หลากวจนะ "อริยสัจ" (๓)


ความหมายของอริยสัจ ๔

ชาวพุทธส่วนใหญ่มองอริยสัจในแนวระนาบ ความรู้เกี่ยวกับอริยสัจจึงยังไม่ครบถ้วน รู้แต่เพียงแง่มุมเดียว หากเราได้มองอริยสัจเชิงปริมาตรอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอง คือมีทั้งในแนวระนาบ และในแนวดิ่ง จะพบว่าอริยสัจนี้ช่างลึกซึ้ง และโชคดียิ่งนัก ที่เกิดมาแล้วได้รู้จัก ได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาพุทธเพื่อความสุขที่ถาวร

เหล่านี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับศาสนาพุทธในข้อธรรม อริยสัจ ๔ และการปริวัฏฏ์ ๓ ( หมุนเวียน ) จากการรจนาของอริยะบุคคลต่างๆ โดยพยายามเรียบเรียงให้เนื้อความติดต่อและสอดคล้องกัน เสมือนหนึ่งรจนาโดยบุคคลคนเดียว เพื่อความเข้าใจในศาสนาที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นหลักฐานทางการศึกษา

...............................................................

มรรค หรือ ไตรสิกขา

...............................................................

จริยธรรมคือหลักการดำเนินชีวิต พรหม แปลว่าที่ประเสริฐ รวมกันเป็นพรหมจริย คือหลักการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ซึ่งได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นปริโยสาน

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นพวกหนึ่งที่เรียกว่า ปัญญา

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็นพวกหนึ่งเรียกว่า ศีล

แล้วก็มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า สมาธิ

เป็นอันว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการนี้จัดเป็นประเภทได้ ๓ เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น ( หน้า ๑๙๐ ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑๐๑๗๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗

.....................................................................

ปัจจุบันมีคนสงสัยอยู่เสมอว่า เราจะสอนจริยธรรมได้แค่ไหน เรื่องจริยธรรมสอนกันไม่ได้ แต่ฝึกอบรมกันได้ เรามักจะคิดแต่จัดหลักสูตรสอนกันในโรงเรียน เราไม่ได้นึกว่าเป็นเรื่องการอบรม และการฝึกอบรมจริยธรรมนั้น จะต้องควบคู่กันไปทั้ง ๓ ด้าน ตามหลักไตรสิกขา เพราะว่าการจะพัฒนาหลักธรรมอะไรก็ตาม ต้องเอาหลักนี้มาจัด เพราะเป็นหลักสำหรับอบรมการฝึกขั้นต้น ได้แก่

ปัญญาสิกขา คือความรู้ความเข้าใจในหลักการ เป้าหมาย เหตุผล วิธีการต่างๆ รู้ทุกอย่างเท่าที่จำเป็น ปัญญาขั้นนี้ไม่ใช่ขั้นลึกซึ้ง แต่เป็นปัญญาขั้นพื้นฐานที่ต้องทราบก่อน สมมุติว่าเราจะพัฒนาอะไรสักอย่าง เราต้องรู้ก่อนว่าพัฒนาไปทำไม เป้าหมายเป็นอย่างไร และวิธีการพัฒนาจะทำอย่างไร

ศีลสิกขา คือจะต้องทำพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจนั้นด้วย ถ้าหากตีความง่ายๆ คือลงมือทำ รู้ เข้าใจ แล้วลงมือทำ ( หรือจะแปลตามตำราว่าการรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยก็ได้ )

จิตตสิกขา คือต้องมีกำลังใจมั่นคง แน่วแน่ต่อเป้าหมาย คือเมื่อทำ ต้องทำซ้ำๆซากๆ ต้องทำจนเป็นนิสัย ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ

หลักไตรสิกขา คือ ปัญญา ศีล จิตตะ แต่คนไทยมักเรียก ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามอย่างนี้ต้องทำไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่ทำอันนี้เสร็จแล้วจึงค่อยทำอย่างที่ ๒

พระเทพโสภณ ( ประยูร ธมฺมจิตฺโต ) และ ศาสตราจารย์พิเศษ เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณพิต มณีแห่งปัญญา ( หน้า ๗๐ ๗๑ ) ธรรมสภา และสถาบันบันลือธรรม ๑/๔ ๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๗๐

..............................................................................

ถ้าพูดว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้าย องค์ทั้ง ๘ นี้ มีตั้ง ๘ ข้อ ก็จำยาก จึงย่อง่ายๆเหลือ ๓ ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ชาวพุทธจำกันแม่น ว่ามรรคมีองค์ ๘ จำให้ง่ายก็สรุปเหลือ ๓ เท่านั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล นั้นอธิบายง่ายๆว่า เว้นชั่ว สมาธิ ก็คือ ทำความดีให้ถึงพร้อม เพราะความดีแท้จริงที่สุดก็เป็นคุณสมบัติคือคุณธรรมต่างๆในจิตใจ ซึ่งจะต้องบำเพ็ญขึ้นมาให้พร้อม แล้วสุดท้าย ปัญญา ก็ได้แก่ ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เพราะการที่จิตใจจะบริสุทธิ์หมดจดสิ้นเชิงก็ต้องหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ด้วยปัญญา

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น ( หน้า ๒๐ ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑๐๑๗๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗

........................................................................

ขออธิบายว่า วินัย คือการจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนที่รวมทั้งตัวลายลักษณ์อักษร ที่เป็นข้อกำหนดว่าเราจัดวางระเบียบแบบแผนกำหนดพฤติกรรมกันไว้อย่างไร ส่วนคุณสมบัติของคนที่ตั้งอยู่ในวินัยนั้นเรียกว่า ศีล ( หน้า ๘๗ )

การฝึกพฤติกรรมและการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกของมนุษย์ให้เป็นไปในทางที่ดีงามเกื้อกูล จนเกิดเป็นคุณสมบัติขึ้นในตัวเขา เรียกสั้นๆว่า ศีล คือการมีพฤติกรรมและการสื่อสารสัมพันธ์ที่พึงปรารถนา เรียกเต็มว่า อธิศีลสิกขา

เป็นอันว่า ศีล ก็คือกระบวนการฝึกพฤติกรรมและการติดต่อสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก

การพัฒนาด้านจิตใจมีคุณสมบัติที่พึงต้องการ เช่น เมตตา กรุณา ศรัทธา กตัญญูกตเวที ความเคารพ ความเพียร ความเข้มแข็ง อดทน ความมีสติ ความมีสมาธิ ความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส ความสุข ฯลฯ เรียกว่า อธิจิตตสิกขา

แต่บางทีเรียกชื่อให้สั้นและง่ายเข้า โดยเอาสมาธิซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นแกนสำคัญมาเป็นตัวแทน จึงเรียกการพัฒนาด้านจิตทั้งหมดว่า สมาธิ ( หน้า ๘๗ ๘๘ )

ส่วนการพัฒนาปัญญาเรียกชื่อเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา แต่นิยมเรียกสั้นๆว่า ปัญญา คือกระบวนการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ

เป็นอันว่าการพัฒนามนุษย์ก็อยู่ที่ ๓ ด้าน หรือ ๓ แดนนี้ ซึ่งดำเนินไปด้วยกันอย่างเกื้อหนุนแก่กันเป็นระบบแห่งบูรณาการ

การฝึกฝนพัฒนามนุษย์เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้นี้ ศัพท์บาลีเรียกว่า สิกขา ฉะนั้นการฝึก ๓ ด้านที่พูดมาแล้วจึงเป็นสิกขา ๓ ด้าน คำว่า ๓ นั้นภาษาบาลีคือ ติ ถ้าเป็นสันสกฤตก็คือ ไตร ฉะนั้นจึงเป็นไตรสิกขา

ไตรสิกขาก็แยกเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ดังกล่าวแล้ว ซึ่งก็คือกระบวนการพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา เพื่อให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ คือภาวะที่เป็นผู้มีวิชาแล้ว มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา ไม่ต้องมีชีวิตอยู่โดยพึ่งพาอาศัยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของมันอีกต่อไป ก็คือพ้นทุกข์ โดยกำจัดสมุทัยได้ บรรลุจุดหมายคือ นิโรธ เพราะปฏิบัติตาม มรรค ได้ครบถ้วน ( หน้า ๙๐ )

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑๐๑๗๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗

........................................................................

หมายเลขบันทึก: 294295เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่ครับ

เรามีคำสอนที่มีเนื้อหาดี ๆ อย่างนี้มากมาย

เฉพาะที่ท่านเจ้าคุณประยุทธเขียนไว้แทบจะเอามาเปิดสอนเป็นหลักสูตรปริญญาโดยไม่ต้องเรียนอย่างอื่นเลยก็ยังได้

เนื้อหาที่มีเหล่านั้น ส่วนใหญ่ถูกนำไปถ่ายทอดด้วยการเทศ บรรยาย ครับ

ผมก็คิดว่าก็ยังดี แต่อีกด้านนึงก็คิดว่าไม่น่าจะเพียงพอ

สิ่งที่ขาดไปคือการนำเนื้อหาเหล่านั้นมาย่อย และออกแบบเป็นปฏิบัติการครับ

เพราะการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพียงแค่รับรู้ (ฟัง อ่าน) อย่างเดียวไม่เพียงพอ

สิ่งที่รับรู้ต้องนำไปสู่การคิด/ไตร่ตรอง (โยนิโสมนสิการ) และการปฏิบัติ (ธรรมานุธรรมะปฏิบัติ)จึงจะทำให้การเรียนรู้นั้นครบถ้วนสมบูรณ์ ครับ

.

ขณะนี้มีปฏิบัติการที่คล้ายกับผมเล่ามาคือเครือข่ายพุทธิกาครับ

เขาเปิดรับโครงการภายใต้แนวคิด "สุขแท้ด้วยปัญญา"

ให้คนไปออกแบบกิจกรรมที่จะทำให้คนมีสุขภาวะทางปัญญา โดยเน้นการเสริมสร้างทัศนคติ ๔ ประการ ได้แก่

การคิดถึงผู้อื่น

การไม่พึ่งพาความสุขจากวัตถุเพียงอย่างเดียว

การเชื่อมั่นในความเพียรของตนเอง

การคิดอย่างเป็นเหตุ/ผลและประโยชน์เกื้อกูล

ซึ่งกิจกรรมจะต้องครอบทั้ง ๓ องค์ประกอบ คือ รับรู้ คิด/ไตร่ตรอง และ ปฏิบัติ

ผมมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการนี้ จึงพอรู้เรื่องบ้าง

วันหน้าจะเอามาเล่าให้ฟังครับ

ด้วยเหตุนี้

จึงต้องมี หลักชาวพุทธ

http://www.chaobuddha.com/profile03.php

ออกมาเป็นหลักปฎิบัติ

ชาวพุทธ จะได้เลิกเป็นพุทรา พุดซ้อน หรือพุทธในทะเบียนบ้านเสียที

เรื่องนี้สำคัญมาก

ชาวพุทธท่านไหนจะเห็นความสำคัญ ว่า.. สำคัญมาก

ตระหนักรู้ ช่วยกันนำไปเผยแผ่และปฎิบัติ

สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับชาวพุทธ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท