วิเคราะห์โลกทัศน์ในวรรณกรรมเรื่อง ความเงียบ


ผู้ชายอยู่ได้ก็เพราะการอาศัยพึ่งพาผู้หญิง

ความเงียบเป็นรวมเรื่องสั้นใน เรือกระดาษ ของประภัสสร  เสวิกุล คือหนึ่งในผลงานรวมเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ประจำปี ๒๕๓๐ และเรื่องความเงียบเป็นเรื่องสั้นที่โดดเด่นที่สุดในจำนวน ๑๑ เรื่อง

                “ความเงียบ”เล่าเรื่องของหนุ่มพนักงานออฟฟิศที่ชื่อ “ชัยรัตน์” ซึ่งทุ่มเททำงานในบริษัทแห่งหนึ่งมากกว่า ๑๐ ปี แต่ตำแหน่งการงานกลับไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร สาเหตุเพราะเขาเป็นคนขาดความมั่นใจในตนเอง เมื่อนักการภารโรงประจำบริษัทได้มาชี้ให้เห็นถึงปัญหา สาเหตุ และทางแก้ ชัยรัตน์ยอมรับฟังและยอมทำตามคำชี้แนะของนักการภารโรง ส่งผลให้ตัวเองในเรื่องมีความมั่นใจมากขึ้น หน้าที่การงานก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนในท้ายที่สุด เขาได้รับพิจารณาให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาประจำจังหวัดเชียงใหม่

                ในเรื่องสั้นเรื่องๆนี้ ประภัสสร ในฐานะนักเขียนหญิงได้ใช้งานเขียนของตนประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่า ในสังคมปัจจุบันนี้ “ผู้หญิง” มีความสำคัญมากกับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของผู้ชาย ที่กล่าวเช่นนี้หมายความว่า ในความสำเร็จของผู้ชายนั้นได้ใช้ผู้หญิงเป็นแรงผลักดัน สนับสนุนค้ำชูตนเองให้ก้าวสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน และการกระทำดังกล่าวยังเป็นการ “กดขี่ ข่มเหง” ผู้หญิงให้อยู่ใต้อำนาจของผู้ชายที่เรียกกันว่าอำนาจ “ปิตาธิปไตย” อำนาจที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ในงานชิ้นนี้ผู้เขียนจะนำเสนอโลกทัศน์ของประภัสสรใน ๒ ประการคือ การใช้ผู้หญิงเป็นทางเดินเข้าหาความสำเร็จ และการกดทับผู้หญิงของสังคมแบบ “ปิตาธิปไตย”

                ประภัสสรได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง ความสำเร็จในหน้าที่การงานของผู้ชายมีผลมาจากผู้หญิง การที่ผู้ชายประสบความสำเร็จเพราะอาศัยผู้หญิงเป็นแรงสนับสนุน โดยผู้เขียนได้เสนอโลกทัศน์ดังกล่าวผ่านตัวละครที่ชื่อ ชัยรัตน์ ซึ่งตัวละครดังกล่าวเป็นหนุ่มทำงานในออฟฟิศแห่งนี้มานานกว่า ๑๐ ปี แต่ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จนกระทั่งเขาได้สนทนาและรับคำแนะนำจากนักการภารโรง ในที่สุดเขาก็ทราบสาเหตุและทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

                สาเหตุที่ทำให้ ชัยรัตน์ ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานคือ การขาดความมั่นใจในตนเอง ทางออกของปัญหาคือ การได้รับคำแนะนำให้ไปเที่ยวโสเภณี ชัยรัตน์จึงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำโดยการร่วมหลับนอนและมีเพศสัมพันธ์กับหญิงขายบริการ ในที่สุดชัยรัตน์ก็มีความกล้าและเชื่อมั่นในตนเองสูง และก้าวหน้าในชีวิตการงาน

                พฤติกรรมดังกล่าวของชัยรัตน์สะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จของเขาจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากผู้หญิง(โสเภณี) ที่เขาใช้ในการแสดงออกทางเพศอันเป็นจุดกำเนิดของความมั่นใจในชีวิตของเขา นั่นคือการแสดงออกว่า ในความสำเร็จที่แท้จริงของผู้ชาย(ชัยรัตน์) ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวของเขาเอง แต่เกิดขึ้นจากการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ประภัสสรต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ชายประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นสมควรแก่การยกย่องหรือไม่ สุดท้ายผลที่ได้ก็ควรเป็นความสำเร็จจากผู้หญิงมากกว่า ผู้ที่ควรได้รับความภาคภูมิใจจึงไม่ใช่ผู้ชาย

                การจัดวางให้ตัวละครเอก ชัยรัตน์ ที่ได้รับคำปรึกษาจากนักการภารโรงยังสะท้อนให้เห็นว่า การประสบความสำเร็จของผู้ที่มีฐานะเหนือกว่าในหน่วยงานนั่น นอกจากจะใช้ผู้หญิงเป็นแรงผลักดันแล้ว ผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา(ผู้ที่ด้อยกว่า) ก็มีสวนในการทำให้ตนประสบความสำเร็จ ดังเช่น ชัยรัตน์ได้นักการภารโรงในการวินิจฉัยปัญหาและหาทางออกให้ ทั้งหมดคือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกว่า ความสำเร็จจะไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้หากปราศจากการช่วยเหลืองจากผู้อยู่ใต้บัญชา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ชายเป็น “คนอ่อนแอ” กว่า เนื่องมาจากแนวคิดที่ว่า ผู้ชายประสบความสำเร็จได้เพราะการพึ่งพาความเป็นหญิงหรือความเป็นชายที่ต่ำกว่าในหน้าที่การงาน เป็นการนำเอาความแรงจากคนอื่น ทั้งหญิงและชายที่ต่ำกว่า อันเป็นการเอาเปรียบที่แสดงให้เห็นว่า “ผู้ชายที่แท้จริงไม่มีความสามารถเอาชนะอะไรได้ หากปราศจากบุคคลที่ตนสามารถกดขี่ ข่มเหงได้”

                นอกจากการสื่อให้แนวคิดที่ว่า ความสำเร็จของผู้ชายมาจากผู้หญิงแล้ว ในวรรณกรรมเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิงภายใต้อำนาจของสังคมแบบ “ปิตาธิปไตย” เห็นได้จาก ชัยรัตน์ตัวละครเอกได้ ตบ ตี หญิงขายบริการทุกครั้งที่ชัยรัตน์ไปร่วมกิจกรรมทางเพศกับหญิงดังกล่าว และในความเงียบของโสเภณีที่ไม่สามารถจะเรียกร้องหรือแสดงออกได้ถึงความเจ็บปวด ทั้งๆ ที่เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง เพราะไม่มีใครที่สามารถจะลุกขึ้นมาต่อสู้ผู้ที่สามารถมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายแห่งชีวิตของเขาได้ แสดงให้เห็นว่าในสังคมความเป็น “ชาย” และ ความเป็น “หญิง” มีความไม่เท่าเทียมกัน และสุดท้าย “หญิง” ต้องทนทุกข์ทรมานโดยปราศจากการตอบโต้ได้ อันเป็นผลมาจากอำนาจของผู้ชายที่มีมากกว่า และความเหนือกว่าในด้านร่างกายและกำลังกายที่มีมากกว่าหญิง

                ทั้งหมดของเรื่องคือ การที่ผู้หญิง(นักเขียนที่ชื่อประภัสสร) ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจสังคมแบบ “ปิตาธิปไตย” ที่ทำให้เขาเหล่านั้นขาดความเท่าเทียมในทางเพศ และนอกจากนั้น “ผู้หญิง” ยังเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากผู้ชายโดยที่ปราศจากทางสู้ ประภัสสรพยายามสร้างคำถามให้กับผู้อ่านได้คิดว่า จริงหรือที่สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ยังเป็นการดังคำถามต่อพฤติกรรมของผู้ชายที่กระทำต่อผู้หญิงด้วยความรุนแรงแบบเอารัดเอาเปรียบ สุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่ที่ผู้ชายโดยทิ้งแค่ความเจ็บปวดไว้กับผู้หญิง ที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือการปฏิเสธสังคมที่มีค่านิยมแบบเก่า ที่เชิดชูความเป็นชายและให้หญิงเป็นกุลสตรีตามแบบฉบับนางในวรรณคดี ความคิดดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดสตรีนิยมอันเป็นแนวคิดของคนสมัยใหม่

หมายเลขบันทึก: 296759เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท