ผชช.ว. ตาก (12) ประชุมH2Pที่เวียดนาม วันที่สาม


มีคำพูดหนึ่งที่เตือนให้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคำพูดของประะานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี "เวลาที่จะซ่อมแซมหลังคาบ้านคือช่วงแดดออก: The time to repair the roof is when the sun is shining"

          การประชุมH2P รอบนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 9 ประเทศและตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งราว 100 คน มีหนังสือเชิญจากผู็จัดไปที่กระทรวงสาธารณสุขไทยด้วย แต่ไม่ได้จัดให้ใครมาร่วม อาจเป็นสาเหตุให้ผมได้มาประชุมเพราะผมสมัครตรงกับผู้จัดเลย ก็เลยเป็นเสมือนตัวแทนจากภาคราชการของไทยโดยปริยาย ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมจะมาจากภาคเอ็นจีโอและองค์การระหว่างประเทศกับสภากาชาดของประเทศต่างๆ โดยมีของเวียดนามมาร่วมมากที่สุด H2P เป็นโครงการเพื่อชุมชน ไม่ใช่ในชุมชน ไม่ใช่แค่การฝึกอบรมอาสาสมัคร แต่เกี่ยวกับการกระตุ้นให้แต่ละประเทศใส่ใจการทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ไข้หวัดใหญ่ในระดับอำเภอหรือชุมชน ดูรายละเอียดได้ที่ www.pandemicpreparedness.org

          วันนี้ตื่นเช้า เปิดชมข่าวช่อง 9 กับช่อง 3 ได้พบกับความสุขใจและร่วมชื่นชมกับชัยชนะของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยที่ได้แชมป์เอเชียโดยชนะจีนได้ หลังทานอาหารเช้าแล้ว เข้าร่วมประชุมที่เริ่มแปดโมงครึ่งตรง คุณริ๊กกับคุณชารอน ได้สรุปภาพรวมของกิจกรรมที่เราจะทำกันในวันที่สองของการประชุมนี้ เริ่มจากคุณโรเบิร์ตจากกาชาดสากลมาพูดถึงเรื่องการทบทวนแผนประเทศ รูปแบบและผลที่จะได้รับ (Review of Country plan: Design and Benefits) โดยผมสรุปได้ว่ามีหลักการที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำแผนเตรียมรับมือการระบาดใหญ่อยู่ 5 ประการ คือ

1. การทำแผนแบบมีส่วนร่วมทั้งสังคม (Whole-of-Society Approach) ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน

2. เตรียมความพร้อมในทุกระดับ ทั้งระดับโลก ประเทศ เขต จังหวัด อำเภอและท้องถิ่น พร้อมบูรณาการสู่การจัดการภัยพิบัติและทำทั้ง 3 ระยะคือก่อนระบาด ขณะระบาดและฟื้นฟูหลังการระบาด

3. ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานความรุนแรงของปัญหา (Severity-based response) และการพึ่งพาอาศัยกันทั้งในเรื่องภาวะวิกฤติและด้านสุขภาพ (Critical and Health Interdependencies) รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ น้ำ อาหาร เชื้อเพลิง การขนส่ง เงิน เป็นต้น

4. การพิจารณาด้านจริยธรรม (Ethical consideration) ที่วางบนพื้นฐานขิองความปลอดภัยของทีมงานกับบริการที่ส่งมอบให้ผู้ป่วย (Safety of staff and delivery of services)

5. การจัดการด้านธุรกิจ (Business Continuity Management) ทำอย่างไรให้กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก

            หลังจากการบรรยายก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหัวข้อที่ได้ตั้งประเด็นไว้เมื่อวาน ของไทยมี 3 หัวข้อคือ ตัวกระตุ้นความสำเร็จในการทำงาน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมและแผนระดับชาติ เราแบ่งกันอยู่ประจำกลุ่มๆละ 2 คน มีผู้เข้าประชุมสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมากพอควร ก็การพูดคุยแลดสงความเห็นในแต่ละกลุ่ม ราว 7 กลุ่ม ต่อหัวข้อละ 30 นาที พอหมดเวลาก็เปลี่ยนประเด็นแลกเปลี่ยนไปตามความสนใจของแต่ละคน ไม่มีคุณอำนวยแต่ก็แลกเปลี่ยนกันได้ดี หลังการแลกเปลี่ยนผมได้พยายามสรุปปัญหาสำคัญของไทยในการรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้เป็น 4 ประเด็นสำคัญ ที่เราควรปรับปรุงคือ

1. การปรับความรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลให้ทันสมัยอยู่เสมอ

2. การทำแผนปฏิบัติการที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่กำกวมยุ่งยากและไม่ปรับเปลี่ยนบ่อยเกินไปจนสับสน

3. การสื่อสารความเสี่ยงสาธารณะอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ว่ากันไปเรื่อยตามความคิดเห็นของแต่ละคน จนชาวบ้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาสุขเองก็สับสน ไม่รู้จะเชื่อใครดี

4. บูรณาการการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม มีคนรับผิดชอบหลักสั่งการที่ชัดเจน ไม่ใช่แย่งกันออกมาตรการมากมาย จนไม่รู้ว่าอันไหนเข้าเป้าไม่เข้าเป้า จนผู้ปฏิบัติทำตามไม่ทันและไม่ไหว

          ก่อนทางอาหารกลางวัน ดร.คลอเดีย วีวาส จากองค์การอนามัยโลกมาพูดเรื่องไกด์ไลน์ในการเตรียมรับมือการระบาดใหญ่ หลังพักกลางวันเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ 6 คน ในลักษณะเรื่องเล่าเร้าพลังคนละ 30 นาที ให้ผู้ฟังเลือกฟังได้ตามความสนใจ คือเรื่องกล่องเครื่องมือสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือในชุมชนเมืองโดยคุณลิซ่า สโตนจากองค์กรวิทยาการจัดการสำหรับสุขภาพ (MSH) เรื่องแผนที่สำหรับการเตรียมความพร้อมและตอบสนองการระบาดใหญ่โดยคุณอลิซาเบท เลลาร์โด จากInterAction เรื่องเครื่องมือการสื่อสารสำหรับการเตรียมรับมือการระบาดใหญ่โดยคุณมาร์ค รัสมูสันกับคุณเซซิล แลนติกัลจากAED เรื่องการเฝ้าระวังในชุมชนโดยคุณวิทนีย์ ไพเลอส์ จากCORE เรื่องบทเรียนภาคประชาสังคมจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่2009 โดยหมอนายจากIRC และบทเรียนการช่วยรับมือการระบาดจากการช่วยเหลือของเอ็นจีโอโดยคุณริชาร์ด วัลเดน จาก Operation USA ผมเลือกฟังเรื่องที่ 1 , 2 และ 4

           การเฝ้าระวังในชุมชนต้องอาศัยลางบอกเหตุที่ง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นการเฝ้าระวังเหตุการณ์ (Event-based surveillance) ร่วมกับการเฝ้าระวังตามปกติของสถานพยาบาล (Indicator-based surveillance) ส่วนของMSH ได้คิดเครื่องมือสำหรับตรวจวัดระดับความพร้อมและความรุนแรงของการระบาดใหญ่ โดยแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 5 ระดับ และระดับการดูแลออกเป็น 4 ระดับ ป้อนข้อมูลลงในโปรแกรมก็จะได้คำตอบออกมาเลย ส่วนแผนที่เตรียมความพร้อมก็เป็นการแสดงถึงที่ที่มีโครงการต่างๆของเอ็นจีโอหรือองค์กรการกุศลอยู่ สามารถขอความร่วมมือและความช่วยเหลือได้ง่าย กว่าจะเลิกประชุมก็ 5 โมงกว่าๆแล้ว

           ผู้จัดนัดเลี้ยงอาหารรร่วมกัน ออกเดินทางตอน 6:45 น. ผมเลยไม่ได้ออกไปไหน รีบกลับห้องเปิดอินเตอร์เน็ตลุ้นว่าใครจะได้เป็นปลัดกระทรวงสาสุขคนใหม่ สรุปได้ท่านไพจิตร์ วราชิต มาเป็นตามมติ ครม. เมื่อตอนเช้า คณะผู้เข้าประชุมไปทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารนอกเมืองชื่อฮานอยฮานอย เป็นอาหารเวียดนาม บรรยากาศใช้ได้ ตักอาหารเองตามใจชอบ มีต้มยำแบบไทยๆด้วยแต่ไม่อร่อยเหมือนที่เมืองไทย อาหารหลากหลายดีมากทั้งอาหารพื้นเมืองและอาหารทะเล กว่าจะกลับถึงโรงแรมก็เกือบ 4 ทุ่ม

           ตอนนั่งรถไปทานอาหารได้คุยกับคุณโดลา ไปตลอดทาง ทำให้รู้จักกันมากขึ้น เขาเป็นผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของChildFund ที่มีสำนักงานที่กรุงเทพฯ เขาบอกว่าภรรยาเขาอยากไปนั่งสมาธิตามวัด แต่เขาติดต่อไม่ได้ ผมเลยชวนเขาไปเที่ยวตากและจะได้ติดต่อวัดให้เขากับภรรยาไปพักและนั่งสมาธิด้วย บ้านเขาอยุ่ที่บังกาลอร์ แต่มาอยุ๋เมืองไทย 3 ปีแล้ว ภรรยาเขาชอบเมืองไทย ลูกสองคนก็เรียนโรงเรียนนานาชาติที่เมืองไทย เขาบอกว่ารุ้จักกับหมอกั๊ดดัม เพื่อนผมที่เรียนที่เบลเยียมด้วยกันด้วย

          ก่อนนอน เสียงฟ้าร้องดังมากเป็นระยะๆ คาดการณ์ว่าพรุ่งนี้ฝนอาจจะตกก็ได้ กว่าจะได้นอนก็เกือบเที่ยงครึ่ง

หมอพิเชฐ

โรงแรมมีเลีย ฮานอย 22.18 น. 16 กันยายน 2552

หมายเลขบันทึก: 298272เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท