สังคมแห่งการเรียนรู้


สังคมแห่งเทคโนโล
ชีวิตปลัดกระทรวงฯ นั้นไม่ค่อยได้อยู่กับที่ มีเรื่องต้องเดินทางทั้งในประเทศและ
ต่างประเทศอยู่เสมอๆ  เรื่องเดินทางในประเทศนั้นเมื่อตอนเป็นรองปลัดกระทรวงฯ   ก็ต้อง
เดินทางเป็นประจำอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยรู้สึกผิดปกติ    สำหรับการไปต่างประเทศผมว่างเว้น
การเดินทางมานาน     เพราะก่อนหน้านี้ต้องรับงานหน้าที่แม่บ้านเลยไม่มีโอกาสจะได้ไป
แม้เมื่อมีโอกาสก็ไปไม่ค่อยได้ เพราะมักจะติดด้วยงานที่ต้องทำ
            ช่วงหกเดือนที่ผ่านมาผมไปต่างประเทศห้าครั้ง    ครั้งแรกไปฝรั่งเศสไปประชุม
ใหญ่ขององค์การยูเนสโก (UNESCO)    หรือองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
แห่งสหประชาชาติ ไปประชุมอยู่หนึ่งสัปดาห์ ในเดือนพฤศจิกายน 2542 ไปครั้งนี้เป็นผลพวง
ให้ได้รับเลือกเป็นกรรมการของสถาบันระหว่างชาติ เรื่องการศึกษา (International Bureau
of Education)  เรียกย่อ ๆ ว่า IBE   เดือนธันวาคม 2542      ไปร่วมประชุมนานาชาติ
ณ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน   ภายใต้หัวข้อโครงการระดับชาติ   เพื่อเตรียมบุคลากร : ผลและ
มุมมองสู่อนาคตทางการปฏิรูปการศึกษา (National Program of Staff Preparation :
Result and Perspectives Reforms) พอเดือนมกราคม 2543 จึงต้องไปประชุม IBE
ที่กรุงเจนีวา   ประเทศสวิสเซอร์แลนด์   พอเดือนกุมภาพันธ์ 2543   ก็ไปประชุมกับผู้บริหาร
ระดับสูงของประเทศสมาชิก SEAMEO (South East Asia Minister of Education
Organization) ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย แล้วเดือนเมษายนนี้ก็ไปประชุม APEC
Education Network ที่สิงคโปร์ ไปในฐานะเป็นตัวแทนของประเทศทั้งสิ้น ไม่ได้ไปเที่ยว
ที่ไหนแต่ประการใด ได้แต่ประชุมเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
            มีสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ใหม่ ๆ หลายประการจากการเดินทางไปประชุมระหว่างประเทศ  
อย่างแรกคือ ทำให้ได้รู้จักคนในวงการศึกษาที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างที่สองก็คือ
ได้เรียนรู้คนอื่น ๆ ในโลกนี้ ทั้งที่อยู่ใกล้บ้านเราและที่อยู่ห่างไกลออกไป เขาคิดเรื่องการศึกษา
กันอย่างไร เขากำลังทำอะไรกันอยู่ อย่างที่สามคงเป็นเรื่องส่วนตัวหน่อย คือได้ผ่อนคลายความ
เคร่งเครียดกับงานในหน้าที่ได้เปิดหูเปิดตา เปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างขึ้น
            ทุกครั้งที่ไปพบกับนักการศึกษาต่างประเทศ สิ่งที่เขามักชวนผมคุยคือเรื่องการปฏิรูป
การศึกษาของไทย   ชาวโลกเขารู้เรื่องดีว่าประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ออกมา   มีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนคนไทยในโอกาสที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย   และจะต้องจัดอย่างมีคุณภาพและทราบ
ดีว่านักการศึกษาไทยกำลังหายใจเข้าออกเป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา
            คนต่างชาติยกย่องคนไทย   ประเทศไทย ที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางการศึกษาได้ และไปไกลถึงขั้นมีกฎหมายใหม่ ซึ่งหลายประเทศทำไม่ได้ แต่ที่ไกลกว่านั้น
คือความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างที่หลายประเทศ
กำลังทำอยู่ เช่น หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องหลักสูตร  เรื่องการประกันคุณภาพ
การศึกษา การวัด และการประเมินผลการศึกษา เป็นต้น   แต่ของไทยกำลังปฏิรูปทุก ๆ ด้านที่
คนอื่นเขากำลังทำอยู่ ในการไปประชุมต่างประเทศทุกครั้ง ผมเห็นว่าความคิดของคนในโลกนี้
แม้จะต่างกันแต่พื้นฐานความคิดเรื่องการศึกษาไม่ค่อยมีอะไรที่จะขัดแย้งกัน มีแต่ว่าบางคน  
บางประเทศคิดไปได้ไกล ทำได้ไกลกว่าอีกประเทศหนึ่ง แล้วประเทศอื่นๆ ก็พยายามที่จะเรียนรู้
ในสิ่งที่ตนเองยังไม่ได้คิดไม่ได้ทำ ผมสังเกตเห็นว่าขณะนี้ ทุกคน ทุกประเทศมองเห็นตรงกันว่า
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสื่อสาร นำมาซึ่งกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง
สู่ยุคแห่งโลกไร้พรมแดน อย่างไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้   ประเทศใดไม่เข้าร่วมในกระแสความ
เปลี่ยนแปลงนี้ก็มีโอกาส ก้าวไม่ทันประเทศอื่น ไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมยุคใหม่ได้ กระแส
ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นตัวกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาในยุคใหม่ค่อนข้างมาก
            ความคิดทางการศึกษาของโลกก็เปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของกระแส
โลก   จำได้ว่าครั้งหนึ่งขณะที่กำลังพูดกันถึงเรื่องการศึกษา ก็มีคนหนึ่งมาจากประเทศที่พัฒนา
น้อยกว่าประเทศอื่นกล่าวว่า    เมื่อพูดถึงการศึกษาเราก็ต้องนึกถึงโรงเรียน ครู และนักเรียน
เพราะสามสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการจัดการศึกษา     ซึ่งต่อมาก็ต้องพูดถึง
หลักสูตร  อุปกรณ์การสอน   สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ฯลฯ ก็มีคนทักทันทีว่าการคิดถึง
การศึกษาในรูปแบบมีโรงเรียน ครู นักเรียน ฯลฯ ในยุคโลกไร้พรมแดนนี้ดูจะไม่ทันการแล้ว
โลกยุคใหม่การเรียนรู้เกิดได้ตลอดเวลา และเกิดได้กับคนทุกคน คนทุกคนเรียนรู้ได้ไม่ใช่
จากครู   แต่เรียนรู้จากการสัมผัสกับแหล่งข้อมูลข่าวสารจากสื่อสารต่างๆ ผู้เรียนจึงไม่จำเป็น
ต้องหมายถึงนักเรียนอีกต่อไป การพูดถึงนักเรียนก็มักหมายถึงเด็กและเยาวชนที่เข้าเรียน
ในสถานศึกษาปกติแต่โลกยุคปัจจุบันผู้เรียนต้องหมายถึงคนทุกคน
            การเรียนรู้ในยุคใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียน แต่เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง
ในหลายสถานที่ แม้แต่ในบ้านของตนเองก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ถ้ามีระบบสื่อสารและข้อมูล
ข่าวสารที่ดีพอ    การเรียนรู้จากกันและกันก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้คนได้รับความรู้ได้
อย่างดี การเรียนรู้จึงไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน (จากครูเท่านั้น) อีกต่อไป
            โลกยุคใหม่ถูกเชื่อมโยงด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์
และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมและใยแก้วนำแสง ทำให้การส่งทอดข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้
อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก     เราสามารถค้นคว้าหาความรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ต่างๆ ด้วยระบบ Internet   ได้แม้อยู่คนละซีกโลกก็ตาม      ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะ
เปลี่ยนรูปแบบของการเรียนรู้   และแหล่งความรู้และจะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง
เท่าเทียมกัน
            ขณะนี้หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการ
ศึกษา   ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดนโยบายว่าในปี คศ. 2000 ทุกโรงเรียนจะต้องมีคอม
พิวเตอร์อย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อนักเรียนห้าคน   และทุกห้องเรียนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่ต่อ
อินเทอร์เน็ตได้   ส่วนสิงคโปร์ก็ประกาศนโยบายทำนองเดียวกันว่า เขาจะต้องให้โรงเรียน
มีคอมพิวเตอร์อย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อนักเรียนสองคน   ในปี คศ.2002  กล่าวได้ว่าหลาย
ประเทศกำลังรีบเร่งนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ   มาใช้เพื่อการศึกษากัน
อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
ให้เป็นระบบกลางที่มีราคาถูก   เพื่อส่งเสริมการศึกษาของประชาชน การเรียนรู้วิธีนี้จะ
อาศัยแหล่งความรู้ได้จากทั่วโลก
            มีอีกเรื่องหนึ่งที่ทั่วโลกพูดถึงกันมากคือ การทำให้คนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต
เพราะเป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การพัฒนาตนเองนำไปสู่
การพัฒนาการงานอาชีพ   และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น   คนจะพัฒนาตนเอง
ได้ต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ถ้ามีแหล่งความรู้ให้ศึกษาค้นคว้า มีระบบเทคโนโลยี
สารสนเทศเพื่อส่งทอดความรู้   มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้เข้าถึงความรู้ และคนรู้จัก
วิธีแสงหาความรู้   เขาก็จะเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต   ทุกประเทศในโลก
ปรารถนาจะเห็นคนของตัวเองได้เป็นผู้เรียนรู้อยู่เสมอตลอดชีวิต   ความคิดนี้ก้าวไป
อีกขั้นหนึ่งสู่ความคิดที่ว่า    ถ้าช่วยกันทำให้ทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมสนับสนุน
เพราะทุกส่วนทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับความรู้   สังคมก็จะเป็น
“สังคม
แห่งการเรียนรู้”
(Learning Society)    ความคิดเรื่องสังคมแห่งการเรียนรู้  
เริ่มเป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นความจำเป็นต่อการพัฒนา
ประเทศเป็นอย่างยิ่ง
            ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ มีประชากรสามล้านคน
เศษ เป็นประเทศที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้งเมืองและประเทศในขณะเดียวกัน
            สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก   ทรัพยากรส่วนใหญ่มาเน้นที่
การศึกษา   เพราะเขาถือว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น ที่จะช่วยยกระดับการ
พัฒนาประเทศแข่งกับประเทศอื่น ๆ ในโลกได้   ผมได้ไปเห็นในงานนิทรรศการทาง
การศึกษาของเขาขณะนี้สิงคโปร์ประกาศตัวเองว่าเป็น
“นครแห่งการเรียนรู้

(Learning Metropolis)”
            ประเทศไทยก็เผชิญปัญหากันมามากแล้ว หลายเรื่องยังแก้กันไม่ค่อยตก
ต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะคนไทย และสังคมไทยยังไม่ใช่สังคมแห่ง
การเรียนรู้  เรายังไม่มีระบบการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายพอน่าจะลองช่วยกัน
คิดใหม่   วางรากฐานของประเทศใหม่ ทำให้สังคมไทยเป็น
“สังคมแห่งการเรียนรู้”
ไม่ใช่เพื่อให้แข่งกับประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ แต่เพื่อให้ทุกคนมีส่วนช่วยกันพัฒนา
ประเทศ เราจะได้ผ่านพ้นปัญหาวิกฤตเสียที
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29746เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สังคมเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เจ้าของเรียนรู้อะไรบ้างจ๊ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท