“ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้แต่ชี้ รู้แต่ไม่ชี้ รู้แล้วจึงชี้”


บุคคลมีหลายประเภท..โยมเป็นประเภทไหน? ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้แต่ชี้ รู้แต่ไม่ชี้ หรือรู้แล้วจึงชี้

        โยมทราบหรือเปล่าว่า..บุคคลมีกี่ประเภท?  บุคคลมีหลายประเภทหลายแบบ  นอกจากจะแบ่งเป็น ๔ จำพวกดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบไว้เหมือนบัว ๓ เหล่า แต่ภายหลังพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่ามี ๔ เหล่าได้แก่

Image Hosted by ImageShack.us

๑.  อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดงเหมือนดอกบัวพ้นน้ำแล้วพอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน

๒.  วิปจิตัญญู  ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้นเหมือนดอกบัวปริ่มน้ำที่จะพ้นน้ำและบานวันรุ่งขึ้น 

๓.  เนยยะ  ผู้พอแนะนำได้เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไป ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อ ๆ ไป

๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่งเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

อีกนัยหนึ่ง อาตมาเคยได้ยินหลวงปู่สอนไว้ว่า  ยังแบ่งบุคคลได้เป็นอีก ๔ จำพวก คือ

๑. ไม่รู้ไม่ชี้ หมายถึง บุคคลผู้รู้ตัวเองว่าเขลา  คือยังไม่มีความรู้ความสามารถจึงไม่ได้แนะนำใครอื่นเขา  เหมือนกับว่า  เจียมตัวเจียมใจ  บุคคลที่โง่แล้วรู้ตัวว่าโง่..ท่านกล่าวว่า..ยังพอที่เป็นคนฉลาดได้ 

๒. ไม่รู้แต่ชี้ หมายถึง บุคคลผู้โง่เขลาแต่กลับสำคัญตนว่าฉลาดกว่าใคร  แล้วไปชักนำให้คนอื่นให้ทำนู้นทำนี่  บุคคลประเภทนี้แม้มีคนมากล่าวตักเตือนตนว่ามันไม่ถูกนะ  เขาก็ยังจะทะนงตนว่า ตนเองรู้แล้วทำถูกแล้วไม่ต้องมาสอน  เขาเหมือนกับแก้วที่ล้นน้ำ  คือไม่อยากรับคำแนะนำจากคนอื่นเลย  ท่านกล่าวว่า  เขาจะไม่มีวันที่จะฉลาดได้อีก เป็นคนดื้อรั้นยิ่งนัก

๓. รู้แต่ไม่ชี้ หมายถึง บุคคลผู้มีความรู้แต่กลับไม่สามารถจะแนะนำคนอื่นรู้ตามได้ ซึ่งเข้าทำนองสุภาษิตไทยว่า “มีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด” ประมาณนั้น  เขาเป็นมักคนสันโดษ อยู่คนเดียวไม่สนใจใคร  ตนเองเก่งคนเดียวแต่ทำงานกับคนอื่นไม่ได้  ท่านบอกว่า  แม้จะฉลาดก็ไม่มีประโยชน์แก่คนอื่นเลย

๔. รู้แล้วจึงชี้  หมายถึง บุคคลผู้ทั้งที่ฉลาดและสามารถแนะนำพร่ำสอนคนอื่นได้  เป็นคนที่มีปัญญาฉลาดเฉลียวมีประโยชน์แก่ตนและคนอื่นได้  ท่านกล่าวว่า  บุคคลเช่นนี้คือคนที่ได้ลิ้มรสแห่งธรรมเข้าแล้ว 

อีกประการหนึ่ง  บุคคลยังจะสามารถแบ่งได้อีกเป็น ๔ พวก เหมือนกัน  คือ 

๑. มืดมามืดไป  หมายถึง บุคคลที่เกิดมาในตระกูลต่ำหรือพิการ แล้วเขาก็ยังเป็นคนทุศีล ตายไปก็ไปเกิดในอบายภูมิ 

๒. มืดมาสว่างไป หมายถึง บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ เช่น ขอทาน คนจน แต่เขาเป็นคนดี รักษาศีล เจริญกุศลทุกอย่าง ตายไป เขาก็ไปเกิดในสุคติภูมิ

. สว่างมามืดไป หมายถึง บุคคลที่เกิดในตระกูลสูง คนรวย แต่เขาเป็นคนทุศีล  ตายไปก็เกิดในอบายภูมิ

. สว่างมาสว่างไป หมายถึง  คนที่เกิดในตระกูลสูง  ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดแล้วเขาก็ให้ทาน  รักษาศีล  ประพฤติดี ทางกาย ทางวาจา  ตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

        สรุปก็คือ บุคคลมีหลายประเภทหลายแบบอย่างไรก็ไม่สำคัญ..ที่สำคัญคือ คุณโยมคิดว่าคุณโยมเป็นบุคคลประเภทไหน?  หรืออยากจะเป็นประเภทไหน..ก็ต้องประพฤติตนให้เป็นดังบุคคลนั้น ๆ ก็แล้วกัน..นะโยม  ขอเจริญพร..!!

        อ้างอิง

        พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 246 

หมายเลขบันทึก: 301090เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2009 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการครับ

ขอเป็นรู้แล้วจึงชี้ดีกว่าครับ

นมัสการด้วยความเคารพครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท