คุณธรรมนักบริหาร โดยศาสตราจารย์ ดร. ร.ต.อ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์


เราคือผู้อาศัย ไม่ใช่เจ้าของ

วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปฟังบรรยายของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ม. ขอนแก่นจัดขึ้น ณ ห้องประชุมวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ (MBA) ผู้บรรยายเป็นอดีตนักการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันดี  คือ ศ. รตอ.ดร ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์  สมัยที่ท่านเป็น มท 1 ฉายาของท่านคือ 'มือปราบสายเดี่ยว'

                                    

หัวข้อที่ท่านบรรยายคือ  "คุณธรรมนักบริหาร "  แต่แทรกความรู้หลายศาสตร์ ตั้งแต่วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของโลก ที่ชาร์ล ดาร์วิน ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ  ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สปีชี่ของสิ่งมีชีวิตในโลกเรา  การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ปัญหาโลกร้อน ประวัติศาสตร์ ความรู้เรื่องการเมือง ความเจริญก้าวหน้าของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คิดไปไกลขนาดจะไปตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์และดาวอังคาร  และยังสอนศีลธรรม จริยธรรมแก่นักศึกษา เรื่องการดื่มอย่างไรให้มีสติและไม่เมา  หรือแม้แต่เรื่องสุขภาพ  -- แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนักวิชาการที่มีความรอบรู้หลายด้านจริงๆ

        สาระสำคัญคือการเชื่อมโยงกับความจริงที่ว่า

.. มีสิ่งมีชีวิตที่มาก่อนพวกเรานานมาก โลกนั้นมีอายุยาวนานถึง 4,600 ล้านปี แต่มนุษย์เรามีชีวิตบนโลกเพียง 4-5 หมื่นปีเท่านั้น  เราจึงอาศัยอยู่บนโลกเพียงชั่วคราว 

ถ้าเราทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ อาจจะทำให้พวกเราสูญพันธุ์ได้เหมือนกับไดโนเสาร์  ฉะนั้น อย่าคิดว่าเราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าของโลก เจ้าของทุกอย่าง และจะทำอะไรก็ได้กับโลกของเรา

จงตระหนักไว้ว่า " เราคือผู้อาศัย ไม่ใช่เจ้าของ" 

อจ. ปุระชัยได้ยกตัวอย่างของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช กับอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ที่เป็น Candidate ซึ่งแพ้การเลือกตั้ง และหันมาเอาดีทางการตระเวณบรรยายเรื่องภาวะโลกร้อน  จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นตัวอย่างการคิดถึงผู้อื่นและคิดถึงส่วนรวม

  อัล กอร์     

 จอร์จ บุช

ส่วน จอร์จ ดับเบิลยู บุช สมัยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ยอมเซ็นลงนามในอนุสัญญาลดโลกร้อนเนื่องจากภาวะเรือนกระจก เพราะกลัวจะกระทบต่ออุตสาหกรรมของประเทศ  แต่สหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่ทำลายโอโซนและเกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุดจากโรงงานอุตสาหกรรม

การกระทำของบุช ยัง แสดงถึงความไม่คิดถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อส่งทหารเข้าไปยังประเทศอิรัก ก็ทำลายล้างกระทั่งแหล่งอารยธรรมอิรักโบราณสมัยเมโสโปเตเมีย ที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส ยูเครติส ซึ่งถือเป็นอารยธรรมแรกของมนุษย์ พิพิธภัณฑ์มรดกทางประวัติศาสตร์นี้ มิได้เป็นของประเทศอิรักประเทศเดียวเท่านั้น แต่เป็นของคนทั้งโลก

นี่จึงเป็นตัวอย่างของคุณธรรมข้อแรกสำหรับนักบริหาร คือ  " รู้จักเพื่อนร่วมโลกของเรา และไม่คิดที่จะทำร้ายพวกเรากันเอง "


สำหรับแก่นสำคัญของเรื่องที่ท่านบรรยายคือ ทศธรรม  10 ประการ ที่เป็นธรรมะสำหรับนักบริหาร ที่ประกอบด้วยความถูกต้องสิบประการ


1. การให้ .......ช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชา

2. มีศีล ......ประพฤติดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

3. บริจาค ......บริจาคทาน เสียสละเพื่อส่วนรวม

4. ซื่อตรง ......สุจริต จริงใจ ไม่หลอกลวง

5. อัธยาศัยอ่อนโยน ......ไม่เย่อหยิ่ง สุภาพ

6. มีความพากเพียร ......ขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ไม่มัวเมาในความสุขสำราญ

7. ไม่โกรธ ......มีเมตตาธรรม จิตนิ่ง

8. ไม่เบียดเบียน ......ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งใจกาย

9. มีขันติ ......คือ อดทนต่อความยากลำบากของงานที่ทำ ไม่ถ้อถอย

10. มีสติตั้งมั่นในธรรม ......ยุติธรรม เที่ยงธรรม นิติธรรม เคารพระเบียบประเพณีอันดีงาม รักษาวินัยขององค์กรที่ตนเองอยู่

ช่วงท้ายของคำถาม มีผู้ฟังบรรยายท่านหนึ่งถามว่า ท่านอจ.คิดอย่างไรกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่มีการแบ่งเสื้อสีนั้นสีนี้ ท่านได้บอกว่า " ผมไม่อยู่เสื้อสีไหน แต่ถ้าจะมีสีคือ สีธงชาติ"

และท่านยังยกตัวอย่างว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ในระดับเดียวกันอย่าง ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสมัยสงครามโลกเรายังไม่แตกต่างกับเขา ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นชาติตะวันตก ประเทศไทยก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นชาติใดเหมือนกัน แต่ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้แพ้สงคราม และกลับมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้  หรืออย่าง ประเทศเกาหลีใต้ เราก็เคยส่งทหารไปช่วยรบ ช่วยสอนเรื่องการทำนาปลูกข้าว จนปัจจุบันคนเกาหลียังรำลึกถึงบุญคุณของคนไทยอยู่เสมอ  และประเทศเกาหลีก็เป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ากว่าเรามากเช่นกัน 

การที่ประเทศเรายังไปไม่ถึงไหน ก็เพราะเรามัวแต่ทะเลาะกัน  แม้แต่ในประเทศแถบอาเซียนด้วยกัน เราก็มีคู่แข่งที่พร้อมจะนำหน้าเราไปแล้ว 

 

ที่อยากเล่าอีกเรื่องหนึ่งคือ  มีคนถามท่านว่า .. ท่านจะเลือกอย่างไหน ระหว่าง "คนเก่งแต่โกง"   และ "คนไม่เก่งแต่ดี"   ท่านบอกว่า.. ขอเลือกคนดีก่อน  ส่วนความเก่งนั้นมาทีหลัง และสามารถจะฝึกฝนได้

 

สุดท้าย ท่านอจ. ดร. ปุระชัย ได้ให้ข้อคิดที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่น่าส่งเสริมต่อไปคือ   " ไม่มีอะไรคุ้มค่ากว่า การสร้างคนที่ดีหนึ่งคนขึ้นมาในประเทศ " 

หวังว่าเมล็ดพันธุ์ที่อจ. ช่วยหว่านตามสถาบันการศึกษาต่างๆ  จะได้งอกเงยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นคนดีเหมือนกับต้นแบบอย่างท่านนะคะ ( เพราะคนดีๆมันเหลือน้อยหรืออย่างไรไม่รู้ )  

อ่านประวัติย่อ ศ.ดร รตอ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ วิกีพีเดีย

OKnation  http://www.oknation.net/blog/moonandsun/2009/09/03/entry-1

ขอบคุณภาพประกอบจาก เว็บไซต์อมรินทร์พริ้นติ้ง 

เว็บไซต์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 294372เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากไปฟังจริงๆ แต่ติดไปเข้าร่วมประชุมวิชาการ มธ.

พระเอกในดวงใจเลยนะเนี่ย

ขอบคุณบันทึกฉบับนี้นะคะ...

ขอบคุณค่ะน้องตุ่น

เสียดายไม่ได้ไปประชุมวิชาการมธ.

อยากเจอคุณชวน หลีกภัยอ่ะค่ะ ^-^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท