พาลูก ๆไปทำบุญเดือนสิบ


วันฟ้าใสที่ได้ไปวัด

                 เข้าช่วงครึ่งปีหลัง เรามีงานบุญเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่วันอาสาฬหะบูชาและวันเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม การเริ่มถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมในช่วงปลายเดือนสิงหาคม วันสารทจีน..งานบุญแรกของสารทไทยเมื่อต้นกันยา และตามมาด้วย งานบุญหลังของสารทไทย หรือ งานบุญเดือนสิบซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่19 กันยายน

บุญเดือนสิบนับเป็นวันที่ชาวพุทธในภาคใต้ถือเป็นงานบุญสำคัญ ขาดไม่ได้ที่ต้องหิ้วปิ่นโต ไปวัด

                ตั้งแต่เล็กคุณยายมักเล่าให้ฟังเสมอเกี่ยวกับงานบุญเดือนสิบ...ท่านบอกว่าเดือนสิบถือเป็นงานบุญใหญ่ เราต้องไปวัด...ตามคำโบราณ..เชื่อกันว่าพ่อแม่..พี่น้อง..ปู่ย่าตายาย..ที่ล่วงลับไปแล้วรอคอยที่จะได้พบลูกหลานในวันทำบุญนี้...นอกจากปิ่นโตสำรับคาวหวานซึ่งนำไปถวายพระแล้ว เครื่องปรุงอาหารในครัวก็อย่าได้ขาด ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร กะปิ น้ำปลา น้ำตาล ขมิ้น หอม กระเทียม ฯลฯ  เรานำไปทำบุญแล้วปู่ย่าตายายจะได้รับไปใช้สอย..... คุณยายท่านจะกระตือรือล้นทุกคราวไปเมื่องานบุญนี้มาถึง  ตามคำบอกเล่า...ท่านบอกว่าบางครอบครัวที่ลูกหลานไม่มีเวลาไปวัดทำบุญ ผู้ล่วงลับก็ได้แต่เฝ้ารออย่างเศร้าสร้อยเฝ้ามองผู้อื่นที่ได้รับบุญจากลูกหลาน....เรื่องนี้ถึงฟังดูแล้วคล้ายกับกุศโลบายสอนลูกหลานให้หาเวลาเข้าวัดทำบุญแต่ก็ช่างเป็นกุศโลบายที่แสนจะแยบยลกินใจและได้ผลชะงัดนัก....

 

                 และแล้วในปีนี้เนื่องจากคุณยายติดภาระกิจ ไม่สามารถไปดำเนินการด้วยตนเอง จึงได้มีเสียงมาตามสายมอบหมายต่อป้าอ้นให้ไปวัดทำบุญเดือนสิบ....อย่างค่อนข้างกระทันหัน เล่นเอาคนไกลวัดอย่างป้ารีบหาปิ่นโตแทบไม่ทัน....

               

                เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่..ไม่เคยลงมือปฏิบัติ...ก็เลยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม....ได้ความว่าการไปวัดทำบุญเดือนสิบนั้น สมัยก่อนผู้คนมักใช้ใบตองประดิษฐ์เป็นกระทงใบย่อม ๆ เพื่อใส่อาหารคาวหวาน รวมไปถึงขนมต่าง ๆ และเครื่องปรุงอาหารในครัว (เหมือนอย่างที่คุณยายเล่าให้ฟัง) กระทงเล็กๆเหล่านี้จะวางรวมในกระทงใหญ่อีกชั้นพร้อมด้วยปัจจัยซึ่งมักเป็นเหรียญสลึง สองสลึง หนึ่งบาท ห้าบาท  ตามศรัทธา สำหรับนำไปวางไว้นอกกำแพงวัดซึ่งภาษาท้องถิ่นทางใต้เรียกว่าการ“ตั้งเปรต” เหตุผลของการ “ตั้งเปรต” นั้นเพราะมีความเชื่อว่าวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วส่วนหนึ่งอาจจะเข้าวัดไม่ไหว หรือ อาจจะเข้าวัดไม่ได้ ดังนั้น การ“ตั้งเปรต” ก็เสมือนการตั้งสำรับกับข้าวเพื่อทำบุญแด่วิญญาณนอกวัดนั่นเอง

              “การชิงเปรต” เป็นขั้นตอนที่มีความหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง มีความเชื่อว่า การหยิบเหรียญจากกระทงที่ผู้อื่นนำไป “ตั้งเปรต” ไว้สักเหรียญสองเหรียญเพื่อเก็บไว้เป็นขวัญถุงจะนำมาซึ่งสิริมงคล แต่ต้องเป็นเหรียญจากกระทงผู้อื่นมิใช่จากกระทงของตนเอง (อันนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ...โปรดพิจารณา) นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่าหากหยิบขนมจากกระทงเหล่านั้นให้ลูกๆ หลานๆ รับประทานเล็กน้อยจะช่วยให้ไม่เจ็บไม่ไข้ (ย้ำนี่ก็เป็นความเชื่ออีกเช่นกัน...โปรดพิจารณา) ว่าไปแล้วป้าคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นกุศโลบายอีกเช่นกันซึ่งจะก่อให้เกิดความสามัคคี มีการแลกเปลี่ยนของที่เป็นสิริมงคลแก่กันในวันทำบุญ...

             นอกจากรายละเอียดของประเพณีปฏิบัติแล้ว ขนมประจำเทศกาลก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ.. ขนมที่เห็นปุ๊บก็ร้องอ๋อว่าเป็นขนมเทศกาลเดือนสิบ (เช่นเดียวกับขนมไหว้พระจันทร์ของเทศกาลไหว้พระจันทร์) ขนมหลักนั้นดูเหมือนจะได้แก่...(ข้าว)พอง/ ขนมลา/ เจาะหู (หน้าตาเหมือนโดนัท มีรูตรงกลาง)/ ขนมบ้า (อันว่า “ขนมบ้า” นี้ชื่อแปลกฟังดูน่าสนใจ เหตุไฉนจึงชื่อนี้....ป้าอ้นพยายามสอบถามประวัติจากหลาย ๆ ท่าน แต่ก็หาที่มาที่ไปไม่ได้ หากชาว gotoknowท่านใดพอทราบก็ขอรบกวนแบ่งปันด้วยค่ะ) นอกจากนี้ก็ยังมี ขนมเทียน ขนมต้ม ฯลฯ อีกด้วย

 

             เมื่อได้สดับตรับฟังเรื่องราวและขั้นตอน(จนคิดว่า)เข้าใจ ป้าอ้นก็จัดแจงโทรยกเลิกภาระกิจทั้งปวงในวันนั้น (หากอ่านมาถึงตรงนี้มิตรสหายที่ได้รับการโทรยกเลิกคงถึงบางอ้อว่าทำไม๊ทำไม...) ตระเตรียมปิ่นโตเป็นที่เรียบร้อย แต่มาจนปัญญาก็ตรงหาขนมและของในครัวนี่หละ เพราะไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า ร้อนถึงคุณยายซึ่งตอบมาตามสายว่าไม่เป็นไรมีสำรับกับข้าวไปถวายเพลก็ดีแล้วให้รีบ ๆ ไปเดี๋ยวไม่ทันพระฉันเพล.....เป็นอันว่าได้รับอนุมัติ....

            ป้าอ้นมอบหมายหน้าที่ให้สหายน้อยร่างยักษ์เป็นผู้ถือปิ่นโตพร้อมกำชับกำชาถือให้ดีห้ามแกว่ง ห้ามไม่ให้หก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากนั้นก็ต้อนสมาชิกอีก 2 คนขึ้นรถ ตลอดทางได้ยินเสียงแจ๋ว ๆ ของสาวน้อยคนเล็กกำชับกำชาพี่ชายให้ถือปิ่นโตดี ๆ จนกระทั่งถึงวัด....จอดรถเป็นที่เรียบร้อยแล้วชวนกันเดินเข้าวัด.....และแล้วป้าอ้นก็ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง...คราวนี้งงงวยอยู่เป็นนานว่าจะทำไงดี.....ผู้คนหนาแน่นเกินกว่าที่คิดไว้หลายเท่านัก พร้อมกับลูกอีก 3 คนยืนนิ่งงันอยู่ประมาณ 3 นาที บอกตรง ๆ ว่าทำไม่ถูก  นี่ขนาดคุณยายบอกบทมาเรียบร้อยแล้ว.....มาตื่นจากพะวังอีกทีก็เมื่อเห็นสตรีท่านหนึ่งเดินไปหยิบจานมาจัดสำรับถวายพระ ก็เลยลองทำตาม ๆ เขาดูคิดว่าไม่ผิดแน่ ....ป้าอ้นสั่งให้เด็ก ๆ ยืนจูงมือรออยู่นอกศาลา...หลังจากถอดรองเท้าเดินตามเขาไปหยิบจานได้ไม่นาน น้องเม่น ฮีโร่น้อยของป้า ก็หน้าตาตื่นเดินเข้ามาบอกว่า “ม่าม้าครับ ม่าม้าครับ รองเท้าม่าม้าไม่รู้หายไปไหนแล้ว”....สีหน้าท่าทางของเม่นเหวอมาก เล่นเอาป้าอ้นใจแป้วไปเลย (ไม่ใช่เพราะเสียดายรองเท้าแตะฟองน้ำ แต่เพราะคิดว่าแล้วจะเดินกลับไปที่รถยังไงละ ไกลมากแถมต้องผ่านด่านถนนลูกรังอันแสนร้อนไปด้วยซิ....แย่แล้ว...) หลังจากรายงานด้วยสีหน้าเหวอ...ตามสไตล์เม่น...เจ้าตัวก็สอดส่ายสายตาพร้อมรีบเดินออกจากศาลาเพื่อหารองเท้าม่าม้าทันที...แล้วก็ด้วยฝีมือของเม่นผู้มีสายตาอันเฉียบขาดมักหาของที่คนอื่นหาไม่เจอเสมอ เม่นก็พบรองเท้าแตะของม่าม้าอยู่ที่เท้าของคนแปลกหน้าท่านหนึ่ง ว่าแล้ว...เม่นก็เดินเนิบ ๆกึ่งกล้ากึ่งกลัวไปยังเป้าหมาย  แล้วก็ค่อย ๆ เอื้อนเอ่ย ป้าพยายามอ่านปากเม่นเหมือนพูดว่า “น้าครับ น้าครับ นั่นรองเท้าของม่าม้าครับ” คนแปลกหน้าผู้สวมรองเท้าป้าอยู่หันมองมาทางเสียงเรียก เม่นจึงพูดขึ้นอีกครั้งพร้อมชี้มือบุ้ยใบ้มาทางป้าอ้นที่กำลังยืนมองจากศาลาพร้อมส่งยิ้มออกไป...เล่นเอาผู้สวมรองเท้าหัวเราะคิก แล้วทำปากขมุบขมิบเหมือนบอกเม่นว่า น้าขอยืมมานะ...อะไรทำนองนั้น...ว่าแล้วเธอก็ถอดรองเท้าแต่โดยดี เม่นน้อยของป้าคว้ารองเท้าได้รีบวิ่งกลับมายืนรวมอยู่กับพี่ชายและน้องสาวพร้อมกับสวมรองเท้าของป้าไว้อีกชั้นใต้รองเท้าของตัวเองเพื่อป้องกันการถูกยืมไปอีก.....

            จัดสำรับเป็นที่เรียบร้อยจึงนำไปรวมกับสำรับชุดอื่น ๆ เพื่อรอประเคน แล้วป้าก็ชวนเด็ก ๆ ให้เข้ามาในศาลาหาที่เพื่อนั่งฟังพระเทศน์ ก่อนถึงเวลาเพล....เม่นใช้วิธีนำรองเท้าซ้อนกันและวางไว้ในมุมที่มองเห็น ขณะทุกคนนั่งฟังธรรมในศาลา...ดูเหมือนสายตาของเม่นน้อยไม่ละจากกองรองเท้าเลยทีเดียว....

ในศาลาเนืองแน่นไปด้วยพุทธศานิกชนที่มาร่วมทำบุญ

                 ฟังเทศน์ฟังธรรม ถวายภัตตาหาร....ชั่วขณะเดียวพระท่านก็ฉันเพลเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นก็เป็นการกรวดน้ำอุทิศบุญกุศล พร้อมรับพรจากพระ เป็นอันเสร็จพิธี...อันเนื่องมาจากเป็นมือใหม่หัดขับตามที่บอก...ในปีนี้ป้าอ้นไม่ได้เตรียมการ “ตั้งเปรต” จึงได้เมียงมองสังเกตุการณ์เป็นความรู้เพิ่มเติม.......สมาชิกน้อยทั้งสามคนคงเริ่มหิว...สหายน้อยร่างยักษ์จึงนำทีมเดินตรงไปที่รถขายไอศครีมซึ่งจอดขายอยู่ในบริเวณวัด มือหนึ่งก็หิ้วปิ่นโต ตาก็มองหาไอศครีมที่ชอบ...

 

จะเลือกไอศครีมรสไหนดี?..พี่มาร์คอย่าลืมของผมด้วย...

            วันนั้นท้องฟ้าแจ่มใสแดดจ้าเป็นใจให้ผู้คนได้ไปวัดทำบุญ สำหรับป้าอ้นถึงแม้จะไม่ได้ทำบุญอย่างครบสูตรและเป็นกังวลอยู่บ้างว่าปีนี้ปู่ย่าตายายคงไม่มีเครื่องปรุงอาหารในครัว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เข้าวัด...ป้าอ้นคิดว่าสมาชิกที่ไปด้วยกันก็อิ่มเอมเช่นกันและคงอยากไปวัดอีกเพราะดูเหมือนไอศครีมเย็น ๆ ในวันฟ้าใสที่ได้ไปวัดวันนั้นช่างอร่อยชื่นใจซะเหลือเกิน...

คำสำคัญ (Tags): #ทำบุญเดือนสิบ
หมายเลขบันทึก: 299580เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีครับพี่

แบบนี้คงต้องบอกตัวเองบ้างแล้ว ว่าหัดเข้าวัดไปทำบุญซะบ้าง

ไม่เคยเห็นกับเขาหรอก เดือนสิบน่ะ เห็นแต่เปรต (อ้าว)

เข้ามาอ่านด้วยคนค่ะพี่อ้น ว่างว่างเราไปวัดกันบ้าง

ดีไม้ค่ะ

ดีครับ

อย่าลืมนิมนต์ผมไปด้วยนะครับ ช่วงนี้รู้สึกตัวหนักๆ

ดีใจจังที่ได้พบกับคุณดี้ในบล็อก ขอบคุณที่แวะเข้ามาคะ....วัดที่ไปวันนั้นคือวัดที่คุณดี้เคยพูดให้ฟังไงค่ะ มีสามเณรหลายรูปเลยคะประมาณคร่าว ๆ น่าจะร่วม ๆ 60-70 รูป และเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก ตอนที่นำรถไปจอดมีสามเณรน้อยคอยอำนวยการอยู่ตลอดเส้นทาง...

สวัสดีคะ คุณหมอ...แล้วจะชวนไปจริง ๆ นะ...มีภาพเมื่อวันอังคาร แล้วจะหาเวลาเขียนลงซีดีไปฝากคุณหมอค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท