การสื่อสารทางการเมืองในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทย


การสื่อสารทางการเมือง

การสื่อสารทางการเมืองในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทย 

บาว นาคร*

 

กระบวนการสื่อสารทางการเมืองในปัจจุบันสามารถพิจารณาได้จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม รวมทั้งทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ก่อให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนในสังคม รวมไปถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ดังนั้นกระบวนการสื่อสารทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์จึงมีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยกระบวนการดังกล่าวได้ถูกผสมผสานเข้ากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต วิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมตรงต่อผู้ชม การส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์ เป็นต้น

นอกจากนี้อิทธิพลของแนวคิดด้านการตลาดและการโฆษณาในกระแสโลกาภิวัตน์ยังส่งผลให้เกิดการสื่อสารการตลาดทางการเมืองอย่างกว้างขวางทั่วโลกอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้ “ทุนเข้ามามีความสัมพันธ์กับการสื่อสารและการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก” กลุ่มทุนธุรกิจสื่อสารจึงเป็นกลุ่มทุนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์จนกระทั่งสามารถสร้างเครือข่ายการสื่อสารทางการเมืองซึ่งสามารถชี้นำสังคมได้อย่างรอบด้านในลักษณะจักรวรรดินิยมการสื่อสารนั่นเอง[1]

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า ปัญหาการสื่อสารทางการเมืองไทยมีหลายประการไม่ว่าจะเป็นปัญหาการครอบงำสื่อ ปัญหาการสื่อสารทางการเมืองในแง่ของจริยธรรมของผู้ใช้สื่อ และปัญหาด้านบุคลากรที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน อย่างไรก็ตามแนวโน้มการสื่อสารทางการเมืองไทยนั้น สื่อน่าจะมีความเป็นสาธารณะร่วมกันมากขึ้นอันเนื่องจากการปฏิรูปสื่อรวมทั้งเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 แต่แนวโน้มในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการขับเคลื่อนทางสังคมด้วยกระแสความคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งอาจะส่งผลให้ปัญหาต่างๆได้มีการคลี่คลายได้ด้วยตัวเอง[2]  ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์สังคมการเมืองปัจจุบัน สื่อ คือเครื่องมือที่สำคัญในการช่วงชิงหรือการมีส่วนร่วมและการครอบครองสื่อ นับว่าเป็นหัวใจในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ องค์กรราชการ รวมกระทั่งการเมืองภาคพลเมืองหรือการเมืองภาคประชาชน ก็นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหว ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางราชการ ทางธุรกิจและการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองจึงมีความปรารถนาเหมือนกัน นั่นคือ ความต้องการมีสื่อในครอบครอง ซึ่งหมายถึงมีเครื่องมือหรือมีช่องทางในการสร้างความรู้ความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อกับสาธารณชน[3] จะเห็นได้ว่าผลกระทบต่อสังคมอันเกิดจากอิทธิพลของการสื่อสารมวลชนในการสื่อสารทางการเมืองมีอยู่หลายประการ เช่น ผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคม การจัดระเบียบสารสนเทศทางการเมือง ชนชั้นใหม่ในการสื่อสารทางการเมือง กรรมสิทธิ์ในสารสนเทศทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองและ บทบาทของอำนาจอธิปไตย รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นต้น[4]

เนื่องจากปัจจุบันประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญโดยที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการซึ่งประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้โอกาสแสดงทัศนะและเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาเป็นนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการสื่อสารในระบบเปิด กล่าวคือ เป็นการสื่อสารสองทางทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการซึ่งประกอบไปด้วยการแบ่งสรรข้อมูลร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียและเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจ การลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา เป็นการสร้างฉันทามติ และทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ อีกทั้งช่วยหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้า “กรณีที่ร้ายแรงที่สุด” ช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรม และช่วยให้ทราบความห่วงกังวลของประชาชนและค่านิยมของสาธารณชนรวมทั้งเป็นการพัฒนาความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของสาธารณชน[5] ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ได้บัญญัติ ไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนใน มาตรา 56 -62 เช่น ในมาตรา 56 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ[6] ส่วนประกอบที่สำคัญของการมีส่วนร่วมคือ สาธารณชน “มีส่วนร่วม”ในการตัดสินใจ, ค่านิยมและความห่วงกังวลของสาธารณชนได้นำไปเป็นส่วนประกอบของการตัดสินใจขององค์กร, มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ “เชิงการบริหาร”, มีการสื่อสารสองทาง มีปฏิสัมพันธ์ มีการสานเสวนา (Dialogue) มีการประสานความร่วมมือ[7]

ปัจจุบันประเทศไทยเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติของประเทศนั้น การสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารประเทศอันจะก่อให้เกิดความรุนแรงตามมานั้น สิ่งจำเป็นเร่งด่วนและมีความจำเป็นต่อการจัดการความขัดแย้งคือ “การสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนการสื่อสารแบบสันติ และประเด็นสำคัญที่สุดคือ วิธีการดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล(Good Governace)โดยมีหลักการและวิธีการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1)      นการมีส่วนร่วมกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน

2)      การยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต

3)      ความสามัคคีกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต

4)      ความยุติธรรมกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต

5)      การสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นกับการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต

จากแนวคิดทั้งหมดนั้น หลักการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤตจึงเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่ทำให้คู่กรณีหรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความไว้วางใจโดยอาศัยวิธีการเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา อันจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมี “สะพาน” หรือมีแนวทางในการหาทางออกสำหรับความขัดแย้งระหว่างคู่กรณี โดยการสื่อสารนั้นจะต้องไม่ดำรงอยู่บนฐานของผลประโยชน์ที่ตนจะพึงได้โดยไม่สนใจความเป็นไปของสังคมแต่ประการใด ด้วยเหตุผลที่มุ่งประโยชน์ส่วนตนในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจจะนำไปสู่การสร้างความแตกแยกของคนในสังคมที่รับสาร[8]

ปัจจุบันการสื่อสารทางการเมืองในประเทศไทยได้มีความเข้มข้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่น กระบวนการสื่อสารทางการเมืองที่เป็นการเทคโนโลยีที่สมัยและกลยุทธ์การสื่อสารแบบใหม่ คือการใช้อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, VDO Link, Phone-In เป็นต้น มาต่อสู้กันของแต่ละฝ่าย ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับสื่อทางการเมืองหรือการสื่อสารในปัจจุบันต้องมีการพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ข้อมูลด้วยความมีเหตุมีผล และรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงทางการเมือง โดยไม่หลงเชื่อกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อในการปลุกระดมเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล สื่อมวลชรน ควรมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ภาคประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง และเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้มีความเข้มแข็งและรู้เท่าทันนักการเมืองและพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองในแต่ละฝ่ายที่ขับเคลื่อนและต่อสู้ทางด้านความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และทำอย่างไรจึงจะนำไปสู่ความสามัคคีของประชาชนรวมทั้ง ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาและเรียนรู้ประชาธิปไตยในสังคมไทยน

 

 

 

 


* บุญยิ่ง ประทุม [email protected]

[1] ยุทธพร อิสรชัย(2552) ความรู้คืออำนาจ ในรวมบทความวิชาการรัฐศาสตร์เนื่องในโอกาสครบรอบ 31 ปี มสธ.ครบรอบ 27 ปีรัฐศาสตร์  กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิมพ์อักษร์ หน้า 178

[2] ยุทธพร อิสรชัย (2551) การสื่อสารทางการเมืองกับกระแสโลกาภิวัตน์ ประมวลสาระชุดวิชาการสื่อสารทางการเมืองสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 15 นนทบุรี โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน้า 89

[3] ณรงค์ บุญสวยขวัญ(2552) การเมืองภาคพลเมือง บทวิเคราะห์แนวคิดและปฏิบัติการท้าทายอำนาจการเมืองในระบบตัวแทน กรุงเทพมหานคร บริษัท เอดิสันเพรส โปรดักส์ จำกัด หน้า 178-179

[4] สุรพงษ์ โสธนะเสถียร (2541) การสื่อสารกับการเมือง กรุงเทพมหานคร ประสิทธิ์ภัณฑ์ แอนด์ พริ้นติ้ง หน้า 200

[5] ถวิลวดี บุรีกุล (2550) การมีส่วนร่วม แนวคิด ทฤษฎีและกระบวนการ กรุงเทพมหานคร บริษัท พาณิชพระนคร (2535) จำกัด หน้า 13

[6] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (2551) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา หน้า 34

[7] James L. Creighton, Ph.D. ,วันชัย วัฒนศัพท์ แปลและเรียบเรียง (2548) คู่มือการศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชนและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรุงเทพมหานคร บริษัท ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์ จำกัด หน้า 4

[8] พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส การจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต ประมวลสาระชุดวิชาการสื่อสารทางการเมืองสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 13 นนทบุรี โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน้า28-36

หมายเลขบันทึก: 299934เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 06:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท