พระสงฆ์กับความเป็นครู


          บุคคลที่ชาวโลกทั้งหลายยอมรับเทิดทูนบูชา กราบไหว้ด้วยความสนิทใจ ความเลื่อมใสให้ความเคารพ นอบน้อมด้วยกาย วาจา ใจ อย่างไม่มีเสื่อมคลาย ท่านผู้นั้นชาวโลกทั้งหลายให้นามว่า ครู

          ครู ท่านผู้รู้ได้ให้ความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้มีใจหนักแน่นเหมือนศิลา ผู้ควรแก่การเคารพ ผู้ลอยเด่นดุจพระจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอก ผู้เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติ  บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นครู  พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

          พระองค์ได้รับพระสมัญญาจากชาวโลกว่า “สมเด็จพระบรมครู” เพราะพระองค์ประกอบด้วยพระคุณ 3 ประการ คือ

          พระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างหาประมาณมิได้

          พระวิสุทธิคุณ ทรงมีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งทางกาย วาจา และใจ

          พระปัญญาธิคุณ ทรงมีพระสติปัญญาล้ำเลิศที่ล่วงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

และเพียบพร้อมด้วยพระคุณทั้ง 9 คือ

          1. เป็นผู้ห่างไกลจากิเลสเครื่องเศร้าหมองมีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

          2. เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เองไม่มีใครเป็นครู

          3. เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความรู้และอาจาระ

          4. เป็นผู้เสด็จไปดี คือ เสด็จไปถึงที่ไหนก็ทรงนำความสุขไปสู่ที่นั้น ทรงรู้แจ้งโลก คือ ทรงรู้การจุติ  การเกิด  และการตายของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

          5. เป็นผู้ฝึกอบรมชี้แนะอันประเสริฐยากที่จะมีใครเสมอเหมือน

          6. เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ ทรงสั่งสอนประชาชนให้บรรลุประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า และประโยชน์อันสูงสุด คือ นิพพาน

          7. เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ เบิกบานพระทัย คือ ทรงตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตาม

          8. เป็นผู้แจกหรือจำแนกธรรม คือ ทรงจำแนกธรรมสำหรับมนุษย์และเทวดาซึ่งเรียกว่า มนุษยธรรมและเทวธรรม

          9. เป็นพระสัพพัญญู คือ ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยพระปัญญาที่ไม่ติดขัดอันหาที่สุดมิได้ ชาวโลกจึงพร้อมใจกันถวายพระนามแด่พระองค์ว่า “สมเด็จพระบรมครู

 

          มารดาบิดา ได้รับการยกย่องจากชาวโลกว่า เป็นครูคนแรกของโลก เพราะท่านทั้งสองสอนให้บุตรธิดารู้จักเรียกบุคคลนั้นว่า ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ ลุง ป้า น้า อา สอนให้ละชั่ว ประพฤติดี  ให้การศึกษาก่อนกว่าใครทั้งหมด ชาวโลกจึงยกย่องท่านทั้งสองว่า บุรพาจารย์ คือ เป็นครูคนแรกของโลก

          ครู ผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม ได้รับการยกย่องว่าเป็นพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของชาติ เป็นผู้สอนอักขระ พยัญชนะ พร้อมทั้งวิชาความรู้อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาเล่าเรียนในชั้นสูงต่อไป เยาวชนของชาติจะมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีความรู้ดี และเพียบพร้อมด้วยอาจาระก็ขึ้นอยู่กับครูเป็นสำคัญ  เพราะรัฐบาลของทุกประเทศได้มอบหมายไว้วางใจให้ครูเป็นผู้สร้างเยาวชนของชาติ   เพราะฉะนั้น  ครูจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น        ทุติยาจารย์  เป็นครูคนที่สองของโลกรองลงมาจากมารดาบิดา

          อาจารย์ผู้สอนในระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบสูงในการที่จะผลิตบัณฑิตให้ออกไปรับใช้ประเทศชาติ แน่นอนที่สุดบัณฑิตนั้นจะต้องมีความรู้ความสามารถและมีศีลธรรมที่ดี  มุ่งประโยชน์สังคมมากกว่าประโยชน์ตน   เพื่อนำประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง จึงนับได้ว่า อาจารย์เป็น      ปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องบูชาและได้รับสมญานามว่า ตติยาจารย์ คือ เป็นครูคนที่ 3 ของโลก

 

พระสงฆ์กับความเป็นครู

          พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็นครูมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เราจะเห็นได้ชัดก็สมัยพระพุทธเจ้า ทรงส่งพระสาวก 60 รูปออกไปประกาศพระศาสนายังดินแดนต่างๆ ทั่วอินเดีย เป็นการประกาศความเป็นครูครั้งแรกของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์           ในพระพุทธศาสนา และนักบวชของศาสนาพราหมณ์ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาของชาวอินเดียควบคู่กันมาตลอด  แต่การให้การศึกษาของทั้ง 2 ศาสนา แตกต่างกันคือ นักบวชของศาสนาพราหมณ์จะให้การศึกษาเฉพาะชนชั้น 3 วรรณะเท่านั้น คือ พราหมณ์ กษัตริย์  แพศย์  ยกเว้นวรรณะศูทร  แต่พุทธศาสนา พระสงฆ์ได้ให้การศึกษาแก่ทุกชนชั้นวรรณะ เป็นการจัดการศึกที่ให้ความเสมอภาคกันหมด  จำเดิมแต่นั้นมา พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ให้ความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพและให้คุณธรรม คือ ความประพฤติดีปฏิบัติชอบ สำหรับเป็นเครื่องอุปถัมภ์ค้ำจุนวิชาชีพให้เจริญรุ่งเรืองและคงอยู่ตลอดไป

          แม้บางครั้งบางสมัย บทบาทแห่งความเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา และทางด้านวิญญาณที่จะถูกลดลงไปบ้างก็ตาม  แต่พระสงฆ์ท่านก็พยายามที่จะรักษาบทบาทนี้ไว้เท่าที่ความสามารถจะพึงมีทั้งนี้เพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและเพื่อความสงบสุขของประชาชน

 

คุณสมบัติของความเป็นครู

          พระสงฆ์ที่เป็นครู ต้องตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในความเป็นครู ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมบทบาทของตัวเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นพระจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะพระสงฆ์ไม่เหมือนครูทั่วๆ ไปจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการวิชาต่างๆ และเทคนิคในการถ่ายทอด  มีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ นอกจากนี้แล้ว จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

          ก.  เป็นกัลยาณมิตร คือ ประกอบด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตรหรือกัลยาณ-ธรรม 7  ประการ คือ

          1. ปิโย  น่ารัก คือ เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนให้ผู้เรียนอยากเข้าไปปรึกษาหรือไต่ถาม

          2. ครุ  น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

          3. ภาวนีโย  น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริงทรงภูมิปัญญาแท้จริง เป็นผู้ฝึกอบรมตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่องเอาอย่าง

          4. วัตตา รู้จักพูด คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูดอย่างไร แนะนำว่ากล่าวตักเตือนอย่างไร เป็นที่ปรึกษาที่ดี

          5. วจนักขโม   อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม

          6.  คัมภีรัญจะ  กะถัง  กัตตา  แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ กล่าวชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ลึกให้ตื่นได้  และสอนศิษย์ให้รู้เรื่องราวที่ลึกซึ่งยิ่ง ๆ ขึ้น

          7. โน จัฏฐาเน นิโยชเย   ไม่ชักนำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ ไม่ชักจูงในทางเสื่อมเสีย  แนะนำในทางดีเสมอ

          ข.   ตั้งใจประสิทธิ์ประสาธน์ความรู้   โดยตั้งตนอยู่ในธรรมที่เรียกว่า ธรรม-    เทสกธรรม   5 ประการ คือ

          1.  อนุปุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาตามลำดับ ความง่ายยาก  ลุ่มลึก  มีเหตุผล  สัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ

          2. ปริยายทัสสาวี   จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจงยกเหตุผลมาให้เข้าใจในแต่ละประเด็น ให้มองให้เห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล

            3. อนุทยตา   ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยเมตตา มุ่งจะให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน

            4. อนามิสันดร   ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง  คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่จะได้ลาภ หรือ ผลประโยชน์ตอบแทน

            5. อนุปหัจจ์  วางจิตตรงไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหามุ่งแสดงอรรถ   แสดงธรรมไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

          ค.  การดำเนินลีลาครูทั้งสี่   ครูที่สามารถมีลีลาของนักสอน ดังนี้

          1. สันทัสสนา   ชี้ชัด จะสอนอะไรก็ชี้แจงเหตุผลแยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง ดังจูงมือไปดูให้เห็นกับตา

          2. สมาทปนา   ชวนให้ปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรทำก็บรรยายให้มองเห็นความสำคัญและซาบซึ้งให้คุณค่าเป็นสมจริง จนผู้ฟังยอมรับอยากลองทำ หรือนำไปปฏิบัติ

          3. สมุตเชนา   เร้าให้กล้า คือ ปลุกใจ ให้คึกคักเกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจ เข้มแข็งมั่นในที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

          4. สัมปหังสนา   ปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่นแจ่มใสเบิกบานใจให้ผู้ฟังแช่มชื่นมีความหวัง มองเห็นผลดี และทางสำเร็จ

          ง.  มีหลักตรวจสอบสามอย่าง  เมื่อพูดอย่างรวบรัดที่สุด ครูอาจตรวจสอบตนเองด้วยลักษณะการสอนของบรมครู   3 ประการ คือ

          1. สอนด้วยความรู้จริง ทำได้จริงจึงสอนเขา

          2. สอนอย่างมีเหตุผล ให้เขาพิจารณาเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยปัญญาของเขาเอง

          3. สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จความมุ่งหมายของเรื่องที่สอนนั้น ๆ เช่น ให้เข้าใจได้จริงเห็นความจริง ทำได้จริงนำไปปฏิบัติได้ผลจริง เป็นต้น

          จ.  ทำหน้าที่ของครูต่อศิษย์ คือ ปฏิบัติต่อศิษย์โดยอนุเคราะห์ตามหลักธรรมเสมือนเป็น  ทิศเบื้องขวา  ดังนี้

          1. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี

          2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

          3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

          4. ส่งเสริมยกย่องความดีความงามสามารถให้ปรากฏ

          5. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ ฝึกสอนให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพและรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตไปด้วยดี

 

บทสรุป

          พระสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาและทางด้านจิตใจอันได้นามว่าครูแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ใฝ่ใจแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา สนใจข่าวในประเทศและต่างประเทศ  เพื่อปรับตัวเองให้เป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอให้สมกับความเป็นครู           อีกประการหนึ่ง พระสงฆ์ที่เป็นครูจะต้องวางตัวให้เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ได้ และเป็นที่ปลูกศรัทธาให้เกิดแก่ผู้พบเห็น ตลอดทั้งมีความรู้ดี มีความสามารถดี ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า พระสงฆ์ท่านมีเวลาและโอกาสว่างพอสมควร ถ้าหากท่านได้รับความอุปถัมภ์บำรุงสนับสนุนส่งเสริมในด้านการศึกษาอย่างเพียงพอ โดยรัฐยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว พระสงฆ์จะช่วยให้ประเทศชาติและพระศาสนาได้ดีและได้มากทีเดียว เพราะพระสงฆ์เองท่านก็ตระหนักอยู่เสมอว่า ท่านได้รับการบำรุงด้วยปัจจัย 4 จากประชาชนทั่วไป ท่านจะช่วยเหลือทันทีเมื่อท่านมีเวลาและมีโอกาส โดยถือว่าท่านเป็นลูกหนี้ของสังคม เมื่อสังคมเดือดร้อน ท่านจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเท่าที่ความรู้ความสามารถและโอกาสจะอำนวย

          แต่ความจริงก็ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ว่ารัฐและคณะสงฆ์เองไม่ได้ให้ความสนใจอย่างแท้จริงผลก็ปรากฏว่าเราไม่มีพระที่มีความรู้ความสามารถที่จะสอนประชาชนและเด็กตามโรงเรียนต่างๆ  ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่ขอมาแต่พระสงฆ์ก็ไม่สามารถจะสนองความต้องการของโรงเรียนต่างๆ ได้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะหันมาให้ความสนใจถวายความอุปถัมภ์การศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง หรือจะรอให้ทางโรงเรียนต่างๆ ไปเชิญผู้เชี่ยวชาญทาง พระพุทธศาสนาซึ่งสังกัดอยู่ในศาสนาอื่นเข้ามาสอนแทนก็ให้ว่ามา

 

 

หมายเลขบันทึก: 300490เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท