เสริมประสิทธิภาพการทำงาน ด้วย E.Q.


IQ จะไร้ค่าถ้าไม่มี EQ คอยกำกับ

เสริมประสิทธิภาพการทำงาน ด้วย E.Q.

          มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาสูง มักจะล้มเหลวในการเป็นผู้บริหารสูงสุด เพราะขาดความเข้าใจมนุษย์ ขาดการปฏิสัมพันธ์และอารมณ์ที่ดี คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์มักจะประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะคนที่มีอารมณ์ดี จะมีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ง่าย ตลอดจนมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่ดีในการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทั้งที่บ้านและที่ทำงานหรือในเวลาที่ต้องออกสังคม ขณะเดียวกันความฉลาดทางอารมณ์ก็จะช่วยให้เรามองโลกในแง่ดี ทำให้มีพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างไม่ท้อถอย สามารถสร้างกำลังใจให้กับตัวเองในยามล้มเหลว หรือมีปัญหาได้ ต่างจากคนที่มองโลกในแง่ร้ายที่มักจะมองเห็นแต่ปัญหาและความยุ่งยาก ทำให้ขาดกำลังใจที่จะผลักดันให้ฟันฝ่าอุปสรรค เชาวน์ปัญญาที่ดีหรือไอคิวสูง จึงไม่อาจบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการทำงานเสมอไปหากไม่มีความฉลาดทางอารมณ์เป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานบริหาร ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก "ความเก่งงาน" เพียงอย่างเดียวจึงไม่พอ หากยังต้องมี "ความเก่งคน" ประกอบด้วย ดังนั้นผู้บริหารทั้งหลายจึงควรพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และพัฒนาทักษะในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองให้เกิดผลดีในการบริหารงาน

          อีคิว หรือ E.Q. มาจากคำว่า Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งก็คือ ความสามารถทางอารมณ์ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข  นอกจากคำว่า Emotional Quotient แล้ว ยังมีคำอื่น ๆ อีกหลายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น  Emotional Intelligence  ,Emotional Ability ,Interpersonal Intelligence ,Multiple Intelligence.  E.Q.ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ   ความดี  ความเก่ง   และความสุข

                1.ความดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ซึ่งแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้

                1.1)ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง คือการรับรู้อารมณ์และความต้องการของตนเองสามารถควบคุมอารมณ์และความต้องการได้และแสดงออกอย่างเหมาะสม

                1.2)ความสามารถในการเห็นใจผู้อื่น คือการรู้จักสนใจและใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่นมีความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นเป็นและแสดงความเห็นใจอย่างเหมาะสม

                1.3)ความสามารถในการรับผิดชอบ คือการรู้จักการให้ รู้จักการรับ  รู้จักรับผิด รู้จักให้อภัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

                2.ความเก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจ แก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้

                2.1)ความสามารถในการรู้จักและสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง คือการรู้ศักยภาพความสามารถของตนเอง สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเองได้และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ไปถึงเป้าหมาย

                2.2)ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา คือความสามารถในการรับรู้และเข้าใจปัญหาสามารถคิดวิเคราะห์หาขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจแก้ปัญหาในแต่ละสถานการณ์

                2.3)ความสามารถในการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น คือความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น  กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมและแสดงความเห็นที่ขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์

                3.ความสุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข มีความภูมิใจในตนเองพอใจในชีวิต และมีความสุขสงบทางใจ ซึ่งแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้

                3.1)ความภูมิใจในตนเอง คือการมีเชื่อมั่นในตนเองและเห็นคุณค่าในตนเอง

                3.2)ความพึงพอใจในชีวิต คือการรู้จักมองโลกในแง่ดี  มีอารมณ์ขัน  และมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่

                3.3)ความสงบทางใจ คือการรู้จักผ่อนคลายร่างกายและจิตใจให้มีความสงบและมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุขให้กับจิตใจ

ดังนั้นเราสามารถเขียนสมการความฉลาดทางอารมณ์ได้ดังนี้

ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตนเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขความขัดแย้งได้

ทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องอีคิว

          การเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ก็คือการเรียนรู้ที่จะขับเคลื่อนชีวิตให้ก้าวเดินไปสู่จุดหมายที่ปรารถนาได้อย่างปลอดภัย และมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นที่อยู่ร่วมกัน ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปภายใต้อิทธิพลของอารมณ์และความรู้สึก ดังคำกล่าวที่ว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" หรือ "ทุกข์สุขอยู่ที่ใจ" การกระทำหลายครั้งในชีวิตของเราจึงมีที่มาจากภาวะของอารมณ์มากกว่าเรื่องเหตุผลเพียงอย่างเดียว โดยแท้จริงแล้ว ไม่ว่าในเหตุการณ์ดีหรือร้ายความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาจะไม่มีความหมายเลย หากปราศจากความฉลาดทางอารมณ์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

          อารมณ์ หรือ emotion มาจากคำในภาษาละตินว่า motere แปลว่า เคลื่อนไหว เมื่อเติม e นำหน้า จึงหมายถึง "เคลื่อนไหวจาก" แสดงถึงคุณสมบัติของอารมณ์ที่มีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เกิดการกระทำต่าง ๆ อยู่เสมอ อารมณ์มีหน้าที่เตรียมสภาพร่างกายให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบในลักษณะต่าง ๆ เช่น เมื่อโกรธจะมีการไหลเวียนของโลหิตมาที่มือทำให้ง่ายต่อการหยิบจับอาวุธ หรือต่อยคู่ต่อสู้ และมีการหลั่งสารแอดรีนาลีนที่นำไปสู่การมีพละกำลังที่แข็งแรงพอที่จะทำการใด ๆ ที่ต้องมีการต่อสู้อย่างรุนแรง ขณะที่เมื่อคนเรามีความสุข อารมณ์สุขก็จะไปเพิ่มการทำงานของศูนย์กลางในสมองสกัดกั้นความรู้สึกทางลบไม่ให้เกิดขึ้นและเพิ่มพลังการกำจัดความคิดวิตกกังวลให้หมดไป ทำให้เรารู้สึกสงบและเกิดความพึงพอใจ เป็นผลให้ร่างกายฟื้นจากสิ่งกระตุ้นทางร่างกายได้เร็วกว่าเมื่อมีอารมณ์โกรธ คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงหรือมีทักษะทางอารมณ์ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี จะเป็นคนที่สามารถรับรู้ เข้าใจและจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ดี รวมทั้งเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น จึงมักประสบความสำเร็จ มีความพึงพอใจในชีวิต สามารถสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาได้เสมอตรงกันข้ามกับคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ มักจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในจิตใจ พลอยทำให้ขาดสมาธิในการทำงานและมีความคิดที่หมกมุ่น กังวล ไม่ปลอดโปร่ง ปัจจุบัน นักวิจัยต่างยืนยันว่า เชาวน์ปัญญามีส่วนเกี่ยวข้องต่อความสำเร็จในชีวิตเช่น การเรียน หรือการทำงานเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นปัจจัยด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งความฉลาดทางอารมณ์ การเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข

ลักษณะนิสัย 10 ประการของผู้มีระดับคุณภาพอารมณ์สูง

          1. รับรู้อารมณ์ของตนเองมากกว่าจะกล่าวโทษผู้อื่นหรือสถานการณ์

          2. สามารถแยกแยะระหว่างความคิดและความรู้สึกได้

          3. มีความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเอง ไม่โทษโน่น โทษนี่

          4. รู้จักใช้ความรู้สึกเพื่อช่วยในการตัดสินใจ

          5. นับถือในความรู้สึกของผู้อื่น

          6. เมื่อถูกกระตุ้นให้โกรธ จะสามารถควบคุมจิตใจไม่ให้โกรธได้ และสามารถแปรความโกรธให้เป็นพลังในทางสร้างสรรค์ได้

          7. เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และยอมรับในความรู้สึกของผู้อื่น

          8. รู้จักฝึกหาคุณค่าในทางบวกจากอารมณ์ในทางลบ

          9. ไม่ชอบแนะนำ สั่ง ควบคุม วิพากษ์วิจารณ์ ตัดสินหรือสั่งสอนผู้อื่น เพราะเข้าใจเพราะเข้าใจดีว่าผู้ที่ได้รับการกระทำดังกล่าว

          10. หลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์กับคนที่ไม่ยอมรับ หรือไม่เคารพความรู้สึกของผู้อื่น

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

                1. เข้าใจและยอมรับธรรมชาติของอารมณ์ เพาระบุคคลแต่ละคนมีความรู้สึกและอารมณ์พื้นฐานของตนเองที่แตกต่างกัน

                2. รับฟัง ทำความเข้าใจและให้เกียรติผู้อื่น การยอมรับและเข้าใจภาวะที่บุคคลแสดงออก เป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจตนเอง การรักษาหน้า ความมั่นใจ การไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของการทำงาน

                3. การแก้ไขความขัดแย้ง บางครั้งการใช้เพียงเหตุผลแต่โดยลำพัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ความรู้สึกได้ ควรยอมรับความรู้สึกโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาการแสดงออก ผู้มีความฉลาดทางอารมณ์สูงกว่าจะไม่ใช้วิธีการที่บั่นทอนความรู้สึกของคนอื่น แต่ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ได้ดี จะช่วยทั้งความรู้สึกของตัวเองและช่วยให้อีกฝ่ายสงบลงได้

                4. ในกรณีที่บุคคลแสดงภาวะอารมณ์ทางลบในระดับที่รุนแรง เช่น เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย คาดคะเนพฤติกรรมไม่ได้ หรือไม่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้เลยพูดมากเกินปกติ เปลี่ยนหัวข้อพูดคุยรวดเร็ว หงุดหงิดง่าย มีปฏิกิริยามากเกินไปต่อเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ฯลฯ ผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานควรหามาตรการและทางบำบัดแก้ไข ในกรณีของผู้ที่ไม่สามารถสื่อความรู้สึกและภาวะอารมณ์กับผู้อื่นได้ ผู้บริหารอาจโยกย้ายไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากนัก ทำคนเดียวได้สำเร็จ หาพนักงานที่กล้าแสดงออกและมีมนุษยสัมพันธ์ดีมาเป็นเพื่อนชวนพูดคุยกระตุ้นให้เขาได้มีโอกาสแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น โดยรู้สึกว่ามีคนยอมรับฟังตน

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงานสำหรับตนเอง

                1. รู้ทัน ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง บอกกับตัวเองได้ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร และรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองได้ แม้เมื่อผู้อื่นพูดถึง ก็สามารถเปิดใจรับมาพิจารณา เพื่อที่จะหาโอกาสปรับปรุงหรือใช้เป็นข้อเตือนใจที่จะระมัดระวังการแสดงอารมณ์มากขึ้น

                2. รับผิดชอบ เมื่อเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ท้อแท้ ให้ฝึกคิดอยู่เสมอว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองจากการกระตุ้นของปัจจัยภายนอก เพราะฉะนั้นจึงควรรับผิดชอบต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น และควรหัดแยกแยะ วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยเหตุผล ไม่คิดเอาเองด้วยอคติหรือประสบการณ์เดิม ๆ ที่มีอยู่ เพราะอาจทำให้การตีความในปัจจุบันผิดพลาดได้

                3. จัดการได้ อารมณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นสามารถคลี่คลายสลายให้หมดไปด้วยการรู้เท่าทันและหาวิธีจัดการที่เหมาะสม เช่น ไม่จ่อมจมอยู่กับอารมณ์นั้น พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ โดยหางานหรือกิจกรรมทำ เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น เป็นการสร้างความเพลิดเพลินใจขึ้นมาแทนที่อารมณ์ไม่ดีที่มีอยู่

                4. ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฝึกใช้อารมณ์ส่งเสริมความคิด ให้อารมณ์ช่วยปรับแต่งและปรุงความคิดให้เป็นไปในทางที่มีประโยชน์ ฝึกคิดในด้านบวกเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในการทำงาน

                5. เติมใจให้ตนเอง โดยการหัดมองโลกในแง่มุมที่สวยงาม รื่นรมย์ มองหาข้อดีในงานที่ทำ ชื่นชมด้านดีของเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดอคติและความเครียดในจิตใจ ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น

                6. ฝึกสมาธิ ด้วยการกำหนดรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าปัจจุบันกำลังสุขหรือทุกข์อย่างไร อาจเป็นสมาธิอย่างง่าย ๆ ที่กำหนดจิตใจไว้ที่ลมหายใจเข้าออก การทำสมาธิช่วยให้จิตใจสงบ และมีกำลังใจในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

                7. ตั้งใจให้ชัดเจน โปรแกรมจิตใจตนเอง ด้วยการกำหนดว่าต่อไปนี้จะพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ และตั้งเป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานให้ชัดเจน

                8. เชื่อมั่นในตนเอง จากงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะมีความสำเร็จในการทำงานและการเรียนมากกว่าคนที่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง

                9. กล้าลองเพื่อรู้ การกล้าที่จะลองทำในสิ่งที่ยากกว่าในระดับที่คิดว่าน่าจะทำได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในสถานศึกษา

                1. ประชาธิปไตยในการเรียน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย มีความอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น มีความเคารพในกันและกัน ครูรับฟังผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นว่าความรู้สึกของตนเป็นที่รับฟัง ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีความหมาย หรือไร้คนสนใจ

                2. เรียนรู้เรื่องอารมณ์ หน้าที่ของครูอาจารย์ในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ คือ การช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความรู้สึก อารมณ์ของตน มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับบุคคลและสถานที่ และมีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น

                3. เริ่มต้นให้ดี เริ่มที่ครู การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือการที่ครูอาจารย์ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้เรียน โดยการทำในสิ่งที่ตนเองพร่ำสอน เช่นเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกลักษณะของตนเอง ระมัดระวังคำพูดและการแสดงอารมณ์ให้เหมาะสมอยู่เสมอ

ที่มา : คู่มือความฉลาดทางอารมณ์  กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข

            ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มานำเสนอเพื่อเตือนสติผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะ นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน  จากการที่ข้าพเจ้าพบเห็นเหตุการณ์ในโรงเรียนของข้าพเจ้าเองหรือโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงรวมทั้งในส่วนที่เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้ทราบว่าในขณะนี้ทั้งผู้บริหารและครูต่างก็ขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในวงการการศึกษาอย่างมากมาย  อย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการพัฒนาคนให้เป็นคน ดี คนเก่ง และมีความสุข การที่คนเราจะมีความสุขได้จะต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ดี  ดังนั้นจะพัฒนาคนอื่นให้เป็นคนที่มีอารมณ์ดี มีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่ดีได้ จะต้องพัฒนาอารมณ์ของตนเองให้เป็นตัวอย่างเสียก่อน จึงจะไปสอนคนอื่นเขาได้

หมายเลขบันทึก: 297040เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้รับความรู้มากมายเลย ขอบคุณครับ

ขอบคุณที่นำความรู้ดี ๆ มาให้จ้ะ

ได้เรียนเพิ่มขึ้นอีกมากนะครับ

                       

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่ช่วยเพิ่มเติมความรู้ที่มีอยู่อย่างน้อยนิดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท