พายุจะเข้าไทยกับท่านทะไลลามะ


 [ โพสต์ทูเดย์ ]

...

สำนักพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์" ตีพิมพ์ภาพแผนที่พายุที่เข้าฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และไทยได้อย่างดีเยี่ยม

ส่วนท่านอาจารย์ "ท่านขุนน้อย" แห่ง "ไทยโพสต์" 29 กันยายน 2552 ตีพิมพ์บทความเรื่อง "เดินหน้าเข้าสู่ความฉิบหาย" โดยนำข้อคิดจากท่านทะไล ลามะมาสรุปไว้ตอนท้าย

...

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากภาพหรือบทความนี้ ขอความกรุณาแวะไปเยี่ยมเยียน "โพสต์ทูเดย์" และ "ไทยโพสต์" กันครับ

บทความคัดลอกจาก "ไทยโพสต์"

...

ภาพชาวฟิลิปปินส์ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงมะนิลาแท้ๆ  ต้องตะเกียกตะกายลอยคออยู่กลางกระแสน้ำที่ไหลท่วมบ้านเรือน  ถนนหนทาง  จนกลายสภาพเป็นลำคลอง  แม่น้ำ  ทะเลสาบ  กันไปเป็นแถบๆ 

หลายต่อหลายรายต้องปีนขึ้นไปอาศัยอยู่บนหลังคาบ้าน  กระทั่งโหนต่องแต่งอยู่บนสายไฟฟ้าแรงสูง  ด้วยอิทธิพลของพายุที่มีชื่อเรียกขานกันว่า  กฤษณา  หรือ  กิสนา  (Ketsana)  หรือ  ออนดอย  (Ondoy)  ทำให้ไม่ว่าใครก็ใครต่างก็ต้องรู้สึกหดหู่  เวทนา  กันไปไม่น้อย... 

...

อันที่จริงแล้วพายุที่ว่า...ว่ากันว่า   ได้เริ่มก่อตัวให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง  มาตั้งแต่วันพุธที่  23  กันยายนที่ผ่านมา  ในแถบบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะปาเลา  และก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะมีฤทธิ์เดชอะไรมากมายนัก  

เพราะไม่ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น  หรือของฟิลิปปินส์   ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า   กระแสลมในบริเวณศูนย์กลางของพายุมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ   อ่อนตัวลงไปเรื่อยๆ 

... 

แต่ในเช้าวันต่อมา  จะเป็นด้วยอุณหภูมิความร้อนในมหาสมุทร  ที่นับวันจะกลายเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ  อันทำให้พายุในแต่ละลูกมีฤทธิ์มีเดชเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

หรือจะด้วยสาเหตุอื่นใดก็แล้วแต่  จู่ๆ  พายุลูกนี้...ก็ทวีความแรงกล้าแบบปัจจุบันทันด่วน  กลายพายุดีเปรสชันอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์  ในช่วงวันที่  25  กันยาไปจนได้... 

...

โดยลีลาความร้ายกาจของพายุกฤษณานั้น  น่าจะอยู่ที่ว่า  มันได้หอบเอาปริมาณฝนจำนวนมหาศาลไปขึ้นฝั่งที่บริเวณตอนเหนือของเกาะลูซอน 

ส่งผลให้พื้นที่บริเวณกรุงมะนิลา  และเมืองต่างๆ   โดยรอบ  ต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนักตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่  26  ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่  27  กันยา.

... 

ซึ่งนอกจากจะทำให้ระดับน้ำเอ่อท่วมไปทุกหนแห่ง  จนบางพื้นที่ในเขตรอบนอกกรุงมะนิลา   ว่ากันว่าปริมาณน้ำสูงถึง  20  ฟุต 

ยังมีผลทำให้เขื่อน  ลา  เมซา  ที่กักเก็บน้ำจากแม่น้ำ  มาริกินา  จำต้องระบายกระแสน้ำที่กำลังล้นเขื่อน  ออกมากระหน่ำซ้ำเติม  อันทำให้กรุงมะนิลาและจังหวัดต่างๆ   อีกถึง  25  จังหวัด  ต่างต้องถูกประกาศให้เป็น  เขตภัยพิบัติ  โดยรัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว... 

...

ปริมาณความเสียหายขั้นต้นที่ได้รับการประเมินกันแบบคร่าวๆ  สรุปว่า...จำนวนผู้ประสบภัยพิบัติไม่น่าจะต่ำไปกว่า   300,000  ราย 

ผู้ที่ไร้แหล่งพักพิงต้องอพยพไปอาศัยในที่พักพิงชั่วคราว  มีจำนวนประมาณ  47,000  คน  จำนวนคนตายไม่น่าจะน้อยกว่า  122  ศพ  สูญหายอีก  29  ราย 

... 

ถนนหนทาง  โรงเรียน  เรือกสวนไร่นาราษฎรที่ได้รับความเสียหายถูกประเมินเป็นตัวเงิน  จำนวนไม่น้อยกว่า  60  ล้านเปโซ  และก็ยังไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านั้น 

หลังจากที่พายุกฤษณาผ่านไปได้ไม่กี่ชั่วโมง   น้ำในกรุงมะนิลายังไม่ได้ลดลงไปดี  กรมอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ก็ได้ออกประกาศคำเตือนตามมาติดๆ  

... 

ว่ายังมีพายุโซนร้อนและหย่อมความกดอากาศต่ำ  ที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาใหม่อีกระลอก  และกำลังมุ่งหน้าตรงมายังเกาะลูซอน 

จะส่งผลให้เกิดความฉิบหายตามมาอีกมากน้อยขนาดไหน?  ก็คงจะได้รู้ๆ  กันภายในวันสองวันนี้... 

...

แน่นอนว่า...ก็คงไม่ใช่แต่ชาวฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ต้องเจอกับโรคซ้ำกรรมซัดอยู่ในขณะนี้  พายุกฤษณาซึ่งได้ถล่มกรุงมะนิลาไปเรียบร้อยแล้ว   และยังไม่ได้ลดราวาศอก 

ยังคงสภาพความเป็นพายุไต้ฝุ่น  ที่มีความเร็วลมสูงสุดในบริเวณศูนย์กลางถึง  120  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว   10   กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มุ่งตรงมายังเมืองดานัง  ประเทศเวียดนาม

...

โดยคาดกันว่า...จะขึ้นฝั่งเวียดนามในวันอังคารที่   29  กันยาเป็นอย่างช้า  จากนั้นก็จะสะบัดหัวสะบัดหาง  พุ่งตัดผ่านประเทศลาว 

แล้วทิ้งดิ่งลงมาสู่ประเทศไทยทางด้านจังหวัดมุกดาหาร   อันจะมีผลให้จังหวัดต่างๆ  บริเวณภาคอีสานของไทย  คงต้องได้สัมผัสกับฤทธิ์เดชของพายุกฤษณาลูกนี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ 

... 

แต่ยังพอได้เบาใจอยู่ซักหน่อย  ที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยระบุว่า  ปริมาณฝนที่ถูกพายุลูกนี้หอบเข้ามาได้ลดจำนวนลงไปมากแล้ว...

อย่างมากอาจจะเจอกับลมกระโชกโฮกฮาก   ป่วนไปป่วนมา   แต่น่าจะไม่ถึงขั้นเปียกแฉะเจิ่งนองกันไปทุกหย่อมย่าน  ดังที่ชาวฟิลิปปินส์ต้องเจอมา... 

...

สรุปรวมความแล้ว...ภายใต้ความวิปริต  ผันผวน  ของสภาวะดิน-ฟ้า-อากาศในโลกยุคนี้  หรือในยุคภาวะโลกร้อนอันเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

ไม่ว่าใครก็ใครนั่นแหละ   ต่างก็มีสิทธิ์ที่จะต้องเจอกับความพังพินาศฉิบหายไปด้วยกันทั้งสิ้น  แม้นจะมีเทคโนโลยี   เครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัย  ในการป้องกัน  การแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้ากันเพียงใดก็ตาม

...

แต่ขึ้นชื่อว่า  ธรรมชาติ  แล้ว...ย่อมเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่  เกรียงไกร  มีพลังอำนาจมหาศาลไร้ขอบเขต  เกินกว่าที่มนุษย์อุจจาระเหม็นทั้งหลายจะคิดไปต่อกร   สู้รบปรบมือกันได้ง่ายๆ  

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่คิดที่จะเรียนรู้เพื่อ  อยู่ร่วมกับธรรมชาติ   มุ่งแต่จะเรียนรู้เพื่อที่จะ  ควบคุมธรรมชาติ  ตราบนั้นการถูกธรรมชาติเอาคืน  ก็จะนำความปั่นป่วนมาสู่มวลมนุษยชาติไปโดยตลอด... 

...

การก่อตัวของพายุแต่ละลูก   ที่ดูจะไม่ถึงกับมีฤทธิ์มีเดชอะไรมากมายนัก  แต่หลังจากได้ดื่มกินความร้อนที่ถูกกักขังเอาไว้บนพื้นผิวมหาสมุทรกันอย่างเต็มอิ่ม   แล้วพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นอสูรร้ายแบบปัจจุบันทันด่วน 

ไม่เพียงแต่ปรากฏให้เห็นในกรณีพายุกฤษณาเท่านั้น  ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆ  ซีกโลก 

... 

จนทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันเนื่องมาจาก  สภาวะโลกร้อน  ได้ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงซะยิ่งกว่าภัยคุกคามจากระเบิดนิวเคลียร์  หรือภัยคุกคามจากการก่อการร้ายไปแล้ว 

ไม่ว่าจะโดยนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ  โดยสถาบัน   องค์กรระหว่างประเทศ  อย่างเป็นเอกภาพ...เหลือแต่เพียง  รัฐบาล   แต่ละรัฐบาล  ในแต่ละประเทศเท่านั้น  ที่แม้นจะมองเห็นความพินาศ  ฉิบหาย  จากภัยคุกคามดังกล่าวโดยชัดเจน

...

แต่เนื่องมาจากวิถีทางทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ  มันเป็นตัวบังคับให้ต้องเลือกที่จะรักษาความมั่นคงทางการเมืองหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน  

แต่ละรัฐบาล...จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเดินหน้าต่อไปตามกระแสทุนนิยมบริโภค  หรือ  เดินหน้าเข้าสู่ความฉิบหาย  อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้...

...

ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้จาก  ท่านทะไล  ลามะ..."ความคิดเศรษฐกิจแบบตะวันตก  ที่จะต้องพัฒนาโดยการเพิ่มผลผลิตมวลรวมประชาชาติในแต่ละปี  และวิถีชีวิตแบบตะวันตกสมัยใหม่  ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม  เป็นสิ่งที่ล้าสมัย  สวนทางกับหลักการและเหตุผลของธรรมชาติโดยสิ้นเชิง  

ฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องแรกที่พลเมืองในซีกโลกใต้ควรรู้เท่าทัน  เราจะต้องหาทางเปลี่ยนวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์เช่นนี้  ซึ่งนำเอาข้อผิดพลาดมาให้เป็นจำนวนมหาศาล..."

หมายเลขบันทึก: 301764เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2009 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ข้อคิดของท่านดาไลลามะตรงประเด็นมากครับ

บริโภค อุปโภคกันเกินตัว ธรรมชาติตามมาคิดดอกเบี้ยครับ

อย่างไรก็ขอให้ทุกชีวิตรอดพ้นจากภัยพิบัตินะครับ

ขอขอบพระคุณ gotoknow ที่เปิดเวทีให้พวกเราได้มา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ // ถ้าแผ่นดินนี้พูดได้... ผมเชื่อว่า แผ่นดินนี้จะขอบคุณ gotoknow // ท่านคานธีก็กล่าวไว้คล้ายๆ กัน คือ โลกเรามีทรัพยากรพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ไม่พอสำหรับคนโลภมากคนเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท