"ตายก็เพราะปาก..รอดตายก็เพราะปาก.."


แม้ว่าปากจะมีคุณอนันต์..ปากนั้นก็มีโทษมหันต์เหมือนกัน โดยเฉพาะการใช้ปากเพื่อพูดคุยเจรจา ถ้าพูดดีก็เป็นศรีแก่ปาก แต่ถ้าพูดมากปากก็จะเป็นสี

         ปาก..เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่สำคัญมากทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  เราใช้ปากในการขบเคี้ยวอาหาร  เราใช้ปากในการพูดคุยติดต่อสื่อสารกับคนอื่น  เราใช้ปากเพื่อประโยชน์หลาย ๆ อย่างมากมาย  แต่แม้ว่าปากจะมีคุณอนันต์..ปากนั้นก็มีโทษมหันต์เหมือนกัน  โดยเฉพาะการใช้ปากเพื่อพูดคุยเจรจา  ถ้าพูดดีก็เป็นศรีแก่ปาก  แต่ถ้าพูดมากปากก็จะเป็นสี..

         สุภาษิตไทยที่ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก” ก็บ่งบอกว่า  คนที่ปากไม่ดีชอบพูดพล่อย ๆ รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือพูดแสดงความอวดดี จนตัวเองต้องรับเคราะห์ก็เพราะปากของตนเอง  จริง ๆ แล้ววันนี้ อาตมภาพอยากจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโทษของการพูดการจาที่ไม่ดี พูดไม่ถูกกาลเทศะ หรือการพูดโดยไม่คิด  ซึ่งทำให้เกิดโทษมากมายทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทีเดียว

         การพูดนี้..  ทำให้คนรักกันก็ได้  ทำให้คนเกลียดกันก็ได้  ทำให้คนเป็นสุขก็ได้  ทำให้คนเป็นทุกข์ก็ได้  ทำให้คนมีกำลังใจก็ได้  ทำให้คนหมดกำลังใจก็ได้  ทำให้คนพูดมีชีวิตอยู่ก็ได้  หรือทำให้คนพูดตายก็ได้  ดังจะยกนิทานธรรมเรื่องปาก(พูด)ดีและปาก(พูด)ไม่ดีเป็นตัวอย่าง คือ ตายเพราะปาก รอดตายก็เพราะปาก  

         เรื่องมีอยู่ว่า..กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในป่าลึก มีสิงโตอยู่ตัวหนึ่งซึ่งดุร้ายและชอบกินเนื้อสดเป็นอย่างมาก จนไม่มีสัตว์ในป่าตัวใดอยากเข้าใกล้มัน

         วันหนึ่งมันอยากรู้ว่ากลิ่นปากของตนเองนั้นเป็นเช่นไรมันจึงเดินไปตามป่าเพื่อถามสัตว์ต่าง ๆ ดู  เมื่อสิงโตพบแกะตัวหนึ่งมันจึงเอยถามขึ้นว่า "เจ้าแกะ! กลิ่นปากของข้าเป็นอย่างไร"

         แกะเป็นสัตว์ซื่อ ๆ จึงตอบไปตามความเป็นจริงว่า "กลิ่นปากของท่านเหม็นมาก" 

         สิงโตเมื่อได้ฟังคำตอบนั้นก็โกรธมาก จึงฆ่าแกะตัวนั้นเสีย

         ต่อมาสิงโตได้พบกับสุนัขจิ้งจอกอีกตัวจึงถามคำถามเดียวกันว่า”เจ้าจิ้งจอก..กลิ่นปากของข้าเป็นอย่างไร"

         สุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์จึงตอบแบบเยินยอว่า "กลิ่นปากของท่านช่างหอมเสียนี้กระไร"

         สิงโตรู้ว่านั้นเป็นคำโกหกปลิ้นปล้อนกะล่อนตอแหล จึงฆ่าสุนัขจิ้งจอกเสีย

         ต่อมาสิงโตก็พยายามจะสอบถามสัตว์ตัวอื่นในป่าอีกแต่ก็ไม่มีสัตว์ตัวใดกล้าจะเข้าไปคุยด้วย จนกระทั้งมีลิงตัวหนึ่งพบกับสิงโตซึ่ง ๆ หน้า

         เจ้าลิงรู้ว่ามันคงจะหาทางเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วจึงเข้าไปหาสิงโต

         มันสังเกตว่า ตัวของสิงโตนั้นมีกลิ่นคาวเลือดสด ๆ อยู่แสดงว่าเพิ่งจะฆ่าสัตว์มาไม่นานนัก 

         สิงโตก็ถามคำถามเดิมว่า "เจ้าลิง! กลิ่นปากของข้าเป็นอย่างไร"

         ด้วยความฉลาดลิงจึงตอบกลับไปว่า "ข้าคงบอกท่านไม่ได้หรอก เพราะข้าเป็นหวัดจมูกไม่ดีนะ"

         สิงโตจึงปล่อยลิงไป เพราะพูดดีตามสถานการณ์

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายแต่คนพูดความจริงก็จะตายเหมือนกรณีแกะ การพูดยกยอเกินจริงก็จะทำให้ตัวเองตายได้เหมือนกับกรณีจิ้งจอก  ทางที่ดีคือ การใคร่ครวญพิจารณาก่อนแล้วจึงพูดตามกาลเทศะก็จะให้ชีวิตพ้นภัยได้เหมือนลิงทีเดียว

         เพราะฉะนั้น สังคมไทยเราทุกวันนี้  ถ้าพิจารณาให้ดี ๆ แล้ว ที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ ในปัจจุบันสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  การพูดการจาที่ไม่ค่อยดีนัก  กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ  ซึ่งเป็นการผิดศีลข้อที่ 4 อย่างเห็นได้ชัด  พูดโดยไม่รู้ว่าเรื่องพูดเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เป็นคำส่อเสียดยุยงให้แตกแยกหรือเปล่า เป็นคำไม่สุภาพหรือเปล่า หรือแม้แต่เป็นคำที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่  ทำให้สังคมเราเป็นทุกข์ไม่สงบร่มเย็นดังเคย  ก็เป็นเพราะการพูดที่ไม่ดีนั่นเอง  ดังนั้น อาตมภาพเองต้องการที่จะให้คุณโยมทั้งหลายได้เห็นความสำคัญของการพูดหรือศีลข้อที่สี่สักนิดว่า  ต้องคิดก่อนพูดนะ  คือ พูดแต่คำที่เป็นจริง คำเป็นเหตุให้สามัคคี เป็นคำสุภาพ และเป็นประโยชน์เท่านั้น  นะโยม

เว็บไซต์อ้างอิง    http://aagth1.exteen.com/20070819/entry

หมายเลขบันทึก: 300566เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท