วิถีชีวิตแห่งสายน้ำอัมพวา ตอนที่ 2


ระหว่างสายน้ำแห่งนี้มีวัดแห่งหนึ่งตั้งโดดเด่นสวยงามตระการตา  ชื่อว่า "วัดจุฬามณี"  เป็นวัดที่สร้างตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง  แห่งกรุงศรีอยุธยา  สันนิษฐานว่าท้าวแก้วผลึก  (น้อย)  นายตลาดบางช้าง  ต้นราชสกุลบางช้างเป็นผู้สร้างขึ้น  บริเวณหลังวัดเดิมเป็นนิวาสสถานของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์  พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1  และรัชกาลที่ 2  อุโบสถวัดจุฬามณีเดิมสร้างจากไม้สักและไม้เนื้อแข็ง จนถึง พศ. 2511  พระครูโกวิทสมุทรคุณ (หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท)  ได้เริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม  หลังจากหลวงพ่อเนื่องมรณภาพ ในปีพศ. 2530  พระครูโสถิตวิริยากรณ์ (อิฏฐ ภททฺจาโร)  ศิษย์เอกของหลวงพ่อเนื่องได้ดำเนินการสืบต่อจนแล้วเสร็จเป็นอุโบสถจตุรมุขหินอ่อน  ปูพื้นหินหยกเขียวจากเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน  ภายในประดิษฐานพระประธานบนฐานสูง  ประดับประดาด้วยโคมไฟสวยงาม บนหน้าต่างด้านนอกลงรักฝังมุกเป็นภาพตราพระราชลัญจกร  ตั้งแต่รัชกาลที่ 1  ถึงรัชกาลปัจจุบัน  บานหน้าต่างด้านในแกะสลักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก  บริเวณผนังโดยรอบพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานชาดก

ออกจากวัดจุฬามณีแล้ว  เรือก็พาแล่นไปด้วยความเร็วพอประมาณสู่ผืนน้ำแม่กลอง  กระแสลมเริ่มแรง  ท่ามกลางความมืดมิด  ประกอบกลิ่นไอของสายน้ำทำให้รู้สึกสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก  กระทั่งเรือเลียบเข้าคลอง  ผ่านชุมชน  วัด  บ้านเรือน  และต้นลำพู เครื่องยนต์ก็ดับลง  เบื้องหน้าที่เห็นคือ แสงระยิบระยับของหิ่งห้อยนับร้อยนับพันตัวกำลังทอแสงอยู่บนต้นไม้ราวกับแสงไฟประดับต้นคริสต์มาสอย่างไรอย่างนั้น

จนแล้วจนเล่าทุกต้นลำพูจะปรากฎแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยเช่นนี้  ช่างสวยงามโดยไม่ต้องแต่งแต้มแม้แต่น้อย  เรือแล่นจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ความมืดยิ่งทำให้เห็นความงดงามได้ชัดเจน  แสงไฟจากหิ่งห้อยกำลังโต้ตอบแสงดาวบนท้องฟ้า  ช่างงดงามยิ่งนัก  ผู้คนพากันหลงใหลในความงดงามผสมกลิ่นไอของลำน้ำแม่กลอง

             หิ่งห้อยเหล่านี้จะวางไข่ที่ต้นลำพู เมื่อสิ้นอายุก็จะพอดีกับลูกที่ฟักออกเป็นตัว  ถ้ามีคนไปตัดต้นลำพูวงจรชีวิตของมันก็จะจบลงไปด้วย หิ่งห้อยก็จะน้อยลง  ที่อัมพวาถือเป็นแหล่งที่มีหิ่งห้อยมากที่สุดในประเทศไทย เพราะมีทำเลเหมาะสม พวกมันชื่นชอบน้ำกร่อย  โดยจะกินน้ำค้างบนยอดต้นลำพูเป็นอาหาร  ช่วงที่เป็นตัวหนอนจะกินหอย  ส่วนกลางวันจะหลบอยู่ตามพงหญ้าหรือวัชพืชชื้นแฉะกลางคืนจึงจะออกผสมพันธุ์  

             ตลาดน้ำยามเย็นแห่งนี้ยังพยายามที่จะคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด และรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุดเนื่องจากที่นี่มีลักษณะทางกายภาพเป็นคูคลอง  ขนบประเพณีดั้งเดิมของคนกลุ่มนี้ก็ยังมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  สะท้อนให้เห็นภาพชุมชนไทยโบราณที่ใช้ประโยชน์จากน้ำ  วีถีชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนลักษณะนิสัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

แม้วันนี้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน แต่ตลาดน้ำอัมพวายังคงยืนหยัดในความเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือระวังอย่าให้ใครไปทำลายสิ่งแวดล้อม  เมือง วิถีชาวบ้าน แถบนี้เลย  ให้พวกเขาได้มีโอกาสได้พัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน  และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคนทั่วไปได้สัมผัสบรรยากาศที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติในวันหยุดพักผ่อน  อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย  ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน  ทรัพยากรธรรมชาติจะเหือดหายไป  ตลาดน้ำบางแห่งปิดฉากลงอย่างถาวร  แต่วิถีชีวิตติดสายน้ำแห่งนี้จะยังคงมีชีวิตชีวาตลอดไป

 

หมายเลขบันทึก: 295537เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2009 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นางฟ้าคนสวยชอบไปไหว้พระ 9 วัดที่อัมพวา

วันหลังเขียนแนะนำให้แพรหน่อยนะคะ

วัดไหนน่าไปไหว้พระทำบุญบ้าง

จะได้สวยเหมือนนางฟ้า 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท