ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

เซาเทิร์นซีบอร์ด "หรู-รวย"วันนี้แต่"สลด"วันหน้า


อับดุลลาเดช โต๊ะแอ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลสิชล หนึ่งในชาวบ้านจากพื้นที่ ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่มาเข้าร่วมงานครบรอบ 5 ปี แสดงสีหน้ากังวล และบอกว่า ในพื้นที่ อ.สิชล มีการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรม เพราะชาวบ้านไม่อยากเห็นสิชลถูกทำร้ายจากโครงการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ ใน อ.สิชล โดน 4 ตำบล ได้แก่ สิชล, ทุ่งกรัง, ทุ่งใส และสี่ขีด ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเซาเทิรนซีบอร์ด จะมีโรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และท่าเรือน้ำลึก ทั้ง 4 ตำบล

เซาเทิร์นซีบอร์ด "หรู-รวย"วันนี้แต่"สลด"วันหน้า

ที่มา  http://www.thaipost.net/sunday/050709/7290

5  ปี  การจากไปของเจริญ  วัดอักษร  นักสู้แห่งบ้านบ่อนอก  อ.บางสะพาน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ผู้นำชาวบ้านเพื่อบอกกับคนในประเทศรวมทั้งในโลกนี้ว่า  บ้านของเขาและของพวกเขาไม่ต้องการสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนดั้งเดิม  ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าบ่อนอกหรือโรงถลุงเหล็ก  จนปี  2546  รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไป  แต่นักอนุรักษ์ผู้นี้กลับถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน  ปี  2547


     ข่าวคราวการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของเจริญ  วัดอักษร  ยังคงวนเวียนปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อประเภทต่างๆ  สำหรับในวาระครบรอบ  5  ปี  การเสียชีวิตของเจริญ  วัดอักษร  ในปีนี้  มีการจัดงานขึ้นที่วัดสี่แยกบ่อนอก  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ตรงนี้เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจริญ  วัดอักษร  ไม่เพียงมีการรำลึกถึงการต่อสู้ของชาวประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น  แต่ยังมีการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้  ได้แก่  ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี  ปัตตานี  ที่มาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้  หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด  หลังจากที่ถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาถูกคัดเลือกจากรัฐบาลเป็นที่ตั้งของโรงเหล็ก  โรงไฟฟ้าถ่านหิน  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  เป็นนิคมอุตสาหกรรม  ตลอดจนเป็นที่สร้างท่าเรือน้ำลึก  รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต


     "10  ปีที่ผ่านมา  เราต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า  และอีก  5  ปีของการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของเจริญ  วัดอักษร  เรายังคงต้องมาพูดเรื่องเดิมๆ  เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านในภาคใต้ก็ยังต้องเจอ  เห็นได้จากแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ถูกกำหนดโดยคนเพียงไม่กี่คนในสภาพัฒน์  จะใช้ภาคใต้ทั้งภาคเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมอีก  เราไม่ยอมรับแล้ว  บาดแผลของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด  มาบตาพุด  แม่เมาะยังมีอยู่นะ"  กรณ์อุมา  พงษ์น้อย  ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี  กล่าว

     เธอบอกอีกว่า  ผ่านมาทั้งรัฐบาลสมัคร  สมชาย  จนกระทั่งล่าสุดในรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ผลักดันแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เข้ามาอยู่ในกระแสอีกครั้ง  พร้อมกับมีมติ  ครม.  3  กุมภาพันธ์  2552  แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้  มีการกำหนดพื้นที่บริเวณด้ามขวานทองรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำ  อุตสาหกรรมเหล็ก  จะเกิดโรงงานถลุงเหล็กที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง  นอกจากนี้รัฐบาลเตรียมเดินหน้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับ  ทั้งขยายถนน  รถไฟรางคู่สู่ภาคใต้  พัฒนาท่าเรือน้ำลึก


     ขณะที่ด้านพลังงาน  แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย  พ.ศ.  2550-2554  (PDP2007)  มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจะนะ  2  แห่ง  และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด  2,100  เมกะวัตต์  ของ  กฟผ.  บริเวณ  อ.ทับสะแก  เพื่อรองรับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมของภาคใต้  หรือพื้นที่สงขลา  และนครฯ  จะต้องมีบ่อก๊าซขึ้นที่ทะเลหน้าบ้าน  ทำไมชาวบ้านจึงไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของพวกเขา  วันนี้วิธีคิดของรัฐยังเหมือนเดิม  ประชาชนในท้องถิ่นจะโดนบดขยี้อย่างหนัก  เรากำลังต่อสู้กับทิศทางการสร้างชาติที่เอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง  สู้กับอำนาจรัฐ  อำนาจทุน  และผลประโยชน์ทับซ้อน  ถ้าภาคใต้หน้าตาเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม  คงต้องมาดูว่า  ระยองกับจังหวัดในภาคใต้  พื้นที่ไหนจะเป็นแชมป์มลพิษสิ่งแวดล้อม  โดยเอาชีวิตชาวบ้านเป็นเครื่องมือตรวจวัดมลพิษ


     อับดุลลาเดช  โต๊ะแอ  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลสิชล  หนึ่งในชาวบ้านจากพื้นที่  ต.สิชล  อ.สิชล  จ.นครศรีธรรมราช  ที่มาเข้าร่วมงานครบรอบ  5  ปี  แสดงสีหน้ากังวล  และบอกว่า  ในพื้นที่  อ.สิชล  มีการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรม  เพราะชาวบ้านไม่อยากเห็นสิชลถูกทำร้ายจากโครงการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่  ใน  อ.สิชล  โดน  4  ตำบล  ได้แก่  สิชล,  ทุ่งกรัง,  ทุ่งใส  และสี่ขีด  ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเซาเทิรนซีบอร์ด  จะมีโรงถลุงเหล็ก  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  และท่าเรือน้ำลึก  ทั้ง  4  ตำบล  เป็นพื้นที่สีเขียว  แต่มีความพยายามผลักดันเปลี่ยนผังเมืองเป็นสีม่วง  รับนิคมอุตสาหกรรมเกือบ  2  หมื่นไร่  รัฐไม่เอาข้อมูลข้อเท็จจริงของโครงการที่จะเกิดขึ้นมาบอกชาวบ้าน  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบกับชาวบ้านที่นี่ยังไง


     "เราไม่เอาโครงการนี้เลย  ด้วยเหตุผลว่า  พื้นที่มันมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  มีทรัพยากรที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์  ชาวสิชลอยู่อย่างเงียบสงบ  วิถีส่วนใหญ่ของชาวบ้านยึดอาชีพหากินกับการออกเรือประมงหาปลา  ในทะเลยังมีกุ้งหอยปูปลาให้ทำมาหากินอีกมากโดยที่ไม่ต้องออกไปไกลบ้าน  บ้างก็ทำเกษตรกรรม  ทำสวนยางพารา  สวนมะพร้าว  สวนผลไม้  แล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ชุมชนร่วมกันจัดการ  สถานที่ขึ้นชื่อ  เช่น  หาดหินงาม  หาดสวยทรายขาว  เขาปลายดำ  บ้านเรามีทุกอย่าง  อุตสาหกรรมที่กำลังเข้ามาจะทำลายความอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านไม่เชื่อ  เพราะเห็นผลกระทบจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มาบตาพุดมาแล้ว  ดิน  น้ำ  อากาศ  ทะเลโดนทำลาย  และสุขภาพคนก็แย่จากมลพิษ  ระยองยังไม่ได้เยียวยา  แล้วยังจะเดินหน้าที่ภาคใต้  ถ้าจำเป็นต้องสร้างก็ต้องไม่ใช่ที่นี่  เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสม  นิคมอุตสาหกรรมกับวิถีชาวบ้านขนานกันอย่างสิ้นเชิง"  อับดุลสรุป


     ดร.เดชรัตน์  สุขกำเนิด  อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ให้ข้อมูลในเวทีเสวนาบาดแผลอีสเทิร์นซีบอร์ดกับการพัฒนาประเทศ  ที่เครือข่ายจัดขึ้นเมื่องานครบรอบ  5  ปี  การจากไปของเจริญ  วัดอักษร  ดร.เดชรัตน์หยิบยกบทเรียนจากมาบตาพุดมาตั้งคำถามสำหรับการพัฒนาภาคใต้ภายใต้เงาอุตสาหกรรมว่า  สิ่งที่มาพร้อมกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของระยอง  คือ  มลพิษสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีใครรับผิดชอบ  แม้จะมีการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านอีไอเอ  แต่ก็ยังเกิดวิกฤติ  น้ำเสียจากอุตสาหกรรมถูกปล่อยลงมาตามคลองส่งน้ำในชุมชน


     บางโรงงานนอกนิคมก็ปล่อยลงสู่ทะเล  คุณภาพน้ำทะเลที่นี่มีสารปรอท  และโลหะหนักปนเปื้อน  แล้วยังมีน้ำบ่อตื้นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  บ้านพัง  ชายฝั่งทะเลหายไป  เกิดวิกฤติอากาศ  ภูเขาขยะพิษในนิคมอุตสาหกรรม  ขี้เถ้าถ่านหินที่กองกับพื้น  ไม่มีวัสดุปูรองรับ  หรือคลุมกันฟุ้งกระจาย  ทิ้งเวลามาเนิ่นนานกว่าจะยอมรับเป็นปัญหา  ทุกวันนี้ก็ยังไม่อยากยอมรับ  และมีคาถาสำหรับปฏิเสธความจริงว่าอาจไม่ใช่อุตสาหกรรม  ทั้งยังแก้ปัญหาแบบใครใหญ่  ใครอยู่  อย่างการย้ายโรงเรียนออกจากพื้นที่  และกำลังจะย้ายโรงพยาบาลมาบตาพุดอีกด้วย  ต่อไปอาจย้ายชุมชน  รวมถึงศูนย์ราชการ


     ดร.เดชรัตน์บอกถึงมลพิษ  พร้อมเล่าต่อว่า  ผังเมืองที่ระยองคือเส้นที่ไม่มีความหมาย  เพราะมีการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าไปในเขตกันชนและพื้นที่ชุมชน  ทุกวันนี้ที่ระยองเกิดปัญหารุนแรงไม่มีเขตกันชน  เรียกว่า  รั้วชนรั้วเลยทีเดียว  บางบ้านห่างกันแค่เพียง  10  เมตรเท่านั้น  เทียบกับในต่างประเทศแนวกันชนระยะห่างน้อยสุดก็  500  เมตร  ชาวบ้านบอกว่า  นอนหนุนท่อก๊าซที่ตั้งอยู่ในพื้นที่  นอกจากนี้  ยังมีปัญหาสังคมที่ไม่มีใครเยียวยา  แม้คนระยองจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว  691,093  บาท/คน/ปี  แต่มีอัตราผู้ป่วยเอดส์รายใหม่มากสุดอันดับ  3  และมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง  5  เท่า  มีเด็กกำพร้า  เด็กถูกทอดทิ้ง  เด็กท้องก่อนวัยอันสมควรสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ  รวมถึงคดีจับกุมยาเสพติดด้วย  ถ้าอุตสาหกรรมลงที่ภาคใต้จะเกิดภาพเหล่านี้หรือไม่


     "ระยองในวันวานเป็นเศรษฐกิจสามขา  มีเกษตร  35%  อุตสาหกรรมและเหมืองแร่  29%  การค้าและบริการ  36%  แต่หลังพัฒนาไป  30  ปี  วันนี้กลายเป็นเศรษฐกิจขาเดียว  เกษตรเหลือเพียง  3%  การค้า  18%  ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมถึง  79%  การเกษตรไม่ตายแต่ไม่โต  ประมงยิ่งน่าห่วง   อุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการนำเข้าสูง  เงินไหลออกนอกประเทศ  เศรษฐกิจขาเดียวยังลงไปไม่ถึงฐานราก  ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้  อยากให้ซ้ำรอยกับที่ภาคใต้มั้ย"


     แผนพัฒนาภาคใต้ในมุมมองของรัฐจะเกิดอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่บางสะพาน,  ชุมพร,  นครศรีธรรมราช  ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกำหนดพื้นที่นครศรีธรรมราช,  จะนะ  สงขลา  แล้วยังมีอุตสาหกรรมพลังงาน  ทั้งก๊าซ  และน้ำมัน  โรงไฟฟ้า


     นักวิชาการคนเดิมขยายความว่า  จากการสำรวจความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้  ปัจจุบันประมาณ  2,000  เมกะวัตต์  ปี  2564  เพิ่มเป็น  4,000  เมกะวัตต์  แต่โครงการโรงไฟฟ้าในภาคใต้นั้นมีพลังความร้อนร่วมจากก๊าซธรรมชาติที่จะนะ  800  เมกะวัตต์  และที่ขนอมอีก  800  เมกะวัตต์  โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปะทิว  2,800  เมกะวัตต์  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  4,000  เมกะวัตต์  ต้องการ  2,000  เมกะวัตต์  แต่สร้างมากถึง  8,000  เมกะวัตต์  จะสร้างให้ใคร  ถ้าไม่ใช่แผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด

     แม้ว่าแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ดกำลังได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล  แต่ในมุมมองของ  ดร.เดชรัตน์กลับมองว่า  ภาคใต้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว  มีรายได้จากภาคการเกษตร  315,141  ล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ  35  ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรทั้งประเทศ  รายรับจากการท่องเที่ยวก็สูงถึง  150,000  ล้านบาท  แล้วยังเป็นภาคที่ได้เปรียบด้านการลงทุนทางการศึกษา  ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมถึง  54,211  ล้านบาท  แต่สัดส่วนของการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรในภาคใต้มีประมาณร้อยละ  10-20  ของผลผลิตเท่านั้น


     ดร.เดชรัตน์บอกว่า  ข้อมูลสถานการณ์ความยากจนของภาคใต้พบว่า  เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน  100  คน  มีเพียง  3  คนเท่านั้นที่ยากจน  แม้แต่คนงานเกษตร  ซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน  รับจ้างกรีดยาง  100  คน  มี  13  ที่ยากจน  แสดงให้เห็นว่า  เกษตรกรอยู่ภาคใต้ไม่มีจน  อยากตั้งคำถามว่าเราจะเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมทำไม  นอกจากนี้  หากเพิ่มมูลค่าของผลผลิตการเกษตรให้ได้ร้อยละ  25  ของที่มีอยู่  จะเพิ่มรายได้ให้ภาคใต้ได้ถึง  78,000  ล้านบาท  และถ้าลดต้นทุนการเกษตรลงได้ร้อยละ 10 ก็จะเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า  15,000  ล้านบาท  ยังมีภาคการท่องเที่ยวถ้าเพิ่มรายได้ให้ได้ร้อยละ  25  รายได้จะเพิ่มขึ้น  35,000  ล้านบาท  เพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ให้กับประชาชนร้อยละ  25  จะช่วยเพิ่มรายได้ในภาคใต้  13,500  เฉพาะด้านไฟฟ้าถ้ามีการลงทุนเพื่อการพึ่งตนเองทางด้านพลังงานร้อยละ  25  เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่าสองหมื่นล้านบาท  นี่เป็นการพัฒนาที่คนใต้ได้ร่วมเดินไปด้วย


     ขณะที่ภาคใต้สามารถพึ่งตนเองด้วยพลังงาน  ด้วยการใช้ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและขยะอินทรีย์ให้ได้ร้อยละ  40  ทดแทนก๊าซหุงต้ม  ใช้เตาประสิทธิภาพสูงแทนเตาประสิทธิภาพต่ำ  ใช้ไบโอดีเซลให้ได้ร้อยละ  20  แทนน้ำมันดีเซล  ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล  เป็นกังหันลมและพลังน้ำขนาดเล็ก  ประมาณ  2,000  เมกะวัตต์  พลังงานชีวมวล  และก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่  ประมาณ  1,000  เมกะวัตต์  รวมยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งสามด้านสามารถเพิ่มรายได้ให้กับภาคใต้ได้มากถึง  145,500  ล้านบาท  เป็นการเพิ่มรายได้ที่คน  9  ล้านคนในภาคใต้  ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและรับประโยชน์จริงๆ  ไม่น้อยกว่า  16,000  บาท/คน/ปี  ในปี  2550  ภาคใต้มีสัดส่วนความยากจนร้อยละ  5.88  มีจำนวนคนจน  5  แสนกว่าคน  ถ้าพัฒนาในเส้นทางที่ถูกต้องจะทำให้คนทั้งหมดหลุดพ้นจากความยากจน


     "คนยากจนในภาคใต้คือคนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร  ทั้งที่ดิน  ทะเล  ฐานทรัพยากรอาหาร  การทำให้คนจนเข้าถึงแหล่งอาหารสามารถเพิ่มโอกาสพ้นความยากจนได้มากถึง  20  เท่า  ฉะนั้น  การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของแผนพัฒนาภาคใต้  ไม่ใช่อุตสาหกรรมเหล็ก  อุตสาหกรรมปิโตรเคมี"  ดร.เดชรัตน์กล่าว


     ดร.อาภา  หวังเกียรติ  อาจารย์จากสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยรังสิต  บอกว่า  แผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ดเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากชายฝั่งทะเลตะวันออกสู่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  บทเรียนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มาบตาพุด  ซึ่งเป็นชุดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ  จำนวนมาก  และการลงทุนเน้นประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจ  มีการลงทุนต่อเนื่อง  ไม่สิ้นสุด  เป้าหมายการลงทุนไม่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น  และมีโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการพิเศษ  ทั้งหมดนี้กำลังจะเปิดประตูเมืองมาตีปักษ์ใต้บ้านเรา  จะมีการเปลี่ยนสีผังเมืองสร้างนิคมอุตสาหกรรม


     โดยแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด  มีแนวคิดการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางทะเลและอากาศ  ศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค  และเป็นโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน  เชื่อมโยงแหล่งพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน  เป็นศูนย์กลางและแหล่งสำรองพลังงานของประเทศ  ในหลักการยังจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาเซียน  และเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กอาเซียน  ภาคใต้ตอนบน  ตอนกลาง ตอนล่าง  มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบา  ขณะเดียวกันมีการริเริ่มอย่างจริงจังเรื่องการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน  และสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย  หรือแลนด์บริดจ์  ตามเส้นทางสตูล-สงขลา


     ย้อนกลับมาสิ่งที่  ดร.อาภา  กำลังวิตกคือ  ด้านสุขภาพที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรม  จากการตรวจสอบในพื้นที่มาบตาพุด  พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่อุตสาหกรรมปล่อยออกมาทำอันตรายต่อจุดสำคัญของร่างกาย  โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง  ประสาท  ตับ  ไต  หัวใจ  เลือด  พบค่อนข้างมาก  คนในชุมชนเจ็บป่วยเรื้อรัง  ซึ่งถ้าเอาของไม่ดีมาไว้ภาคใต้  จะเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพของชุมชนชาวใต้ที่อยู่รอบพื้นที่โครงการปิโตรเคมี  โรงถลุงเหล็กเช่นกัน  นอกจากนี้  ท่าเรือน้ำลึกจะทำลายชายฝั่ง  วิถีประมงก็สูญหาย  การท่องเที่ยวล่มสลายแบบไม่มีวันหวนกลับคืน  ชาวบ้านจะมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นรั้วบ้าน  เรียกว่ามีสารพิษทั้งในน้ำและอากาศ  นี่คือภาพปักษ์ใต้ใน  10  ปีข้างหน้า  ไม่สวยหรูเหมือนที่วาดฝัน.

หมายเลขบันทึก: 294410เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 07:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท