เล่าเรื่องวันที่ ๗ - ๑๓ กันยายน ๒๕๕๒


จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้

๑๓   กันยายน  ๒๕๕๒ 

เรียน   เพื่อนครู  ผู้บริหารที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๗  กันยายน  ๒๕๕๒   เห็นพอไหวจึงเดินทางกลับท่ายาง  เข้าที่ทำงาน ทราบว่า นายณรงค์  เหลืองอร่าม  นักการที่มาช่วยงานปรับปรุงเขตล้มป่วยด้วยโรคหัวใจเมื่อคืนวันศุกร์ อยู่ห้องไอซียู โรงพยาบาลพระจอมเกล้า  เพชรบุรี อาการไม่ดีขึ้น ญาติกำลังหาโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้ติดต่อคุณหมอณรงค์  สายวงศ์  เพื่อน นปส.๕๓  เขาแนะนำโรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะมีหมอที่รู้จัก เลยให้ข้อมูลสำหรับญาติตัดสินใจ   ขึ้นไปทำงานเอกสารที่ห้องจนหมดทุกแฟ้ม  ท่าน ผอ.รร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเพชรบุรี มาปรึกษาเรื่องปัญหาในโรงเรียน รับไว้ดำเนินการให้  บ่ายมีการย้ายป้ายสำนักงานออกไปด้านหน้าใกล้ถนนเพื่อให้ดูเด่นทั้งป้าย และศาลาทรงไทยที่สร้างใหม่ ได้รถเครนของเอกชนมาช่วย  ทำเสร็จแล้วก็ดูดี  เย็นเข้าเมืองเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของนายณรงค์  เหลืองอร่าม ยังอยู่ไอซียู มีอาการปวดและแน่นหน้าอก เกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ก่อนนี้เขาเป็นคนแข็งแรงทำงานเก่ง  พอป่วยดูหมดเรี่ยวหมดแรง  เข้าห้องไอซียู ดูอาการป่วยแต่ละรายทำให้ปลงไปเยอะ คิดแล้วอิจฉาคนที่นอนหลับแล้วไหลตายเหมือนกัน เพราะไม่ทุกข์ทรมาน  

วันอังคารที่ ๘  กันยายน  ๒๕๕๒  เช้านี้เดินทางไปโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพื่อร่วมต้อนรับ ดร.กมล  รอดคล้าย  ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ  ถึงโรงเรียนฟังบรรยายสรุปทั้งของนักเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียน มีการซักถามปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ก่อนไปชมพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย   โรงเรียนถัดไปคือโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา ฟังบรรยายสรุปและไปชมศูนย์การเรียนตามอัธยาศัย เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือกให้กับเด็กด้อยโอกาสซึ่งถูกโรงเรียนเดิมคัดออก  ผอ.ไมตรี ศรีสกุลไทย พาไปทานข้าวที่ร้านอาหารจันทร์นิล ใต้เขื่อนเพชร จากนั้นเดินทาง ไปโรงเรียนบ้านห้วยกวางจริง  ตำบลพุสวรรค์ อำเภอแก่งกระจาน โรงเรียนเขาสะอาดทั้งบริเวณโรงเรียนและอาคารเรียน  อยู่เพชรบุรีเขต ๒       มีเรื่องหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือ ชี้ให้โรงเรียนเห็นความสำคัญของส้วมที่สะอาด หันมาปรับปรุงห้องน้ำห้องส้วมเหมือนที่ชุมพร แต่ผู้บริหารโรงเรียนมักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เห็นอาคารใหญ่ ๆ สวย ๆ เข้าห้องน้ำนักเรียนทีไรแทบหายหลัง  โรงเรียนเล็ก ๆ ดูดีกว่าในเรื่องนี้  กลับเขตดูงานศาลาทรงไทยคืบหน้าไปมาก เริ่มมุงหลังคา  ป้ายสำนักงานก่ออิฐโชว์ล้อมเสาเสร็จ มองแล้วดูดี ไม่ได้ขึ้นห้องทำงานในวันนี้

วันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒   เช้าทำงานจนเวลา ๐๙.๐๙ น. นัดเจ้าหน้าที่ทั้งสำนักงานลงไปเข้าแถวหน้าเสาธง ที่ตั้งโต๊ะหมู่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฟังคำกล่าวอเศียรวาทจากนายกรัฐมนตรี จากนั้นพร้อมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีมหาราชา กลับขึ้นทำงานเอกสาร เที่ยงพานักการภารโรงที่มาเป็นช่างทำศาลาทรงไทยไปทานอาหารกลางวันที่ร้านลุงหร่าม ริมคลองสาย ๒ เพราะทานที่ร้านอาหารหน้าเขตมาหลายวันคงจะเบื่อ  บ่ายท่านรองฯ วิมาน  ดีทองหลางนำคณะจาก สพท.ชุมพร เขต ๑  มีผอ.กิจจา เก่งการไถ นายนิวัฒน์  สังฆมรรทร นายเมษา  ขันทะเสน มาเป็นหน่วยล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับการศึกษาดูงานของผู้บริหารโรงเรียนสังกัด สพท.ชุมพร เขต ๑ ในวันพรุ่งนี้ พาไปดูโรงเรียนบ้านแม่ประจันต์ คณะครูกำลังจัดเตรียมความพร้อมในการต้อนรับกันอยู่  ท่าน ผอ.อรุณ  อ่วมเครือ ให้การต้อนรับและแนะนำเส้นทางที่รถขนาดใหญ่จะเข้าได้สะดวก จากนั้นเดินทางไปสวนเพชรรีสอร์ท  วันนี้คณะจากจังหวัดชัยนาทพักกันเต็ม กำหนดออกบ่ายพรุ่งนี้   กลับลงมาท่ายางนำคณะไปพักค้างที่โรงแรมแทรชเชอรี่ บริเวณเดียวกับร้านอาหารคลังเงิน   เย็นนัดหมายพบกันที่ร้านชิดชนก เพื่อไปทานอาหารที่ร้านเปลยวน ไปถึงร้านมีป้ายแขวนไว้บอกว่า “หยุดวันพุธ” เลยต้องขับเลยไปออกเพชรเกษม ไปใช้บริการของร้านต้นม่วงตรงข้ามโรงพยาบาลเมืองเพชร-ธนบุรี  ท่าน ผอ.ไพศาล  กาญจนดิษฐ์ โรงเรียนประชานิคม ๒และผอ.กมล  ธรมีฤทธิ์ โรงเรียนบ้านชุมโค มาสมทบ อิ่มแล้วกลับไปโรงแรม  เข้าห้องคาราโอเกะร้องเพลง เป็นการรวมวงกันใหม่อีกครั้ง ข่าวว่าหลังจากผมย้ายมาวงแตก ห้องคาราโอเกะที่เขตปิดเป็นส่วนใหญ่  อยู่จน ๕ ทุ่มเดินทางกลับบ้านพักปล่อยให้เขาสนุกกันต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒  เข้าสำนักงานทำงานเอกสารจนเกือบ ๑๐ นาฬิกาเดินทาง ไปโรงเรียนบ้านแม่ประจันต์  พบผู้บริหารโรงเรียนจากชุมพร เขต ๑ ที่มารถส่วนตัวถึงโรงเรียนแล้วบางส่วน ทักทายกันเป็นเฮฮา เพราะไม่พบกันมานาน ต่างมีของติดมือมาฝากตามที่จะเคยเห็นว่า ผมชอบทาน เมื่อคณะใหญ่มาถึง ภายใต้การนำของนายชิต  นาสัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขต ได้เข้าฟังบรรยายสรุปในห้องประชุม  ผมกล่าวต้อนรับ ผู้อำนวยการโรงเรียนแนะนำโรงเรียน มีอาหารว่างรับประทานกันถ้วนหน้า  ออกจากโรงเรียนเดินทางไปสวนเพชรรีสอร์ท รับประทานอาหารกลางวัน  คณะเข้าที่พักและประชุมกิจกรรมของเขาในภาคบ่าย  ผมเดินทางต่อไปที่โรงเรียนบ้าน หนองคอไก่  พบว่าโรงเรียนปิดไปแข่งกีฬาของกลุ่ม จึงถือโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์ชั่งหัวมันที่อยู่เลยขึ้นไปประมาณ ๓ กม.  กลับลงมาเขตดูเขามุงหลังคาศาลาไทย งานคืบหน้าไปไม่มาก เพราะเป็นงานละเอียด ประกอบกับช่างป่วยและขาด  เย็นไปสวนเพชรรีสอร์ท นำอาหารเครื่องดื่มและดนตรีไปบริการ งานเลี้ยงสนุกสนานเป็นกันเอง อยู่ด้วยถึง ๓ ทุ่มขอตัวเดินทางกลับ

วันศุกร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๒  เช้าเดินทางไปโรงแรมดุสิตธานีหัวหิน แต่อยู่ในเขตอำเภอ ชะอำเพื่อรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและ เลขาธิการ กพฐ. ที่มาประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิดเรื่องการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยเพื่อหาคำตอบใน 6 ประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาของการศึกษาไทยในขณะนี้ คือ 1.การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันสอนให้เด็กท่องจำหรือคิดวิเคราะห์ ทิศทางที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับหลักสูตรหรือไม่ 2.การออกข้อสอบทั้งแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือ O-net การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) สอดคล้องกับที่สอนหรือไม่ 3.เด็กไทยเรียนในห้องเรียนมากเกินไปหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนในห้องเรียนน้อยลงแล้วมีเวลาทำกิจกรรมนอกห้อง เรียนเพิ่มขึ้น 4.ระบบการคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา มีความเหมาะสมหรือยัง สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่ 5.สถาบันอุดมศึกษาผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของประเทศหรือ ยัง และ 6.ระบบการประเมินการวัดผล หรือการประเมินสถานศึกษาเที่ยงตรงถูกต้องเหมาะสมหรือไม่  ท่านเลขาธิการ กพฐ. แจ้งให้ทราบว่ามีปัญหาในเรื่องที่มอบหมายให้ผมไปดำเนินการทางวินัยข้าราชการครู จึงพยายามหาข้อมูลที่มาที่ไปของเรื่องพบว่าเป็นการเข้าใจผิดของผู้นำเสนอสำนวนในขั้นตอนกระบวนการทำงานจึงต้องหาหนทางชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ  งานกฎหมายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การดำเนินการจึงต้องชัดเจนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การจับแพะชนแกะย่อมก่อให้เกิดความเสียหายทั้งผู้ดำเนินการและผู้ถูกกล่าวหา  ภาษิตกฎหมายเขาว่าปล่อยคนผิดไปสิบคนดีกว่าขังคนไม่ผิดคนเดียว ที่สำคัญการปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยว่าได้มีการกระทำผิดวินัยหรือไม่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีอคติใด ๆ มาแทรกซ้อน  เที่ยงเดินทางไปโรงเรียนท่ายางวิทยาเพื่อเยี่ยมตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงเคียงคู่คุณธรรม  แม้ตลาดจะวายแล้ว แต่ก็ได้ชมผลงานหลายโรงเรียน โดยเฉพาะการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยสอนในโรงเรียน  เข้าไปพบเพื่อนครูที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้องประชุม บ่ายเดินทางเข้าประชุมสัมมนาที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหินต่อจน ๑๗ นาฬิกา เย็นร่วมขบวนของท่านเลขาธิการ กพฐ.และคณะที่ประกอบด้วย ท่านรองฯ ทั้ง ๓ ท่าน ที่ปรึกษา และผอ.สำนัก ไปทานข้าวเย็นที่ร้านครัวไข่มุก  ชะอำ กลับเข้าโรงแรมเพื่อประชุมต่อถึง ๓ ทุ่ม จึงชวนท่านรองฯเสน่ห์  ขาวโต ท่านที่ปรึกษาสุชาติ  วงศ์สุวรรณ และท่าน ผอ.ไมตรี  ศรีสกุลไทยไปเยี่ยมคาราโอแกะฝั่งตรงข้ามโรงแรม เที่ยงคืนจึงกลับพักผ่อน

วันเสาร์ที่ ๑๒ กันยายน  ๒๕๕๒   เช้าเดินทางไปศูนย์วิทยพัฒน มสธ.เพชรบุรี เพื่อร่วมพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการผู้บริหารโรงเรียนของเขต ๑ และเขต ๒ มีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุนันท์  เทพศรี มาเป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษ  ท่านเลขาธิการ กพฐ. แจ้งว่าไม่สามารถมาพบที่ประชุมได้ตามที่เชิญไว้เพราะติดประชุมกับท่านรัฐมนตรี มอบให้ท่านรองฯ สมเกียรติ  ชอบผล มาแทน  สาย ๆ เดินทางไปโรงแรมดุสิตธานีหัวหิน เพื่อรับท่านรองฯสมเกียรติ ชอบผล มาบรรยายในเวลา ๑๑.๓๐ น.ถึง ๑๒.๓๐ น. เสร็จการบรรยายไปทานข้าวเที่ยงกันที่ร้านพวงเพชร วันนี้ทัวร์ลงมากจึงต้องนั่งทานชั้นล่างรับลมธรรมชาติที่แสนร้อนแทน แต่อาหารเขาอร่อย ให้รถตู้ไปส่งท่านรองฯ สมเกียรติ ชอบผล ที่ สพฐ.  ผมเดินทางไปชลบุรีใช้เส้นทางพระประแดงถึงบ้านที่พัทยาเกือบ ๒ ทุ่ม เสร็จธุระเดินทางกลับบ้านที่เมืองนนท์ถึงประมาณ ๕ ทุ่ม

วันอาทิตย์ที่ ๑๓  กันยายน  ๒๕๕๒   สาย ๆ เดินทางกลับเพชรบุรี เพราะเวลา ๑๕.๐๐ น. รับปากท่าน ผอ.ชูศรี  อุดมกุศลศรี ว่าจะเป็นประธานปิดการอบรมผู้บริหารโรงเรียนที่ ศูนย์วิทยพัฒน มสธ.เพชรบุรีให้  วันนี้ฝนตกค่อนข้างหนัก  แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน  พูดคุยกับผู้เข้าประชุมประมาณ ๓๐ นาที เน้นในเรื่องการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายปกครองเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผู้บริหาร  ดุลพินิจตามความหมายของกฎหมายปกครอง หมายความถึง อำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด  ฝ่ายปกครองจะมีอำนาจดุลพินิจก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองเลือกได้หลายทางในการตัดสินใจที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากตัดสินใจเลือกกระทำการไปทางหนึ่งทางใดโดยมีเหตุผลอันสมควรแล้วถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยชอบ กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องกระทำการใดเพียงทางเดียวโดยไม่ให้ฝ่ายปกครองมีทางเลือกฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีนี้ ถือว่าฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจดุลพินิจ จึงอาจกล่าวได้ว่าอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองเกิดขึ้นต่อเมื่อกฎหมาย ให้อำนาจดุลพินิจฝ่ายปกครองไว้นั่นเอง ความอิสระในการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองอาจทำให้เข้าใจผิดว่าฝ่ายปกครองสามารถใช้อำนาจดุลพินิจอย่างไรก็ได้โดยไม่มีขอบเขต ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การที่กฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจเลือกตัดสินใจได้หลายทางเพื่อต้องการให้ฝ่ายปกครองในฐานะผู้ใช้กฎหมาย สามารถปรับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างสมเหตุสมผล และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและการให้เหตุผลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นกรอบหรือหลักทั่วไปในการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง การใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ การใช้อำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีเหตุผลอันสมควรภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย การใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย เริ่มจากการพิจารณาคำร้องหรือคำขอว่าได้ยื่นถูกต้องตามแบบ ขั้นตอน และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้องหรือคำขอ เมื่อได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้วต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาอย่างอิสระ   เป็นกลาง โปร่งใส ไม่บิดเบือนวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลขณะเดียวกันจะต้องสงวนและรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของส่วนรวมด้วย นอกจากนี้ การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองจะต้องไม่ฝ่าฝืนระเบียบภายในของฝ่ายปกครองที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติ ต้องใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุมีผลและไม่ขัดกับหลักกฎหมาย ส่วนการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แต่ละกรณี รวมถึงการใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามสัดส่วนของการกระทำ(Principle of Proportionality) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายพื้นฐานที่กำหนดความสัมพันธ์ของผู้ใช้อำนาจปกครองกับผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองให้เกิดความสมดุลสมเหตุสมผลพอเหมาะพอควรแก่กรณี ได้แก่ หลักความเหมาะสม (Principle of Suitability) คือการใช้อำนาจให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามกฎหมาย หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) ต้องออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุดหรือทำให้รัฐเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ (Principle of Proportionality in the Narrow Sense)หากผลของคำสั่งทางปกครองเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่ประชาชนได้รับ ขั้นตอนการใช้ดุลพินิจ การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองมี ๓ ขั้นตอน คือ การวินิจฉัยข้อเท็จจริง  การปรับบทกฎหมาย และ การตัดสินใจ ขั้นตอนแรก  การวินิจฉัยข้อเท็จจริงฝ่ายปกครองจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากพยานหลักฐานและต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าได้เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงหรือไม่เมื่อได้ข้อเท็จจริงแน่ชัดแล้วจึงนำมาปรับกับบทกฎหมายในขั้นตอนที่สองซึ่งกฎหมายจะบัญญัติข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบโดยใช้ถ้อยคำที่มีความชัดเจนแน่นอนแต่บางกรณีกฎหมายบัญญัติถ้อยคำที่มีความหมายกว้างๆ และไม่มีคำจำกัดความไว้ กรณีนี้ฝ่ายปกครองจะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อเท็จจริงที่บัญญัติไว้ในกฎหมายโดยใช้วิจารณญาณเสมือนเช่นวิญญูชนโดยทั่วไปพึงเข้าใจ เช่น คำว่า “การกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ”  “มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม”  “การกระทำอันน่ารังเกียจ” เป็นต้น การที่กฎหมายบัญญัติถ้อยคำที่มีความหมายกว้างและไม่แน่นอน แสดงให้เห็นโดยปริยายว่า มีเจตนารมณ์ให้การปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครองนั่นเอง เมื่อฝ่ายปกครองวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับบทกฎหมายแล้วขั้นตอนที่สามคือการตัดสินใจซึ่งต้องพิจารณาว่ากฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองกระทำการได้เพียงประการเดียวหรือหลายประการ หากกฎหมายให้อำนาจดุลพินิจฝ่ายปกครองจะกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีทางเลือกตัดสินใจได้หลายทาง ดุลพินิจที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายแบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ ประการแรกเป็นดุลพินิจตัดสินใจ ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจหรือไม่ก็ได้  สังเกตได้จากถ้อยคำในกฎหมายมักใช้คำว่า “มีอำนาจ” “มีสิทธิ” “อาจ...ก็ได้” “เสียได้” “สามารถ” หรือ “ควรจะ” เป็นต้น ประการที่สองดุลพินิจเลือกกระทำ ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจว่าจะเลือกกระทำการใดในหลายประการให้สอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงหรือภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแยกได้เป็น ๒ กรณี คือ กรณีที่ ๑ ดุลพินิจที่จะเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในหลายประการตามที่กฎหมายกำหนด    กรณีที่ ๒ ดุลพินิจเลือกกระทำได้เองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดโดยกฎหมายไม่ได้กำหนดทางเลือกไว้  การควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง ตามหลักกฎหมายปกครอง การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายเสมอ ดังนั้น การกระทำของฝ่ายปกครองจึงต้องถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายอยู่เสมอทั้งจากองค์กรภายในฝ่ายปกครองและจากองค์กรภายนอก การตรวจสอบโดยองค์กรภายในของฝ่ายปกครอง ผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้ ตามหลักกฎหมายปกครองที่ว่าคำสั่งทางปกครองสามารถอุทธรณ์ได้เสมอ ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ได้วางหลักการสำคัญไว้ในมาตรา ๔๕ ประกอบ มาตรา ๓ ให้สิทธิประชาชนสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้แม้กฎหมายในเรื่องนั้นๆ จะไม่ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้ก็ตาม  หรือการขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  เมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองแม้ว่าจะพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วก็ตาม นอกจากนี้ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ยังกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองไว้หลายประการ เช่น เรื่องความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่  การรับฟังความเห็นข้อโต้แย้งของคู่กรณี  การให้เหตุผลไว้ในคำสั่งทางปกครองหรือการจัดให้มีเหตุผลในการทำคำสั่งทางปกครอง เป็นต้น การควบคุมตรวจสอบจากองค์กรภายนอก ได้แก่ ก.ศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร  การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  และสัญญาทางปกครอง เป็นต้น  ศาลปกครองจะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าฝ่ายปกครองได้กระทำการโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ เป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่ทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยสุดท้าย ข. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖  ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครอง  
             สรุปแล้ว ดุลพินิจของฝ่ายปกครองเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติเพื่อให้ฝ่ายปกครองได้มีทางเลือกในการตัดสินใจกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดเพื่อปรับใช้กฎหมายให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงตามยุคตามสมัยเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ตามกฎหมาย การใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองต้องเป็นไปอย่างอิสระปราศจากการแทรกแซงใดๆ มีความเป็นกลาง โปร่งใส เป็นธรรม และมีเหตุผลในการใช้อำนาจดุลพินิจที่เหมาะสมตรวจสอบได้ ซึ่งต่างกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพราะการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจดุลพินิจแต่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือใช้อำนาจดุลพินิจไปโดยไม่ชอบก็อาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง  ศาลปกครอง หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และอาจต้องรับผิดในทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยจากผลการกระทำนั้นได้ ก่อนจบเล่านิทานให้ฟัง ๓ เรื่องจบแล้วปิดการประชุมให้เขาตามที่รับปากไว้

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

หมายเลขบันทึก: 297340เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2009 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท