การจัดสวน VS การจัดชีวิต


คนจัดสวนคือเราเอง เมื่อสวนนั้นคือชีวิตของเรา

 

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมการเรียนการสอนวิชาของนักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาการประเมิน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีอาจารย์รับเชิญคือ Dr.Susan จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวถึงการประเมินกับสวนสาธารณะซึ่งอาจเป็นศาสตร์ที่ข้าพเจ้าไม่คุ้นเคย เมื่อได้เล่าเรื่องการไปนั่งอยู่ในห้องเรียนของนิสิตปริญญาเอกให้กับหลายๆ คนรอบข้างฟัง กลับทำให้ข้าพเจ้าได้มาถึงบางอ้ออีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดสวนก็เปรียบเสมือนกับการจัดการชีิวิตของเรา เพราะสวนไม่เคยหยุดนิ่ง สวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาถ้าได้รับการดูแล

 

ถ้าชีวิตของคนเราเป็นสวนหนึ่งแห่ง ท่านผู้อ่านลองจินตนาการถึงสวนที่ท่านอยากไป อาจเป็นสวนสมุนไพร สวนหินของญี่ปุ่น สวนจีน สวนดอกไม้ เป็นต้น องค์ประกอบของสวน ซึ่งได้แก่ ดอกไม้ ต้นไม้ ก้อนหิน ทราย เปรียบกับองค์ประกอบต่างๆ ของชีวิต เช่น ครอบครัว สิ่งแวดล้อม การศึกษา เป็นต้น ไม่ว่าสวนจะเป็นเช่นไร ไม่เคยมีสวนใดในโลกนี้ที่มีต้นไม้ประเภทเดียวและไม่มีสวนใดที่จะยืนยงโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลง สวนแต่ละสวนผ่านช่วงเวลาต่างๆ กัน บางครั้งคนจัดสวนมีเวลาสรรหาดอกไม้ ต้นไม้ หรือศึกษาวิธีการจัดสวนจากรอบโลกเพื่อให้สวนแปลกใหม่หรือสวยงามขึ้น บางครั้งคนจัดสวนละเลยทิ้งสวนให้รก สกปรก มีวัชพืชขึ้น และบางครั้งต้องใช้คนสวนมากกว่า 1 คนในการจัดสวนให้สวยงาม


คนที่จัดสวนได้มีความคิดสร้างสรรค์ หรือเข้าใจดีเรื่องประเภทของต้นไม้ ดอกไม้ หรือหิน เรื่องการหมุนเวียนของน้ำ เป็นต้น เมื่อเราซึ่งเป็นคนจัดสวน (ซึ่งคือชีวิตของเราเอง) ต้องเข้าใจองค์ประกอบของสวน หรือต้องตัดสินใจเลือกว่าองค์ประกอบใดเหมาะสมกับสวนของตนเอง ในช่วงเวลาหนึ่งของสวน ก็จะมีดอกไม้เหี่ยว หรือออกดอกใหม่ มีหญ้าหรือวัชพืชขึ้น ต้นไม้ในสวนเติบโตขึ้น ดอกไม้ที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เราเอามาปลูกอาจจะไม่เหมาะกับฤดูกาลที่ผ่าน ไป หรือต้นไม้นั้นเป็นต้นไม้ล้มลุกเมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป ถึงเวลาคนดูแลสวนก็ต้องนำต้นไม้ชนิดใหม่มาเติมแทน บางครั้งก็ต้องเติมดินเติมปุ๋ย สวนสวยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสายตาของคนมอง ความชอบของคนจัดสวน สวนทุกสวนล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และสวนทุกสวนมีความสวยงามอยู่เสมอ ไม่จำเป็นว่าสวนของเราจะต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกคน บางครั้งการจัดสวนตามใจทุกคน สวนอาจจะออกมาเป็นสวนที่ไม่มีเอกลักษณ์ ดูแลยาก สุดท้ายแม้แต่เจ้าของสวนก็ไม่อยากดูแล เพราะไม่รู้สึกภูมิใจสวนของตนเอง ไม่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมหรือมีความเป็นเจ้าของความคิดในการออกแบบหรือจัดสวน


การวนเวียนเฝ้าดูและประเมินสวนของตัวเองเสมอๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสวนของตนเองเสมอๆ มีต้นไม้ใหม่ๆ การจัดวางต้นไม้และก้อนหินใหม่ๆ หรืออาจจะมีการเพิ่มของตกแต่งสวนใหม่ เช่นเดียวกับการที่เราได้ประเมินชีวิตตนเองอยู่เสมอ สิ่งใดที่ต้องปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงบางครั้งอาจเป็นการทดลองสิ่งใหม่ๆ นำต้นไม้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครนำมาตกแต่งสวน เข้ามาตกแต่งสวนของเราเอง ซึ่งอาจได้รับการตอบรับหรือการวิจารณ์จากคนจัดสวนคนอื่น บางครั้งการตัดสินใจเลือกต้นไม้หรือก้อนหิน หรือแม้กระทั่งตัดสินใจขุดสระน้ำในสวนอาจผิดพลาด เราคงไม่ใจร้ายพอที่จะถอนต้นไม้ทิ้งทันที หรือถมสระเลยจากการวิจารณ์ของคนจัดสวนอื่นๆ ต้นไม้บางต้นอาจต้องการเวลาเพื่อเติบโตและสวยงามในที่สุด ต้นไม้บางต้นมีฤดูกาลของตัวเอง เช่น ดอกกระเจียว เป็นดอกไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน การที่ดอกเหี่ยวแห้งไป ไม่ใช่ต้นกระเจียวตายแล้ว แต่รอเวลาที่จะกลับมาบานใหม่

และการที่เราไปเยี่ยมเยียนสวนคนอื่น มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของสวนอื่นๆ ช่วยเพิ่มมุมมองและแนวคิดใหม่ในการจัดสวนของเราเอง รวมทั้งการไปอบรมวิธีการจัดสวนแบบใหม่ๆ ที่สร้างความคิดสร้างสรรค์หรือมองเห็นทางเลือกใหม่ของการจัดสวน เปรียบเสมือนการที่เรามองหาสิ่งที่ดีขึ้นสำหรับชีวิต ได้แก่ การฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาชีพหรือด้านชีวิต แต่การลอกเลียนแบบการจัดสวนของคนอื่นมาจะไม่ทำให้เราเพิ่มทักษะของความคิดสร้างสรรค์และการยอมรับตนเองมากขึ้น

แล้วสวนของท่านผู้อ่านเป็นประเภทไหนและท่านได้มองเห็นสวนของท่านเป็นอย่างไร ท่านอยากเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงสวนของท่านอย่างไร ดอกไม้ ต้นไม้อีกมากมายในโลกนี้รอให้ท่านทั้งหลายไปเลือกมาประดับสวนของท่าน ข้าพเจ้าอยากหนุนใจให้ท่านได้ลองสำรวจสวนของท่าน ท่านจะเห็นและภูมิใจในสวนของท่านเอง

 

หมายเลขบันทึก: 295655เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท