เหตุที่พระพุทธองค์ ต้องทรง "เดินเท้า" ไปปรินิพพาน


สาเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ต้องทรงดำเนินด้วยพระบาทนานถึง 3 เดือน เพื่อไปปรินิพพาน ทั้งที่พระวรกายอ่อนแอ

ตอนเด็กๆ เราเคยได้รับการบอกเล่า ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เด็กๆก็คงแค่ได้ทราบเรื่องราวอันเกี่ยวกับพุทธประวัติ.....เพียงเท่านั้น

สำหรับดิฉัน มาซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณก็ต่อเมื่อได้พบข้อมูลว่าเหตุใด จึงทรงเลือกปรินิพพานที่เมืองเล็กๆแห่งนั้น อยากนำมาบันทึกไว้ค่ะ

เพราะทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี ต้องทรงเดินเท้าถึง ๓ เดือน กว่าจะถึงเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ทั้งๆที่พระชนมายุก็มากแล้ว และเพิ่งหายจากพระอาการประชวร

ทำไม.....???.....จึงต้องเป็นเมืองกุสินารา

ปราชญ์หลายท่านได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญา นันทภิกขุ )

......ท่านบอกล่วงหน้า ๓ เดือน ๓เดือนต่อจากนี้ตถาคตจะปรินิพพาน บอกไว้เลย แล้วก็จะไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา พระอานนท์ก็ค้านว่า โอย....เมืองใหญ่ๆเยอะแยะ เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองใหญ่ๆ พระองค์ก็เป็นพระบรมครูของโลก ทำไมจะไปตายเมืองเล็กๆ ทำไมไม่ไปตายเมืองใหญ่

พระองค์ก็บอกว่า กุสินาราไม่ใช่เมืองเล็ก ครั้งสมัยโน้นเคยเป็นเมืองใหญ่ นี่พูดให้เป็นในเรื่องเก่าว่าเป็นเมืองใหญ่ ความจริงนั้น พระผู้มีพระภาคท่านทรงเห็นการณ์ไกล ตัดปัญหาไม่ให้มันยุ่ง คือถ้าไปตายเมืองใหญ่ กษัตริย์ผู้ใหญ่มีอำนาจก็ไม่แบ่งอะไรให้ใคร เช่น ใครต้องการอะไรก็ไม่ให้ ฉันใหญ่ ฉันไม่ยอม มันก็ยุ่ง

แต่ไปตายเมืองเล็ก มันก็ไม่ลำบาก เขามาพร้อมกัน กษัตริย์เมืองเล็กก็ไม่ว่าอะไร ต้องจัดการไป เช่นพระธาตุนี่เป็นตัวอย่าง .... กระดูกนะ คนนี้ต้องการ คนนี้ก็ต้องการกระดูกของพระพุทธเจ้า ถ้าไปเมืองใหญ่เขาก็ไม่ให้ เดี๋ยวเดียวรบกัน เป็นปัญหาแก่สังคม เลยไปนิพพานเมืองเล็ก

เมืองเล็กนี่ไม่มีกำลัง เมื่อพวกมาขอก็ต้องให้ไปๆ แล้วให้อย่างถูกต้อง ชั้นแรกไม่รู้จะให้กันอย่างไร ต่างคนต่างมาขอกันมาก ลำบาก ก็เลย เอ้า รอให้พร้อมกันเสียก่อน พอพร้อมกันแล้วก็ให้โทณพราหมณ์จัดการแบ่งให้ไปตามสมควร เรื่องมันก็ไม่ยุ่ง

เป็นเรื่องที่ดังที่พระองค์ทรงทราบแล้ว และกันไว้ไม่ให้ยุ่ง จึงไปนิพพานที่นั่น เลือกที่ได้ ไปนิพพานที่สวนสาละของพวกมัลลกษัตริย์ ที่เมืองกุสินารา เดินไป...ไปนิพพาน จากเมืองเวสาลีไปกุสินารา ก็ไกลพอสมควร เดินไปตั้ง ๒ ๓ เดือน วันเพ็ญเดือน ๓ จนถึงวันเพ็ญเดือน ๖ มัน ๓ เดือน .....

พระธรรมโกศาจารย์ ( ประยุร ธมมฺจิตฺโต )

เนื่องจากพระพุทธเจ้าไม่ใช่บุคคลของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นบุคคลของโลกในสมัยนั้น ซึ่งมองชมพูทวีปเป็นโลกนี่ เมื่อเป็นบุคคลของโลก การเสด็จไปดับขันธ์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ ก็จะทำให้เมืองใหญ่ยึดเป็นเจ้าของ แล้วอาจจะสถาปนาตัวเองในทางการเมืองเป็นพี่เบิ้มโดยอ้างพระพุทธเจ้า ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ท. ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

เหตุผลตรงนี้ชัดเจนปรากฏอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรนะครับ คือว่าพระพุทธเจ้าคงทราบแล้วละว่า หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระธาตุของพระองค์จะถูกแบ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆที่มีกำลังกองทัพเข้มแข็งก็คงเกิดศึกแน่นอน อย่างถ้าปรินิพพานที่แคว้นมคธ แคว้นมคธก็คงไม่ยอมให้และก็มีกำลังที่จะป้องกันได้ เพราะฉะนั้นจึงเสด็จไปที่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นเมืองชายแดนนะ ไกล และไม่มีกำลังที่จะป้องกันตนเองได้อย่างเต็มที่

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกเมืองนี้คือ เพื่อทรงโปรดผู้ที่อาจจะเป็นพระญาติ

ศาสตราจารย์พิเศษ เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ท่านได้ให้ความเห็นถึงเหตุผลที่อาจเพราะเพื่อการโปรดพระญาตินั้นไว้ว่า

เหล่ามัลลกษัตริย์นี่แหละครับ ปราชญ์บางท่านบอกว่าเป็นเชื้อสายเดียวกับพระพุทธองค์ เรียกพวกเขาว่า วาเสฏฐะ และที่ทรงต้องการปรินิพพาน ณ เมืองนี้ คงมิใช่เพราะยึดประเพณีประจำเผ่า (คือถือสายเลือดตนบริสุทธิ์ ไม่ยอมแต่งงานกับเผ่าพันธุ์อื่น เวลาจะคลอดบุตร หรือจะตาย ต้องกลับไปตายที่บ้านเกิด ผู้เขียนบันทึก) แต่คงทรงต้องการกระทำ ญาติสังคหะ (การสงเคราะห์พระประยูรญาติ) ให้สมบูรณ์นั่นเอง

พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญ จริยา ทั้ง ๒ ประการ คือ พุทธัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะพระพุทธเจ้า) และโลกัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ชาวโลก) สมบูรณ์แล้ว ส่วนญัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระประยูรญาติ) ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ พระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ และศากยวงศ์ พระองค์ก็ทรงสงเคราะห์หมดสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่พระญาติทางฝ่ายมัลลกษัตริย์

นั่นเป็นอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งค่ะ ที่ว่าทำไม จึงต้องทรงทรมานพระวรกาย เดินทางไปตาย

แล้วเหตุการณ์ก็เป็นดังที่เราทราบกันค่ะ หลังจากพระมหากัสสปะเถระและคณะสักการบูชาพระศพ และถวายพระเพลิงพระสรีระของพระองค์แล้ว บรรดากษัตริย์ต่างๆ ต่างก็ส่งทูตพร้อมกองทัพมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งหมดถึง ๘ นครด้วยกัน คือ

๑. พระเจ้าอชาตศัตรูจากกรุงราชคฤห์

๒. กษัตริย์ลิจฉวีแห่งกรุงเวสาลี

๓. ศากยวงศ์และพระประยูรญาติ (ที่หลงเหลือ รอดจากการถูกทำลายล้างของพระวิฑูฑภะ แล้วไปตั้งเมืองใหม่ทางใต้ของกรุงกบิลพัสดุ์เดิมโดยห่างออกไปประมาณ 10 ก.ม. ปัจจุบันเมืองใหม่นี้อยู่ในเขตประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบัน ทั้งอินเดีย และเนปาล ต่างยืนยันว่ากรุงกบิลพัสดิ์มีที่เดียว คือที่ประเทศตน)

๔. ถูลีกษัตริย์แห่งกรุงอัลลกัปปะ

๕. โกลิยกษัตริย์แห่งรามคามชนบท

๖. มหาพราหมณ์เจ้าเมืองเวฏฐทีปกร

๗. มัลลกษัตริย์แห่งปาวานคร

๘. โมริยกษัตริย์แห่งเมืองปีปผลิวัน

เมื่อรวมกองกำลังของมัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราก็รวมเป็น ๙ นครด้วยกันที่ต้องการพระบรมสารีริกธาตุ

ในตอนแรก มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราจะไม่ยอมแบ่งให้เพราะถือว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานที่เมืองตน ซึ่งคงต้องเกิดสงครามขึ้น

โทณพราหมณ์ เป็นพราหมณ์อาวุโสที่มัลลกษัตริย์นับถือจึงเสนอว่าควรแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็นส่วนๆเท่าๆกัน เพื่อยุติปัญหา โทณพราหมณ์จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดสรร พราหมณ์จึงแบ่งเป็น ๘ ส่วนเท่าๆกัน เพราะขณะนั้นโมริยกษัตริย์แห่งเมืองปีปผลิวันยังมาไม่ถึง ดังนั้นทูตเมืองปีปผลิวัน จึงได้พระอังคารทั้งหมดไปแทน

ส่วนโทณพราหมณ์ ได้ทะนานทองที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่ระลึก

นับว่าพระองค์มีพระกรุณาต่อชาวพุทธแม้กระทั่งวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพโดยแท้ แม้จะทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ก็ทรงเพื่อยังประโยชน์ต่อผู้อื่น และเพื่อสันติของชาวโลก

..................................................

อ้างอิงเรื่องและรูป

พุทธทาสภิกขุ ภาพพุทธประวัติหินสลัก ธรรมสภา 1 / 4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ;

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เคล็ดลับของชีวิต ธรรมสภา ๑ / ๔ - ๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

พาโนรามา ตามรอยพระพุทธเจ้า แพรวสำนักพิมพ์ ๖๕ / ๑๐๑ - ๑๐๓ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ

มนต์ ทองชัช ๔ ศาสนาสำคัญของโลกปัจจุบัน สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ๘๖๐ ๘๖๒ วังบูรพา กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 299370เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 07:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ น้องณัฐ

  • มาทักทาย และชื่นชม งานบันทึกเรื่องที่มีสาระประโยชน์
  • เป็นกำลังใจเสมอนะคะ

สวัสดีค่ะ น้องณัฐ

 แวะมารับความรู้เพิ่มเติมค่ะ

และต้องขอบคุณมากเลยค่ะที่นำเรื่องราวดีๆและยังไม่รู้มาก่อนนำมาบอกให้ทราบ

  • ขอใช้คำสมัยใหม่ว่า "วิสัยทัศน์พุทธองค์" เลิศและเห็นทะลุจริงๆ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาทักทายค่ะ

 

มาชม

มาอ่าน

มุมคิดผมอาจจะผิดก็ได้นะ...คือ

1 . เส้นทางเดินเท้าไปนั้นต้องการโปรดนายจุนทะที่ถวายอาหารเฉพาะต่อพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะหลังจากพระพุทธเจ้าฉันแล้วก็นำไปฝังไม่มีใครได้ลิ้มรสอาหารนั้นเลย

2 . เส้นทางนั้นวกกลับตรงไปถึงบ้านเกิดกายของพระพุทธองค์ได้ ถ้าคิดอย่างคนเราคือกลับไปตายที่บ้านเกิดกาย เหมือนเวลาจะคลอดลูก หญิงจะลาสามีกลับไปคลอดที่บ้านเกิดของตนเป็นประเพณีแต่โบราณ...นั้นแล.

3 . การเดินทางคือการสอนธรรมะ ทุกย่างก้าวทุกขณะจิตของพระพุทธเจ้าล้วนเป็นไปเพื่อสอนธรรมช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์แม้วาระสุดท้ายแห่งตน.

สวัสดีครับ

ตามมาเรียนรู้พุทธประวัติครับ

ต้นไม้จบแล้วใช่ไหมครับ

บางสิ่งบางครั้งผมก็เพิ่งเรียนรู้จากบันทึกของพี่นี่เองครับ

ขอบคุณครับ

มาเรียนรู้พุทธประวัติจากบันทึกค่ะ ขอบพระคุณมากๆ สำหรับความรู้ที่ลึกซึ้ง...ไม่มีสอนในวิชาพุทธศาสนาที่เคยได้เรียนมา

จะติดตามผลงานต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

  • สวัสดีคะ
  • เข้ามาเรียนรู้ และ ขอบคุณที่แวะไปให้ความรู้ ที่กับ poomdee คะ
  • การเรียนรู้ ก่อให้เกิด "ปัญญา"
  • ปัญญา เกิดจากการไตร่ตรองด้วยเหตุและผล
  • ธรรมะ สวัสดีคะ

โยมณัฐ

เข้าใจหาอะไรดีๆ มาเล่าสู่กันฟังอยู่เรื่อยเลย ดีใจว่า "พุทธบริษัท ๔" ได้ศึกษา และเผยแผ่แนวคิดที่ดีแก่ผู้สนใจทั่วไป

สวัสดีค่ะ...ได้เรียนรู้พุทธประวัติอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆ...งามทั้งกายงามทั้งใจจริงๆ...

สวัสดีครับ

มาเรียนรู้สิ่งดีที่มีประโยชน์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท