LiBraRianCSR!!!
นาย รัชชานนท์ เจริญเกียรติสถานนท์

องค์กรแห่งการเรียนรู้กับการบริหารจัดการความรู้


องค์กรแห่งการเรียนรู้กับการบริหารจัดการความรู้

องค์กรแห่งการเรียนรู้กับการบริหารจัดการความรู้

การดำเนินงานบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่ง ปณท ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้ชื่อ แผนงานบริหารจัดการความรู้ การดำเนินงานในเรื่องนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายเรื่องของการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ โดยบริษัท ทริส จำกัด (TRIS) ซึ่งจะมีแผนการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรในเรื่องของวัฒนธรรมการเรียนรู้

จากการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2551 โดย TRIS ได้แนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานการบริหารจัดการความรู้ของ ปณท ว่าควรดำเนินการตามแนวทางการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) ตามแนวคิดของ Peter  M. Senge (นำเสนอรายละเอียดในวารสาร ปณท ฉบับที่แล้ว) ปณท จึงได้อนุมัติให้ปรับเปลี่ยนจาก แผนงานบริหารจัดการความรู้ เป็น แผนงานสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยเป็นแผนงานที่ต่อเนื่องกัน

                อย่างไรก็ตาม KM กับ LO มีความสัมพันธ์ที่สามารถจะไปสู่เป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ การพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันและอยู่รอด จะขอสรุปเพื่อความเข้าใจดังนี้

                เรื่องของการบริหารจัดการความรู้ (KM) นั้น เป็นกระบวนการในการดึงความรู้ในการทำงานของพนักงานซึ่งความรู้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร จำเป็นต้องเสริมสร้างและรักษาไว้ การจัดการความรู้จะทำให้เกิดวงจรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มคุณค่าและเพิ่มมูลค่า    ในการดำเนินธุรกิจให้กับ ปณท

สำหรับเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO) ตามแนวคิดของ  Peter M. Senge นั้น หมายถึงองค์กรที่บุคลากรสามารถเพิ่มพูนความรู้ความสามารถได้อย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างผลงานได้ตามความปรารถนา อีกทั้งเป็นแหล่งสร้างความคิดทางปัญญาโดยการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรแห่งการเรียนรู้ จะต้องปฏิบัติตามวินัย 5 ประการ ประกอบด้วย บุคลากรที่มีความรอบรู้ (Personal mastery) รูปแบบความคิด (Mental models) วิสัยทัศน์ร่วม  (Shared vision) การเรียนรู้เป็นทีม (Team learning) ความคิดเป็นระบบ (Systems thinking)  

เราจะเห็นได้ว่าเครื่องมือการจัดการความรู้ช่วยหนุนเสริมการบรรลุ LO ได้ครบถ้วน เราจะใช้วิธีวิเคราะห์แบบมองเชิงซ้อน หรือมองเชิงระบบ (Systems Thinking) จะไม่มองแบบแยกส่วน มองทีเดียวหลาย ๆ มิติ และมองจากตัวกิจกรรมหรือการปฏิบัติ ไม่ใช่มองจากทฤษฎี ยกตัวอย่างจากการดำเนินงานของ ชุมชน  คนไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวของการทำงาน / ปัญหา / ความสำเร็จ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การเลือกเรื่องราว ย่อมเลือกตาม หัวปลา”  (เป้าหมายหลักหรือพันธกิจหรือวิสัยทัศน์ ของ ปณท) เท่ากับเป็นการฝึกประยุกต์ใช้วิสัยทัศน์ร่วม แบบอัตโนมัติ หรือแบบไม่รู้ตัว เราจะเลือกเรื่องที่เกิดจากการร่วมกันแก้ไขปัญหา นี่ก็เป็นการตอกย้ำคุณค่าและทักษะในการทำงานและเรียนรู้เป็นทีม ในเรื่องที่ดำเนินการนั้น ย่อมสะท้อนภาพความคิดเห็น ที่แตกต่างกัน หรือมีมุมมองที่ต่างกัน เอามาเปิดใจตีแผ่แลกเปลี่ยนกัน จนเห็นช่องทางวิธีทำงานแบบใหม่  ก็เท่ากับแสดงให้เห็นคุณค่าของการรับฟังและเห็นคุณค่าของความคิดที่มาจากหลากหลาย  รูปแบบความคิด  การที่สมาชิกของทีมแต่ละคนกล้าเสนอความคิดหรือมุมมองของตนโดยไม่กลัวว่าจะถูกคนอื่นติเตียนเนื่องจากคิดต่างออกไป  การที่ผู้ฟังในทีมงานรับฟังความเห็นที่แตกต่าง การที่สมาชิกในทีมงานเอาประเด็นถกเถียงบางประเด็นกลับไปคิดไตร่ตรองในยามว่างและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในโอกาสต่อไป  สะท้อนภาพของการเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการดึงความสามารถของตนที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ออกมาใช้  มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน นี่คือการฝึกฝนเพื่อการเป็นบุคลากรที่มีความรอบรู้  ให้เพิ่มพูนขึ้นจากกระบวนการทำงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานในเรื่องราวไปสู่ความสำเร็จ จะเห็นความคิดหรือวิธีการหนึ่งเชื่อมโยงกับอีกความคิดหรือวิธีการหนึ่ง เห็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน การปฏิบัติในขั้นตอนหนึ่งช่วยแก้จุดอ่อนของการปฏิบัติอย่างหนึ่ง การมีมุมมองที่ลึกไปอีกระดับหนึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างของการฝึกฝน การคิด/การปฏิบัติเชิงระบบ

หากการดำเนินการ KM ทำอย่างครบถ้วนและเต็มรูปแบบ ลึกซึ้ง ก็จะเกิดการฝึกการประยุกต์ใช้ หรือปฏิบัติตามแนวทาง LO ได้ครบ 5 ประการโดยที่สมาชิกของทีมอาจจะไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ซึ่งเราจะได้เห็นและ ได้ยินกันต่อไปกับคำว่า จาก KM สู่ LO”

หมายเหตุ  บางส่วนในบทความนี้อ้างอิงบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช. 2548. ตีความ LO จากมุม KM ด้วยแว่น การปฏิบัติจากเว็บไซต์ http://gotoknow.org/blog/thaikm/3421

หมายเลขบันทึก: 293570เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท