ความคิดเห็นที่แตกต่าง3


การประเมิน สมศ.

นักวิชาการชี้ การประเมินสถานศึกษาของ สมศ. ไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน แต่ละแห่งคณะกรรมการประเมินไม่เหมือนกัน  ส่วนทาง สมศ. อย่ามัวแต่ประเมินคนอื่น ให้หันกลับไปประเมินตนเองบ้าง ว่าทำงานอย่างทุกวันนี้ควรจะเป็นอย่างไร

                ผู้สื่อข่าวรายงานถึงเรื่องของการประเมินสถานศึกษาของคณะกรรมการผู้ประเมินคุณภาพภายนอก ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ให้ทำการประเมินสถานศึกษาทั่วประเทศว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งได้มาตรฐานผ่านตามเกณฑ์ของ สมศ.หรือไม่ ว่า ผลการประเมินสถานศึกษาจากคณะกรรมการผู้ประเมินคุณภาพภายนอก ที่ทาง สมศ.ได้ตั้งให้ไปทำการประเมินสถานศึกษาต่าง ๆ นั้น มีสถานศึกษาบางแห่งผ่านการประเมินอย่างสบาย สถานศึกษาบางแห่งไม่ผ่านการประเมินนั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของคณะกรรมการประเมินดังกล่าวใช้บรรทัดฐานอะไรมาวัดว่าสถานศึกษาแห่งนั้นผ่าน แห่งนั้นไม่ผ่าน สถานศึกษาทำงานมาเป็นเวลานาน ทำงานมาเป็นปี คณะกรรมการมาดูเพียง 2 – 3 วัน ก็สรุปว่าสถานศึกษาแห่งนั้นผ่าน แห่งนั้นไม่ผ่าน เอามาตรฐาน หรือบรรทัดฐานอะไรมาวัด

                แหล่งข่าวแจ้งว่า การประเมินของคณะกรรมการที่มาประเมินสถานศึกษา จะมีหลายบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ละบริษัทก็จะประเมินสถานศึกษาในลักษณะเดียวกัน คือผลการประเมินออกมาจะผ่านหรือไม่ผ่านการประเมิน แต่การทำงานของคณะกรรมการประเมิน ดูเหมือนไม่มีบรรทัดฐานอะไรเลยที่ใช้สำหรับในการประเมิน สังเกตได้จากคณะกรรมการที่มาประเมินสถานศึกษาบางแห่งเจอกับคณะกรรมการชุดเดียวกัน แต่การประเมินผิดกัน สถานศึกษาบางแห่งให้การต้อนรับอย่างดี ออกค่าที่พักให้ เลี้ยงอาหารอย่างดีทุกมื้อ มีของฝากติดมือ ผลการประเมินสถานศึกษาแห่งนั้นผ่านอย่างสบาย แต่บางแห่งรู้มาว่า คณะกรรมการมาประเมินมีค่าเบี้ยเลี้ยงมาอยู่แล้ว มีค่าที่พักมาอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ต้อนรับในกรณีนี้ แต่การทำงานของสถานศึกษานั้น ๆ ผลการปฏิบัติงานของสถานศึกษาดีกว่าสถานศึกษาหลายแห่งที่ไม่ผ่านการประเมิน กลับไม่ผ่านการประเมิน เลยไม่รู้ว่าใช้บรรทัดฐานอะไรมาวัด

                แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า การมาประเมินของคณะกรรมการประเมิน ทางส่วนกลางแจ้งว่า จะมาประเมินแบบเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่การมาประเมินจริง ๆ กลับเหมือนกับว่า มาสอบสวนผู้ต้องหาไม่มีผิด เหมือนกับว่ามาคาดคั้น ค้นหา หาข้อมูลหาหลักฐาน เพื่อจะจับผิดสถานศึกษานั้น ๆ มีการเรียกมาคุย มาถามกันตัวต่อตัวชนิดแบบเจาะทุกประเด็น เอาให้จนแต้มกันไปข้างหนึ่ง เหมือนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบผู้ต้องหาไม่มีผิด เจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาบางรายถึงกับน้ำตาตกเลยก็มี ผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งเครียดกับคำถามที่ได้รับจนถึงเส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาต จนถึงทุกวันนี้ แล้วผลสุดท้ายก็ไม่มีใครรับผิดชอบดูแลชีวิต รับผิดชอบดูแลครอบครัวของผู้บริหารท่านนั้น

                นักวิชาการชี้ การทำงานของคณะกรรมการประเมินสถานศึกษา บอกได้เลยว่า ไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการประเมินสถานศึกษาแต่ละแห่ง เท่าที่สังเกตดู จะเป็นการประเมินชนิดแบบ ถูกใจ มากกว่าการประเมินแบบ ถูกต้อง หมายถึงสถานศึกษาบางแห่งไม่ได้เรื่องอะไรเลย แต่ให้การต้อนรับขับสู้อย่างดี ถูกใจกรรมการประเมิน ก็เลยผ่านแบบสบาย ๆ ส่วนสถานศึกษาบางแห่ง ทุกอย่างดีหมด แต่การต้อนรับไม่ดี ก็ประเมินไม่ผ่าน คณะกรรมการประเมินทุกคนรู้ดี การประเมินสถานศึกษาแต่ละครั้ง ไม่ใช่ธรรมดา เพราะสถานศึกษาที่จะเข้ารับการประเมินต้องเตรียมการต่าง ๆ มากมาย บางแห่งไม่ได้หลับไม่ได้นอน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ บ้านช่องไม่ได้กลับ บางรายถึงกับทะเลาะกับครอบครัว คณะครูที่ต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อรอการประเมินก็เตรียมผลงาน ไม่สนใจการศึกษาของเด็กเลยในช่วงนั้น ปล่อยเด็กตามยถากรรม การเตรียมการในเรื่องของเอกสารต่าง ๆ ก็ใช้งบประมาณอย่างมากมาย ต้องมีอะไรต่อมิอะไรสารพัด จนอาคารเรียน อาคารสำนักงานเป็นเหมือนที่ติดป้ายโฆษณาขายสินค้าไม่มีผิด ติดเต็มห้องไปหมด มองดูแล้วมันรกตามากกว่าจะสะอาด เอกสารที่ให้กรรมการดูก็เต็มโต๊ะ เต็มห้อง มันดูแล้วเกินไป แล้วแต่ละแห่งก็จัดทำป้ายจัดทำสถานที่ให้การต้อนรับเหมือนกับต้อนรับนายกรัฐมนตรี หรือรับรัฐมนตรีแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศ ซึ่งสถานศึกษาบางแห่ง ใช้งบประมาณในการเตรียมการเหล่านี้ เป็นแสนบาทก็มี

                นักวิชาการกล่าวเสริมอีกว่า สถานศึกษาที่ประเมินไม่ผ่าน หรือระหว่างการประเมินที่เป็นไปแบบสอบสวนผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ถึงกับหลั่งน้ำตาตอบคำถาม ผู้บริหารเครียดถึงกับเส้นเลือดในสมองแตก นอนพิการนั้น ใครจะเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้ คณะกรรมการประเมินก็ไม่สนใจ ทาง สมศ.เองก็เงียบ ผลสุดท้ายผู้ที่ดูแลรักษาและได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสจากผลการประเมินในครั้งนี้คือ ครอบครัว ที่ต้องเสียเงินเสียทองเพื่อรักษาหยอดข้าวหยอดน้ำไปจนกว่าจะสิ้นใจ แล้วก็เลยไม่รู้ว่าการประเมินตามคำสั่งของ สมศ. เป็นการประเมินเพื่อให้สถานศึกษาผ่านเกณฑ์ ในเวลาประเมินแค่ 3 วัน เป็นการตัดสินการทำงานทั้งปีของสถานศึกษาว่า ดีหรือไม่ดี ได้คุณภาพหรือไม่ได้คุณภาพ เป็นการประเมินในฐานะมิตร หรือศัตรูกันแน่ อีกทั้งยังไปทำลายชีวิตความเป็นอยู่และครอบครัวให้เกิดความทะเลาะเบาะแว้ง จากการทำงานหามรุ่งหามค่ำ และยากจนลงไปอีกจากการต้องเยียวยาหยอดข้าวหยอดน้ำกัน

                แหล่งข่าวแจ้งว่า สถานศึกษาของตนเองได้ผ่านการประเมินสถานศึกษาในรอบแรก ประมาณปี 2550 บางแห่งก็ปี 2551 แต่เพิ่งมาได้รับหนังสือรับรองจาก สมศ.ว่า ได้ผ่านการประเมิน ได้สอบถามไปหลายสถานศึกษาที่ประเมินคราวเดียวกัน ก็ได้ความว่า เพิ่งได้รับหนังสือรับรองเหมือนกัน นี่มันเลยบ่งบอกให้เห็นว่า การทำงานของ สมศ.เป็นแบบไหน เวลาผ่านไปเป็นปีแล้ว หนังสือรับรองเพิ่งออกมา ก็แค่กระดาษพิมพ์เหมือนใบประกาศนียบัตรธรรมดานี่เอง ไม่รู้ว่าทำไมต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะออกมาได้ บ่งบอกถึงการทำงานของ สมศ.ว่าเชื่องช้าแค่ไหน ก็เลยไม่รู้ว่า ทาง สมศ.เองได้ประเมินการทำงานของตนเองบ้างหรือเปล่า มัวแต่ไปประเมินคนอื่น ไปจับผิดคนอื่น ได้ไม่ได้มองดูตัวเองเลยว่าเป็นอย่างไร

                นักวิชาการกล่าวเสริมว่า นี่ทำให้เห็นการทำงานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือที่รู้กันในนาม สมศ. ว่า เป็นอย่างไร ทำงานกันอย่างไร ถึงเวลาที่ สมศ.จะต้องหันกลับไปประเมินการทำงานของตนเองว่า ได้มาตรฐานหรือเปล่า อย่ามัวแต่ไปประเมินคนอื่นเลย ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับว่า จ้องจับผิดแต่คนอื่น แต่ความผิดตัวเองมองไม่เห็น .

หมายเลขบันทึก: 295715เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท