ก้าวแรกสู่โลกการบิน..กับสถาบันการบินพลเรือน


ฝันให้ไกล..ไปให้ถึง

วันนี้..ครูเล็กได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาที่สถาบันการบินพลเรือน ก็ถือเป็นโอกาสที่อยากจะมาบอกเล่าสู่พี่น้องว่า..รับทราบข้อมูลอะไรมาบ้าง และเด็กนักเรียนของเราจะเข้าสู่การเป็นนักบิน ช่างอากาศยาน พนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ พนักงานสื่อสารการบิน คาร์โก้ หรือเจ้าหน้าที่ภาคพื้นกันอย่างไร ช่วงแรกที่ไปถึงห้องสัมมนาอาคารหอประชุม 1 ของ CATC ย่อมาจาก Civil Aviation Trainning Center หรือเรียกย่อๆว่า สบพ.นั่นเอง ที่นี่ก็เป็นสถาบันของรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม และก่อตั้งมายาวนานถึง 48 ปีเลยทีเดียว และยังเป็นสถาบันเดียวในประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรด้านการบินที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และปัจจุบันได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำให้สามารถผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีได้

ก็ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมากันพอควรแล้ว เรามาคุยกันถึงเรื่องการเรียนการสอน และหลักสูตรต่างๆ และค่าใช้จ่ายในการเรียนของ สบพ.กันเลยดีกว่าค่ะ อ้อ..ลืมไป ขอเล่าเรื่องการร่วมสัมมนาก่อนดีกว่า เริ่มโดย..ผู้ว่าการ สบพ.เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา การสัมมนาที่นี่เป็นลักษณะของการเสวนา โดยมีผู้ดำเนินรายการ คือ นาวาอากาศโท วีรชน นรานุต และผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผอ.กองกองมาตรฐานและความปลอดภัยจราจรทางอากาศ บ.วิทยุการบิน คนที่ 2 มีตำแหน่ง Senior Supervisor ผอ.ช่างอากาศยาน บ.การบินไทย คนที่ 3 คือนักบินฐานนัญญา พุ่มชูแสง นักบินสายการบินนกแอร์ เป็นนักบินพาณิชย์หญิงที่มีเพียง 2 คนในประเทศไทยก็ว่าได้ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งจริงๆ เป็นเพียงเด็กสาวๆน่าจะอายุสัก 30 ต้นๆเองนะ รูปร่างอรชรอ้อนแอ้นเชียวแหละค่ะ เพราะในอดีตเธอเคยเป็นแอร์โฮสเตส และเจ้าหน้าที่ช่างอากาศยานมาแล้ว เครื่องบินที่เธอเป็นนักบินก็จะเป็นเครื่องบินขนาด โบอิ้ง737 ลูกเรือประมาณ 150 คน เธอเล่าว่าแรกๆ ที่เธอขึ้นบินพอเจ้าที่ประกาศแจ้งชื่อนักบินว่า "นักบินหญิง.." ลูกเรือก็ทำสีหน้าตกใจเหมือนกัน เธอมีฉายาว่า..นกป๊อป..คนที่ 4 เป็นนักบิน (Co-pilot) ของ บ.สยามเจเนอรัลฯ ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก 12 คน บินในระยะใกล้ๆในประเทศ เป็นเครื่องบินท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นศิษย์การบินพลเรือนทั้งสิ้น ก็ได้มาเล่าประสบการณ์การทำงานและรายได้ที่ได้รับเมื่อเข้าและปัจจุบัน

และในช่วงเวลาต่อมาก็เป็นนักศึกษาผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ มีสาขาการจัดการจราจรทางอากาศ สาขาการท่าอากาศยาน สาขาการขนส่งสินค้าทางอากาศ(ผู้หญิง) สาขาอิเล็กทรอนิกส์การบิน(ผู้หญิง) และนักบินชายอีก 2 คน เป็นนักเรียนทุนของการบินไทย ก็ได้มาเล่าประสบการณ์ในการเรียนให้ฟัง

ในช่วงบ่ายก็เป็นการเยี่ยมชมแผนกต่างๆ และอาคารสถานที่ การเรียนการสอน ห้องปฏิบัติการแรกที่เรามีโอกาสเข้าชม เป็นห้องที่ตื่นมาตื่นใจมากเลยค่ะ คือห้องปฏิบัติการ Air Traffic Control Radar Simulator เป็นห้องที่สอนเกี่ยวกับการบิน และจำลองท่าอากาศยาน การขับเครื่องกับเครื่องซิมมูเลเตอร์ และวิทยุการบิน เรดาร์ต่างๆ เด็กๆก็ได้มีโอกาสลองบังคับซิมด้วย ห้องวิทยุการบินก็จะจำลองสนามบิน 360 องศามา และมีเครื่องบินขึ้นลง 15 ลำให้ทดลองจัดการจราจรทางอากาศ ขณะที่ไปก็มีนักเรียนทุนทั้งชายและหญิงจากบริษัทต่างๆเข้ารับการอบรมอยู่จำนวนหนึ่ง และจากกองบินตำรวจ จากกองทัพอากาศบ้าง ส่วนของ สบพ.เองช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียน จะขอบอกว่าที่ สบพ.เรียนกัน 3 ภาคเรียน ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงภาคการศึกษาละ 20,000 กว่าบาทเท่านั้น ก็เหมือนๆกับมหาวิทยาลัยทั่วๆไป จะแพงกว่าก็สักเล้กน้อยเท่านั้นเอง แต่เฉพาะหลักสูตรนักบินเท่านั้นที่ถ้าเป็นทุนส่วนตัวก็ราวๆ 2,000,000 กว่าบาท แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักเรียนทุนจากที่ต่างๆ เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นเรื่องราวดีๆที่อยากเล่าสู่กันฟังว่า..ฝันให้ไกล..ไปให้ถึง..

หมายเลขบันทึก: 296694เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2014 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ภาพสถานที่ หรือที่ห้องเรียนในสถาบันการบินพลเรือน..น่าสนใจดีค่ะ

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท