หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บุญสัญจรที่วัดจันทร์ ตอนที่ ๓ (จบ)


พะตีอายุกว่า ๗๐ ปี ค่อยก้าวลงจากรถด้วยสีหน้าอิ่บเอิบแม้วัยจะร่วงโรย มือสั่นเทาล้วงถุงพลาสติกจากย่ามที่สะพายอยู่ คลี่ถุงหยิบธนบัตรใบละยี่สิบใบเก่าคร่ำคร่าออกมาหนึ่งใบ แล้วค่อยบรรจงเสียบกับก้านไม้ไผ่ก่อนที่จะนั่งย่อตัวลงพนมมือไหว้เหนือหัว ปากอธิษฐานพรำพรำอยู่ในใจ จากนั้นก็นำไปปักกับต้นผ้าป่าที่เจ้าภาพเตรียมไว้

     บ่ายแล้ว ตะวันเลยหัวไปทางทิศตะวันตก ไม่มีวี่แววเค้าฝนทั้งที่เป็นต้นวสันตฤดู...

     ชาวบ้านทั้งเจ้าบ้านและแขกเยือนก็ลงจากบ้านเรือน ส่วนหนึ่งเดินไปรอที่วัด แต่อีกส่วนหนึ่งไปรวมกันที่หน้าร้านค้ากลางหมู่บ้านจุดตั้งต้นผ้าป่า

     รถปิคอัพสองคันขับตามกันมาจอดบริเวณจุดตั้งต้นผ้าป่า บรรทุกชาวบ้านจากบ้านหนองแดงหลายสิบคน ที่เพิ่งจะเดินทางมาถึง เนื่องจากวันนี้เป็นวันประชุมของหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านถือโอกาสเอาหลังทำบุญที่วัดนัดพูดคุยกับลูกบ้าน กว่าจะเสร็จก็เกือบเที่ยง ทำให้การเดินทางมาบ้านห้วยบงล่าช้าไปกว่าหมู่บ้านอื่น

     พะตีอายุกว่า ๗๐ ปี ค่อยก้าวลงจากรถด้วยสีหน้าอิ่บเอิบแม้วัยจะร่วงโรย มือสั่นเทาล้วงถุงพลาสติกจากย่ามที่สะพายอยู่ คลี่ถุงหยิบธนบัตรใบละยี่สิบใบเก่าคร่ำคร่าออกมาหนึ่งใบ แล้วค่อยบรรจงเสียบกับก้านไม้ไผ่ก่อนที่จะนั่งย่อตัวลงพนมมือไหว้เหนือหัว ปากอธิษฐานพรำพรำอยู่ในใจ จากนั้นก็นำไปปักกับต้นผ้าป่าที่เจ้าภาพเตรียมไว้

     ชาวบ้านหญิงชายคนอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกับพะตี บ้างก็เอาเหรียญห้า เหรียญสิบ ใส่เข้าไปในถุงพลาสติกที่ผูกติดไว้กับต้นผ้าป่า

     งานบุญสัญจรในแต่ละครั้งเจ้าภาพจะเป็นผู้ตั้งต้นผ้าป่า ชาวบ้านผ่านไปผ่านมาก็จะมาร่วมทำบุญ โดยนำเงินไปเสียบกับไม้ไผ่ที่เจ้าภาพเตรียมไว้แล้วไปเสียบกับต้นผ้าป่า

     ต้นผ้าป่าที่มีธนบัตรเสียบก้านไม้ไผ่ปักอยู่บนฟ่อนหญ้าคา แม้ดูไม่มากนักแต่ก็มีคุณค่าเพราะเป็นเงินบุญที่ชาวบ้านช่วยกันฮอมบุญกันคนละเล็กละน้อย

 

     โม้ง โม้ง โม้ง... โม้ง ทุ่ม โม้ง ทุ่ม โม้ง ทุ่ม โม้ง...

     เสียงกลองสลับกับเสียงฆ้องดังอยู่หน้าขบวนผ้าป่า ผู้อาวุโสสองสามคนวาดลวดลายรำดาบ (ไม้) นำหน้าขบวน

     รำดาบเป็นศิลปะเก่าแก่ของปกาเกอะญอที่นับวันจะหาผู้สืบทอดยากขึ้นเรื่อย ๆ

     ขบวนประกอบไปด้วยชาวบ้านทั้งหญิงชายที่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าสีสันสดใสสวยงาม ตัดกับสีเขียวของแมกไม้ใบหญ้าที่ได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำฝนต้นวสันตฤดู ก็ชูช่อแตกใบเขียวขจี ทั้งสองข้างทาง

     ชั่วเวลาเพียงอึดใจ ขบวนยาวเหยียดจากหน้าร้านค้าเดินเข้าสู่บริเวณวัด มุ่งหน้าไปสู่ศาลาหลังใหม่

     ถึงหน้าศาลา ชาวบ้านหลายคนที่ยังไม่ได้ร่วมทำบุญ กรูเข้ามานำเงินเสียบก้านไม้ไผ่แล้วเอาไปปักกับต้นผ้าป่า ขณะที่ชาวบ้านในขบวนแห่บ้างก็นั่งยอง ๆ พนมมือไหว้พระ บ้างก็ถอดรองเท้านั่งคุกเข่ากับพื้นแล้วกราบพระที่อยู่ในศาลา

     ขบวนแห่หยุดอยู่หน้าศาลาพักใหญ่ให้ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคทำบุญ จากนั้นค่อย ๆ แห่วนรอบศาลาสามรอบ หัวขบวนเดินวนไปจนครบรอบชนกับท้ายขบวน ชาวบ้านที่รอจะเข้าร่วมขบวนก็ไม่มีที่ให้แทรก หลายคนจึงขึ้นศาลาไปรอข้างบน บ้างก็ไปยืนดูขบวนแห่อยู่ข้างศาลา ในขณะที่หนุ่มสาวหลายคนยังนั่งคุยหยอกล้อกันใต้ร่มไม้ข้างศาลา

     วนรอบศาลาจนครบสามรอบ ต้นผ้าป่าก็ถูกนำขึ้นไปตั้งอยู่ต่อหน้าพระประธานในศาลา พร้อมกับเครื่องบริวารทั้งหลายขององค์ผ้าป่า

     ชาวบ้านที่ขึ้นมาบนศาลาบางคนที่ยังไม่ได้ขึ้นมากราบพระก็จะเข้ามากราบพระ นำข้าวตอกดอกไม้มาบูชาพระ เสร็จแล้วก็ไปหาที่นั่งตามอัธยาศัย รอพิธีกรรมทางสงฆ์ที่จะเริ่มในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า

    

     ราวบ่ายโมงเศษ...

     “...อิมินา สักกาเรนะ ตังพุทธัง อภิปูชะยามะ ฯ...

     เสียงนำไหว้พระของมัคนายกชาวปกาเกอะญอ ตามด้วยเสียงสวดมนต์ไหว้พระรับศีลของชาวบ้านกระหึ่มไปทั่วศาลา มิเพียงเท่านั้นเสียงยังผ่านจากเครื่องกระจายดังเข้าไปถึงในหมู่บ้าน

     ขณะนี้ศาลาหลังใหญ่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน ทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนเฒ่าคนแก่ จนแทบไม่มีที่เหลือให้เดิน คนเฒ่าคนแก่และพ่อบ้านนั่งรวมกันอยู่ด้านหน้า ถัดออกมาเป็นกลุ่มแม่บ้านและผู้หญิงสูงอายุ ถัดออกมาเป็นกลุ่มหนุ่มสาว เด็กน้อยมักจะนั่งอยู่กับพ่อบ้าง แม่บ้าง บ้างคนก็หลับคาตักแม่

     พระสงฆ์ห้ารูป นั่งเรียงรายอยู่บนอาสน์สงฆ์หน้าพระประธาน พระสงฆ์เหล่านี้จำพรรษาอยู่ที่วัดในแต่ละหมู่บ้านในเขตตำบลบ้านจันทร์ ซึ่งได้รวมตัวกันเรียกว่าเครือข่ายพระธรรมจาริกบ้านจันทร์มาแล้วหลายปี ประธานสงฆ์วันนี้คือพระสุชาติ  สุวฑฺฒโก พระภิกษุชาวปกาเกอะญอ ปัจจุบันปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ วัดสวนดอก เดิมแคยอยู่ที่วัดจันทร์ รู้จัก คุ้นเคยและผูกพันกับชาวบ้านในแถบนี้เป็นอย่างดี

     ถัดจากพระสุชาติ  สุวฑฺฒโก คือพระนิคม  กิจฺจสาโร ภิกษุชาวปกาเกอะญอเช่นกัน ผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการริเริ่มการทำบุญสัญจร ร่วมกับแกนนำชาวพุทธในพื้นที่อีกหลายคน ถัดออกมาเป็นพระสงฆ์ชาวปกาเกอะญออีก ๓ รูป

     โดยปกติแล้วจะมีพระสงฆ์เข้าร่วมพิธีมากรูปกว่านี้ แต่เนื่องจากหลายรูปต้องไปปฏิบัติศาสนกิจที่เมืองเชียงใหม่ ดังนั้นชาวบ้านจากบางหมู่บ้านจึงเดินทางมาร่วมงานในคราวนี้เพียงลำพังปราศจากการนำของพระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน

 

     “...นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ...

     ...พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณังคัจฉามิ ฯ...

     เสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์ดังกังวานไปทั่วศาลา ผ่านเครื่องขยายเสียงไปทั่วบริเวณวัด ชาวบ้านหญิงชาย นั่งพับเพียบพนมมือฟังพระสวดอย่างตั้งใจ ราวกับว่ารู้ความหมายอันล้ำลึกจากบทสวดนั้น แต่ละคนมีใบหน้าอิ่มเอิบไปด้วยบุญจากเนื้อนาบุญที่นั่งอยู่เบื้องหน้า

     ราวครึ่งชั่วโมงต่อมา พระสงฆ์สวดเสร็จแล้ว มัคนายกอาราธนาพระเทศนาโปรดญาติโยม ซึ่งพระสุชาติ  สุวฑฺฒโก รับนิมนต์เทศน์โปรดญาติโยมด้วยภาษาปกาเกอะญอ

     เสียงพระเทศน์สลับกับเสียงหัวเราะเบาๆ ของชาวบ้านเป็นบางคราว หลังจากท่านได้พูดคุยกับญาติโยมราว ๒๐ นาที ก็เปิดโอกาสให้พระสงฆ์รูปอื่นได้พูดคุยกับชาวบ้าน รูปละราว ๕ นาที

     พิธีกรรมทางศาสนาช่วงต้นนี้แล้วเสร็จ ศาลาบำเพ็ญบุญที่เมื่อครู่เป็นพื้นที่ทางศาสนาก็กลายเป็นพื้นที่ทางโลกพูดคุยเรื่องราวของชุมชนต่าง ๆ

     วันนี้การพูดคุยของชาวบ้านเป็นการผลัดการเล่าว่าพบเห็นสิ่งดี ๆ อะไรบ้างหลังจากได้ร่วมกันทำบุญสัญจรมาแล้วปีกว่า บางแห่งก็พูดถึงกิจกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น การสอนหนังสือปกาเกอะญอให้กับเด็กในชุมชน เป็นต้น

     นอกจากการพูดคุยของชาวบ้านแล้ว พระนิคม  กิจฺจสาโร ในฐานะผู้ริเริ่มงานบุญสัญจรได้ตั้งคำถามให้ชาวบ้านกลับไปขบคิดว่า พวกเราทำบุญสัญจรมาปีกว่าแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง ชาวบ้านและชุมชนมีความสุขขึ้นบ้างไหม ? ในชุมชนของเรายังมีอะไรปัญหาหนักอกหนักใจอะไรบ้าง และเราจะใช้โอกาสที่มาร่วมกันในงานบุญสัญจรนี้ไปคลี่คลายปัญหานั้นอย่างไร ? หากกิจกรรมบุญสัญจรนี้เป็นประโยชน์กับทุกคนโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน แต่ช่วงจัดพิธีเด็กมักจะไปเรียนหนังสือ จะทำอย่างไรจะให้เด็กได้เข้ามามีโอกาสร่วมงาน ? งานบุญสัญจรเป็นประโยชน์โดยรวมแก่ชาวบ้านและชุมชนทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมนี้ให้ต่อเนื่องได้อย่างไร ?

     เวลาแห่งการพูดคุยกินเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงก็ยุติด้วยคำถามที่ฝากให้แกนนำและชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านกลับไปขบคิดต่อ

     หลังจากพูดคุยเสร็จศาลาบำเพ็ญบุญที่เมื่อครู่เป็นพื้นที่ทางโลกก็กลับคืนสู่พื้นที่ทางธรรม

     ชาวบ้านที่นั่งอยู่ด้านหน้าช่วยกันคนละไม้ละมือหยิบจับข้าวที่เป็นสิ่งของบริวารของผ้าป่า จบขึ้นเหนือหัว พร้อมกับกล่าวคำถวายตามมัคนายก แล้วก็ยกถวายพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ตรงหน้า รวมทั้งต้นผ้าป่าที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาคคนละเล็กละน้อย

     เงินที่ได้จากการถวายผ้าป่านี้ ส่วนหนึ่งจะถวายพระสงฆ์และวัด เงินที่เหลือจะนำไปตั้งเป็นกองทุนของเครือข่ายเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานบุญสัญจรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เงินส่วนหนึ่งจะนำไปสนับสนุนเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแก่เจ้าของรถที่นำชาวบ้านจากต่างบ้านไปร่วมงานบุญสัญจร

     “...เงิน ๒๐ บาทเวลาทำบุญชาวบ้านจะไม่เสียดาย แต่เงิน ๒๐ บาทถ้าเสียค่ารถชาวบ้านจะรู้สึกเสียดาย...พระนิคม  กิจฺสาโร เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ให้การสนับสนุนเงินแก่เจ้าของรถยนต์ที่นำพาชาวบ้านมาร่วมงานบุญ

     “...คนเฒ่าคนแก่ บางคนก็ไม่มีเงิน แต่อยากมาทำบุญ พอมีรถรับส่งไม่ต้องเสียเงิน ก็ดีใจมาก เดือนนึงก็รอว่าเมื่อไรจะถึงวันทำบุญสัญจรสักที... 

     “...เงินที่ให้เจ้าของรถไม่ใช่เป็นค่าเหมารถ แต่ช่วยเป็นค่าน้ำมันเล็ก ๆ น้อย ไม่ให้เจ้าของรถเดือดร้อนมากนัก จริง ๆ ไม่ให้เขาก็อยากจะมาอยู่แล้ว แต่นาน ๆ บ่อย ๆ กลัวว่าจะเดือดร้อน...

 

     กว่าจะเสร็จพิธีกรรมเวลาก็ล่วงเลยไปกว่า ๔ โมงเย็น...

     ชาวบ้านค่อยทยอยลงจากศาลาทั้งเจ้าบ้านและแขกเยือน บนศาลายังคงเหลือคณะกรรมการที่คอยนับเงินผ้าป่า

     รถยนต์จากหมู่บ้านอื่น ๆ เริ่มสตาร์ทเครื่อง เสียงล่ำลาเพื่อพบกันใหม่ในวันเดือนดับครั้งหน้าดังแข่งกับเสียงเครื่องยนต์ที่ค่อยเคลื่อนตัวออกจากหมู่บ้าน

     บุญสัญจรคราวนี้สิ้นสุดลงแล้ว... 

 

 

หมายเลขบันทึก: 292093เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อรุณสวัสดิ์เจ้าท่านหนานเกียรติ

ฮือๆ  ...  อยากไปวัดจันทน์  เห็นภาพบรรยากาศแล้ว อยากไปลุย ไปตะลอนเส้นทางค่ะ... อีกเส้นทางหนึ่งในฝัน มหัศจรรย์ป่าเมืองหนาว _ ว้าว  

ช่วงไปแม่แจ่ม  งานบุญจุลกฐิน เข้าใจเลยค่ะ พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยต่างอุทิศแรงกาย เวลา และทุนรอน เพื่องานบุญนี้   ... ขอบคุณเรื่องดีๆ มาให้ระลึกถึงค่ะ ...  สักวันคงได้มีโอกาสร่วม  บุญสัญจร เจ้า ...  

 

สวัสดีเจ้าคุณ poo

วัดจันทร์เดี๋ยวนี้ไปสะดวกมาก ใช้เวลาไม่นานมาก

ผมเคยไปร่วมงานจุลกฐินที่วัดป่าแดด อ.แม่แจ่ม เมื่อหลายปีที่แล้ว เสียดายที่ไม่ได้เขียนบันทึกไว้

ต้นปีหน้าผมจะไปร่วมงานบุญ "กินข้าวใหม่" ที่ ทีจอชี อ.อุ้มผาง

กำลังหาเพื่อนร่วมเดินทางอยู่ครับ

  • ธุค่ะ..

วันนี้มีงานทอดผ้าป่าสมทบทุนสร้างกุฏิวัดกองกาน  ตำบลแม่ศึก  เวลา 14.00 น.    ไม่รู้ว่าเจ้านายต้อมจะไปไหมเพราะไม่เห็นบอกไว้ว่ายังไง   

 

ต้นปีหน้า คือช่วงต้นปี 2553 นี้ใช่ไหมคะ?  ได้โปรดเก็บภาพมาฝากด้วยจะเป็นพระคุณมากๆๆ  อิอิ  

P ต้อมครับ

ใช่ครับ ต้นปี ๒๕๕๓ จะเอาภาพมาฝากครับ

(แหะ แหะ แต่ถ่ายไม่ค่อยจะเป็น ทนดูเอาหน่อยนะครับ)

ทีจอชี น่าสนใจจริงๆค่ะ อยู่มุมไหนคะ เคยไปทีลอซู เคยได้ยิน ทีลอเร ทีล่อจอ ...

นำมาฝากค่ะ  งานบุญกฐิน ณ หุบเขา เมืองแม่แจ่ม ค่ะ  ... ไว้รอชมภาพครั้งต่อไป

ของท่านหนานนะคะ ... จะรอชมภาพ มีความสุขที่ได้อ่าน ... ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท