พฤติกรรมสุขภาพเรื่องอาหารของเด็กในศูนย์เด็กเล็กโรงพยาบาลบ้านตาก


เด็กต้องได้รับการปรับพฤติกรรมในเรื่องการกินอาหาร

พฤติกรรมสุขภาพเรื่องอาหาร  จากการสังเกต และสัมภาษณ์ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและการสร้างเสริมสุขภาพเด็กในศูนย์เด็กเล็กโรงพยาบาลบ้านตาก พบว่า เด็กที่เข้ารับบริการศูนย์เด็กเล็กโรงพยาบาลบ้านตาก พบว่า   เด็กร้อยละ 88.89 ได้รับอาหารครบ 3 มื้อ และเด็กที่ไม่ได้รับอาหารครบ 3 มื้อ จะไม่ได้รับประทานอาหารเช้าเนื่องจากมารดาไม่มีเวลาเตรียมอาหาร เด็กได้นำขนมกรุบกรอบมาตอนเช้าแทนอาหารเช้า หรือบางรายนำอาหารสะดวกซื้อเช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น ข้าวเหนียว หมูปิ้ง ติดมาเพื่อรับประทานที่โรงเรียน และส่วนใหญ่จะนำขนมติดมาให้เด็กรับประทานที่โรงเรียนและเป็นขนมกรุบกรอบแบบซองละ 5-10 บาท และขนมที่มีของเล่นแถม ที่วางขายตามร้านค้าทั่วไป    เด็กบางรายพบว่า ผู้ปกครองบอกไม่ยอมรับประทานอาหารมื้อเช้าที่บ้าน แต่เมื่อผู้ปกครองเตรียมมาให้ ครูพี่เลี้ยงป้อนให้ หรือให้นั่งกินที่ศูนย์เด็กเล็กยอมรับประทาน ครูพี่เลี่ยงวิเคราะห์ว่า เด็กที่ยอมรับประทานเนื่องจาก มีเพื่อนรับประทานด้วย และนั่งเล่นพูดคุยไปขณะรับประทานทำให้เด็กยอมรับประทานอาหารมากกว่าอยู่ที่บ้าน 

              นอกจากนี้จากการสังเกตพบว่า ขนมที่เด็กนำมารับประทาน ส่วนใหญ่เป็นขนมที่มีส่วนประกอบของแป้ง น้ำตาล และเกลือ เป็นหลัก และค่านิยมบริโภคของเด็กคือ รับประทานตามเพื่อน กล่าวคือ วันรุ่งขึ้นจะซื้อขนมตามแบบที่เพื่อนซื้อมาของเมื่อวาน และขอเพื่อนกินไปบ้าง เด็กบางราย อยากได้ของเล่นซึ่งแถมมากับขนม จึงซื้อขนมนั้นตามเพื่อนเพราะอยากมีของเล่นแบบเพื่อน

                เด็กรายหนึ่งผู้ปกครองเป็นเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย  พบว่า เริ่มแรกที่มาศูนย์เด็กเล็ก ไม่เคยนำขนมกรุบกรอบมาเลย นำผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิ้ลมาให้เด็ก  แต่ต่อมาเมื่อเด็กเห็นเพื่อนรับประทาน ขอเพื่อน เพื่อนไม่ให้ วันต่อไปร้องไห้ขอผู้ปกครองซื้อ ผู้ปกครองจึงซื้อให้ และพบว่าหลังจากนั้นจะนำขนมกรุบกรอบมาเกือบทุกวัน

                 จากการสอบถามผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครอง 10 ราย ใช้วิธีการหลอกล่อเด็กมาศูนย์เด็กเล็กโดยการ บอกว่าจะซื้อให้ เด็กถึงยอมมาโรงเรียน และให้เด็กเลือกขนมเองและส่วนใหญ่จะเป็นขนมที่มีแป้ง เกลือ น้ำตาล เป็นส่วนประกอบ ขนมที่เด็กนำมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เช่น ลูกอม อมยิ้ม ช็อกโกแลต ขนมหวานเคลือบน้ำตาลและขนมซองหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งผู้ปกครองทุกคนรับทราบถึงความไม่เหมาะสมของอาหารที่เด็กนำมา แต่ไม่สามารถห้ามปรามเด็กได้ เด็กบางคนร้องงอแงถ้าไม่ได้ขนม และผู้ปกครองส่วนใหญ่นึกไม่ออกว่าจะซื้ออะไรให้เด็กแทนขนม เหล่านี้ และพบว่าร้านค้าต่างๆที่แวะไปซื้อมีแต่ขนมแบบนี้ทั้งสิ้น นอกจากนี้พบว่า เด็กทุกคนดื่มน้ำอัดลม โดยผู้ปกครองทราบถึงผลเสีย แต่ห้ามปราบเด็กไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำด้วย

จากข้อมูลเบื้องต้น พบเด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 3 ราย ได้สัมภาษณ์ถึงพฤติกรรมการบริโภค เด็กรายหนึ่งไม่ยอมรับประทานนม และไข่ ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนที่สำคัญสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน ส่วนเด็กอีก 2 รายซึ่งน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์รับประทานอาหารปริมาณน้อยเป็นบางมื้อ อาหารครบหมู่เป็นบางมื้อ ส่วนใหญ่จะขาดผลไม้ ซึ่งไม่ได้ให้เด็กรับประทานทุกมื้อ และเด็ก 2 ราย เป็นเด็กที่ป่วยบ่อย ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และช่วงป่วยจะรับประทานอาหารค่อนข้างน้อย

ส่วนในเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ 3 ราย รับประทานอาหารครบทุกมื้อ ปริมาณปกติ คือรับประทานมากน้อยต่างกันในแต่ละมื้อแล้วแต่ว่าเป็นอาหารที่ถูกปากหรือไม่ และเด็ก 2 รายที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นเด็กไม่กินผัก และเด็ก 1 รายพบว่ารับประทานไข่เกือบทุกมื้อ และเด็กยังรับประทานนมผสม หรือดูดนมขวดเป็นอาหารเสริมด้วยในมื้อดึก และเด็กทั้ง 3 ราย มีอาหารประเภทจานด่วน เช่น ไส้กรอก ฮอทดอก ขนมปัง มาโรงเรียนเป็นประจำ

และจากข้อมูลพบว่า มี เด็กที่ติดขวดนม หรือยังดูดนมขวดทั้งสิ้น 45 ราย คิดเป็นร้อยละ36.29 ทั้งที่เด็กอยู่ในวัยที่ควรเลิกขวดนมและดื่มนมจากแก้วได้ จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง พบว่า ส่วนใหญ่จะต้องให้เด็กดูดนมเวลากลางคืน มื้อดึก หรือต้องดูดขวดนมก่อนจึงหลับได้ บางรายพบว่า มารดากลัวเด็กจะได้สารอาหารไม่ครบถ้วนหากกินอาหารเพียง 3 มื้อ โดยผู้ปกครองเข้าใจว่า ต้องให้เด็กกินนมเพิ่มระหว่างมื้อและเนื่องจากเด็กดูดขวดมาแต่แรกไม่ได้ให้เลิกขวดนม และบางรายคิดว่าเด็กมีความสุขในการดูดขวดนม ไม่อยากทำร้ายจิตใจลูก จึงให้ดูดนมขวดต่อ ผู้ปกครองเด็กรายหนึ่งให้เห็นผลว่าเด็กไม่ยอมดื่มนมกล่อง ต้องกินนมผสมจึงต้องให้ดูดขวดนมต่อเนื่องมาตลอด และพบว่า ผู้ปกครองเด็กที่ติดขวดนมส่วนใหญ่ ยังไม่เคยลองให้เด็กเลิกขวดนมเลย มีเพียงบางรายที่เคยลองให้เลิกขวดนมแต่ไม่สำเร็จ เด็กจะร้องกวนมากจึงต้องให้ขวดนมต่อไป และจากการตรวจสุขภาพช่องปากในเด็ก พบว่า เด็กติดขวดนมมีฟันผุเกือบทั้งหมด  และเด็กที่ดูดนมขวด จะกินข้าวได้น้อยเนื่องจากดูดนมขวดก่อนมื้ออาหาร

นอกจากนี้พบว่า นมกล่องที่มารดาเตรียมมาให้เด็กนั้น มีทั้งนมวัว นมถั่วเหลือง และนมเปรี้ยว ส่วนใหญ่เป็นนมรสจืด บางรายมีนมผสมน้ำผึ้ง นมรสหวาน และนมช็อกโกแลต โดยปริมาณที่นำมาให้เด็กมีตั้งแต่ 125-250 ซีซี และเด็กส่วนใหญ่ดื่มนมหมดกล่อง มีบางรายที่ต้องกระตุ้นให้ดูดนม ซึ่งพบว่า ถ้าเป็นนมเปรี้ยวรสผลไม้ต่างๆ เด็กจะดูดหมดเร็ว และเด็กที่ได้นมกล่องใหญ่จะต้องกระตุ้นมากกว่าปกติ

ในเรื่องการรับประทานอาหารมื้อกลางวัน จากการสังเกตพบว่าเด็กจะเลือกรับประทานอาหารที่ตนชอบ เมื่อรายการอาหารที่ไม่ชอบจะไม่ยอมรับประทาน  หรือรับประทานได้น้อย และเด็กส่วนใหญ่จะไม่กินผักเลยแม้แต่ผักชิ้นเล็ก ๆ  และจากประวัติการรับประทานอาหารของครอบครัวพบว่า เด็กที่รับประทานผักส่วนใหญ่ผู้ปกครองรับประทานผัก  แต่มีบางรายที่ถึงแม้ผู้ปกครองจะรับประทานผัก แต่เด็กไม่ยอมรับประทานผัก  โดยเด็กให้เหตุผล ว่า ขม ไม่อร่อย และผู้ปกครองบางรายสั่งอาหารให้เด็กที่ร้านอาหาร บอกแม่ค้าว่าไม่ใส่ผัก

การบริโภคน้ำดื่ม พบว่า เด็กส่วนใหญ่จะรับประทานขนม อาหาร ดูดนมกล่องแล้ว ไม่ดื่มน้ำตาม โดยพบว่าเมื่อเด็กเล่นกับเพื่อนไป รับประทานขนมไป จะไม่ต้องดื่มน้ำตามหลังการรับประทานขนม นอกจากจะมีเพื่อนคนหนึ่งที่เริ่มมาดื่มน้ำ เด็กจะตามกันมาดื่มน้ำ

นอกจากนี้จากการสังเกตพบว่า ไม่มีเด็กที่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารเลย และเมื่อรับประทานอาหารร่วมกันเด็กไม่รู้จักช้อนกลาง

 

หมายเลขบันทึก: 293945เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท