ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี (หน่วยที่ 12) ต่อ


เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี

2.2  เงินกองทุน เว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 183

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ หมายความถึง กองทุนที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสม และเงินที่บริษัทซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายสมทบและให้หมายความรวมถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินดังกล่าว เพื่อจ่ายในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานตามระเบียบของบริษัทว่าด้วยเงินกองทุน เงินที่บริษัทนายจ้างจ่ายสมทบกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

2.3  รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่การกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์ว่า

2.3.1   รายจ่ายเพื่อการสาธารณะประโยชน์ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

1)    การส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

2)   การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วย                 อุทยานแห่งชาติ

3)   การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ

4)    กองทุนสิ่งแวดล้อม การส่งเสริม คุ้มครอง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  การควบคุมป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตราย อันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษของเสียอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

5)    การบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

6)    การก่อสร้างถนน และได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐบาลผู้รับโอนได้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในถนนดังกล่าว

7)    การบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือ  ผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน

8)    การบริจาคทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการให้แก่ส่วนราชการ เพื่อบริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน  

ทั้งนี้รายจ่ายตามข้อ 1) ถึง 8) ต้องเป็นการจ่ายให้แก่กิจการตามโครงการพระราชดำริ หรือของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือองค์การกุศลสาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ดูประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 44, 46, 68,85 และ 129)

2.3.2   รายจ่ายเพื่อการศึกษา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

1)    สถานศึกษา หอสมุดหรือห้องสมุด หรือสถาบันวิจัย ทั้งนี้เฉพาะของทางราชการ

2)    การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นการทั่วไป 

3)    กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างสถานศึกษาหอสมุดหรือห้องสมุดของทางราชการ

4)    สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โดยบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น และสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

2.3.3   รายจ่ายเพื่อการกีฬา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

1)    การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการกีฬา 

2)   คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วยการกีฬา แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด

3)    กรมพลศึกษาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬานักเรียน

4)    สมาคมกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ ในการคำนวณรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา เพื่อการกีฬานั้น (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.52/2537

2.3.4  ค่ารับรองหรือค่าบริการส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

ค่ารับรองที่จะหักเป็นรายจ่ายได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 222 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใน 2542 เป็นต้นไป) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1)   ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย

2)    ค่ารับรองหรือค่าบริการ ต้อง

 2.1)  เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือ การบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก  ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ

2.2)   เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคล ซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ

3)   จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่ายแต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมหรือคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี หรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท

รายได้ที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่ารับรองนั้น หมายถึง รายได้ที่ได้มาจากการดำเนินของกิจการ เช่น ยอดขายสินค้า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล กำไรจากการขายทรัพย์สิน ภาษีที่ได้รับคืนมา ฯลฯ

4)    ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการหรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงินสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร

ข้อสังเกต

1.   ค่ารับรองหรือค่าบริการที่หักเป็นค่าใช้จ่ายให้รวมภาษีซื้อของค่ารับรองหรือค่าบริการด้วยแต่ต้องไม่เกินค่ารับรองหรือค่าบริการในข้อ (2) และข้อ (3)

2.   ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.56/2538 กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีรายจ่ายค่ารับรองในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

ข้อ 1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายเงินดังต่อไปนี้

(1) เงินค่าสมาชิก เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจ่ายล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือ เงินอื่นที่จ่ายไปในลักษณะทำนองเดียวกัน เพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ สโมสรการกีฬา (Sport Club) หรือสโมสรเพื่อการพักผ่อนหรือสันทนาการ (Member Club)

(2) เงินค่าเล่นกอล์ฟ ค่าเล่นกีฬา ค่าตอบแทนเพื่อการพักผ่อน หรือสันทนาการ           ในการใช้สิทธิตาม (1)

หากการจ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง เป็นการจ่ายตามข้อกำหนดในลักษณะเป็นการจำกัดเฉพาะตัวบุคคลบางคนซึ่งเป็นกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้เข้าไปใช้บริการได้ ไม่ว่าจะมี การนำบุคคลอื่นที่มิใช่กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไปใช้บริการด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่ารายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเป็นการส่วนตัวไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3)

หากการจ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง เป็นการจ่ายตามข้อกำหนดเพื่อให้การรับรองลูกค้าหรือบุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) ออกตามความประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ ตามมาตรา 65 ตรี (4) และในการรับรองดังกล่าวเปิดโอกาสให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าไปใช้บริการได้เป็นการทั่วไป ให้ถือว่ารายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่ารับรองที่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) ออกตามความประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ ตามมาตรา 65 ตรี (4)

ข้อ 2กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายเงินตามข้อ 1วรรคสอง ให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นประโยชน์ที่กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 โดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) หรือ (2) ของกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกัน นั้น

ข้อ 3 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมอบสิทธิตามข้อ 1 วรรคสามให้แก่กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันโดยเด็ดขาด ไม่ว่าในกรณีส่วนใดหรือในกรณีการออกจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นประโยชน์ที่กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) หรือ (2) ของกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา หรือบุคคลอื่นในตำแหน่งในลักษณะทำนองเดียวกัน นั้น

ตัวอย่าง บริษัท นัชชา จำกัด จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท และมีเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 25X7 จำนวน 9 ล้านบาท ในปี 25X7 บริษัทมียอดขายสินค้า 3 ล้านบาท และมีค่ารับรอง 160,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็น            ค่าเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทจะหักรายจ่ายค่ารับรองได้เท่าใด

1. เนื่องจากบริษัทมีทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วจนถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจำนวน 9 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสินค้า ซึ่งยอดขายมีจำนวน 3 ล้านบาท จึงใช้ยอดทุน            จดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจำนวน 9 ล้านบาท เป็นฐานใน         การคำนวณค่ารับรอง

2.ค่ารับรองตามกฎกระทรวงถือเป็นรายจ่ายได้ 0.3%×9,000,000 = 27,000 บาท แต่บริษัทได้จ่ายค่ารับรอง 160,000 บาท ซึ่งหักเกินไป 133,000 บาท ดังนั้นบริษัทจึงต้องปรับปรุงโดยบวกเพิ่มในกำไรสุทธิ 133,000 บาท

2.4  รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขยายออกไปหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนกรมสรรพากรถือตามหลักการบัญชีว่ารายจ่ายใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็น การลงทุน ห้ามหักเป็นค่าใช้จ่ายโดยให้หักเป็นค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2)

ตัวอย่าง บริษัท นวียา จำกัด ได้ต่อเติมอาคารสำนักงานของบริษัท โดยการต่อเติมเสร็จเมื่อวันที่ 17 กันยายน 25X9 ราคาต่อเติม 1,825,000 บาท ซึ่งบริษัทจะนำค่าต่อเติมจำนวน 1,825,000 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ เพราะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่บริษัทสามารถนำค่าต่อเติมดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายโดยให้หักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในปี 25X9 ได้ดังนี้

ค่าเสื่อมราคา

=

106

×

1,825,000

×

5

 

=

365

 

100

                                                                       =     26,500 บาท

 2.5    เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ (ก)ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามที่อธิบดีกำหนด) หรือ (ข) ภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2543 และประกาศอธิบดี (ฉบับที่ 42)

 ข้อสังเกต

1.   “เบี้ยปรับ และหรือ เงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับอาญา” หมายถึง เบี้ยปรับ และหรือ เงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น

2.  ภาษีซื้อขอทรัพย์สินที่หักภาษีซื้อไม่ได้ (เช่น รถยนต์นั่ง) หรือทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนในการหักค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาได้

2.6 การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล

2.7เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร

2.8รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปได้

2.9 ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สิน ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง

2.10    ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่างๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง 

2.11    ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ หรือผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ เว้นแต่ขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน 

ข้อสังเกต

1.   สำหรับการนำผลขาดทุนสุทธิไปหักนี้ กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้

1.1  ต้องเป็นผลขาดทุนสุทธิซึ่งได้คำนวณขึ้นตามเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี

1.2 เป็นผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งย้อนหลังขึ้นไปได้ไม่เกินห้าปีนับจากปีปัจจุบัน

1.3 ให้นำผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดขึ้นก่อนนำไปหักจากผลกำไรของรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีผลกำไรก่อน หากปรากฏว่าเมื่อหักกลบกันแล้วยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่กิจการมีสิทธิที่จะนำผลขาดทุนสุทธินั้นหักจากกำไรปีต่อๆ ไปได้อีก แต่ต้องไม่เกินห้ารอบระยะเวลาบัญชี

2.  สำหรับการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งที่ ป.58/2538 ไว้ ดังนี้ 

2.1 กรณีที่ทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้น ก็มีสิทธิ์ตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี

ในกรณีที่ขายทรัพย์สินนั้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำราคาขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

2.2 กรณีที่ทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประสงค์จะตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนได้ดังนี้

2.2.1   กรณีที่ทรัพย์สินสูญหายนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มี             การประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ไว้ กรณีดังกล่าวถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย แต่ได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไปก่อนเช่นนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล จะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมที่ไดรับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิ์หักเป็นรายจ่ายได้แต่ถ้าชดใช้สูงกว่าความเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ จึงต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

2.2.2   กรณีที่ทรัพย์สินสูญหายนั้น ไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ มูลค่าของต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิ์ตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้ สูญหายจริง

2.12    รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ

2.13    รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ 

2.14 ค่าซื้อทรัพย์สิน และรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

2.15   ค่าของทรัพยากรของธรรมชาติที่สูญเสียหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำ

2.16   ค่าของทรัพย์สิน นอกจากสินค้าที่ตีราราต่ำลง ทั้งนี้ภายใต้มาตรา 65 ทวิ

2.17   รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

2.18   รายจ่ายใดๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว

2.19  รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุใน 2.1 ถึง 2.18 ตามที่จะกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

ข้อสังเกต

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ.2540 กำหนดว่ารายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินที่ได้มา หรือที่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป)

1.    มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกินคันละหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่

1.1  ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า หรือ

1.2 ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้ เพื่อการให้เช่าเฉพาะมูลค่าที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2)

คำว่า “ทรัพย์สิน” หมายความรวมถึง ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการซื้อ รวมถึง การเช่าซื้อหรือการซื้อขายเงินผ่อนด้วย

2.  ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะค่าเช่าส่วนที่เกินคันละสามหมื่นหกพันบาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละหนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึงหนึ่งวัน ให้คำนวณค่าเช่าตาม  ส่วนของระยะเวลาเช่า ทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 300486เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท