หลากวจนะ "อริยสัจ" (๕)


ความหมายของอริยสัจ ๔

ชาวพุทธส่วนใหญ่มองอริยสัจในแนวระนาบ ความรู้เกี่ยวกับอริยสัจจึงยังไม่ครบถ้วน รู้แต่เพียงแง่มุมเดียว หากเราได้มองอริยสัจเชิงปริมาตรอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอง คือมีทั้งในแนวระนาบ และในแนวดิ่ง จะพบว่าอริยสัจนี้ช่างลึกซึ้ง และโชคดียิ่งนัก ที่เกิดมาแล้วได้รู้จัก ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาพุทธเพื่อความสุขที่ถาวร

เหล่านี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับศาสนาพุทธในข้อธรรม อริยสัจ ๔ และการปริวัฏฏ์ ๓ ( หมุนเวียน ) จากการรจนาของอริยะบุคคลต่างๆ โดยพยายามเรียบเรียงให้เนื้อความติดต่อและสอดคล้องกัน เสมือนหนึ่งรจนาโดยบุคคลคนเดียว เพื่อความเข้าใจในศาสนาที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นหลักฐานทางการศึกษา

.........................................................................

๒ สัมมาสังกัปปะ

.........................................................................

สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ แบ่งออกเป็น ๓ คือ

ก. ดำริอันออกจากกาม

ข. ดำริในอันไม่พยาบาท

ค. ดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่น

สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ หลักพระพุทธศาสนา ( หน้า ๓๓ ) ธรรมสภา ๑/๔-๕ ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑๐๑๗๐

............................................................................

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ๑. เนกขัมมสังกัปปะ ดำริออกจากกาม หรือปลอดจากโลภะ ๒. อัพยาปาทสังกัปปะ ดำริในอันไม่พยาบาท ๓. อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริในอันไม่เบียดเบียน

พระธรรมปิฏก ( ป.อ.ปยุตฺโต ) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ( หน้า ๒๗๘ ) มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๔๖

.............................................................................

สัมมาสังกัปปความดำริหรือความคิดที่ถูกต้อง คือความคิดที่มีปัญญาเป็นแสงสว่างนำหน้า มิให้กระบวนการตัณหาตั้งต้นได้ พระพุทธเจ้าได้แสดงสัมมาสังกัปปะไว้ว่า เป็นความดำริที่ไม่หมกมุ่นในกาม พยาบาทและเบียดเบียนกัน ซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตที่เห็นได้ชัดว่า ถ้าเป็นความดำริในกามเกิดขึ้นเต็มที่ กามตัณหาและภวตัณหาก็เกิดขึ้น ถ้าความดำรินั้นไม่สมหวัง ก็จะเปลี่ยนเป็นความโกรธ พยาบาท และเบียดเบียน ซึ่งก็คือวิภวตัณหานั้นเอง สัมมาสังกัปปะจึงเป็นความดำริที่สอดคล้องกับสัมมาทิฏฐิที่มิให้กระบวนการแห่งทุกข์ตามระบบปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้นได้ เปลี่ยนทางแห่งความดำริผิดที่นำโดยกาม ให้มาดำริออกจากกาม ไม่พยาบาท และไม่เบียดเบียน

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ แก่นธรรม ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ( หน้า ๔๘ - ๔๙ ) ๑/๔-๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

......................................................................

๓ สัมมาวาจา

.........................................................................

สัมมาวาจา เจรจาชอบ แบ่งเป็น ๔ คือ

ก. เว้นจากการพูดปด

ข. เว้นจากการพูดส่อเสียด หรือยุยงให้เขาแตกร้าวกัน

ค. เว้นจากการพูดคำหยาบ

ง. เว้นจากการพูดเหลวไหล

สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ หลักพระพุทธศาสนา ( หน้า ๓๓ ) ธรรมสภา ๑/๔-๕ ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑๐๑๗๐

............................................................................

สัมมาวาจา การพูดจาชอบ เป็นจริง และมีประโยชน์

ดร.อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน พุทธศาสน์ แนวปฏิบัติเพื่อชีวิต สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๕๑

............................................................................

สัมมาวาจา การสื่อสารที่ถูกต้อง ดีงาม เป็นไปเพื่อความไม่ทุกข์ กล่าวคือไม่สื่อสารด้วยจิตใจที่ห่อหุ้มไปด้วยตัณหา ไม่พูดเพื่อตอบสนองตัณหา ไม่พูดเพื่อแสวงหาสิ่งที่จะมาบำเรอตัณหา แต่พูดเพื่อความเข้าใจ ด้วยความจริง ไม่เท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เพราะคำพูดเหล่านี้ล้วนปรุงแต่งออกมาขณะที่ตัณหาอัดแน่นอยู่เต็มหัวใจ เมื่องดเว้นจากคำพูดดังกล่าว สื่อสารบนพื้นฐานของความจริงอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับกาลเทศะ และที่สำคัญ ผู้รับสารจากการสื่อ รับแล้วฉลาด สงบเย็น เป็นประโยชน์ จึงเรียกว่าเป็นการพูดจาที่ถูกต้อง

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ แก่นธรรม ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ( หน้า ๔๙ ) ๑/๔-๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

......................................................................

๔ สัมมากัมมันตะ

..........................................................................

สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ แบ่งเป็น ๓ คือ

ก. เว้นจากการฆ่าเบียดเบียน

ข. เว้นจากการฉ้อฉล หรือคดโกง แกล้งทำลายของของผู้อื่น

ค. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เช่น เว้นเป็นชู้กับลูกเมีย (ผัว) ผู้อื่น

สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ หลักพระพุทธศาสนา ( หน้า ๓๓ ) ธรรมสภา ๑/๔-๕ ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑๐๑๗๐

............................................................................

สัมมากัมมันตะ การทำงานถูกต้อง คือการงานที่ไม่เป็นที่ตั้งของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แต่ดูการทำงานเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของการปฏิบัติธรรม ทำงานไป ดับกิเลสไป มีสติ มีปัญญา มีสมาธิ มีศีลอย่างครบถ้วน จึงต้องเชื่อมโยงวิถีชีวิต กับวิถีธรรมเข้าด้วยกัน ประสานกันอย่างกลมเกลียว งานก็ได้ ใจก็บริสุทธิ์ เพราะยิ่งทำงาน ธรรมะก็ยิ่งงอกงาม เพราะงานนั้นมีสติ และ ปัญญาเป็นแสงนำทางตลอดเวลา

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ แก่นธรรม ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ( หน้า ๔๙ - ๕๐ ) ๑/๔-๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

.........................................................................

หมายเลขบันทึก: 294301เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โหแสดงว่ามีทั้งหมด 6 ตอน

คำศัพท์ธรรมะ อ่านแล้วกอจำไม่ได้สักทีค่ะ

เฮ้อ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท