ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

วิวัฒนาการความเป็นมาและทฤษฎี possessio (ครอบครอง) ของโรมัน


ทฤษฎี possessio (ครอบครอง) ของโรมัน

 

วิวัฒนาการความเป็นมาและทฤษฎี possessio (ครอบครอง)ของโรมัน[1]

 

-------------------------------------

แนวคิดสิทธิครอบครอง possessio

--------------------------------------

แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง 

          Lepointe[2]  เห็นว่า  possessio ซึ่งเป็นความเป็นจริงชัดแจ้ง (distinct) ของกรรมสิทธิ์ อาจเริ่มต้นด้วยการรับรองโดยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของผู้ถือสัมปทานที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน ต่อมาความคิดเรื่อง possessio คงขยายไปถึง res (ทรัพย์)ทุกอย่างรวมทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์  รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งนี้เพราะความสะดวกที่ไม่ต้องมีการนำสืบเหมือนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากการครอบครองเป็นความเป็นจริงชัดแจ้ง

          กฎหมายโรมันโบราณรู้จักอำนาจ (puissance) เหนือทรัพย์อันได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายเพียงอย่างเดียว  นั่นก็คือ กรรมสิทธิ์แบบโรมัน (propriete quiritaire) นอกเหนือจากกรรมสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว การใช้ (usage) นับเป็นความเป็นจริงตรงไปตรงมา (simple fait) ซึ่งกฎหมายมิได้ให้ความเอาใจใส่นอกเหนือไปจากการยอมแปรสภาพให้เป็นกรรมสิทธิ์ภายหลังจากเวลาผ่านพ้นไป 2 ปี (ในกรณีอสังหาริมทรัพย์) จริงอยู่นักนิติศาสตร์โรมันบางท่าน เช่น Nerva และ Paulus ยอมรับว่าในสมัยโบราณการมีอำนาจทางพฤตินัย (maîtrise de fait) อันคนโรมันเรียกว่า possessio naturalis(การครอบครองตามธรรมชาติ) เกิดขึ้นก่อน dominium (กรรมสิทธิ์) [3] 

            กฎหมายโรมัน  จึงมองว่า การครอบครองนำไปสู่การได้กรรมสิทธิ์ และสิทธิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ตนได้ครอบครอง

----------------------------------------------------

การรับรองปกป้องการครอบครองโดย Praetor[4]

-----------------------------------------------------

          ยุคซึ่งไม่มีใครทราบแน่นอนว่าเป็นเมื่อใด Praetor เริ่มปกป้องอำนาจทางพฤตินัยเหนือทรัพย์ (pouvoir de fait exerce sur les choses) โดยคำสั่ง (interdits) มีการโต้เถียงกันมากว่าเพราะเหตุใด Praetor จึงยื่นมือเข้ามาปกป้องการครอบครอง อันมิได้มีกรรมสิทธิ์เป็นฐาน(simple possessio) และฐานของคำสั่งปกป้องการครอบครองของ Praetor ก่อให้เกิดการขัดแย้งกันในระบบความคิดของ Ihering และ Savigny ซึ่งเป็นที่ล่ำลือกันมาก

          Savigny เห็นว่า Praetor ยื่นมือเข้ามาปกป้องผู้ครอบครองทรัพย์เพื่อประโยชน์ของความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุขของประชาชน (I' ordre et la paix publique) ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้บุคคลดำเนินการช่วยตนเองโดยไม่พึ่งกฎหมายบ้านเมืองและขับไล่ผู้รอนสิทธิโดยใช้กำลังของตน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการรับรองปกป้องการครอบครองตามหลักของกฎหมายมหาชน

          lhering มีความเห็นตรงข้ามว่า ารปกป้องการครอบครองเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ทรงกรรมสิทธิ์ เพื่อจะให้ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ได้รับการปกป้องโดยฉับพลันโดยไม่จำเป็นต้องนำสืบเรื่องกรรมสิทธิ์ ซึ่งมักจะยุ่งยาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการรับรองปกป้องการครอบครองตามหลักของกฎหมายเอกชน อันที่จริง lhering ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วการปกป้องการครอบครองมักจะให้กับผู้ทรงกรรมสิทธิ์แท้จริง (veritable proprietaire) ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ ในขณะเดียวกันถ้าการปกป้องการครอบครองมีผลก่อให้เกิดประโยชน์แก่ขโมยหรือผู้ครอบครองซึ่งไม่สุจริตด้วยก็เป็นเหตุบังเอิญ อย่างไรก็ดีผู้ทรงกรรมสิทธิ์แท้จริงย่อมมีชัยชนะในที่สุด ด้วยการฟ้องเรียกทรัพย์คืน (action en revendication) จากผู้ครอบครองซึ่งมิใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ (simple possesseur)

          Monier[5]  ให้ความเห็นโดยถูกต้องว่า แนวความคิดอันขัดแย้งกันระหว่าง savigny กับ lhering ดังกล่าวนี้ไม่ตรงกับความจริงทางประวัติศาสตร์  อันที่จริงแล้วคำสั่งปกป้องของ Praetor ได้นำมาใช้ครั้งแรกเพื่อปกป้องอำนาจโดยพฤตินัยซึ่งบุคคลใช้เหนือที่ดินอันบุคคลไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ได้ และโดยเหตุนี้จะดำเนินการฟ้องร้องคดี rei vindicatio ก็เป็นไม่ได้เช่นกัน ในสมัยโบราณคำว่า possessio ใช้กับที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งมีผู้ครอบครองอยู่ (agri occupatorii) ปัจเจกชนพึงครอบครอง (occuper) ที่ดินดังกล่าวได้โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก(cultiver) เท่านั้นและคำสั่งในช่วงแรกของ Praetor ก็นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการขัดแย้งกันในการถือครองที่ดินดังกล่าว เพราะเกิดความจำเป็นที่จะต้องป้องกันมิให้มีการรอนสิทธิกันโดยการใช้กำลังต่อกันและกัน

          อันที่จริง ถ้อยคำ (fomule) ของคำสั่งที่เรียกว่า unde vi (คำสั่งอันเนื่องมาจากการแย่งชิงการครอบครองโดยโช้กำลัง) (คือเป็นคำสั่งให้ผู้ครอบครองผู้ถูกรอนสิทธิโดยการใช้กำลังได้รับการครอบครองคืนมาดังเดิม) น่าจะต้องมีการใช้ถ้อยคำ possessio ด้วย ตามความเชื่อของ Monier มีความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่าง agri occupatorii (สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งมีผู้ครอบครองอยู่) ซึ่งตกทอดกันมาในครอบครัวเดียวกันมาหลายชั่วอายุคนกับที่ดินที่ Censor (ผู้ที่มีหน้าที่สำรวจสำมะโนประชากรและตรวจตราความประพฤติของหัวหน้าครอบครัว) ให้เช่าโดยสม่ำเสมอ โดยมีกำหนดเวลาแน่นอน อันเรียกว่า pascua หรือ ager scripturarius ปกติ pascua ก็เป็นทุ่งให้สัตว์กินหญ้าและ ager scriptuarius ก็เป็นทุ่งหญ้าสาธารณะให้สัตว์กินหญ้าเช่นเดียวกันในการเช่าทุ่งหญ้าสาธารณะดังกล่าว ผู้เช่าต้องเสียภาษีหรือค่าเช่าแก่ทางการ

ฉะนั้นแม้ Ihering จะไม่เห็นด้วยก็ตาม การมีคำสั่งให้ใช้ประโยชน์ที่สาธารณะได้ (de loco publico fruendo) ของ Praetor อันเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถใช้สอยที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ให้เช่าไปก็เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่สาธารณะ (lex locationis) และการมีคำสั่งนี้ก็สามารถปรับเข้ากันได้กับการเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นของคำสั่งปกป้องผู้ครอบครอง agri occupatorii โดยเหตุที่ที่ดินแบบหลังนี้ทางการให้เช่ากันตามสัมปทานเก่าแก่และเปิดกว้างทั่วไป

-----------------

บทสรุป

-----------------

            possessio naturalis (การครอบครองตามธรรมชาติ) เกิดขึ้นก่อน dominium (กรรมสิทธิ์)  ซึ่งในกฎหมายเอกชนของโรมัน การครอบครองเป็นอิสระ (independante) จากกรรมสิทธิ์ แต่การครอบครองสามารถนำไปสู่การได้กรรมสิทธิ์ และสิทธิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ตนได้ครอบครอง แต่ถ้าเป็น possessio (การครอบครอง) ในโรมันจะใช้กับที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินซึ่งมีผู้ครอบครองอยู่ (agri occupatorii)  ซึ่งเป็นที่ดินที่เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์

 

 


[1] ประชุม  โฉมฉาย.วิวัฒนาการของกฎหมายโรมัน.โครงการตำราและวารสารนิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด,กุมภาพันธ์ 2548,  น.239-248

[2] Lepointe  Gabriel, Droit Romain et Ancien Proit Français (Droit des beins). Paris : Dalloz, 1958, P. 55

[3] Monier Raymond. Mauel Elémentaire de Droit Romain, Tome I en, Paris : Edition Domat Montchestien, 1947,P 383-384

[4]  Praetor เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ เป็นผู้ช่วย Consul ในการบริหารกฎหมายเอกชน  โดย Praetor จะเป็นผู้ตัดสิน (in iure) ว่าถ้าประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนจะหาทางบำบัดปัดเป่าแก้ปัญหาให้

[5] อ้างเล้วในเชิงอรรถที่ 3, น.384

หมายเลขบันทึก: 293199เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาตามติดผลงานของพี่ปุ๋มแล้วนะครับ

อ่าน ๆ ๆ ๆ เขียน ๆ ๆ ๆ

สู้ๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท