ชีวิตที่พอเพียง : 24. ปู่ (2)


• พ่อเล่าว่าปู่เป็นผู้สอนหนังสือ สอนเลข ให้ผมตอนอายุ ๕ -๖ ขวบ หลังหายป่วย    ซึ่งผมเรียนรู้ได้เร็วมาก    แต่ผมจำเหตุการณ์ตอนนั้นไม่ได้เลย
• มาจำได้ตอนโดนตีเพราะทะเลาะกับปู่    ตอนนั้นน้องๆ ยังเล็ก ยังคุยไม่รู้เรื่อง    ปู่มีผมอยู่คนเดียวที่จะคุยด้วย    เข้าใจว่าคุยไปหน่อยเดียวผมก็จะเถียง หรือแสดงความเห็นที่แตกต่าง    ปู่ก็จะโกรธ    ผมก็จะถูกลงโทษที่เถียงผู้ใหญ่    เป็นอย่างนี้เรื่อยมา     จนวันหนึ่งเกิดเหตุใหญ่โตจนผมถูกพ่อเฆี่ยนแบบแตกเป็นรอยทั่วขาและก้น    และสอนว่า ต่อไปนี้ให้ท่องไว้ว่า ก๋งว่าอย่างไรไม่ว่าถูกหรือผิด ห้ามเถียง     ผมก็ท่องไว้    แต่เวลาเกิดเหตุจริงๆ มันท่องไม่ทัน    ก็แสดงความไม่เห็นด้วย (เรียกว่าเถียง) เสียแล้ว ผมจึงโดนลงโทษหนักขึ้นไปอีก    เข้าใจว่าเหตุการณ์รุนแรงมากตอนอายุประมาณ ๑๐ ขวบ    หลังจากนั้นผมมีงานทำ ต้องช่วยงานบ้านมากขึ้น มีเวลาคุยกับปู่น้อยลง     มาคิดตอนนี้ แสดงว่าตอนนั้น (อายุ ๑๐ ขวบ) ผมเป็นคนขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ยั้งคิด ไม่เถียงปู่ได้    สมองคนเราในส่วนของความรู้จักยั้งคิดกว่าจะโตเต็มที่ต้องอายุ ๒๕ ปี  
• ผมมาคิดทีหลังว่าถ้าผมฉลาด และหาทางเรียนวิชาจากปู่    ผมจะได้ความรู้ติดตัวเยอะมาก    เพราะปู่เป็นหมอแผนโบราณ มีคนมาขอให้เขียนสูตรยาหม้อเอาไปหาหรือซื้อสมุนไพรมาต้มกินบ่อยมาก    คือที่บ้านผมไม่มีตัวยา แต่ปู่มีความรู้     ปู่รู้ภาษาขอม ภาษาบาลี    รู้หลักธรรมและนิทานธรรมะต่างๆ มากมาย
• ว่างๆ ปู่จะเอาสมุดมาเขียนโคลงกลอน    หรือเขียนบันทึกเรื่องราวนิทานชาดก    สมุดบันทึกแบบนี้ของปู่มีเป็นสิบเล่ม    เขียนด้วยดินสอ ลายมือแบบอาลักษณ์ คือเขียนเต็มบรรทัด ตัวเอน เป็นระเบียบและเล่นหางเล็กน้อย    น่าเสียดายที่ผมและน้องๆ เอาสมุดเหล่านี้มาฉีกพับเรือบินเล่นเสียหมด
• มักมีคนมาสนทนาธรรม  เรื่องนิพพาน   ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ   ฯลฯ กับปู่อยู่บ่อยๆ     ผมเล่นอยู่ข้างๆ ได้ยินแต่ไม่ได้เอาใจใส่    คนที่มาคุยจะนั่งยองๆ กับพื้นดินที่หน้าบ้าน    ปู่นั่งบนพื้นระเบียงหน้าบ้าน    คนที่มาคุยเรียกปู่ผมว่า “นายเสี้ยง” บ้าง   “พ่อเสี้ยง” บ้าง  “ใต้เท้า” บ้าง  “อาจารย์” บ้าง    บางคนมาคุยธรรมะในลักษณะเหม็นเหล้าคลุ้ง   
• ปู่บวช ๒ ครั้ง    จนได้เป็น “ท่านใบฎีกา” ซึ่งหมายถึงเป็นเลขานุการของพระผู้ใหญ่นั่นเอง    บวชที่วัดปทุมคงคาและมีญาติบวชอยู่ที่วัดนั้นตลอดมา    ตอนพ่อผมมาเรียน ม. ๖ ที่กรุงเทพ ก็มาอยู่ที่วัดปทุมคงคา กับ “มหากลั่น”    และเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา    ท่านพุทธทาสตอนบวชใหม่ๆ ก็มาเรียนบาลีที่กรุงเทพโดยมาอยู่ที่วัดปทุมคงคา
• ท่านพุทธทาส รัก “อาเสี้ยง” มาก    เพราะเป็นผู้แนะนำการเรียนหลังบวชแก่ท่าน    เนื่องจากตอนนั้นพ่อของท่านพุทธทาสเสียชีวิตแล้ว     เวลาท่านพุทธทาสเดินทางมากรุงเทพ    ท่านจะแวะเยี่ยม “อาเสี้ยง” และครอบครัวผมที่ชุมพร    แล้วไปคุยปรึกษางานเผยแผ่พระศาสนา และจำวัด กับ “น้องเล็ก” ของท่าน คือ “มหาบุญชวน เขมาภิรัต” หรือท่านเจ้าคุณประกาศิตฯ ที่วัดหาดทรายแก้ว    “น้องกลาง” ของท่านพุทธทาส คือ ท่านปัญญานันทะภิกขุ 
• ปู่เป็นนักเขียน   เขียนเรื่องไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พุทธศาสนา ของคณะธรรมทาน ที่คุณลุงธรรมทาส ดูแลอยู่    ใช้นามปากกาว่า “ท่านางสังข์” เพราะเดิมท่านอยู่บ้านริมคลองที่ท่านางสังข์  
• ปู่ไม่เชื่อถือโชคลาง ทั้งๆ ที่มีความรู้ทางโหราศาสตร์    ปู่พูดเสมอว่าถ้าพระ (พุทธรูป) ศักดิ์สิทธิ์จริง    ให้ลองเอาไปโยนน้ำ ดูซิว่าจะขึ้นมาจากน้ำได้ไหม    ปู่ไม่ส่งเสริมพิธีกรรม และการบนบานศาลกล่าว     ครอบครัวเรารับพินัยกรรมความเชื่อและความประพฤติแบบนี้มาจากปู่    ทำให้เราเป็นคนหวังพึ่งตนเอง    ไม่หวังพึ่งผีสางเทวดา    ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตที่พอเพียง

                                      

รูปปู่ตอนบวชเป็น พระใบฎีกาเสี้ยง จากหนังสือ เมื่อเรายังเด็ก เรื่องเล่าครั้งเยาว์วัยของพุทธทาสภิกขุ รวบรวม-เรียบเรียงโดย พจน์ ยังพลขันธ์

วิจารณ์ พานิช
๑๘ พค. ๔๙


 

หมายเลขบันทึก: 29579เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2006 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท