ประวัติจังหวัดนครสวรรค์


ผลงานที่คุณครูทำไว้เพื่อปรับตำแหน่ง เป็นเล่มอย่างดี แล้วอ่านเจอในตู้หนังสือของแม่ เลยทำให้รู้จัก"นครสวรรค์"มากขึ้น อย่างที่ไม่คิดมาก่อน

            จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏชื่อในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ในที่ดอนบริเวณเชิงเขาขาด    ( เขาฤาษี ) ลงมาจดวัดหัวเมือง ( วัดนครสวรรค์ ) มุมเมืองอยู่ตรงวัดนั้น ยังมีเชิงดินซึ่งเป็นแนวกำแพงเมืองเดิมอยู่

            ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่า 

แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงัว )....ศักราช ๗๓๓ ปีกุน ตรีศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองฝ่ายเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง ศักราช ๗๓๔ จัตวาศก เสด็จไปนครพังคา และเมืองแซงเทรา....

            นครพังคาที่กล่าวในพงศาวดาร น่าจะหมายถึงเมืองนครสวรรค์นั่นเอง เมื่อได้เมืองพังคาแล้ว ได้โปรดให้พระราชบุตรบุญธรรมชื่อ พระยายุธิษฐิระ มาครอง มีศักดิ์เป็นเมืองประเทศราช นครพังคานี้ตั้งอยู่บนเนินเขา ฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเองต้องทิ้งให้เป็นเมืองร้าง เพราะแม่น้ำตรงหน้าเมืองเกิดหาดทราย ถึงฤดูแล้งก็กันดารน้ำจนชาวเมืองต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยไปตั้งเมืองอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลนครสวรรค์ออก ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งตัวเมืองอยู่บริเวณวัดถือน้ำ ตัวเมืองตั้งอยู่เฉียงตะวัน หรือชอนตะวัน ทำให้แสงตะวันส่องเข้าหน้าเมือง จึงเรียกว่า เมืองชอนตะวัน หรือ ทานตะวัน บางทีก็เพี้ยนเป็น ชอนสวัน ( ชอนสะหวัน )

            ต่อมาทางราชการเห็นว่า การตั้งตัวเมืองทางฝั่งตะวันออกไม่เหมาะสม จึงย้ายมาตั้งในที่ปัจจุบัน ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือที่หมู่ ๙ ตำบลนครสวรรค์ตก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ให้เป็นมงคลนามว่า นครสวรรค์

          ตามตำนานพระแก้วมรกตกับพระบาง ว่าเดิมนครสวรรค์มีชื่อว่า พระบาง มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ คือพระแก้วมรกตและพระบาง มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นันทเสนบุตร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้กราบทูลว่า ตามความนับถือของชาวลานช้าง ( ลาว ) ว่าพระทั้งสององค์นี้มีผีหรือเทวดารักษาอยู่ หากผีหรือเทวดาของพระพุทธรูปทั้งสององค์ไม่ถูกกันแล้ว ถ้านำมาไว้รวมกัน ณ เมืองใดเมืองหนึ่งจะทำให้เกิดอาเพศ ข้าวยากหมากแพง ฉะนั้นจึงควรอัญเชิญพระบางกลับไปเวียงจันทน์เสียองค์หนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้อัญเชิญพระบางกลับยังเวียงจันทน์

            ครั้นเดินทางมาถึงนครสวรรค์ ได้ข่าวศึกพม่า จึงได้นำพระบางมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองนครสวรรค์ชั่วคราว

            ในการทำศึกกับพม่าครั้งนั้น พระองค์ได้ดัดแปลงค่ายคูประตูหอรบ จากตะวันตก ตั้งแต่ตลาดสะพานดำไปบ้านสันคูถึงทุ่งสันคู  เดี๋ยวนี้ยังปรากฏแนวคูอยู่ที่บ้านสันคู  เมื่อพม่าข้าศึกยกทัพลงมาจากทุ่ง สลกบาตร หนองสังข์  หนองเบน ลงมาเหนือทุ่งสันคูซึ่งเป็นที่ดอนขาดน้ำครั้นพอฝนตกลงมา นำหลากเข้าอย่างแรง ทำให้น้ำท่วมข้าศึกกองทัพไทยยกเข้าตีตลบหลัง กองทัพพม่าหนีผ่านทางช่องภูเขา เนื่องจากพม่ายกทัพมาครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก  จึงเหยียบก้อนหินที่ภูเขานั้นพังทลายลง กลายเป็นช่องเขาขาด เรียกว่า โกรกพม่า หรือ เขาขาด มาจนทุกวันนี้

            ส่วนที่เรียกว่าปากน้ำโพนั้น มีข้อสันนิษฐานอยู่ ๒ ประการดังนี้

๑.   ที่สุดของแม่น้ำปิงตรงที่พบกับแม่น้ำแควใหญ่ มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ที่ริมตลิ่งใกล้วัดโพธาราม ประชาชนจึงเรียกกันว่า ปากแม่น้ำโพธิ์ ต่อมาค่อยๆกร่อนกลายเป็น ปากน้ำโพ

๒.   แต่ก่อนนี้ไม่มีถนนและทางรถไฟ การไปมาจากจังหวัดภาคเหนือ ลงไปกรุงเทพฯใช้เรือขุดขนาดยาว เรียกว่า เรือหางแมงป่องขึ้นล่องผ่านไปมาตลอดเวลา พอล่องเรือโผล่ที่บรรจบสองแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่เวิ้งว้างกว้างขวาง คือที่เกิดแม่น้ำเจ้าพระยา พวกชาวเรือซึ่งเป็นชาวเหนือ พูดภาษากลางไม่ค่อยชัด ได้เรียกที่ตรงนี้ว่าถึง ปากน้ำโผ่ แล้ว คนทั่วไปเลยเรียกกันว่า ปากน้ำโผ่ หรือ ปากน้ำโผล่ และค่อยกลายเป็น ปากน้ำโพ ในที่สุด

 

 

หมายเลขบันทึก: 299286เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ได้ความรู้เยอะมากเลยนะครับแล้วจะแวะมาความรู้ใหม่

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ตำนานประวัติเขาขาดนี่แปลกดี
  • ที่อำเภอหนองบัวชาวบ้านเรียกพระบางว่า พระอีบาง
  • ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าทำไมจึงเรียกอย่างนั้น
  • สมัยก่อนเพี้ยนเป็นซอนสะหวัน ซอนสวัน
  • ปัจจุบันเพี้ยนเท่ ๆ แบบวัยรุ่น เป็นคอนหวัน
  • ไม่รู้สมัยก่อนเพี้ยนแล้วเท่หรือเปล่าก็ไม่รู้เนาะ

ขอเจริญพร

น้องชายสุดที่รัก

เจอในตู้หนังสือแม่...

...แล้วไปขอบคุณแม่รึยังค้าบ..บบบบบบบบบบบ

ตัวเมืองนครสวรรค์ เป็นสนามรบเก่า บ้านเก่าผมอยู่ที่บรรพตพิสัย เคยขุด พบ หม้อ ชาม ให เศษ กำไล ในทุ่งนา มีเศษ กระดูก มนุษย์ แต่ไม่มีใครสนใจ แถวนั้น เรียกว่าบ้าน มอญ จำได้ว่า กระดูกใหญ่มาก มือยังกำดาบอยู่เลย ด้ามของดาบทำด้วยงาช้าง

เสียดายที่นครสวรรค์ไม่มีแหล่งรวบรวมของเก่า สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เหมือนเมืองอื่นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท