การใส่ท่อระบายน้ำดี ในผู้ป่วยภาวะท่อน้ำดีอุดตัน


การใส่ท่อระบายน้ำดีได้รับความนิยมว่าเป็นหัตถการหลักอย่างหนึ่งในการรักษาอาการทางเดินน้ำดีอุดตัน การทำหัตถการตามขั้นตอนที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมร่วมกับการวางแผนการรักษาและการพยาบาลที่ดี จะทำให้ผลของหัตถการประสบความสำเร็จและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตันได้
การใส่ท่อระบายน้ำดีในผู้ป่วยภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
(Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage : PTBD)


          การใส่ท่อระบายน้ำดีเป็นหัตถการที่เป็นประโยชน์ในการช่วยบรรเทาอาการแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะท่อน้ำดีอุดตัน โดยการแทงเข็มผ่านผิวหนังไปยังท่อน้ำดีโดยใช้ ultrasound guidance หรือ fluoroscopic guidance จากนั้นจะผ่านขดลวดนำ (guidewire) ไปยังตำแหน่ง porta hepatis และสอดตัวท่อระบายผ่านระบบ coaxial sheath dilator system จากนั้นจะทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อยืนยันตำแหน่ง เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ จะทำการขดปลายท่อระบายน้ำดีให้อยู่ในรูปที่เหมาะสม จากนั้นจะทำการเชื่อมต่อกับถุงเก็บน้ำดี ตัวเลือกทางอุปกรณ์ที่หลากหลายและการดูแลภายหลังการทำหัตถการจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

 

          ตับ (liver) เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม วางอยู่ในช่องท้องใต้กระบังลมด้านขวา ตับมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการสร้างน้ำดี (bile) เพื่อใช้ย่อยอาหารประเภทไขมัน และช่วยให้การดูดซึมของอาหารเข้าสู่ลำไส้ โดยน้ำดีจะไหลผ่านท่อ
น้ำดี (bile duct) ลงสู่ถุงน้ำดี (gall bladder)และลำไส้ (duodenum) นอกจากนี้ตับยังเป็นแหล่งทำลายพิษที่สำคัญของร่างกาย โรคที่สำคัญก็คือการเกิดภาวะอุดตันของทางเดินน้ำดี (obstructive jaundice) อาจเนื่องจากการเป็นมะเร็ง adrenocarcinoma ของเยื่อบุท่อน้ำดี มะเร็งแพร่กระจาย (metastasis) มาที่ตับหรือต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วตับ ก้อนนิ่ว ซึ่งจะทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ทำให้น้ำดีคั่งอยู่ในตับเป็นปริมาณมากจนท้นกลับเข้ากระแสโลหิต ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และคันตามผิวหนัง

          การใส่ท่อระบายน้ำดี (Percutaneous transhepatic biliary drainage) ได้ถูกรายงานครั้งแรกในปี 1962 เพื่อการรักษาอาการอุดตันของทางเดินน้ำดีชนิดรุนแรง (malignant obstructive jaundice) และได้รับความนิยมจนเป็นหัตถการมาตรฐานในการบรรเทาอาการตีบตันของทางเดินน้ำดี อย่างไรก็ตามการใส่ท่อระบายน้ำดียังมีผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ อาการอาหารไม่ย่อย การเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งของท่อระบาย ต่อมาในปี 1968 McCune ได้รายงานวิธี ERCP เพื่อรักษาโรคทางตับอ่อนและทางเดินน้ำดี ซึ่งต่อมาทั้ง PTBD และ ERCP ต่างเป็นตัวเลือกเพื่อการรักษาโรคทางเดินน้ำดีอุดตัน และการใช้โครงลวดถ่างขยาย (stent PTBD, stent ERCP) ก็เป็นการพัฒนาหัตถการขั้นสูงยิ่งขึ้น และผลทางคลินิกที่ดีขึ้น

ขั้นตอนของหัตถการ
รังสีแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ (local anesthesia) บริเวณชายโครงด้านขวาหรือหน้าท้องด้านบน จากนั้นจะใช้เข็มชนิด Chiba ขนาด 21G ในการแทงผ่านผิวหนังไปยังท่อน้ำดีที่อยู่ภายในตับโดยใช้เครื่องช่วยนำทาง ซึ่งอาจเป็น ultrasound guidance หรือ fluoroscopic guidance จากนั้นจะผ่านขดลวดนำ (guidewire) ไปยังตำแหน่ง porta hepatis และสอดตัวท่อระบาย (dilator) ผ่านระบบcoaxial sheath dilator system จากนั้นจะทำการฉีกสารทึบรังสีเพื่อยืนยันตำแหน่ง เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ จะทำการขดปลายท่อระบายน้ำดีให้อยู่ในรูปที่เหมาะสม จากนั้นจะทำการเชื่อมต่อกับถุงเก็บน้ำดี (sealed bile bag ) การเลือกท่อระบายจะเลือกท่อระบายที่มีลักษณะของรูเปิดหลายรู (multiple side holes) เพื่อการระบายที่ดี ในการทำหัตถการใส่ท่อระบายน้ำดี จุดสำคัญคือการประเมินตำแหน่งของท่อทางเดินน้ำดีที่จะเจาะเข้าไป หากการอุดตันอยู่ที่ตำแหน่งเหนือต่อ hepatic hilar ให้เลือกตำแหน่งของท่อทางเดินน้ำที่ขยายจะเป็นจุดที่ต้องแทงผ่าน แต่หากตำแหน่งอุดตันอยู่ที่ตำแหน่งต่ำกว่า hepatic hilar ท่อทางเดินน้ำดีสาขาทั้งข้างซ้ายและข้างขวาก็เหมาะสมพอกัน อย่างไรก็ตามการแทงไปยังท่อทางเดินน้ำดีทางซ้ายจะมีความง่ายกว่า แต่หากพิจารณาในเชิงเทคนิคการแทงไปยังท่อทางเดินน้ำดีทางขวาจะดีกว่าเนื่องจากเป็นท่อที่ต่อตรงไปยัง common bile duct ในการทำหัตถการ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการตัวเลือกทางอุปกรณ์ที่มีความหลากหลายซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม

 

 

การดูแลท่อระบายน้ำดี
การดูแลบริเวณท่อระบายน้ำดีที่ติดกับผิวหนังทำโดยการปิดทับด้วยผ้าก๊อสสะอาดปราศจากเชื้อ และใช้พลาสเตอร์ยึดท่อระบายกับผิวหนัง เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายถูกดึงรั้งและเลื่อนหลุด ระยะเวลาของการใส่ท่อระบายน้ำดีขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของแพทย์ โดยประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าน้ำดีจะไหลลงสู่ลำไส้ได้ตามปกติ

ข้อห้ามในการทำ PTBD

ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี บางส่วนไม่อาจทำ PTBD ได้ เนื่องด้วยภาวะบางประการ ได้แก่ ภาวะเลือดแข็งตัวช้า, ภาวะติดเชื้อในระบบไหลเวียนเลือด, มีน้ำในช่องท้อง, มะเร็งระยะสุดท้ายและมีอาการเพียงเล็กน้อย และมะเร็งแพร่กระจายในเนื้อตับ/อุดตันหลายตำแหน่ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการพิจารณาทำหัตถการอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการต่อไป

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา
ก่อนการทำหัตถการ ผู้ป่วยควรพักค้างในโรงพยาบาลก่อนการรักษา 1 วัน เพื่อเตรียมทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะใส่ท่อระบาย, เจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ, ซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจรักษา และต้องงดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ ก่อนการตรวจผู้ป่วยต้องลงชื่อในใบยินยอมรับการตรวจรักษา ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถลงชื่อได้เองต้องให้ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ปกครองที่มีสิทธิอันชอบธรรมลงชื่อแทน

การสังเกตอาการหลังการระบายน้ำดี

เมื่อผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อระบายน้ำดี พยาบาลจะต้องทำการสังเกตอาการของผู้ป่วยก่อนส่งกลับหอผู้ป่วย ในด้านต่าง ได้แก่
1. สังเกตอาการแสดงและบันทึกระดับความรู้สึกตัว บันทึกสัญญาณชีพ เพื่อตรวจสอบภาวะการเสียเลือด ภาวะ
แทรกซ้อนจากการแพ้สารทึบรังสี
2. ประเมินระดับการปวด และจัดท่าทางเพื่อลดอาการปวด
3. สังเกตตำแหน่งและลักษณะของท่อระบายน้ำดี ว่าไม่หัก พับ งอ ดึงรั้ง เพื่อป้องกันการหลุด เลื่อนของท่อระบายน้ำดี
4. สังเกตลักษณะน้ำดี บันทึกปริมาณน้ำดีที่ไหลออกมา
5. ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการทำแผล การสังเกตน้ำดี และการเปลี่ยนถุงรองรับน้ำดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยภายหลังการใส่ท่อระบายน้ำดี
1. นอนหงายโดยใช้หมอนหนุนใต้เข่า
2. ขอยาแก้ปวดจากพยาบาลได้ เมื่อรู้สึกปวดโดยเฉพาะในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก
3. ห้ามนอนทับท่อระบาย ถ้าใส่ท่อระบายที่ชายโครงขวาก็ห้ามนอนตะแคงขวาเพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายหัก พับ งอ ระวังไม่ให้ท่อระบายถูกดึงรั้ง หรือเลื่อนหลุด
4. พยายามให้ถุงหรือขวดรองรับน้ำดี อยู่ระดับต่ำกว่าเอวเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำดีไหลย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
5. หากพบว่ามีน้ำดีไหลซึมหรือพลาสเตอร์เลื่อนหลุด ท่อระบายหัก พับงอ น้ำดีขุ่นหรือเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีอื่น หรือน้ำดีไม่ไหล หรือไหลน้อยลงกว่าเดิมให้รีบแจ้งพยาบาล

การดูแลผู้ป่วยหลังทำการระบายน้ำดี
1. ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อประมาณ 5 วันหรือเปลี่ยนยาตามผล bile c/s
2. ระวังการเกิดภาวะ electrolyte imba
lance เนื่องจากเสีย bile salt ออกจากร่างกายทุกวัน
3. ทำแผลสัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือทุกครั้งที่แผลซึม
4. ควรล้างสายระบายด้วยน้ำเกลือ NSS ครั้งละประมาณ 5-10 ml.จนกว่าจะใส
5. นัดผู้ป่วยมาเปลี่ยนสายระบายน้ำดีทุก 3-6 เดือน เพื่อป้องกัน bacterial creeping เข้าไปในทางเดินน้ำดี
6. ติดตามและตรวจสอบตำแหน่ง ของสายระบายน้ำดี โดยการฉีดสารทึบรังสีที่เจือจางเข้าไปในสายระบายน้ำดี แล้วถ่ายรูป plain film เมื่อมี clinical indication

การดูแลท่อระบายน้ำดีภายหลังการออกจากโรงพยาบาล
เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านจะต้องดูแลท่อระบายน้ำดีเอง โดยระวังไม่ให้แผลท่อระบายน้ำดีสกปรกหรือเปียกน้ำ ควรทำความสะอาดแผลทุกวัน โดยปฏิบัติดังนี้
1. ล้างมือฟอกสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดหรือสะบัดมือแรงๆ จนแห้งก่อนทำแผล
2. ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำยา เบตาดีน เช็ดผิวหนังรอบๆ แผล และท่อระบายที่ติดกับผิวหนังด้วย เนื่องจากท่อระบายนี้จะเลื่อนเข้าออกตามการหายใจ ใช้สำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์ 70 % ทำความสะอาดซ้ำด้วยวิธีเดียวกัน
3. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อสปราศจากเชื้อ โดยใช้ผ้าก๊อสหนุนท่อระบาย และติดพลาสเตอร์ให้ท่อระบายแนบกับผิวหนังหน้าท้อง เพื่อป้องกันการหักพับของท่อ
4. ใช้พลาสเตอร์ติดยึดท่อระบายกับผิวหนังหน้าท้องเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันท่อระบายถูกดึงรั้งและเลื่อนหลุด

สรุป
การใส่ท่อระบายน้ำดีได้รับความนิยมว่าเป็นหัตถการหลักอย่างหนึ่งในการรักษาอาการทางเดินน้ำดีอุดตัน การทำหัตถการตามขั้นตอนที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมร่วมกับการวางแผนการรักษาและการพยาบาลที่ดี จะทำให้ผลของหัตถการประสบความสำเร็จและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตันได้

บรรณานุกรม

1. Liu Y D, Wang Z Q, Wang X D, et al. Stent Inplantation through rendezvous technique of PTBD and ERCP : the treatment of obstructive jaundice. J of Digestive Diseases 2007; 8: 198-202
2. http://www.hospital.md.kku.ac.th/xrayopd/new_page_16.htm
3.เสาวนีย์ หอมสุด, จุฑา ศรีเอี่ยม, ตองอ่อน น้อยวัฒน์ และ อภิชาติ กล้ากลางชน.การใส่ท่อระบายน้ำดีในผู้ป่วยภาวะท่อน้ำดีอุดตัน. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2008, 1 : 33-39

หมายเลขบันทึก: 298128เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

ขอบคุณค่ะพี่1 หนูกำลังหาพอดี

เอ้า..หนู เป็นไงบ้าง ไปเรียนเครียดป่าว สู้ๆนะจ๊ะ

อยากทราบว่า ถ้าเกิดคนที่ป่วยเป็นถุงน้ำดีอุดตัน จะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างค่ะ ช่วยตอบข้อสงสัยให้ด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณทิพย์

ขออภัยที่ตอบช้านะคะ

ถุงน้ำดีอุดตัน ในที่นี้หมายถึงนิ่วในถุงน้ำดีรึเปล่าค่ะ ถ้าใช่มีเวบที่น่าสนใจ อธิบายรายละเอียดไว้ดีมากๆที่นี่ค่ะ => นิ่วถุงน้ำดีและการรักษา มีคำแนะนำตั้งแต่เมื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็น แล้วถ้าไม่มีอาการต้องรักษาหรือไม่ นอกจากผ่าตัดจะมีวิธีรักษาอื่นๆหรือไม่ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่อง ทำไมต้องเอาถุงน้ำดีออกด้วย เมื่อไม่มีถุงน้ำดีแล้วต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด

หวังว่าคงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ^^ และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและญาติผ่านช่วงเวลาแห่งการเจ็บป่วยนี้ไปได้ด้วยดีนะคะ

สวัสดีครับ

      ผมได้อ่านบทความนี้แล้วรู้สึว่าเป็นประโยชน์มากเลยครับ พอดีว่าคุณพ่อผมก็เป็นอยู่ วันนี้นอนอยู่ที่โรงพยาบาลระยอง

หมอบอกว่า ตรวจพบว่าเป็นท่อน้ำดีอุดตัน แต่จะรอผลตรวจอีกรอบว่ามีอาการอื่นๆอีกมั๊ย จะได้ผ่าตัดไปเลยครั้งเดียว คุณพอเล่าให้ฟังว่า มันมีอาการคุนด้วยนะครับ ไม่รู้ว่ามันเป็นอาการข้างเคียงหรือเปล่า

สวัสดีค่ะคุณเชน อาการที่คุณพ่อคุณเชนบอกน่ะจะเป็นอาการคันใช่รึเปล่าคะ สำหรับผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีอุดตันจะทำให้น้ำดีและสารบิลิรูบินคั่ง ไม่สามารถไหลลงสู่ลำไส้ได้ สารบิลิรูบินจึงท้นเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวตาเหลือง และมีอาการคันจากสารบิลิรูบินก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังค่ะ สำหรับการรักษา การทานยาแก้คันก็ช่วยได้เพียงทุเลาอาการ การรักษาหลักโดยรักษาที่สาเหตุจะแก้ไขอาการได้ดีที่สุดค่ะ เช่น หากน้ำดีคั่งจากท่อน้ำดีอุดตัน แพทย์ก็จะพิจารณาหาวิธีช่วยระบายน้ำดีไม่ให้คั่งค่ะ เดี๋ยวนี้มีหลายวิธีในการช่วยระบายน้ำดี การใส่สายระบายน้ำดีก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่จะช่วยได้ค่ะ ผู้ป่วยแตะละรายอาจเหมาะกับการรักษาที่แตกต่างกัน ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณเชนหายป่วยไวๆด้วยนะคะ ^^

พอดีคุณย่าทำการใส่สายระบายน้ำดีมาจากกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2554 คุณหมอนัดเปลี่ยนสายวันที่ 31 มีนาที่ผ่านมา แต่ที่บ้านคิดว่าถ้าพาไปเปลี่ยนสายที่กรุงเทพคงไม่ไหว รบกวนขอคำปรึกษาว่าที่อุดรมีที่ไหนที่เราพอจะพาไปเปลี่ยนสายระบายน้ำดีได้บ้างคะ เพราะลองพาคุณย่าไปถามที่ รพ.ค่ายประจักษ์กับ รพ.อุดร แต่เค้าบอกว่าทำไม่ได้ เลยงงว่าจะพาไปเปลี่ยนที่ไหนได้อีกคะ ขอบคุณล่วงหน้าเลยนะคะ :)

สวัสดีครับ การใส่สายระบายน้ำดีเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน มีน้ำดีไหลซึมออกมาเยอะ ต้องเปลี่ยนผ้าก๊อสประมาณวันละ 3-4 ครั้ง อยากทราบว่าจมีผลข้างเคียงอะไรต่อผู้ป่วยไหมครับ ขอคุณล่วงหน้า

*ขอบคุณล่วงหน้านะครับ

สวัสดีค่ะคุณนุก

ต้องขอโทษอย่างมากเลยค่ะที่เพิ่งตอบ เพิ่งเห็นข้อความคุณนุกจริงๆ 

ที่อุดร จริงๆแล้วรพ.อุดร รพ.ค่ายฯ ก็สามารถเปลี่ยนสายระบายน้ำดีได้นะคะ 

และที่โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีอีกแห่งที่สามารถทำได้ค่ะ


สวัสดีค่ะคุณ Top

สำหรับน้ำดีที่ไหลซึมออกมาเยอะแบบนี้ จะทำให้ผิวบริเวณรอบๆระคายเคืองและอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อต่อไปได้ค่ะ ดังนั้น แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อรับการแก้ไขค่ะ 

น.สเสาวลักษณ์ อัศราช

คุณแม่ก็ใส่ท่อน้ำดีแต่ใส่ครั้งนี้หลุดเพราะอะไรคะถึงหลุด

พ่อไปเจาะท่อน้ำดีมา น้ำที่ไหลออกมาระดับไหนถึงจะว่าปกติครับ

สวัสดีค่ะคุณเสาวลักษณ์

ใส่ท่อน้ำดี ในที่นี้คือใส่สายระบายน้ำดีที่ระบายน้ำดีออกมาลงในถุงข้างนอก หรือใส่ท่อน้ำดี(stent) ไว้ข้างในเพื่อถ่างขยายท่อระบายน้ำดีที่ตีบให้กว้างขึ้นคะ แต่การใส่ทั้งสองอย่างก็มีโอกาสหลุดได้ค่ะ ทุกครั้งหลังจากใส่แล้ว ผู้ป่วยจึงได้รับคำแนะนำให้สังเกตความผิดปกติเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน หนึ่งในความผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์คือ ท่อระบายน้ำดีเลื่อหลุดค่ะ เพราะหากมีการเลื่อนหลุด ก็จะทำให้ไม่สามารถระบายน้ำดีได้ อาจก่อให้เดิออาการน้ำดีอุดตันอีกค่ะ

สวัสดีค่ะคุณวีรชน

น้ำดีที่ไหลออกมาไม่ควรเกิน 1000 ซีซีต่อวันค่ะ หากเกินนี้แสดงว่าผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอพบแพทย์ก่อนถึงวันนัดค่ะ

ปรียาภรณ์ มาละอินทร์

ถ้าเจาะถุงน้ำดีแล้วต้องนอนที่ร.พ.กี่วันค่ะแล้วออกมาใช้เวลาใส่สายระบายท่อน้ำดีนานไหมค่ะ

น้ำที่ไหลออกมาเป็นสีเขียวเข้มค่ะ. มันมีผลเสียยังใงบ้างค่ะ. ?   /ขอบคุณค่ะ. :)

ทำไมมีฟองอากาศเล็กๆๆเต็มสายเลยค่ะ อยากทราบว่าผิดปกติไหมค่ะ

เเม่กำลังใสท่ออยู่อ่ะคะเกือบเดือนได้เเล้วอยากสอบถามคะว่าวันที่26/5/58ไม่มีน้ำไหลคะมาจากสาเหตุอะไรคะ

ต้องขออภัยมากๆที่ไม่ได้เข้ามาตอบเลยค่ะ

1.การใส่สายระบายน้ำดี บางแห่งก็ไม่ต้องนอนรพ.ค่ะ หลังทำเสร็จ นอนสังเกตอาการประมาณ2ชม. หากไม่มีอะไรผิดปกติ และผู้ป่วย/ผู้ดูแลเรียนรู้การดูแลสายระบายน้ำดีได้เร็ว ก็กลับบ้านได้เลยค่ะ

2.ใส่สายระบายน้ำดีนานแค่ไหน ขึ้นกับโรคและอาการอุดตันของท่อน้ำดีในแต่ละรายค่ะ บางรายหากแก้ไขการอุดตันได้ก็สามารถเอาสายระบายออกได้ค่ะ

3.น้ำที่ออกมาเป็นน้ำดีค่ะจึงมีสีเขียวเข้ม เป็นสีปกติของน้ำดีค่ะ

4.ฟองอากาศในสายระบาย อาจเกิดจากมีรอยรั่วของสายระบายค่ะ อาจต้องตรวจสอบรอยรั่วและแก้ไขให้เป็นระบบปิดค่ะ

5.ปกติการใส่สายระบายน้ำดี เพื่อระบายให้น้ำดีไหลออกมาได้ไม่มีการอุดตันค่ะ หากน้ำดีไม่ไหลออกมาเลย อาจเกิดจากมีการอุดตันตำแหน่งใดของสายระบายน้ำดี แนะนำเบื้องต้นหากเคยสวนล้างสายระบายน้ำดี ควรสวนล้างค่ะ หากไม่เคยทำ หรือลองสวนล้างแล้วยังไม่มีน้ำดีออกมาเลย ควรพบแพทย์เพื่อสวนล้างสายระบายน้ำดีค่ะ ไม่ควรปล่อยให้อุดตันนานๆเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได


ตอนนี้คุณแม่ใส่สายระบายมาได้ปีกว่าๆเกือบสองปีแล้ว ตอนนี้มีอาการปวดที่แผลบริเวณเจาะ แลรอบแผลมีการบวมขึ้นมารอบสายระบาย คิดว่าเป็นการอักเสบแต่ทานยาแก้อักเสบตามแพทย์สั่งแล้ว แผลก็ไม่หายบวม อาการคือเป็นติ่งเนื้องอกรอบสาย การดูแลรักษาจึงลำบากกว่าเดิม น้ำดีก็ไหลปกติ แลสายระบายนี่ก็ดำมากอยากทราบว่าเปลี่ยนสายระบายได้ไหมครับ หรือมีวิธีไหนพอจะรักษาได้บ้าง เนื่องจากแพทย์แถวนี้ก็บอกว่าไม่เคยเจอเคสแบบนี้ ขอบพระคุณมากครับ ขอให้ความดีคุ้มครองคุณหมอนะครับ

สวัสดีค่ะคุณลูกรักแม่

ที่รพ.มะเร็งอุดรฯเคยเจอเคสคล้ายๆกันแบบนี้ค่ะ ขอตอบเป็นข้อๆนะคะ

๑.ขอชื่นชมผู้ป่วยและผู้ดูแลค่ะที่สามารถดูแลสายระบายน้ำดีได้โดยไม่มีปัญหาอะไรมายาวนานเกือบสองปีแล้ว แสดงให้เห็นว่าดูแลได้ถูกต้องและดีมากๆค่ะ

๒.อาการปวดบริเวณรอยเจาะ ที่มีอาการบวมรอบแผล ถ้าสังเกตว่ามีบวม แดง ร้อนขึ้นบริเวณรอบแผล อาจเกิดการอักเสบบริเวณปากแผลได้ค่ะ แต่เท่าที่อ่านจากข้อมูลที่เขียนมานั้น อาการบวมที่บอกน่าจะคือติ่งเนื้อ ทานยาแก้อักเสบจึงยังไม่หาย

๓.ที่นี่เคยเจอผู้ป่วยมีติ่งเนื้อขึ้นมาบริเวณเดียวกันนี้เช่นกันค่ะ สิ่งที่จะแนะนำคือ ควรพาคุณแม่พบแพทย์ที่ทำการใส่สายระบายน้ำดีให้ค่ะ (กรณีที่นี่ เมื่อผู้ป่วยมาพบ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อส่งไปตรวจก่อนเบื้องต้นค่ะ เพื่อดูว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเป็นเนื้อร้าย และเมื่อผลออกมาแล้วจะได้วางแผนรักษาต่อไปค่ะ)

๔.เรื่องสายระบายน้ำดีดำมาก (เนื่องจากน้ำดีมีสีเขียว และใส่สายมานานเกือบ ๒ ปี จึงเห็นเป็นสีดำมากภายในสายค่ะ) สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องสายระบายอุดตัน น้ำดีไม่ไหลหรือไหลไม่สะดวก หากเป็นเช่นนั้นอาจมีการสวนล้าง หรือถ้าสวนล้างไม่ได้ อาจมีการเปลี่ยนสาย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมค่ะ

ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คุณแม่และคุณลูกรักแม่ ด้วยนะคะ สู้ๆๆๆๆค่ะ

คุณปู่เริ่มใส่สายน้ำดีตั้งแต่เดือน มี.ค58 ที่ผ่านมา แต่ว่าหลังจากใส่แล้วท่านแอบดึงทิ้งมาประมาณ 3 ครั้งแล้ว แล้วที่ท่อน้ำดีอุดตันคุณหมอบอกว่าเกิดจากเนื้องอกค่ะ ถ้าหากเราปล่อยไว้ไม่ไปใส่สายจะมีอาการอย่างไรและหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ในระยะกี่เดือนคะ กลุ้มใจมากเนื่องจากท่านเป็นอัลไซเมอร์ร่วมด้วย จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษาเลย

ผมขอรบก่วนหน่อยน้ะค้าบ คือว่า ตาผม ได้ใส่สายวันที่ 30 กันยายน พอมาวัน 2 พฤศจิกายน รุ้สึกว่า นำ้ดีมันไม่ไหลออกมาครับ จะส่งผลอะไรไหมค้าบ

ผมขอขอบคุนล่วงหน้าด้วยน้ะคร้บ


สวัสดีครับคุณหมอครับขิรบกวนปรึกษา คือพ่อผม มีอาการคันตามตัว ตาเหลือง ตัวเหลือง เท้าเหลือง ไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นถังนำ้ดี อุดตัน หมอไส่ท่อให้ แล้วให้มาอยู่บ้าน ประมาณ 2 อาทิตย์หมอให้ไปตรวจอีกครั้งหนึ่ง อยากว่าพ่อเป็นมะเร็งหรือไม่ ถ้าอยู่ในระยะใด แต่กินข้าวได้


ใส่ท่อระบายน้ำดีแล้ว กลับบ้านปวดท้องใต้ชายโครงขวา ผิดปกติยังไงคะ

เพิ่งเห็นคอมเม้นค่ะ ต้องขอโทษจริงๆที่เข้ามาตอบช้ามากๆ

ตอบคุณ อ้อค่ะ

กรณีดึงสายออกเองหลายครั้งด้วยเหตุเพราะผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาระบายน้ำดีวิธีอื่นจะเป็นไปได้หรือไม่ค่ะ แต่หากไม่สามารถทำวิธีอื่นได้ ผู้ดูแลอาจต้องกลับมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีในการดูแลสายระบายน้ำดีให้คงอยู่ (หมายความว่าควรมีผู้ดูแลใกล้ชิด เนื่องด้วยผู้ป่วยไม่สามารถดูแลเองได้ค่ะ)

ส่วนคำถามที่ว่าหากดึงออกมาแล้วไม่ไปใส่ใหม่จะเกิดอะไรขึ้น ตอบได้ว่าตัวเนื้องอกที่อุดตันท่อน้ำดีก็ยังคงอุดตันอยู่ค่ะ หากน้ำดีไม่ระบายก็จัก่อให้เกิดอาการตัวตาเหลือง พิษของน้ำดีคั่งอาจทำให้คันตามผิวหนัง กินอาหารแล้วท้องอืด ปวดแน่นท้อง เป็นต้นค่ะ


คุณนันทวุฒิค่ะ ขออภัยที่เข้ามาตอบช้านะคะ

หากใส่สายระบายน้ำดีแล้ว น้ำดีไม่ไหลจะส่งผลให้เกิดอาการตัวตาเหลือง คันตามตัว อืดแน่นท้อง. หากปล่อยไว้นานๆอาจติดเชื้อได้ค่ะ สาเหตุที่น้ำดีไม่ไหลอาจเกิดได้จากกลายกรณี เช่น สายหักพับงอ ,มีตะกอนอุดตันสาย เป็นต้น หากพบว่ามีตะกอนอุดตัน แก้ไขได้โดยการนวดสายและสวนล้างสายค่ะ (หากก่อนกลับบ้านพยาบาลได้สอนสาธิตให้ผู้ดูแลสวนล้างสายแล้ว สามารถทำได้เองเลยค่ะ หากไม่มั่นใจ แนะนำพบแพทย์รพ.ใดล้บ้านค่ะ

สวัสดีค่ะคุณดอกดิน ขออภัยที่ตอบช้านะคะ

กรณีที่ต้องใส่สายเพื่อระบายน้ำดี หมายความว่ามีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน เป็นได้จากหลายเหตุ เช่นนิ่ว เนื้องอก กรือมะเร็ง ดังนั้นข้อมูลเท่าที่บอกมาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ระยะไหนค่ะ เข้าใจว่าแพทย์น่าจะได้แจ้งผู้ป่วยในวันรักษาแล้วว่าเป็นโรคอะไรและแผนการรักษาด้วยค่

สวัสดีค่ะคุณส้มโอ

หากมีอาการผิดปกติหลังใส่สายระบายน้ำดี. แนะนำพบแพทย์ก่อนนัดได้ค่ะ

วิชาญ ไกรกิจราษฎร์
วิชาญ ไกรกิจราษฎร์

สวัสดีครับหมอ

เนื่องจากแม่ผมได้ผ่าตัด.ใส่ท่อ.ในถุงน้ำดีมาสองปีแล้วครับ อาการดีมากเลยครับ

  1. แต่แม่ไปขุดดินแล้วเกิดอาการปวดท้องไปพบหมอบอกอีกเสบให้ยามาทาน1สัปดาแล้วยังไม่หายปวดเลย ขอข้อแนะนำจากหมอด้วยครับ

ทำไมสีน้ำดีท่ีเจาะออกมาทั้งสองข้างไม่เหมือนกันคะ ข้างขวา สีออกจะแดง ข้างซ้ายเหลืองค่ะ ผิดปกติหรือป่าวคะ จะได้รีบพาไปพบแพทย์

ตอนนี้ใส่สายระบายน้ำดีอยู่คะหมอนัดเปลี่ยนสายอยากทราบว่าต้องทำการเจาะรูใหม่หรือเปลี่ยนจากรูที่เจาะไปแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท