K II
มังกรนิทรา- คนเก่งฟ้าประทาน

โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เกิจากเชื้อปารสิตที่สำคัญ


โรคที่เกิดจากปาราสิต 

(Parasitic Zoonoses)

1.  โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

            โรคทริคิโนซีส เกิดจากพยาธิตัวกลม Trichinella spiralis ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เช่น สุกร, แมว และในสัตว์ที่กินเนื้ออีกหลายชนิด รวมทั้งคนด้วย สุกรเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคในคนสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย มีรายงานการระบาดของโรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ในเขตภาคเหนือ และยังมีรายงานตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

   การติดต่อ

                1.  ในคน เกิดจากการรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ที่ดิบ หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสุกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุกรชาวเขาหรือเนื้อสัตว์ป่า ซึ่งเมื่อไม่นานมีรายงานการติดโรคจากการกินเนื้อกวางที่ส่งมาจากประเทศลาวและทำให้มีคนตายจากการติดพยาธิ T. spiralis การระบาดของโรคทริคิโนซีส ส่วนใหญ่เกิดเป็นกลุ่มและพบในจังหวัดทางภาคเหนือเป็นส่วนมาก เนื่องจากวิธีการเลี้ยงสัตว์ของพวกชาวบ้านหรือชาวเขายังใช้วิธีดั้งเดิม คือ เศษอาหารที่เหลือจากคนกิน นำมาเลี้ยงสัตว์ต่อ บางครั้งในเศษอาหารอาจมีซากหนูที่ตกลงไปตาย และสุกรบริโภคเข้าไป

2.  ในสัตว์ พวกสัตว์กินเนื้อเป็นอาหารมีรายงานการติดโรคทริคิโนซิส ประมาณ 60 ชนิด โดยมีพวกสัตว์ฟันแทะ (Rodent) เช่น หนู ชนิดต่าง ๆ เป็นพาหะของโรค สัตว์ที่กินเนื้อสัตว์จะติดโรคได้ตามธรรมชาติ แต่ในคน สุกรและสัตว์อื่น ๆ ติดโรคโดยบังเอิญ สำหรับในประเทศไทย มีรายงานพบพยาธิ T. spiralis ในสุกรเลี้ยง สุกรป่า หมาใน หมี กระรอก หนูป่า สุนัข แมว

 

อาการของโรค

 

                1.  ในคน ระยะฟักตัวของโรคกินเวลาประมาณ 5-15 วัน หลังจากได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อในเนื้อสัตว์ อาการของโรคอาจพบหลังกินไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง จนถึง 40 วัน อาการที่พบได้แก่ บวมตามหน้า เปลือกตา ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ตาอักเสบ ลำไส้อักเสบ ปวดศรีษะ หายใจไม่สะดวก ผิวหนังมีผื่นแดง บางครั้งอาจพบอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจและสมอง

                2.  ในสัตว์ อาการในสัตว์คล้ายกับในคน โดยจะพบอาการผอมแห้ง ขนหยาบ ขาไม่มีแรง หนังตาบวม ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตัวอ่อนของพยาธิจะพบในกล้ามเนื้อหัวใจ เนื้อสมอง น้ำไขสันหลัง กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อซี่โครง และกล้ามเนื้อแขน

 

        

 

การตรวจวินิจฉัย 

 

  1. จากประวัติอาการ และประวัติการกินอาหาร
  2. การตรวจทางซีรั่มวิทยา ได้แก่ Indirect fluorescent antibody test, complement

Fixation, และ precipitation test

 

การรักษา

 

ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคทริคิโนซิส โดยเฉพาะสำหรับยาถ่ายพยาธิในกลุ่ม Thiabendazole อาจช่วยลดอาการของโรคได้บ้าง

 


การควบคุมและป้องกัน

 

                1.  อาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกร หมูป่า และเนื้อสัตว์ป่าควรทำให้สุก จะช่วยป้องกันการติดโรคได้แน่นอน การระบาดของโรคทริคิโนซิสในประเทศไทย เกิดจากวิธีการเลี้ยงสุกรของพวกชาวเขา ที่มักไม่ทำคอกขัง โดยมักปล่อยให้สัตว์หากินอยู่โดยรอบบ้าน การเลี้ยงด้วยอาหารเหลือที่อาจปนเปื้อนซากหนู หรือสุกรที่ปล่อยอาจไปกินซากหนูหรือสัตว์ที่ตายและมีพยาธิอยู่ภายใน สุกรชาวเขามักเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากสุกรที่เลี้ยงแบบปล่อย มักจะมีไขมันน้อยกว่า เนื่องจากสุกรจะเดินหรือออกกำลังมากกว่าสุกรที่เลี้ยงอยู่ตามคอกทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้การย้ายถิ่นฐานของชาวเขาที่มีการอพยพและนำสัตว์เลี้ยงเข้ามา ทำให้เป็นการนำโรคเข้าประเทศ โดยไม่มีการตรวจหรือกักโรคเอาไว้ก่อน ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคไปยังพื้นที่ที่ยังไม่มีโรค นอกจากนี้ในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่การฆ่าสัตว์จะเป็นการฆ่านอกโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะไม่มีการตรวจซากโดยสัตวแพทย์ โอกาสที่พยาธิที่อยู่ในซากจะถูกกินโดยสัตว์พวกหนู สุนัข และแมวที่มาคอยกินเศษเนื้อที่หลงเหลืออยู่ หรือตกหล่นอยู่และติดโรค โรคติดต่อไปสู่มนุษย์ในที่สุด ดังนั้นการควบคุมป้องกันที่จะให้ได้ผลดีสำหรับประเทศไทย จะต้องเข้มงวดในการตรวจซากสุกรในโรงฆ่าสัตว์ และเข้มงวดในการฆ่าหรือชำแหละสัตว์อย่างไม่ถูกกฎหมายที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่มี  สัตวแพทย์ควบคุม

                2.  การให้ความรู้แก่เกษตรกร ในการเลี้ยงและดูแลสุกรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยการทำคอกและใช้อาหารสำเร็จเลี้ยงสุกรโดยตรง ไม่ใช้เศษอาหารที่เหลือจากตามบ้าน

                3.  ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเรื่องโรคทริคิโนซิส ในการเลือกบริโภคอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่ปรุงหรือทำให้สุกก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะเนื้อสุกร

                4.  บังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมโรงฆ่าสัตว์ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด โดยมีสัตวแพทย์ควบคุมดูแล และรับรองผลการตรวจทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

2.  โรคพิลาริเอซิส หรือโรคเท้าช้าง (Filariasis)

 

            โรคฟิลาริเอซีสในคนหรือที่เรียกว่าโรคเท้าช้าง เกิดจากพยาธิตัวกลมในกลุ่ม Filarial worm ซึ่งมีอยู่หลายชนิดได้แก่ Brugia malayi, Wuchereria bancrofti, Onchocerca volvulus, Loa Loa, Mansonella ozzardi, Dipetalonema streptocerca และ D. perstans Dirofilaria immitis และ D. repens สำหรับในประเทศไทยพบเพียงชนิด  W. bancrofti, B. malayi, D. immitis และ D. repens  โรคฟิลาริเอซิสในสัตว์พบว่าพยาธิทั้ง 7 ชนิดที่พบในคน จะมีเพียง 5 ชนิดที่พบในสัตว์ โดย 2 ชนิดที่ไม่พบ คือ W. bancrofti และ M. ozzardi และพยาธิฟีลาเรียที่สำคัญในสัตว์ ได้แก่ Dirofilaria immitis โดยจะพบพยาธิในระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ connective tissue และช่องว่างในลำตัว

 

การติดต่อ

 

                1.  ในคน พยาธิฟิลาเรียที่เป็นในสัตว์หลายชนิดสามารถติดต่อมาสู่คนได้ โดยส่วนมากจะพบเป็นระยะตัวอ่อนหรือเป็น immature adult หรือพบตัวอ่อนไมโครฟิลาเรีย (Microfilaria) ในกล้ามเนื้อ แต่ไม่พบตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียของสัตว์ในระบบบเลือดของคน พาหะที่นำระยะติดต่อของพยาธิฟิลาเรีย ได้แก่ ยุง เนื่องจากสัตว์เลี้ยงหลายชนิดสามารถเก็บกักโรค เช่น สุนัข แมว ลิงและค่าง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเจ้าของ

                2.  ในสัตว์ พยาธิฟิลาเรียสามารถติดต่อระหว่างสัตว์ โดยการนำของยุง ซึ่งมีหลายชนิดเป็นพาหะที่สำคัญ เช่น ยุงลาย (Aedes) ยุง culex และยุงก้นปล่อง (Anopheles)

 

 

 

อาการของโรค

                1.  ในคน พยาธิตัวแก่ที่มีชีวิต หรือที่ตายแล้วไปอุดตันทางเดินของน้ำเหลือง และการเดินทางของตัวพยาธิ ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในท่อน้ำเหลือง (lymphatic vessels) ตัวพยาธิยังอาจปล่อยสารพิษที่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ทำให้หลอดน้ำเหลืองอักเสบ และเปลี่ยนแปลงเป็น granuloma ซึ่งจะทำให้หลอดน้ำเหลืองแคบและตีบตัน เกิดการอุดต้น ทำให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง และไหลย้อนกลับเข้าไปอยู่ในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทรวงอก อัณฑะ และ ช่องอก การเปลี่ยนแปลงที่ต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดการบวมของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เท้า  หรือถุงอัณฑะ อาการของโรคจะแสดงให้เห็นภายใน 8-12 เดือน โดยอาการที่อาจพบพร้อม ๆ กับการอักเสบของท่อทางเดินน้ำเหลือง เช่น มีไข้สูง เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน โดยจะเป็น ๆ หาย ๆ และพัฒนาจนเป็นสภาพของโรคเท้าช้าง

                2.  ในสัตว์ พยาธิตัวแก่ D. immitis จะอาศัยอยู่ในหัวใจในขณะที่พยาธิ B. malayi จะมีระยะตัวอ่อน microfilaria ในกระแสเลือด สำหรับพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว จะทำให้เกิดอาการในระบบหมุนเวียนโลหิตและทางเดินหายใจเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่พยาธิอาศัยอยู่ ส่วนพยาธิ B. malayi ไม่ทำให้เกิดอาการในสุนัขอย่างเด่นชัด จึงทำให้ตรวจวินิจฉัยพบน้อยกว่าพยาธิในกลุ่ม Dirofilaria spp

 

การตรวจวินิจฉัย

 

  1. จากประวัติและอาการป่วย
  2. Modified Knott’s technique โดยใช้เลือด 1 ml ผสมกับฟอร์มาลิน 2 % จำนวน 10

ml เขย่าให้เลือดเข้ากับฟอร์มาลิน จากนั้นนำไปปั่นเอาตะกอนมาตรวจหาระยะตัวอ่อน (microfilaria) โดยการผสมกับ methylene blue เพื่อย้อมดูลักษณะชนิดของตัวอ่อนพยาธิ

  1. ตรวจทางซีรั่มวิทยา เช่น Complement Flxation test, Haemagglutination test

Fluorescent Antibody test และ ELISA

  1. การทดสอบทางผิวหนัง (Intradermal test)

 

การควบคุมและป้องกันโรค

 

                ในคน ข้อมูลทางระบาดวิทยาและบทบาทของยุงที่เป็นพาหะนำโรคเท้าช้างชนิด          B. malayi และ W. bancrofti ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก เนื่องจากจำนวนของผู้ป่วยในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนน้อย และมีรายงานอยู่ในบางภาคของประเทศไทย การควบคุมโรคทำได้ยากเนื่องจากพาหะที่สำคัญของโรคมีอยู่ทั่วไป ประกอบกับปัญหาของผู้อพยพที่อยู่ตามชายแดนเข้ามาในประเทศไทย ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยาก การกำจัดโรคอย่างสมบูรณ์ต้องมีความร่วมมือและดำเนินการอย่างจริงจังของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำจัดพยาธิที่อยู่ในคนและสัตว์เพื่อลดการแพร่กระจายตัวของโรค

                ในสัตว์ -  ปัญหาที่สำคัญ คือ สัตว์ไม่มีเจ้าของที่เป็นตัวเก็บกักโรคที่สำคัญทำให้โรคแพร่กระจายตัวไปได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขมีราคาแพงมากขึ้นทำให้เจ้าของเลือกที่จะไม่รักษา ทำให้สุนัขเป็นแหล่งเก็บกักโรคที่สำคัญ สำหรับการควบคุมยุงในสัตว์เลี้ยงคงไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นไปได้ยาก และไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ การควบคุมดูแลที่ถูกต้องคือ ฉีดยา หรือให้ยาป้องกันพยาธิตัวอ่อนของพยาธิฟิลาเรีย ทุก 2-3 เดือน และให้เป็นประจำตลอดชีวิตของสัตว์

  

3.  โรคแคพิลลาริเอซิส (Capillariasis)

 

                โรค capillariasis เกิดจากพยาธิตัวกลมที่เรียกว่า Capillaria philippinensis ซึ่งมีวงจรชีวิตอยู่ในปลาและนก และถ้ามีพยาธิจำนวนมากอาจทำให้คนตายได้ ในประเทศไทยพบได้ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

การติดต่อ

 

คนติดพยาธิจากการกินปลาดิบโดยตรง โดยเฉพาะอวัยวะภายในของปลา ปลาน้ำจืด

ในประเทศไทยหลายชนิดสามารถนำพยาธิได้ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาซิว ปลาไน และปลาตะเพียนขาว โดยปลาเป็นโฮสต์กึ่งกลางของหนอนพยาธิชนิดนี้

 

 

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน หมดแรง บวมน้ำ

 

การรักษา

ใช้ยา Mebendazole ติดต่อกัน 10-15 วันและให้สารน้ำ (fluid therapy) ในรายที่มี

อาการขาดน้ำ (dehydration) หรือ จากอาการท้องร่วงหรืออาเจียนอย่างรุนแรง

 

การตรวจวินิจฉัย

ตรวจหาระยะตัวอ่อน หรือไข่จากอุจจาระของผู้ป่วย

 

การควบคุมและป้องกัน

การควบคุมโดยให้ความรู้แก่เกษตรกรในการจับปลา หาปลา และกินปลาให้สุก ไม่กิน

ปลาทั้งดิบ ๆ และควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรือท้องร่วง เพื่อจะได้ป้องกันโรคไม่ให้ลุกลาม

 

4.  โรคพยาธิตัวจิ๊ด (Gnathostrmiosis)

            โรคพยาธิตัวจิ๊ดเกิดจากพยาธิ Gnathostoma spinigerum ระยะที่พบในคนอาจเป็นตัวแก่ที่ยังเจริญไม่เต็มวัย ส่วนโฮสต์ตามธรรมชาติ ได้แก่ สุนัข แมว และสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ จะพบพยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในโพรงเนื้อในกระเพาะอาหารของสัตว์ ตัวพยาธิมีลักษณะส่วนหัวมีหนามแยกออกจากลำตัว ไข่มีรูปร่างรี มีฝาปิดที่ปลายด้านใดด้านหนึ่ง พยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อจะอาศัยอยู่ในปลาน้ำจืด กบ ปลาไหล งู และสัตว์ที่หากินในน้ำ

 

การติดต่อ

  1. ในคน  ติดโรคโดยการกินอาหารที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อ โดยจะพบอยู่ในปลาน้ำจืด

เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาไหล และยังพบในกบ ลูกกบ เขียด สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กิ้งก่า รวมทั้งนกกินปลา หนู กระรอก กระแต และไก่ อาหารที่มักพบมีการติดพยาธิมากได้แก่ ส้มฟัก ลาบ กบยำ ปลาย่าง ไก่ย่างที่ยังมีเนื้อแดง ๆ อยู่ และปลาดิบ

  1. ในสัตว์  โดยการเลี้ยงหรือให้อาหารที่ไม่สุก เช่น เนื้อดิบของปลา ไก่ และกบ แก่สัตว์

เลี้ยง หรือสัตว์ไปแอบกินจากการคุ้ยถังขยะ หรือ การปล่อยสัตว์ให้ออกนอกบ้านตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสได้รับโรค พยาธิสูงขึ้น            
อาการของโรค

  1. ในคน  อาการในคนจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิไปอาศัยอยู่ เช่น ถ้า

อยู่ในกล้ามเนื้อใต้ผิวหนังในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะพบอาการปวดจิ๊ด ๆ บวมแดงคัน โดยช่วงเวลาของอาการจะนาน 1 วัน ถึง 2 ปี อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยจะพบได้ที่หน้าอก ท้อง มือ แขน ขา เท้า นิ้วมือ หน้า คอ อัณฑะ และใบหู ในกรณีที่พบในผนังเยื่อเมือก อาจพบที่ผนังแก้มด้านใน เพดานปาก เหงือก นอกจากนี้ยังอาจพบในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ มีไข้ และอาการทางปอดอื่น ๆ ในระบบประสาทจะพบในสมองหรือไขสันหลังทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียร คอแข็ง มีไข้ อัมพาต

  1. ในสัตว์  อาการในสัตว์จะพบน้อยกว่า เนื่องจากพยาธิไม่มีการเคลื่อนที่ ส่วนใหญ่

พยาธิจะทำให้เกิดก้อนเนื้องอกเป็นโพรงโดยจะพบพยาธิอาศัยอยู่ภายใน  จากวิกาในผนังกระเพาะอาหาร สัตว์อาจแสดงอาการของโรคกระเพาะอักเสบ เช่น อาเจียน ท้องเสีย และเป็นแบบเรื้อรัง

การตรวจวินิจฉัย          

  1. จากประวัติของผู้ป่วยที่ชอบกินอาหาร พวกปลาน้ำจืดแบบกึ่งดิบกึ่งสุก โดยจะพบว่าอาหารที่มีส่วนต่อการนำโรค ได้แก่ ส้มฟัก ลาบดิบ ปลาดุกย่าง กบยำ
  2. การทดสอบผิวหนัง เช่น precipitin test
  3. ในสุนัข ตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระ

 การควบคุมและป้องกัน

 

  1. ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายของโรคพยาธิตัวจิ๊ด รวมทั้งวิธีป้องกันตนเองจาก

การติดโรค โดยการไม่รับประทานอาหารที่ทำจากสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค

2. กำจัดสุนัขจรจัดที่เป็นโฮสต์ตามธรรมชาติของพยาธิชนิดนี้ และทำให้ความเสี่ยงของ

คนที่จะติดโรคมีเพิ่มมากขึ้น

 

 5.      โรคเอนิซาคิเอซิส (Anisakiasis)

                 โรค Anisakiasis เกิดจากพยาธิตัวกลม Anisakis ซึ่งพบระยะตัวอ่อนในปลาหลายชนิด เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาเฮอร์ริง ปลาคอดและปลาทะเลอื่น ๆ อีกหลายชนิด พยาธิตัวแก่จะพบในสัตว์ทะเลที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ปลาวาฬ และปลาโลมา

 การติดต่อ

  1. ในคน จะติดพยาธิจากการกินปลาทะเลที่มีระยะตัวอ่อนของพยาธิอยู่และตัวอ่อนของ

พยาธิจะเคลื่อนที่ไปยังกระเพาะและลำไส้ แต่ไม่มีการเจริญเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะอื่น ๆ โรค Anisakiasis พบส่วนใหญ่ในประเทศแถบยุโรป เนื่องจากชอบกินอาหารจากปลา โดยเฉพาะปลาเฮอร์ริง ในญี่ปุ่นเกิดจากกินปลาคอด ปลาอินทรีย์ และปลาหมึกดิบ ในอาหารพวกปลาดิบ ส่วนในประเทศไทยพบในปลาทะเลมากกว่า 20 ชนิด โดยพบมากในอ่าวไทย และในฤดูร้อน

2. ในสัตว์ ปลาในตระกูลปลาโลมา ปลาวาฬ และสิงโตทะเล เป็นโฮสต์สุดท้ายตาม 

ธรรมชาติที่สำคัญของพยาธิ Anisakis

อาการ  

                 ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลันภายหลังได้รับพยาธิ พยาธิตัวอ่อนจะทำให้เกิดการอักเสบและบวมน้ำที่ผนังลำไส้ ทำให้เกิดภาวะอุดตันของลำไส้ โดยพยาธิอาจจะไชเข้าไปอยู่ในผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อย่างลึกมาก

 การควบคุมและป้องกัน

                 การให้ความรู้แก่ประชากรในกลุ่มเสี่ยง เช่น ชาวประมง หรือพวกที่นิยมบริโภคปลาดิบในการป้องกันตัวจากการได้รับพยาธิ เช่น ควรตัดหัวปลาและเอาส่วนของลำไส้ออก เพื่อป้องกันตัวอ่อนพยาธิ ไชจากลำไส้เข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อของปลาและไม่ควรทิ้งส่วนหัวและลำไส้ปลาทิ้งทะเล เพราะจะทำให้พยาธิเจริญครบวงจรได้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 301227เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท