7 ข้อไม่ควรทำเมื่อเกิดโรคระบาด


 

...

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประจำกองบรรณาธิการ วารสารสุขศาลา ตีพิมพ์เรื่อง "7 ข้อไม่ควรทำยามเกิดโรคระบาด" ในวารสาร ปี 2 ฉบับ 7 (กรกฎาคม-กันยายน) 2552 หน้า 26-28. ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

อุลริค เบค (Ulrich Beck) นักสังคมศาสตร์ชาวเยอรมันกล่าวว่า สังคมแบบเดิมมีภัยหลักมาจากธรรมชาติ สังคมทุกวันนี้เป็น "สังคมเสี่ยงภัย (risk society)" แบบใหม่ คือ เต็มไปด้วยภัยจากคนด้วยกันเป็นสำคัญ  

...

แอนโตนี กิดเดนส์ (Anthomy Giddens) นักสังคมศาสตร์อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า ต่อไปคนเราจะต้องทำอะไรแบบ "ป้องกันตัว" มากขึ้น 

ซึ่งการป้องกันตัวนี้จะดีถ้าตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร และ "ความรู้" มากกว่า "ความรู้สึก" หรือการเลือกรับแต่ข่าวสารจากฝ่ายเดียวกัน ไม่รับข้อมูลประเภท "มองต่างมุม" เพราะทำให้เสี่ยงต่อการถูกมอมเมา

...

เรื่องที่ไม่ควรทำเมื่อเกิดโรคระบาดได้แก่ 

(1). แตกตื่นหรือตื่นตูม

  • ตัวอย่างนี้พบในอียิปต์ คือ พอมีข่าวว่า ไข้หวัดหมู (swine flu; swine = หมู; flu = influenza = ไข้หวัดใหญ่) ระบาด, รัฐบาลอียิปต์ก็สั่งฆ่าหมูทั่วประเทศ
  • จริงที่ไข้หวัดใหญ่นี้ชื่อ "ไข้หวัดหมู" และอาจมีรหัสทางพันธุกรรม (RNA) บางส่วนคล้ายกับเชื้อที่พบในหมู่ ทว่า... ไข้หวัดนี้ไม่ได้ติดต่อผ่านหมู แต่ผ่านคน โดยเฉพาะน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของคนป่วย เปื้อนมือ แล้วป้ายไปทั่ว ทำให้คนที่ไม่ล้างมือติดโรคได้ง่าย

(2). ปกปิดเป็นความลับ

  • การเก็บข้อมูลเป็นความลับเปรียบคล้ายนกกระจอกเทศที่เอาหัวฝังไปในทราย ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเมื่อภัยมา ซึ่งไม่ได้ช่วยให้การป้องกันโรคดีขึ้น
  • กล่าวกันว่า อันตรายอย่างยิ่งของยุคใหม่คือ การมีรัฐบาลหรือผู้บริหารที่ "ไม่ตัดสินใจ (danger of not deciding)" อะไร, ไฟไหม้ก็ไม่รีบดับภายใน 3 นาทีแรก (เป็นช่วงเวลาวิกฤตที่ว่า ถ้าดับไฟได้ใน 3 นาทีแรก โอกาสวายวอดจะลดลงไปมาก)
  • เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่อะไรๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว การซื้อเวลาแบบนกกระจอกเทศอาจจะเงียบและเย็นดี (ทรายใต้ดินมักจะเย็นกว่าผิวดิน) ทว่า... อาจทำให้ชาติบ้านเมืองแข่งขันกับนานาชาติไม่ได้ในระยะยาว

(3). เอาหูไปนา เอาตาไปไร่

  • ทำเป็นไม่สนใจ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ

(4). กล่าวโทษคนอื่น

  • ตัวอย่างนี้พบบ่อยในคนไข้เบาหวานที่ชอบซัดลำไยคราวละ 2-3 กิโลกรัม พอเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไร เช่น ไตเสื่อมสภาพ ไตวาย ฯลฯ ก็บ่นว่า เป็นเพราะกินยามาก เป็นผลจากยา
  • โรคเรามียาเบาหวานที่รับมือกับคนไข้ที่กินลำไยครั้งละ 2-3 ลูกพอไหว แต่ยังไม่มียาเบาหวานที่รับมือกับคนไข้ที่ซัดลำไยคราวละ 2-3 กิโลฯ ได้
  • คนไข้ที่ชอบโทษหมอโทษยา แต่ตัวเองไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมักจะรอดยาก อายุสั้น เพราะตัวเองทำร้ายตัวเอง ทั้งทางกาย และทางกรรม (บาปกรรมที่คิดร้ายต่อคนอื่น)

(5). ใช้อำนาจแต่ขาดความรู้

  • ตัวอย่างที่พบบ่อยในบ้านเรา คือ เอะอะอะไรก็ใช้วิธีสั่งการ ไม่ปรึกษาหารือผู้รู้ เอะอะอะไรก็ออกคำสั่งให้ตั้งเต๊นท์ ติดป้ายไว้ก่อนจนเมืองไทยเต็มไปด้วยป้ายของทางการ

(6). ทำอะไรตามใจ

  • ตัวอย่างเช่นการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเรื่องส่วนตัว ทว่า... ผลกระทบภายนอก (externality) ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากมาย
  • ประเทศที่พัฒนาไปไกล-ทำอะไรถือประโยชน์สังคมส่วนรวมเป็นหลัก ประเทศที่ล้าหลังยังคงคิดแบบเดิมๆ คือ ห่วงเสรีภาพส่วนบุคคล

(7). รอพึ่งยาและวัคซีน

  • การพัฒนายาและวัคซีนมักจะวิ่งตามโรคระบาดไม่ค่อยทัน ไม่เหมือนกับมาตรการป้องกัน-ควบคุมโรคจากอนามัย หรือสุขนิสัยที่ดี (non-pharamaceutical public health intervention) เช่น การล้างมือด้วยสบู่ การถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การหลีกเลี่ยงห้องแอร์ ฯลฯ ซึ่งถ้าช่วยกันทำแล้วจะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างกว้างขวาง

...

อ.อุลริค เบคกล่าวว่า อำนาจที่ถูกต้องในสังคมเสี่ยงภัยควรอยู่กับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้รู้ ไม่ใช่อยู่กับอำนาจสั่งการลูกเดียว

ผู้บริหารที่ดีในยุคใหม่จึงควรทำใจให้กว้าง รับฟังข้อมูล ข่าวสาร และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช้แต่อำนาจสั่งการ ซึ่งผลดีจะตกสู่สังคมโดยส่วนรวมได้ต่อไป

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่มา                                                                       

  • ขอขอบพระคุณ วารสารสุขศาลา > กองบรรณาธิการ. Howto@PCU. "7 ข้อไม่ควรทำยามเกิดโรคระบาด" ในวารสาร ปี 2 ฉบับ 7 (กรกฎาคม-กันยายน) 2552 หน้า 26-28.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 1 กันยายน 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 293369เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท