จากเยี่ยมบ้าน...สู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้พิการ ตอนที่ 1


หลายครั้งที่เห็นคนท้องไหว้พระอธิษฐานก็อยากรู้ว่าเขาอธิษฐานหรือขอพรอะไรบ้างนะ คำตอบที่ได้คือ อยากให้ลูกแข็งแรง เมื่อคลอดออกมาแล้วครบ 32 ไม่พิการ

        แว๊บ!  หนึ่งของการอยากรู้  ว่าคนที่มีลูกเขาคาดหวังอย่างไรบ้าง  แล้วคุณล่ะ  ถ้าถูกถามด้วยคำถามว่า  ถ้าคุณมีลูกคุณคาดหวังอย่างไรบ้าง........คำตอบที่ได้  คือ  อยากให้ลูกเป็นคนดีของครอบครัว  ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ  อยากให้ลูกเรียนหนังสือเก่ง  อยากให้ลูกเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา  ครูอาจารย์ และอีกหลายคำตอบ  หลายครั้งที่เห็นคนท้องไหว้พระอธิษฐานก็อยากรู้ว่าเขาอธิษฐานหรือขอพรอะไรบ้างนะ  คำตอบที่ได้คือ  อยากให้ลูกแข็งแรง  เมื่อคลอดออกมาแล้วครบ 32  ไม่พิการทางสมองและร่างกาย  ร้อยเปอร์ของคำตอบที่เราพบคือลูกครบ 32 ไม่พิการ  ทำให้สรุปเอาเองอีกว่า  ความพิการมีผลกระทบต่อครอบครัวที่มีลูกพิการอย่างแน่นอน  เมื่อได้ลองถามครอบครัวที่มีลูกพิการทั้งทางสมองและร่างกาย  ก็พอได้คำตอบว่าอยากให้ลูกพอช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับคนอื่น หากพ่อแม่ต้องจากไปก่อนเค้าจะได้ดูแลตัวเองได้บ้าง  หรือหาใครสักคนที่คอยดูแลผู้พิการได้อย่างไว้วางใจ

      ไม่มีใครอยากได้ลูกพิการ  ผู้พิการก็ไม่อยากเป็นปัญหาหรือเป็นภาระต่อผู้อื่น  แต่ด้วยสภาพของร่างกายและสมอง  ทำให้เค้าจำเป็นต้องพึ่งพาคนที่อยู่รอบตัวเค้า  ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว  ชุมชน  และสังคม

       จากการออกเยี่ยมบ้าน  ข้อมูลที่ได้รับเพิ่มจากโรคเรื้อรัง  คือความพิการ  จนกลายเป็นผู้พิการอย่างถาวรและคนกลุ่มนี้เหมือนถูกทอดทิ้ง  ขาดการเหลียวแล  บางครั้งครอบครัวยังคิดว่าเป็นภาระ  เนื่องจากในสังคมชนบทที่ต้องหาเช้ากินค่ำ  จากการช่วยกันทำมาหากิน  เมื่อมีผู้พิการเพิ่มมาอีก 1 คน และต้องกลายมาเป็นผู้ต้องพึ่งพาจากครอบครัว    หากหัวหน้าครอบครัวต้องกลายเป็นคนพิการภาระอันหนักอึ้งที่ตามมาอย่างยากที่จะบรรยายง

       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้ให้ความสำคัญกับ “ผู้พิการ” โดยเน้นย้ำถึงศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชน (Dignity and human right) การได้รับความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันไม่ถูกเลือกปฏิบัติ การมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ

       ในการดำเนินงานพัฒนาสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถบรรลุเป้าหมายการมี สุขภาพดีถ้วนหน้าได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ การที่ประชาชนได้ตระหนักถึงศักยภาพของแต่ละบุคคลว่าจะสามารถดูแลตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฏีของโอเรมบอกว่า  “มนุษย์มีศักยภาพที่จะดูแลตนเองได้”  สามารถพัฒนาสุขภาพของตนเองได้โดยเฉพาะการปฏิบัติตามแผนการรักษา  การฟื้นฟูสภาพ  การป้องกันโรค  การควบคุมโรค และการพึ่งพาตนเองในระดับบุคคลและครอบครัว โดยเฉพาะการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือภาวะพิการที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้สามารถได้รับการดูแลรักษาที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาล  ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยใกล้บ้านให้การดูแลผู้ป่วย   เป็นที่ปรึกษาให้อีกระดับหนึ่งเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้น

      ด้วยตระหนักถึงพันธกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ตามรัฐธรรมนูญฯ กฎหมาย และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงตระหนักถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมที่อาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคต การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผู้พิการอันเป็นดัชนีชี้วัดทางสังคมประการหนึ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ

       โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย  ในการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย โครงการ และกิจกรรมต่างๆในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยได้ดำเนินการจัดทำบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการในภาพรวม  คือการจัดบริการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Health Care) และโครงการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาและการให้บริการสุขภาพของผู้พิการโดยตรง เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ให้ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและทั่วถึง ภายใต้การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การมีส่วนร่วมของผู้พิการ ครอบครัวผู้พิการ สมาชิกในชุมชน

         การจัดบริการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Health Care) ซึ่งลักษณะการให้บริการไม่เฉพาะผู้พิการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ป่วยทั้งโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และโรคเรื้อรังต่างๆ โดยที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วนในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว อันประกอบด้วย บุคลากรจากทีมสหสาวิชาชีพของโรงพยาบาล   บุคลากรจากสถานีอนามัยในพื้นที่ ตัวผู้พิการหรือผู้ป่วย ญาติ อาสาสมัครสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ต่อมาเมื่อผู้พิการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเอง ตลอดจนเป็นการลดภาระผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นญาติ เพื่อนบ้าน รวมถึงสังคม จึงได้จัดกิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการโดยตรงเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น  การจัดให้มีการจดทะเบียนผู้พิการแบบเบ็ดเสร็จในสถานบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลคนพิการในอำเภอแก่งคอยใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดูแลคนพิการในด้านต่างๆ และให้คนพิการเข้าถึงระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในโรงพยาบาลแก่งคอย ด้วยความสะดวก และเสมอภาค   การอบรมอาสาสมัครดูแลผู้พิการ เพื่อให้คนพิการได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีอาสาสมัครเป็นผู้ดูแล   การสร้างเครือข่ายในการดูแลสุขภาพผู้พิการอันประกอบด้วย บุคลากรของโรงพยาบาล สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข  ผู้นำชุมชน  จิตอาสาและกาชาดจังหวัดสระบุรี  เป็นต้น

                                     

                                     งานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน,  ทีมสหสาขาวิชาชีพ  รพ.แก่งคอย

คำสำคัญ (Tags): #sha narrative
หมายเลขบันทึก: 299062เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2009 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท