเข้มแข็ง คุณพิทยา ว่องกุล นักคิดแห่งองค์กรพัฒนาเอกชน ได้เสนอให้ทุนหมู่บ้านจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อการผลิตและสวัสดิการ ซึ่งอาจสร้างขึ้นจากทุนเดิมที่ไม่ใช่เงินตราก็ได้ เช่น การสร้างจากวัฒนธรรม ความรู้งานฝีมือที่เป็นมรดกตกทอดกันมา เครื่องจักสาน ทอผ้า แกะสลัก ขายได้เก็บเป็นเงินสะสมไว้ ฯลฯ รวมการออมจากกลุ่มออมทรัพย์ ดังที่ได้เกิดขึ้นและดำเนินงานได้ดี ณ ที่หลายแห่งในภาคใต้ สร้างขึ้นมาสำเร็จได้ด้วยวัฒนธรรมความรักพวกพ้องและเครือญาติ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ยังได้เสนอให้ชุมชนพิจารณาร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันอื่น ๆ อีก เป็นทุนแห่งชุมชน เช่น ปลูกต้นไม้ยืนต้นและสมุนไพร รวมถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมโดยตรง เช่น สร้างพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน และก่อตั้งกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ศึกษาท้องถิ่น เป็นต้น

การเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนหมู่บ้าน น่าจะตรงกับข้อเสนอทางทฤษฎีของแนวคิดอนาธิปัตย์นิยม คือเชื่อว่าลักษณะการจัดองค์กรของสังคมในอุดมคติ คือ หน่วยส่วนรวมขนาดเล็กเพราะพวกอนาธิปัตย์เชื่อว่าในหน่วยขนาดเล็ก สมาชิกยังจะมีเสรีภาพอยู่ ผู้นำกับสมาชิกไม่ห่างกันมากเกินไป ขณะเดียวกันสมาชิกก็ไม่ใช่แยกกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ สมาชิกต่างมาร่วมกิจกรรมกัน ทำให้เกิดความมั่นคง เช่น ร่วมกันป้องกันภยันตรายที่จะมาถึง ร่วมลงแรงและปัจจัยในการผลิต ทำให้สามารถผลิตในสเกลที่ใหญ่พอสมควรที่จะทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดได้ อีกทั้งการมาร่วมกันเป็นไปโดยสมัครใจ โดยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งไม่คุกคามต่อเสรีภาพของสมาชิก อีกประการหนึ่งการที่หน่วยของสังคมมีขนาดเล็ก ก็น่าจะใกล้เคียงกัน เป็นระบบเสรีที่ไม่โน้มเอียงกลายเป็นระบบผูกขาด และโดยเฉพาะเมื่อเป็นระบบที่การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจไม่แยกเด็ดขาดจากการกำกับขนานกันไปของวัฒนธรรมชุมชน เศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นเศรษฐกิจในแนวราบ ต่างจากระบบทุนนิยมซึ่งเป็นแนวตั้ง

เกินเขตหมู่บ้านออกไป ชุมชนควรรวมกันเองเป็นเครือข่าย ณ ระดับตำบลหรือลุ่มน้ำ หรือเขตวัฒนธรรม/ภูมิศาสตร์ เพื่อเข้าทำงานแทนระบบทุนนิยม ที่ได้พยายามเข้ามาควบคุม ระบบสินค้าเชื่อ ระบบชลประทาน ระบบการขนส่ง และสาธารณูปโภคอื่น ระบบการค้า ระบบการแปรรูปผลผลิต หรือแม้แต่ระบบการผลิตเอง เครือข่ายชุมชนควรรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์และองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อเข้าทำหน้าที่เหล่านี้แทนนายทุนและในบางกรณีก็เข้าทำกิจการที่เคยทำโดยรัฐด้วย เป้าหมายคือความพอเพียงและความรุ่งเรืองของเขตท้องถิ่น คนหนุ่มสาวในท้องถิ่นไม่ต้องไปขายแรงงานในเมืองไกล ชุมชนในเขตดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและพัฒนาต่อไป มีการระดมเงินทุนภายในท้องถิ่นเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปที่จำเป็นตามความสามารถ สร้างสถาบันการเงินและเครดิตของชุมชนท้องถิ่นที่เอื้อต่อการผลิตภายในท้องถิ่น มีนักจัดการแห่งท้องถิ่น ลดการพึ่งพิงรัฐและนายทุน มีกลไกการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการผลิต ยกระดับพลังการผลิต มีสถาบันการค้นคว้าและถ่ายทอดวัฒนธรรม มีแผนการระยะยาว กำหนดการแลกเปลี่ยนและการลงทุนที่จะทำกับท้องถิ่นอื่น ประสานความสัมพันธ์ระหว่างเขตท้องถิ่นกับประเทศชาติ

สุดท้ายเครือข่ายชุมชนจะต้องรวมกัน ณ ระดับชาติด้วย อย่างที่ได้มีการจัดประชุมทางวิชาการและสัมมนาในครั้งนี้ เพราะกิจกรรมสาธารณะหลายประการ มีมิติระดับชาติด้วย เช่นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องธนาคารชุมชน เรื่องอุตสาหกรรมบางชนิด เรื่องการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ นอกจากนั้นระบบทุนนิยมที่เราต้องการแทนที่เป็นระบบระดับชาติ จะต่อรองกับทุนนิยมจะต้องสามารถต่อรองได้ทุกระดับ ในแนวคิดของมหาตะมา คานธี และมาเรียเตกี แนวคิดชุมชนนิยมมีมิติชาตินิยมอยู่ด้วย กรณีโรงงานบางจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงถึงเสี้ยวหนึ่งของความเกี่ยวโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับเศรษฐกิจแห่งชาติ

ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการของเศรษฐกิจวัฒนธรรมไทย คือการประกอบประเทศชาติในลักษณะใหม่ ที่ใช้วัฒนธรรมชุมชนร้อยรัดระบบเศรษฐกิจชุมชนและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้ากันไว้ด้วยกัน นี่คือเป้าหมายของการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรม ณ มิติระดับชาติที่สำคัญมาก หมายความว่าชนชั้นกระฎุมพีในเมืองไทยที่มีเชื้อสายจีน ควรต้องพิจารณารับวัฒนธรรมชุมชน วัฒนธรรมชาวบ้าน จึงจะเกิดบูรณาการในสังคมไทย ประชาสังคม (civil society)

หมายเลขบันทึก: 302921เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2009 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท