สร้างความเข้าใจ เรื่องการจัดการความรู้ กับ อบต.ลานสัก


 อบต.ลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เข้าไปร่วมทำงานในเรื่อง “การจัดการความรู้” ให้กับแกนนำชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ และสมาชิก อบต. หลังจากการพบปะกันครั้งแรกในเวที “ตลาดนัดความรู้ อบต.” สรส.และท่านนายก อบต. ลานสักผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ได้เกิดปิ๊ง! กันทันใด ดังนั้น สรส. ก็ได้จัดให้แม่สื่อคือคุณถาวร หรือน้องปูเป้ ผู้ประสาน สรส. ประจำพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เจ้าไปเลียบ ๆ เคียง ๆ คบหาดูใจกัน สุดท้ายก็เป็นที่มาของเวทีการเรียนรู้ที่ อบต.ลานสักในครั้งนี้
            เวทีครั้งนี้ (ผู้เขียนเข้าใจว่า) จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีการเรียนรู้เรื่อง “การจัดการความรู้” (ผู้เขียน ไปร่วมงานนี้โดยตั้งใจจะไปสังเกตการอยู่ห่างๆ ซึ่งจะไม่ค่อยทราบรายละเอียดงานนี้มากนัก) ในเวทีดังกล่าวได้มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๒๕ ท่าน (รวมทีมงาน สรส.) ผู้เข้าร่วมก็จะเป็น นายก อบต. รองนายก สมาชิก อบต. แกนนำชุมชน กลุ่มอาชีพ
 
วันแรกของกระบวนการเรียนรู้  (วันที่ ๑๔ พฤษภาคม  ๒๕๔๙)
            พวกเรา (พี่ทรงพล ปาน แอน อ๊อต) เดินทางโดยรถตู้จากกรุงเทพฯ เวลา ๐๔.๓๐ น... เกือบ ๆ ๙ โมงเช้าพวกเราก็มาถึงที่หมาย อบต.ลานสัก ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน เป็นอาคารชั้นเดียว สวยงาม บรรยากาศดี ท่านนายก อบต. (นายกเซีย ชาญชัยมงคล) เดินมาต้อนรับพวกเรา สวัสดีค่ะ สวัดีครับ! พูดคุยทักทายตามธรรมเนียมไทย  เป็นนิสัยของพวกเราที่ควรกระทำ มิรอช้าเราก็เดินไปดูฮวงจุ้ยในการทำมาหากินของพวกเรา คือห้องประชุมนั่นเอง เพื่อเตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์ เตรียมแผนกันตามธรรมเนียม จะทำอะไรก่อนหลัง  (วางไปอย่างนั้น เพื่ออุดมการณ์แต่งานจริงอาจจะไม่ใช้ตามแผน นี่! เป็นหลักการทำงานของพวกเรา แฮ่ !) น้องปูเป้แม่งานก็ได้แจงแผนงานที่เตรียมการไว้ จะชวนกลุ่มนี้พูดคุยเรื่องงานที่พวกเขากำลังทำอยู่ ประมาณว่าจะชวน “เหลียวหลัง แลหน้า” ว่างั้นเถอะ เอ้า! ว่ากันไป
            สังเกตเห็นผู้เข้าร่วม ส่วนใหญ่เป็นสุภาพบุรุษ มีสุภาพสตรี ๒ ท่าน วันนี้เราจัดที่นั่งในห้องประชุมโดยจัดเก้าอี้นั่งเป็นวงกลมไม่ใช้โต๊ะ ผู้เข้าร่วมนั่งหันหน้าเข้าหากัน เขาจะแปลก ๆ มั๊ยนะกับวิธีการนั่งแบบนี้ แต่ที่แปลกสำหรับผู้เขียนคือ เวทีนี้ปราศจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนที่เคยเป็น คือ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มี LCD ไม่จอฉาย มีแต่กระดานและกระดาษเขียนฟลิบชาร์ด โอ้! เราจะทำมาหากินกันในรูปแบบใดหรือเนี่ย ที่จริงเป็นความตั้งใจว่าพวกเราจะไม่ใช้อุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีใด ๆ ในเวทีนี้  ทุกคนรวมถึงทีมงาน สรส. (มีพี่กุ้ง (นักวิชาการ สรส.) มาสมทบอีกคน) มานั่งรวมกันในวง มองหน้ากันไปมา พึ่งเจอกันครั้งแรกนี่
           เริ่มเวทีเวลาประมาณ ๙ โมงครึ่ง  ท่านนายก อบต. กล่าวเปิดเวที ชี้แจงที่มาของเวทีครั้งนี้แบบสั้น ๆ (ดูท่านก็คงไม่ใช่คนที่ช่างพูดช่างคุยเท่าไหร่)  ให้แต่ละท่านในวงแนะนำตัวเอง (โดยการบอกชื่อและตำแหน่งของตัวเอง) โดยพี่ทรงพลให้ผู้เขียน จดชื่อตำแหน่งผู้เข้าร่วมเวทีขึ้นกระดาษฟลิบชาร์จ แต่จดไม่ทันหรอก เพราะแต่ละท่านพูดเร็ว และฟังไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ (เนื่องจากเป็นวงเล็ก ๆ จึงไม่ใช้ไมโคร์โฟน) ตอนหลังก็เลยต้องดูรายชื่อจากแผนที่ลงทะเบียน   ส่วนทีมงาน สรส. ซึ่งวันนี้เป็นทีมวิทยากรด้วย พี่ทรงพลให้แต่ละคนแนะนำตัวเอง
            จากนั้นพี่ทรงพลได้เปิดเวทีโดยการเกริ่นถึง (แบบยาวพอสมควร) ความสำคัญของ อบต. “อบต.เป็นรัฐบาลท้องถิ่น” (ชี้ให้เห็นว่า อบต.สำคัญและยิ่งใหญ่ต่อชุมชนอย่างไร) สรส. จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานอบต.อย่างไร “เป็นเพื่อนกันและทำงานไปเรียนรู้ไปด้วยกัน”
             ก่อนที่จะเริ่มสร้างกระบวนการเรียนรู้ ก็มีกิจกรรมอุ่นเครื่องเล็กๆ โดยน้องปูเป้ ซึ่งเป็นแม่งานในเวทีนี้ และก็เริ่มกันด้วย
              การระดมความคาดหวังจากผู้เข้าร่วม  ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า “คาดหวังอยากจะได้ความรู้” ซึ่งวิทยากร คือ พี่ทรงพล ก็ถามกลับไปว่า ความรู้ที่อยากได้นั้น “ในความเข้าใจของแต่ละท่าน ท่านเข้าใจว่า ความรู้คืออะไร”  คำตอบที่ทุกคนร่วมระดมสมอง อาทิเช่น   ความรู้คือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราทำ  ข้อคิดดี ๆ และสิ่งที่ถูกต้อง   สิ่งที่เป็นจริงสัมผัสได้   การอ่าน การคิดที่ดี  ความรู้เกิดจากการฟัง  สิ่งที่ได้ฟังได้เรียนจากผู้มีประสบการณ์   สิ่งที่เราพบเห็น   สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ   ความสามารถการแสดงออก สัมผัสได้    การศึกษาเห็นจริง   ความรู้คือปัญญา   การรู้ลึก รู้จริง   การศึกษาค้นคว้า หาเหตผล    ความตั้งใจ เรียนรู้จากผู้รู้    เป็นตัน
            พี่ทรงพล ก็ได้ช่วยขมวดว่า ความรู้ คือ ความจริงที่เราสัมผัสได้ การรู้แจ้งรู้จริงต้องผ่าน การปฏิบัติ” (โดยได้ยกตัวอย่างการกินมะนาว “ถ้าใครมาถามว่า มะนาวมีรสอย่างไร แทนที่จะอธิบายว่ามันเปรี้ยว เพื่อให้รู้รสว่าเปรี้ยวจริง ให้เอามะนาวให้คนที่ถามกินจะได้รู้รสแท้ ๆ ว่ารสเปรี้ยวของมะนาวเป็นอย่างไร)
             นี่คือเป้าหมายหนึ่งของการเจอกันครั้งนี้ก็คือ ให้ผู้นำได้เรียนรู้ว่า ทุกคนมีศักยภาพ สามารถสร้างความรู้ได้จากการผ่านการปฏิบัติโดยตรง
             กระบวนการเรียนรู้โดยผ่านการทำกิจกรรม  เริ่มต้นจาก  กิจกรรม “จับคู่เล่าเรื่อง” เป็นเกมเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนเรื่อง ทักษะการฟัง  โดยให้ให้จับคู่กับคนที่รู้จักน้อยที่สุด  เล่าเรื่อง “ความสำเร็จความภาคภูมิใจ” ของตัวเองให้คู่ฟัง (ให้เวลา ๔ นาที)  เมื่อครบ ๔ นาที ให้ผู้ฟังเล่ากลับ อีก ๔ นาที  และเมื่อเล่าเสร็จให้เล่าเรื่องของตัวเอง ๔ นาที ให้คู่ที่ฟังเล่ากลับ
            จากนั้นช่วยกันถอดบทเรียนหลังจากทำกิจกรรม โดยวิทยากรตั้งคำถามว่า
·         ในฐานะคนเล่าท่านรู้สึกอย่างไร
·         ในฐานะคนฟังท่านรู้สึกอย่างไร
              สรุปการเรียนรู้จากกิจกรรมจับคู่เล่าเรื่องนี้   คนเล่า : ควร  ๑) สร้างความวางใจ  ๒)จัดระบบความคิดและลำเลียง ๓) ความภาคภูมิใจ ความดีใจ ความสุขใจที่ได้เล่าสิ่งดี ๆ  คือการเริ่มต้นจากสิ่งที่ดี ๆ ทำให้เกิดพลัง พลังอยากให้ พลังอยากเล่า  ส่วนในฐานะของคนฟัง : ควร ๑) มีสมาธิ ตั้งใจฟัง ฟังอย่าไม่ให้เล็ดลอด ๒) คิดใคร่ครวญเชื่อมโยง (ใช้ประสบการณ์ และใช้จิตนาการ คิดให้เกิดขึ้น ) ๓) ให้กำลังใจและความรักความปรารถนาดีต่อผู้พูด ทำให้ผู้พูดพูดได้ดีขึ้นเยอะ ด้วยสีหน้าท่าทางที่เป็นกัลยาณมิตร (การฟังอย่างลึกซึ่งและการฟังอย่างละเอียด)
             พี่ทรงพล กล่าวโดยสรุปว่า “ในโลกนี้มีหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น  มีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคในการฟัง  พอบอกกติกาท่านจะตั้งใจ  ปกติการประชุมท่านจะไม่ตั้งใจฟังอย่างนี้ เพราะท่านมีกำแพง มีความเคยชิน ฟังแบบตัวเองรู้แล้ว ฟังแบบไม่เปิดใจ ทำให้ท่านปิดโอกาสการเรียนรู้ของท่าน   เราแสวงหาความรู้ ทุกคนอยากได้ความรู้ แต่ทุกคนไม่รู้ว่าความรู้เกิดได้อย่างไร ความรู้จะเข้าถึงความจริงได้ด้วยการสัมผัส ด้วยหู ด้วยตา ด้วยการสัมผัสอยู่ตลอดเวลา ตามองเกิดความรู้มั๊ย หูฟังเกิดความรู้มั๊ย  ชาวบ้านยังหลุดจากความยากจนไม่ได้ ถ้าชาวบ้านไม่รู้กระบวนการสร้างปัญญา ต้องสร้างโอกาสให้เขาคิดและคิดตก สร้างบรรยากาศให้เขาคิด “คิดตก คือ คิดได้” คิดตกแล้วสบายใจ  ใช้ความช้า  ถ้าเรามีความช้าความละเอียดความรู้จะเกิดขึ้นมาก  จากกิจกรรม อยากให้ท่านย้อนกลับมาดูว่า สถานการณ์ชีวิตเราทำให้เรามองอะไรแบบหยาบ ๆ ชาวบ้านต้องหันกลับมามองกระบวนการความคิดใหม่ กระบวนแผนแม่บทชุมชนเป็นแค่เครื่องมือ ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสคิดและคิดตก  ก่อนที่เราจัดการความรู้เราต้องรู้ว่า  ความรู้คืออะไร  ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร  “ความรู้ที่กินได้” คือ มันจะส่งผลต่อชีวิตให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร...หัวใจสำคัญของความรู้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เราจะทำให้เป็นกิจวัตร เราจะเอาอดีตมาเป็นครูอยู่ตลอดเวลาได้หรือไม่ ถ้าท่านทำตรงนี้ได้มันจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและงานของท่าน  ตัวเครื่องมือที่จะทำให้เกิดปัญญา ลองหันกลับมาดู โลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น เราต้องมีการเรียนรู้เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา...เรื่องการฟังเรานำไปใช้ในคนในครอบครัวของเราได้ ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าท่านเป็นคนละเอียด ท่านก็จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ได้”
              หลังจากพักเที่ยงเรียบร้อยประมาณบ่ายโมงกว่าทุกคนก็เข้ามารวมตัวกันในห้องประชุมเพื่อปฏิบัติการต่อในช่วงบ่าย น้องปูเป้ เปิดช่วงบ่ายด้วยกิจกรรม“ผ่อนพักตระหนักรู้” นอนสมาธิ  จริง ๆ แล้ว กิจกรรมนี้เป็นการผ่อนพักนอนอย่างมีสมาธิเพื่อการเตรียมความพร้อม เตรียมร่างกายให้สดชื่นพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อในช่วงบ่าย หลังจากกิจกรรมผ่อนพักเสร็จนั้นผู้เขียนก็เข้าไปยึดเวทีโดยการพาผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมยืดเส้นยืดสายต่อ
             จากนั้นพี่ทรงพล ได้สรุปกิจกรรมสิ่งที่ได้เรียนรู้ในภาคเช้าที่ผ่านมา และต่อด้วยให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่อ  กิจกรรมนี้ เป็นการสร้างปฎิมากรรมจากหนังสือพิมพ์  (เป็นกิจกรรมที่ใช้สำหรับการดึงศักยภาพในตัวคน การรู้จักใช้จินตนาการ  การให้คุณค่า ให้ความหมาย การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม)  โดยให้แบ่งกลุ่ม ๆ ละ 4-5 คน แล้วแจกกระดาษหนังสือพิมพ์ให้แต่กลุ่ม ให้สร้างผลงานประติมากรรมร่วมกัน ๑ ชิ้นใหญ่ โดยระหว่างที่ทำห้ามมีการพูดคุยกัน ให้สื่อสารกันโดยใช้ท่าทาง  เมื่อทำประติมากรรมเสร็จแล้ว ให้พูดคุยปรึกษาว่าจะตั้งชื่อปฏิมากรรรมว่าอะไร และจะให้ความหมายงานชิ้นนั้นว่าอย่างไร  ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มอธิบายความหมายงานกลุ่มตัวเอง
              สิ่งที่สังเกตเห็นคือ การอธิบายขั้นตอนการทำกิจกรรมนี้ ต้องใช้ความช้าและอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อผู้ปฏิบัติจะได้ทำความเข้าใจไปทีละขั้นตอน  กิจกรรมที่ออกมาสำหรับกลุ่มนี้ เป็นผลงานที่ออกมาแบบไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร เป็นแบบเรียบ ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก  การให้ความหมายต่อประติมากรรมโยงไปในเรื่องการทำงานร่วมกัน การทำงานเป็นทีม เป้าหมายของการทำงาน
              หลังจากนั้นก็มีการถอดบทเรียน สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ ได้อะไร รู้สึกอะไร แต่ละคนก็แสดงความรู้สึกความคิดเห็น ท่าทางชักจะสนุก ดูแต่ละคนมีความตั้งใจให้มุมมองที่แตกต่างกันไป ลักษณะการพูดแต่ละคนดูแล้วไม่ใช่มือใหม่หัดขับเลย เหมือนเป็นผู้ที่ผ่านการพูดในคนหมู่มากมาพอสมควร มุมมองข้อคิดเห็นก็เรียกว่าไม่แพ้ใคร ถ้าอย่างงั้นมาต่อด้วยกิจกรรมนี้เลย
การหาสิ่งของแทนตัว โดยให้แต่ละคนไปเลือกสิ่งของอะไรก็ได้ที่จะสื่อความหมายแทนตัวเอง หยิบมาแล้วมานั่งในวง เมื่อมานั่งครบทุกคนแล้วก็เริ่มให้แต่ละคนอธิบายความหมายสิ่งของที่หยิบมาแทนตัวตนของตัวเอง ( ที่หยิบมาจะมีดอกไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน ...) เมื่อให้ความหมายเสร็จแล้วให้นำสิ่งของนั้นไปวางไว้กลางวง... วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ เพื่อให้แต่ละคนแสดงตัวตนออกมาเพื่อให้คนอื่นรู้จักมากขึ้น โดยการบรรยายสรรพคุณตัวเองผ่านวัตถุสิ่งของ ว่างั้นเถอะ   ผู้เข้าร่วมในวงนี้ให้ความหมายสิ่งของแทนตัวเองได้ตามความรู้สึกแทนตัวตนได้ดีพอสมควร ถึงจะเป็นสิ่งของอย่างเดียวกัน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบไม้) แต่การให้ความหมายก็จะต่างมุมกันออกไป...เมื่ออธิบายสื่อแทนตัวเองครบทุกคน น้องปานก็ถามความรู้สึกว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไรและได้อะไรจากกิจกรรมนี้  ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า“ ได้รู้จักกันคนอื่นมากขึ้น ได้ความรู้สึกดี ๆ ได้พลัง...” 
ขั้นความตึงเครียดของสมอง ด้วยกิจกรรมเบาๆ เป็นการถ่ายทอดพลังความปรารถนาดี  เพื่อให้ทุกคนถ่ายถอดพลังความปรารถนาดีให้กับเพื่อน ๆ ให้กับคนที่อยู่รอบข้าง
            จากนั้น ก็พาเข้ากิจกรรมการเรียนรู้ต่อมาคือ วาดรูปวงกลมโดยไม่ยกปากกา โดยให้แต่ละคนวาดรูปวงกลมใหญ่ ๑ วง และให้จุดเล็กอยู่ตรงกลางวงกลมใหญ่ ๑ จุด  มีกติกา ให้วาดออกมาให้เป็นรูปดังกล่าวโดยห้ามยกปากกาขึ้น...ปรากฏว่า ไม่มีผู้เข้าร่วมคนใดทำกิจกรรมนี้ผ่านไปได้ (คิดตั้งนาน) วิทยากรจึงได้เฉลยวิธีการวาด อ๋อ! ที่แท้ก็ทำอย่างนี้เอง...กิจกรรมนี้นำโยงไปถังเรื่องการคิดนอกกรอบ การแซะร่องความคิด การกล้าออกไปจากความเคยชิน ถ้าคิดนอกกรอบจะสามารถทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้  สามารถทำอะไรได้อีกเยอะ
             จากนี้พี่ทรงพลได้สรุปสิ่งที่เรียนวันนี้ว่า
๑.      ความรู้กับการจัดการความรู้ (ความรู้คืออะไร ท่านเข้าใจว่าความรู้คืออะไร )
๒.      กิจกรรมการฟัง (หลักการฟัง การฟังที่มี่คุณภาพและมีประโยชน์
๓.      ปฏิมากรรมจากหนังสือพิมพ์ (เป็นการเปิดศักยภาพ ดึงศักยภาพในตัวคน)
๔.      กิจกรรมวาดรูปวงกลุ่ม (การคิดนอกกรอบ)
             “ การเรียนรู้ที่ดี คือต้องพาเข้าไปสู่ภาวะความเป็นเด็ก เพราะเด็กไม่มีกำแพงกั้น  ความรู้ขึ้นอยู่กับการฟังและการคิด  การคิดแบบเชื่อมโยง การคิดแบบเห็นช้างทั้งตัว ถ้าเรารู้จักอะไรดี เราจะจัดการมันได้ แต่ส่วนใหญ่เราไม่รู้จักมันจริงเราจึงแก้ไม่ได้ เราต้องรู้จริงรู้แจ้ง เช่น ระบบรถยนต์ เราไม่รู้ระบบรถยนต์เราจึงแก้ไขเวลามันเสียได้ (ขับได้แต่ถ้าเสียแล้วแก้ไม่ได้)”
               จบภาคบ่ายเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น พวกเราพร้อมด้วยท่านนายก อบต. ก็ได้นั่งล้อมวงถอดบทเรียนเวทีในครั้งนี้ พร้อมกับวางแผนงานในวันรุ่งขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่าแผนวันพรุ่งนี้ยังได้คุยถึงแผนงานที่ สรส. และ อบต. ต้องทำร่วมกันต่อเนื่องต่อไป โดยให้ท่านนายกเตรียมคนที่จะเป็นคณะทำงานและเป็นผู้ประสานงานกับ สรส. (เรียกว่าวางแผนงานและวางแผนการจัดทัพกำลังคนไปพร้อมกันเลยทีเดียวให้เบ็ดเสร็จ) คุยถึงเกือบจะ ๖ โมงเย็นจึงได้หยุดเพื่อเตรียมตัวกับอาหารเย็น
ภาคกลางคืนหลังจากทานอาหารเย็นเสร็จ (โอ...ขอบอกที่นี้อาหารอุดมสมบูรณ์มาก) ก็เดินย่อยอาจารย์อยู่แถว ๆ บริเวณ อบต.นั่นเอง จนกระทั่งเวลาเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ทั้งหมดก็มารวมกันที่ห้องประชุม
              เริ่มกิจกรรมเตรียมพร้อม : การนับเลข (นับพร้อมกับนำมือตบที่หน้าอก /ตบกลับไปกลับมา)
เมื่อทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมเสร็จน้องปานก็นำตั้งวงคุยสนทนา โดยเปิดประเด็นกว้าง ๆ  “งานกับชีวิต” โดยน้องปานเป็นผู้นำกระบวนการในวง
            ก่อนมีการสนทนาน้องปานได้ให้กติกาการสนทนาในกลุ่ม  คือ  ถอดหมวก  ห้อยแขวน ไม่มีวาระตายตัว แบ่งปันการสนทนาในวง ฟังอย่างลึกซึ้ง เว้นวรรค ชื่นชอบความเงียบ  (การเริ่มสนทนาโดยไม่บอกกติกาก่อน หรือบอกกติกาก่อนเริ่ม จะมีผลแตกต่างกันอย่างไร? บอกก่อนก็งง หรือไม่บอกก่อนก็งง - เหมือนกัน)
            ข้อสังเกตต่อวงสนทนา : เป็นการเล่าเรื่องการทำงานที่ตัวเองทำอยู่ ปัญหาอุปสรรคในการกับการแก้ปัญหาในการทำงาน  ความภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองทำ หลังจากที่ฝันฝ่าอุปสรรค (ท่าทางตอนเล่า เล่าด้วยความภาคภูมิใจมาก)  และวิธีการคิด วิธีการมองต่อปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น วันนี้แก้ปัญหาได้แล้ว ภาคภูมิใจมาก ขอแบ่งปันประสบการณ์ที่ดี ๆ 
            เวลาประมาณ ๒ ทุ่มครึ่งก็ปิดเวทีสำหรับวันนี้ ต่างก็แยกย้ายกันไปและนัดเจอกันพรุ่งนี้ ส่วนทีมพวกเราได้ไปพักที่เขื่อนทับเสลา ซึ่งห่างจากที่ประชุมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยท่านนานก อบต. ได้กรุณาขับรถนำทางรถตู้พวกเราไปส่งถึงที่พัก เมื่อส่งพวกเราเรียบร้อยแล้วท่านก็ขับรถกลับ เป็นความกรุณาจริง ๆ ขอบคุณค่ะ ไปถึงเขื่อนประมาณเกือบ ๓ ทุ่ม มืดมาก เจ้าหน้าที่ที่นั่นพาพวกเราไปยังเรือนพัก เป็นบ้านชั้นเดียวทรงแปดเหลี่ยมมี ๓ ห้องนอน ๒ ห้องน้ำ มีห้องโถงรวม มีห้องน้ำภายนอก บรรยากาศรอบ ๆ เท่าที่มองเห็นผ่านความมืดในขณะนี้ ก็ไม่เห็นอะไรมากนัก แต่พอจะสัมผัสได้ว่า อากาศดีมาก ฟ้องฟ้าก็มีดาวเต็มไปหมด เข้าห้องพักตามความเหมาะสมอาบน้ำอาบท่าตามอัธยาศัย พอเสร็จก็มานั่งคุยที่ห้องโถงรวมคุยเรื่องงานกันต่อ คนที่ไม่ค่อยเกี่ยวก็ค่อยหายไปจากวงเพื่อเข้าสิงสถิตในห้องนอน  ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเราตกลงกันว่านัดรวมพลตอนเช้าไม่เกิน ๗ โมงเช้าล้อรถเคลื่อนจากที่พักไปห้องประชุม
            รุ่งเช้าวันใหม่ หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จประมาณ ๖ โมงกว่า ๆ (คนอื่น ๆ ก็ทยอยกันตื่น) ผู้เขียนก็เดินออกไปชมวิวทิวทัศน์ ข้างนอก พอจะเดินผ่านประตูออกไปก็เหลือบเห็นรองพระบาทของพี่ทรงพลวางอยู่หน้าประตู ฮั่นแน่ ! แสดงว่าเช้านี้ท่านพี่ของพวกเราท่านได้เสด็จของไปชมวิวแต่เช้าแล้ว (เราก็นึกว่าเราเป็นคนแรกเสียอีก)  รอบ ๆ ที่พัก เห็นเขื่อน เห็นศาลาเล็กๆ อากาศดีเยี่ยม เหมือนฝนจะตก จริงๆ ด้วย สักพักเม็ดฝนก็ค่อยๆ ตกลงมาพร้อมกับพวกเราก็ทะยอยกันขึ้นรถกันครบองค์ประชุม ก็ปิดประตูรถเคลื่อนไปสู่จุดหมายเวลา ๗ โมง ๕ นาทีพอดี ขณะที่รถออกจากที่พักวิ่งมาตามถนน สองข้างทางที่พวกเราผ่านไปเมื่อคืน สังเกตตอนนี้เห็นต้นสักยืนเรียงรายอยู่ข้างทางที่เราผ่านเต็มไปหมด สมกับชื่อ  “อำเภอลานสัก” จริง ๆ ทางที่รถผ่านบางช่วงจะเห็นเด็กนักเรียนกำลังเดินไปโรงเรียนบ้าง ปั่นจักรยานบ้าง อ้อ! ก็วันนี้เป็นวันจันทร์นี่นา
 
วันที่สองของกระบวนการเรียนรู้ (วันที่ ๑๕ พฤษภาคม  ๒๕๔๙)
            เริ่มต้นด้วยกิจกรรมอุ่นเครื่อง เหมือนเช่นเคย เพื่อกระตุ้นการตื่นตัวของร่างกาย กระตุ้นการตื่นตัวของสมองให้พร้อมที่จะเรียนรู้ การเลือกกิจกรรมยามเช้า ควรเป็นกิจกรรมที่เน้นให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายและให้สมองได้ใช้ความคิดความเร็วพอสมควร
            หลังจากนั้นพี่ทรงพล ได้สรุปบทเรียนที่ได้เรียนไปเมื่อวาน คือมีประเด็นหลักๆ อยู่ ๒ ข้อ คือ
๑.      การฟัง  การคิด การพูดคุย อย่างลึกซึ้ง
๒.      การจัดการความรู้ / ความไม่รู้
            จากนั้นแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยวิทยากรให้โจทย์
๑.      เกิดมาเพื่ออะไร  เป้าหมายชีวิตคืออะไร
หลังจากแบ่งกลุ่มย่อยคุยไปสักพัก วิทยากรก็เรียกเข้ามาร่วมกลุ่ม เพื่อถามผลการพูดคุย ( ถึงตอนนี้วิทยากรพยายามพูดกระตุ้นให้ทุกคนได้พูดได้แสดงความคิดเห็น “อยากให้ทุกคนได้พูด ใครพร้อมก็พูดได้เลยครับ”) ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม
        เกิดมาเพื่ออะไร ตอนแป็นเด็กเกิดมาเพื่อความสนุก พอโตขึ้นเกิดมาเพื่อรับผิดชอบ / เกิดมาเพื่อสิ่งดี ๆ เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดใฝ่หาสิ่งดี ๆ ให้ชีวิต / เกิดมาเพื่อช่วยเหลือสังคม แต่ครอบครัวต้องพร้อม / เกิดมาเพื่อเรียนในสิ่งที่อยากจะรู้ เพื่อการดำเรงชีวิตที่จะอยู่รอด ๑ เกิดมาเพื่อใฝ่หาความรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ สร้างความดี เป้าหมายทำให้เกิดผลสำเร็จในชวิต การงานสังคม ให้อยู่ดีกินดี /เกิดมาเพื่อทำความดี เป้าหมายอยากเป็นเกลือที่รักษาความเค็ม เป็นแสงสว่าง / เป้าหมายพออยู่พอกิน ดำรงชีวิตในโลกแบบมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน”
๒.      ชีวิตที่มีความสุข คืออะไร หมายถึงอะไร
         “ เห็นคนรักกัน มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ การกินดีอยู่ดีมีพร้อมในชีวิต  มีความสุขในสิ่งที่เราคาดหวัง ได้ตามที่เราปรารถนาตามที่เราอยากได้  ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน” (สำเร็จหรือไม่สำเร็จดูจากอะไร : วิทยากรถามสาวลึกลงไปเพื่อชวนคิดให้ลึกลงไปอีก)
          พี่ทรงพล ได้กล่าวโดยสรุปว่า ความสุขมีหลายประเภท “เราตกผลึกในชีวิตหรือยัง” ตกผลึก หมายถึง ความชัดเจน ถ้าเราชัดเจนเราจะแน่นมั่นคง  ถ้าเรามีความมั่นคงจะทำให้เราเชื่อมโยงกับการให้คุณค่าและความหมายสิ่งรอบตัว ตรงนี้ อยากให้เรามั่นทำเพื่อความสุขของตัวเอง และโยงไปสู่ชุมชนซึ่งเป็นอีกระดับ ถ้าเราจะมีความสุขในการทำงาน เป้าหมายของตัวเองและเป้าหมายของชุมชนต้องเป็นเป้าหมายเดียวกัน ถ้าไม่เป็นเป้าหมายเดียวกันมันจะทำให้เรามีปัญหา ผลที่เกิดต้องเป็นประโยชน์ต่อเราต่อชุมชน  ความสุขของคนมีต่างกัน ความพอเพียงของแต่ละคนไม่เท่ากันไม่เหมือนกัน พอเพียงระดับไหน พอเพียงตามสภาพแวดล้อมของตัวเอง (วิทยากร เน้นให้คิดคิดให้ตกผลึกแล้วมองสิ่งรอบข้างมองให้เชื่อมโยงให้เกิดคุณค่าและความหมาย ให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสได้ฉุกคิด)  กระบวนการปักธงชีวิต อยากให้เด็กรุ่นลูกให้ปักธงตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้แกว่งทำอะไรก็ตามเราต้องพิจารณาคุณค่าประโยชน์ให้ถ่องแท้ เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์...ทุกฝ่ายมีประโยชน์ร่วม ประโยชน์ทางด้านปัญญา ทุกคนรู้เท่ารู้ทัน มีความพอเพียง ความพอเพียงคือได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ต้องเชื่อมโยงกับความสมดุลของชีวิต เชื่อมไปสู่ความสุขของชุมชนตำบล ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าความสุขของเราคืออะไร ความสุขในการกินเป็นอยู่เป็น กินของที่มีคุณค่ามีประโยชน์ กินแบบมีปัญญา (เช่น ผักพื้นบ้านกินเป็นหญ้าได้) การมีความรู้เข้าใจจะนำไปสู่ความพอเพียง ต้องพยายามทำความเข้าใจและฝึกฝน ถ้าเราเข้าใจตรงนี้อย่างลึกซึ่ง เราจะต้องพัฒนาไปด้วยของจริงชีวิตจริงของเรา เรียนรู้จากของจริง เริ่มจากตัวเราเอง ใช้ปัญญาว่าเราควรจะวางอะไร อย่างไร ถ้าทำได้ประโยชน์จะเกิดกับเราเป็นอันดับแรกและขยายผลไปสู่คนข้างเคียง กระบวนการจัดการความรู้มันจะเริ่มจากตัวเราแล้วค่อย ๆ เชื่อมสู่เรื่องอื่น ต้องเห็นประโยชน์ตัวเองประโยชน์คนอื่นชัด ๆ ถ้าเห็นชัดมันจะเคลื่อนไปได้ ต้องทำตรงนี้ให้ชัดและเห็นคุณค่า “การสร้างความสมดุล งาน ชีวิต ชุมชน ต้องใช้ปัญญาในการสร้าง”  อบต. จะสนับสนุนคนดี คนมีใจไว้ในชุมชนได้อย่างไร” (เป็นคำถามในใจของวิทยากร)
จากนั้นเปิดโอกาสให้ที่ประชุมพูคุยแลกเปลี่ยนกัน พี่ทรงพล แค่ตั้งประเด็นชวนคุยเพื่อเป็นการแซะร่องใหม่ ๆ และก็ชวนคุยเพื่อสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม” ( ทำอะไรก็ต้องมีเป้าหมายร่วม)  คุยถึง เป้าหมายชีวิต เป้าหมายครอบครัว และเป้าหมายชุมชนเป็นสุข
โดยเป้าหมายชุมชนเป็นสุข ที่ได้ระดมความคิดเห็นในเวที คือ
“ความสามัคคี มีอยู่มีกิน เศรษฐกิจพอเพียง รู้เท่า รู้ทัน  ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ให้ความร่วมมือกับส่วนร่วม สุขภาพแข็งแรง คิดร่วมกับคนในชุมชน และการสร้างวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม”
            จากนั้น พาผู้นำเรียนรู้โดยผ่านกิจกรรมแม่น้ำพิษ   ซึ่งจากกิจกรรมนี้ ทำให้เห็นว่า  งานที่จะสำเร็จจะต้อง
a.       มีเป้าหมายชัดเจน
b.      มีการวางแผน
c.       มีความกล้าที่จะทำลองในสิ่งใหม่
d.      มีผู้นำผู้ตาม การยอมความเสียสละ
e.      มีความอดกลั้น
            พี่ทรงพล ได้ให้แง่คิดเพิ่มเติมว่า “คนที่จะไปถึงความสำเร็จไม่ใช่ง่าย ๆ อยากลงทุนน้อยแต่อยากได้เยอะ ความสำเร็จของงานที่ยาก ถ้ายากยิ่งต้องใช้ความสามารถความมุ่งมั่นของทีมงาน เพราะมีเป้าหมายร่วมกัน “ท่านอยากไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเปล่า” ปัจจัยที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย  เป้าหมายที่จะทำเกิดคุณค่า เกิดประโยชน์ต่อตัวเองต่อชุมชนอย่างไร”
           ต่อมาถือเป็นกิจกรรมการเรียนรู้สุดท้าย เป็นการเรียนรู้โดย วิธีการแบ่งกลุ่มย่อย คือ ให้ผู้เสนอประเด็นเป็นหลัก จากนั้นให้ผู้สนใจตามประเด็นเข้ากลุ่มที่ตัวเองสนใจ แต่ละกลุ่มจะมีอุปกรณ์คือ ปากกาและกระดาษฟลิบชาร์จ  วัตถุประสงค์ของการแบ่งกลุ่มพูดคุยกันตามประเด็นที่ตัวเองสนใจ นอกจากจะได้เนื้อหาสาระจากการพูดคุยแล้ว การแบ่งกลุ่มย่อยครั้งนี้ยังเป็นการฝึกการคิด ฝึกการเขียน ฝึกการนำเสนอ การพูด การอธิบายการสื่อสารไปในกิจกรรมด้วย เรียกว่า “ได้ประโยชน์หลายสถานในการเดียว”   เมื่อแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นในกลุ่มเสร็จแล้วนำเสนอโดยตัวแทนแต่ละกลุ่ม   กลุ่มที่ ๑ กลุ่มสุขภาพ    กลุ่มที่ ๒ กลุ่มการมีอยู่มีกิน (เศรษฐกิจพอเพียง)    กลุ่มที่ ๓ กลุ่มการคิดร่วมกัน (ความสามัคคี การมีส่วนร่วม)   กลุ่มที่ ๔ กลุ่มสิ่งแวดล้อม (การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์)    และกลุ่มที่ ๕ กลุ่มวัฒนธรรมประเพณี
            สุดท้ายพี่ทรงพล ก็พยายามจับประเด็น และนำเสนอให้เห็นว่า...
·          เรื่องสุขภาพ (สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพทางปัญญา  สุขภาพทางสังคม) เกี่ยวข้องกับเรื่อง อาหารการกิน สมุนไพร การออกกำลังกาย ออกกำลังกายตามวัยเพื่อสุขภาพ การดูแลสุขภาพต้องรู้จักการกิน กินตามวัย กินอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ต้องมีวิธีการที่จะทำให้ร่างกายดี จิตใจแจ่มใจ สุขภาพทางปัญญา คือ ความรู้ที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น  สุขภาพทางสังคม คือการไม่มีปัญหาทางสังคม ไม่มีเรื่องยาเสพติด ไม่มีเรื่องทะเลาะ เรื่องสุขภาพมีเรื่องที่จะเรียนรู้และจัดการความรู้เยอะ คนที่จะเรียนรู้เรื่องสุขภาพอย่างน้อยที่สุดก็ได้แก่ตัวเอง การจะเปลี่ยนแปลงการพัฒนาคนอื่นจะต้องเริ่มที่ตัวเอง ปักธงและมีแกนนำพาเรียนรู้
·          เรื่องการมีส่วนร่วม ส่วนร่วมของคนในครอบครัว และส่วนร่วมของคนในชุมชน ต้องหันกลับไปดูกิจกรรมของคนในครอบครัวของเรามีส่วนร่วมดีหรือยัง ใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร มีความร่วมมือดีพอหรือยัง ถ้าเข้าใจความร่วมมือในครอบครัวต้องเข้าใจว่าจะต้องมีความรัก ความเอื้ออาทร ถ้าเราจะสร้างในชุมชนเราจะสร้างอย่างไร เราต้องรู้วิธีสร้างความร่วมมือในส่วนเล็กๆ ก่อน เราจะมีวิธีการเรียนรู้ และกุศโลบายอย่างไรให้เกิดความร่วมมือในครอบครัวและชุมชน คนทำเรื่องนี้ต้องมาวิเคราะห์เหลียวหลังแลหน้า มองว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร เหตุจากปัจจัยอะไรมองคิดแบบลึกถึงรากปัญหา
·          เรื่องวัฒนธรรมประเพณี เป็นเครื่องยึดโยงระหว่างเรากับบรรพบุรุษ  และยึดโยงระหว่างเรากับสังคมเรามีประเพณีกราบไหว้บรรพบุรุษสืบทอดเป็นวัฒนธรรมประเพณี มีการถ่ายทอดให้คุณค่าและความหมายของประเพณี คนที่จะทำเรื่องนี้ต้องถอดรหัสอธิบายให้เห็นประโยชน์วัฒนธรรมประเพณี คุณค่าและความหมายของประเพณี ประเพณีซ่อนความดีความงามอะไร หาคุณค่าที่แท้จริงแล้วถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่
·          เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ๕ เรื่อง คือ เรื่องการผลิต ผลิตสินค่าที่ต้นทุนต่ำและไม่ทำลายงานสิ่งแวดล้อม /การบริโภค การกิน ทุกคนต้องมาเรียนรู้เรื่องประหยัด เรามีความเรื่องการกินอยู่เป็นหรือยัง อะไรที่ควรกินและไม่ควรกิน /การชื่อขายแลกเปลี่ยน สมัยก่อนใช้ของเป็นการแลกเปลี่ยนกัน /ระบบการเงินและการจัดการทุน เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนชุมชน ในชุมชนเราจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ทำใอย่างไรให้การจัดการกลับมาเป็นฐานสำคัญในการจัดการสวัสดิการให้กับชุมชนชุมชนต้องลุกขึ้นมาดูแล เรื่องเศรษฐกิจชุมชนมีเรื่องที่ต้องให้ทำอีกเยอะ (สังเกตข้อมูลจากแผนแม่บทชุมชน ปริมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครัวเรือน) จากข้อมูลค่าใช้จ่ายจะเป็นโอกาสในการคิดเรื่องการจัดการระบบค่าใช้จ่ายใหม่ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องการจัดการค่าใช้จ่าย) ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีโอกาสคิดและคิดตก
·          เรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์    ถ้านึกถึงเราเป็นประเทศลานสัก เราจะนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์อย่างไร ต้องเริ่มดูว่าลานสักมีดีอะไร สิ่งแวดล้อม วัด จ

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 30101เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2006 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีวิสัยทัศน์แค่นี้ก็ออกมาโม้ จริงอย่างคุณทรงพลพูด ในโลกนี้ยังมีบางสิ่งที่ยังมองไม่เห็น ไอ้ที่ยังมองไม่เห็นอาจส่งผลดีกับคนบางกลุ่มคน เคยได้ยินคำนี้ใหมมีวิสัยทัศน์กว้างไกลแต่ใจ..............

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท