ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

การละเล่นการแข่งขันตีกลอง


ความเพลิดเพลิน

 

 

     ก้องเสียงกลอง


         ยกเครื่องดนตรีในประเภทเครื่องตีที่รู้จักกันดีในชื่อ กลอง นอกจากรูปทรงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เครื่องดนตรีชิ้นนี้ยังมีเสียงทรงพลังมีความหมายความเป็นมายาวนาน

วันวานเสียงกลองที่ดังกึกก้องไม่เพียงใช้นำทัพ การตีกลองยังแจ้งข่าวสารส่งสัญญาณบอกเวลาให้คนใกล้ไกลได้ยินทั่วกัน

กลองแต่ละชนิดนอกจากให้เสียงแตกต่าง ลักษณะกลองแต่ละประเทศ ภูมิภาคยังมีเอกลักษณ์ในปีมหามงคลวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี และใกล้เข้ามาสำหรับเทศกาลตรุษจีน เดอะมอลล์ซึ่งสืบเนื่องการจัดแข่งขันเชิดสิงโตชิงแชมป์ประเทศไทยมายาวนาน ในปีนี้นอกจากการแข่งขันให้พื้นที่คณะสิงโตทั่วไทยได้ชิงชัยแสดงความสามารถ ครั้งนี้ยังรวบรวมนำการแสดงกลองหลากชนิด 4 ภูมิภาคของไทยมาพบกับการแสดงกลอง 24 เทศกาลในงานมงคลของจีนบรรเลงเผยแพร่ให้ชมในมหกรรมกลองเสริมพลังสร้างบารมี โดยไม่เสีย ค่าเข้าชมเฉลิมฉลองวโรกาสสำคัญ ต้อนรับเทศกาลที่กำลังจะมาถึง 

        กลองเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเป็นมงคล จากความเชื่อในอดีตเชื่อว่าเสียงกลองมีพลังทำให้เกิดความฮึกเหิม ในพิธีสำคัญ ๆ หลายพิธีจึงมีกลองร่วมอยู่ในพิธี อย่าง ก่อนการรบสมัยก่อนตีกลอง เสียง กลองช่วยเรียกขวัญกำลังใจให้ทหาร หรือแม้แต่งานเฉลิมฉลองก็จะใช้กลองตีประโคม บุญสร้าง เรืองนนท์ อาจารย์จากกรมศิล ปากรผู้ควบคุมการแสดง กลองสามัคคี 4 ภาค

     ฝ่ายไทยเริ่มเล่าพร้อมให้ภาพเอกลักษณ์กลองไทยว่า มหกรรมกลองที่กำลังจะปรากฏในส่วนกลองไทยนำตัวแทนกลอง 4 ภาคมาแสดงซึ่งแต่ละชนิดมีความหมายที่มาและรูปแบบการตีโดดเด่นเฉพาะตัว

        กลองไทยจำนวน 19 ใบจาก 4 ภูมิภาคประกอบด้วย กลองเส็ง กลองติ่ง สัญลักษณ์กลองภาคอีสาน กลองชนิดนี้เป็นกลองสองหน้าใช้ตีประชันเสียงกันในงานประเพณีต่าง ๆ ของภาคอีสาน ใช้ตีเป็นสัญญาณรวมพลพรรค ตีในงานบุญต่าง ๆ อย่างบุญพระเวสสันดรช่วงเดือน 4 และงานบุญบั้งไฟในเดือน 6 ฯลฯ กลองยาว สัญลักษณ์กลองภาคกลาง กลองชนิดนี้ขึ้นหนังหน้าเดียว ตกแต่งกลองสวยเด่นด้วยการหุ้มผ้าสีหรือผ้าลายดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาปกตัวกลอง กลองยาวจะสะพายบ่ามีลีลา ท่าทีการบรรเลงที่สนุกสนานโลดโผนนอกจากใช้มือ อาจใช้กำปั้น ศีรษะโหม่ง เข่ากระทุ้ง ฯลฯ นิยมเล่นกันในงานบวชนาค ทอดกฐิน เทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งนำมาแสดงต้อนรับแขกเมืองก็เคยมี

    ส่วนสัญลักษณ์กลองภาคเหนือ กลองสะบัดชัย การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ การตีกลองชนิดนี้นอกจากแสดงในงานวัฒนธรรม งานพิธีต้อนรับแขกเมือง การตีกลองสะบัดชัยยังมีความหมายเป็นการตีส่งสัญญาณบอกข่าวสาร เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ สุดท้าย กลองทับ    

   สัญลักษณ์กลองภาคใต้ กลองทับนิยมขุด กลึงด้วยไม้ขนุน หุ้มด้วยหนังค่างหรือหนังสัตว์ชนิดอื่นที่มีความเหนียว กลองชนิดนี้เป็นกลองสำคัญใช้ประกอบการแสดงหนังตะลุง โนราห์ ใช้ปลายนิ้วมือตีมีเสียงหลัก 2 เสียงคือเสียงฉับและเทิง

“กลองเป็นเครื่องดนตรีที่มีความเป็นมายาวนาน กลองไทยมีอยู่หลายชนิด กลองสำคัญ ๆ ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ กลองทัด ตะโพนไทย ตะโพนมอญ ฯลฯ กลองแต่ละภาคมีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ของเสียงต่างกัน อย่างกลองสะบัดชัยที่ใช้ในการศึกวันวาน เสียง จะนุ่มดังกังวานมีท่วงท่าลีลาการตีแข็งแกร่งฉับไว  

      ขณะที่กลองเส็งหรือกลองติ่ง เป็นกลองที่จัดว่าเล่นยาก ผู้เล่นจะต้องมีความคล่องตัวในการออก ลีลาท่าทาง ความสนุกอยู่ที่เสียง   กลองจะดังเร้าใจซึ่งเสียงเกิดจากเสียงหวายที่ตีกระทบหน้ากลอง กลองยาว ทราบกันดีถึงความสนุกสนานเสียงดังเร้าใจ ส่วนโทนทับ กลองภาคใต้จะใช้ตีในงานมงคล    ใช้ตีประกอบท่ารำโนราห์ งานรื่นเริง กลองชนิดนี้เสียงกลองจะ   ดังไกลกังวานชวนฟังซึ่งในช่วงสุดท้ายกลองจีนและกลองไทยจะแสดงร่วมกัน”

      ทางด้านการแสดงกลองจีน 24 เทศกาลงานมงคลประกอบด้วย กลองจีน 41 ใบ ที่ตีด้วยท่วงท่าจังหวะชวนติดตามหาชมยาก ทั้งนี้เพราะการตีกลองชนิดนี้ในประเทศไทยจะตีในโอกาสสำคัญ ๆ และมีผู้ที่ตีได้น้อยมาก อาธิคม หนึ่งในกลุ่มเยาวชนจากสมาคมไต้เทียนกงผู้บรรเลงเล่าว่า การแสดงกลองชนิดนี้จะมีแสดงขึ้นในฤดูต่าง ๆ ของจีนเพื่อเฉลิมฉลอง แจ้งให้เทพเจ้ารู้ว่าเป็นฤดูกาลใด อย่างช่วงปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ไถหว่าน ฉลองพืชผลเริ่มต้นฤดูและหมดฤดูกาล ฯลฯ

“กลองจีนชุดนี้ตีสืบต่อมาตามแบบโบราณผสมผสานกลองจากภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน จังหวะมี ความหลากหลายทั้งสนุกสนานและเร้าใจ อีกทั้งให้ความรู้สึกสัมผัสได้ถึงเสียงธรรมชาติอย่างเสียงลมฝนพายุฝน ฯลฯ แม้จะหลับตาฟังและที่เป็นเสน่ห์น่าจะอยู่ที่ลีลาท่าทางและความพร้อมเพรียงของผู้แสดง”

มหกรรมกลองหลากสีสันสำเนียงไทย  การบรรเลงที่เกิดขึ้นยังมีความสำคัญสืบสานเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ให้กว้างขวางคงอยู่และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น.


             

 

 

 1.   การแข่งขันตีกลอง

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  เพชรบูรณ์

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์ กลองสองหน้า ไม้กลอง
วิธีการเล่น ผู้เล่นใช้ไม้กลองตีกลองเพื่อให้มีเสียงดัง การตัดสินจะพิจารณาจากเสียงกลองที่ได้มาตรฐาน และลีลาการตีกลอง

  • โอกาสหรือเวลาเล่น

เล่นในงานประเพณีพื้นบ้าน งานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานบุญบั้งไฟ งานรื่นเริงประจำปี และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ

  • คุณค่า

การเส็งกลองเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นการสร้าง เสริมความสามัคคี ในหมู่คณะ ส่งเสริมการออกกำลังกาย สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะหลาย ๆ ด้านประกอบกัน ได้แก่ ศิลปด้านการแสดง ดนตรีและการละเล่น รวมทั้งงานหัตถกรรม

 

 

2.    การเส็งกลองกิ่ง  :  จังหวัดมุกดาหาร

 

ความเป็นมา

 

                กลองกิ่ง  หรือกลองจิ่ง  ตามคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา  แหล่งกำเนิดเริ่มต้นเดิมนั้นเกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  คือ  เมืองอัตปือ  เมืองพวน  เมืองสาละวัน  ราษฎรส่วนใหญ่ในอำเภอดอนตาล  ตำบลดอนตาล  จังหวัดมุกดาหาร  เป็นชาวไทย  เผ่ากะเลิง      ซึ่งได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  โดยมีราชบุตรโคตรนำพาราษฎรมาตั้งถิ่นฐานชื่อว่า              หัวดอนตาล  (เกาะดอนตาล)  และปลูกสร้างที่อยู่อาศัย  และตั้งชื่อชุมชนว่า  บ้านหัวดอนตาล  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น  บ้านดอนตาล  วัฒนธรรมการแข่งขันกลองกิ่ง  จึงได้นำมาแพร่หลายในอำเภอดอนตาล  (ตามคำบอกเล่าของนายเฮือง  จันทพันธ์  อายุ  85  ปี  ให้ข้อมูลเมื่อปี  2550)  

                กลองกิ่ง  ใช้ตีเพื่อทำพิธีขอฝนในฤดูที่จะทำไร่  ทำนา  และต่อมาจึงมีการทำขึ้นเพื่อการแข่งขัน  จนมีการแพร่หลายมาตามฝั่งไทยในงานบุญประเพณีในสมัยก่อน  เมื่อมีการจัดงานบุญประเพณีบุญเดือนหก  (บุญบั้งไฟ)  ต้องมีการจัดการแข่งขันหรือเส็งกลองก่องทุกปีเรื่อยมา   กลองกิ่งในอำเภอดอนตาลนั้น  เหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมกลองกิ่งจึงมีมากในท้องที่อำเภอดอนตาล  เพราะว่าบรรพบุรุษของพี่น้องชาวดอนตาลมีเชื้อสานมาจากบ้านดงเขนย  เมืองพวน  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่มักทำในงานบุญบั้งไฟที่มีมาแต่โบราณคือ การเส็งกลอง (ตีกลองแข่งขันกัน) กลองที่นำมาตีแข่งขันกันเรียกว่า “ กลองเส็ง ” คำว่า “ เส็ง ” เป็นภาษาไทยอีสานหมายถึง “ แข่ง ” ดังนั้น  กลองเส็ง  ก็คือ  กลองที่นำมาตีแข่งขันกันนั้นเอง บางแห่งจะเรียกว่า “ กลองกิ่ง ”  กองเส็งหรือกลองกิ่ง  จะมีลักษณะเรียวยาว หนังหน้ากลองจะขูดให้บางและขันให้ตึงแน่นมาก หน้ากลองจะไม่ติดข้าวเหมือนกลองยาว เวลาตีจะใช้ไม้ตีเสียงจึงดังแหลมสูง การตัดสินของคณะกรรมการจะดูที่ลีลาจังหวะการตี และเสียงดังเป็นสำคัญ ส่วนการแข่งขันมักจะแข่งในวันโฮม (รวม) หลังจากแห่บั้งไฟเสร็จแล้ว

"กลองเส็ง" หรือ กลองกิ่ง หรือ กลองแต้ เป็นกลองคู่ประเภทหน้าเดียว  ถือเป็นเครื่องดนตรีสำหรับใช้ในการบรรเลงดนตรีประกอบจังหวะ นิยมกันมากในภาคอีสาน ใช้สำหรับ          การแข่งขันประลองความดังหรือใช้สำหรับตีในงานบุญต่างๆ เช่น งานบุญบั้งไฟ เป็นต้น
การตีกลองเส็งจะต้องใช้ไม้ตีซึ่งนิยมใช้ไม้เค็ง (ไม้หยี) ไม้มุยด่อน ไม้นางขาม เพราะมีความเหนียวและทนทานกว่าไม้ชนิดอื่นๆ

 

วัสดุที่ใช้ในการทำกลองกิ่ง

          
1.  หนังควายเฒ่า (ควายที่ล้มตายด้วยอายุไข จะดีมาก) ใช้ทำเป็นหน้ากลองด้านบนและด้านล่าง
           2.  ไม้ที่จะมาใช้ทำตัวกลอง นิยมใช้ไม้ประดู่ สูงประมาณสะดือ และมีหน้ากว้างด้านบนประมาณ 1 ศอกกำ หน้ากว้างด้านล่างประมาณ 1 คืบ
           3.  หนังเส้น หรือเชือกไนลอน ใช้สำหรับผูกกลองด้านบน กับหนังกลองด้านล่าง (ในสมัยโบราณ นิยมใช้เชือกที่ทำจากหนังควาย เรียกว่า เชือกริว)
           4.  ไม้ตีกลอง ทำจาก  ไม้นางขาม  ไม้มุยด่อน  ไม้เค็ง  มีตะกั่วหุ้มด้านที่ใช้ตี ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร

 

 

 


ชื่อ

กลองยาว

ภาค

ภาคกลาง

จังหวัด

นนทบุรี



อุปกรณ์และวิธีเล่น
กลองยาวเป็นกลองหน้าเดียว รูปร่างทรงยาว ด้านล่างกลึงเป็นรูปคล้ายปากแตร ส่วนบนป่องเล็กน้อยปิดด้วยหนังวัว ขึงด้วยเชือกให้ตึง กลองยาวมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้เล่น ตกแต่งด้วยผ้าสีสวยงาม มีสายสะพายคล้องบ่าเพื่อสะดวกในการเดินตี
ผู้เล่นกลองยาวจะใช้มือตีทั้งสองมือ บางครั้งตีแบบโลดโผนเพื่อความสนุกสนาน ใช้กำปั้น ศอก เข่า ศีรษะ หรือต่อตัวในการตีกลอง ซึ่งต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการตี

โอกาสที่เล่น
การเล่นกลองยาวเป็นการเล่นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ในจังหวัดนนทบุรีมีการเล่นกลองยาวตามอำเภอต่าง ๆ โดยจะเล่นในขบวนแห่นาค ขบวนทอดผ้าป่า งานรื่นเริง ปัจจุบันมีการประกวดแข่งขันการเล่นกลองยาวของแต่ละอำเภอในงานต่าง ๆ เช่น ในวันสงกรานต์เป็นต้น

คุณค่า
การเล่นกลองยาวเป็นการเล่นที่แสดงความพร้อมเพรียงสามัคคีในหมู่คณะ เนื่องจากเป็นการเล่นเป็นกลุ่มต้องการเสียง หรือจังหวะที่พร้อมกัน ให้ความสนุกสนานรื่นเริงทั้งผู้เล่นและผู้ชม

คำสำคัญ (Tags): #สนุกสนาน
หมายเลขบันทึก: 295619เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 02:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท