หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บุญสัญจรที่วัดจันทร์ ตอนที่ ๒


อาหารเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำหน้าที่สร้างความมั่นใจ สุขใจ ภูมิใจ ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการจัดสำรับสำหรับแขก ชาวบ้านอาจรู้สึกว่าอาหารก็คืออาหารแต่ในวันงานอาหารเป็นมากกว่านั้น ประเพณีเรียกแขกกินข้าวที่ถูกรื้อขึ้นมาพร้อมงานบุญสัญจร ทำให้อาหารทำหน้าที่มากกว่าช่วยให้อิ่มท้อง เพราะยังช่วยให้อิ่มใจตามไปด้วย ทั้งคนกิน และคนทำ ทั้งเจ้าบ้าน และแขกที่มา ต่างคนจึงต่างพกพาความสุขจากการผลัดเปลี่ยนเป็นผู้ให้ และผู้รับ หมุนเวียนการเป็นแขกและเป็นเจ้าบ้านผ่านงานบุญสัญจรที่เวียนไปทุกบ้านในแต่ละเดือน

เป่อดอปื่อ หมึ ดอปื่อ มึ  เป่อ ดอแหว่ หมึ ดอแเหว่ มึ

ปื่อแล กล่อ เลอ แหว่ อะ ฆึ  แหว่ แล กล่อ เลอ ปื่อ อะ ฆึ

กล่อ กล่อ หมื่อ ลอ หนึ๊ เหน่ พึ  ดอ ปือ แหว่ทึ เหลาะ เป่อ จึ

ดอ ปือ แหว่ ควา เป่อ เหม่ ฆู  เบ๊าะ ถ่อ เส่อ เกาะ เส่ เผล่อ ทู

ดอ ปื่อ แหว่ ควา เต่อ อา กา  บะ ต่า หนะ โต๊ะ เหลาะ เป่อ ซะ

ปื่อ เลอ ละ แหว่ เลอ ทะ เฮ้อ  ซึ เต่อ มา ซอ เต่อ มา เออ

 (เป็นพี่น้องกันนี้มีความสุข   เป็นน้องเป็นพี่กันมีความสุข

  พี่น้องไปช่วยถางหญ้าในไร่พี่   พี่ไปช่วยถางหญ้าในไร่น้อง

  ถางจนกระทั้งถึงตอนค่ำ   เราพี่น้องจูงมือกันเดินกลับบ้าน

  หากพี่น้องรู้รักสามัคคี   สามารถยกเสาทองคำขึ้นได้

  พี่น้องด้วยกันไม่กี่คน   หากทุกข์ยากจงช่วยเหลือกัน

  เหล่าพี่น้องจากทิศเหนือจรดทิศใต้เอ๋ย   อย่าได้เบียดเบียนรังแกกันเลย)

 

     เสียงขับลำนำจากคนเฒ่าคนแก่เกือบ ๑๐ คนดังออกมาจากศาลาหลังเก่าที่อยู่ด้านหน้าศาลาหลังใหม่ เสียงดังกล่าวยังดังเข้าไปถึงในหมู่บ้านผ่านเครื่องขยายเสียงไปออกยังลำโพงที่ผูกติดไว้กับเสาไฟฟ้ากลางหมู่บ้าน

     โดยปกติแล้วคนเฒ่าคนแก่มักจะไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหนมาไหนเท่าไรนัก แต่การทำบุญสัญจรทำให้คนกลุ่มนี้ได้ออกมาพบปะกับเพื่อนฝูงที่เคยรู้จักกันมาก่อนตั้งแต่ครั้งในอดีต บางคนไม่เคยพบเพื่อนมาเป็นสิบยี่สิบปีก็ได้พบเมื่อมาร่วมงานบุญสัญจร

     บทบาทสำคัญของคนเฒ่าคนแก่ในงานบุญสัญจรก็คือการได้ถ่ายทอดคำสอนผ่านการขับลำนำ ที่สำเนียงจะสร้างความเพลิดเพลินจำเริญใจแก่ผู้ขับลำนำร่วมกันและผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ยังเป็นการว่ากล่าวตักเตือน สั่งสอนให้ลูกหลานได้นำไปประพฤติปฏิบัติ

     นอกจากนั้นในช่วงหนึ่งของการทำบุญสัญจร จะมีการพูดคุยปรึกษาหารือแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ก็จะใช้โอกาสช่วงนี้ในการอบรมสั่งสอนลูกหลาน

     งานบุญสัญจรยังทำให้คนเฒ่าคนแก่กับเด็กและเยาวชนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งในวาระปกติคนสองกลุ่มนี้โอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกันมีค่อนข้างน้อย เวลาที่เคยอยู่ใกล้ชิดกันเหมือนดั่งแต่ก่อนก็ถูกพรากจากกันด้วยโรงเรียน โทรทัศน์ และความห่างทางความคิด

     หากวันนี้เป็นวันปิดเรียนของเด็ก ๆ ภาพหนึ่งที่จะพบเห็นก็คือเด็กและเยาวชนจะนั่งล้อมฟังนิทานบ้าง คำทาบ้างจากคนเฒ่าคนแก่อยู่มุมใดมุมหนึ่งในวัด เด็ก ๆ ไม่เพียงค่อยซึมซับคำสอนผ่านคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนเท่านั้น หากยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนสองวัยให้ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันมากขึ้น

     “...งานบุญสัญจรที่ผ่านมาทำให้เด็กกับผู้อาวุโสได้พบปะเรียนรู้ร่วมกัน เด็กมีโอกาสที่จะเรียนรู้จากผู้อาวุโส ส่วนผู้อาวุโสเองก็มีโอกาสในการถ่ายทอดให้กับเด็กในเรื่องของหลักคำสอน ประเพณีวัฒนธรรม จากสภาพปัจจุบันเด็กกับผู้ใหญ่ที่จะพบปะกันมีน้อย การจัดเวทีที่ผ่านมานับว่าเป็นสิ่งที่ดี เด็กมีการกระตือรือร้น ได้เข้าหาผู้ใหญ่เพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับคำสอนสุภาษิตจากผู้อาวุโส...

     นายขยัน  รัตนอารยธรรม ชาวบ้านจากบ้านห้วยฮ่อมที่มาร่วมงานบุญสัญจรอย่างสม่ำเสมอพูดด้วยความภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับนายซาดี  ทะบือ ชาวบ้านห้วยบง บ้านที่เป็นเจ้าภาพการทำบุญสัญจรในครั้งนี้

     “...การจัดกิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก  เด็กกับผู้อาวุโสได้มีโอกาสพบกันเรียนรู้วัฒนธรรมของชนเผ่า และมีการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้รับรู้ สืบทอดต่อไป เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมี...

     วันพระข้างแรมซึ่งเป็นวันนักหมายการทำบุญสัญจรร่วมกัน จึงเป็นที่คนเฒ่าคนแก่เฝ้ารอคอยให้มาถึง เพราะเป็นวันที่มีความชอบธรรมที่จะได้เดินทางไปพบปะเพื่อนฝูงต่างหมู่บ้าน ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้ไหว้พระ ได้ทำบุญ ได้แสดงออกที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาคำสอนของบรรพบุรุษผ่านการขับลำนำและพูดจาในเวทีเรียนรู้ ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพกายและใจ

 

     ปกาเก่อแหย่ อ่าบุเต่อฆู  โดหน่ออ่าเชอ หว่าเต่อดู     ปกาเก่อแหย่ อ่าบุเต่อฆอ  โดหน่ออ่าเชอ หว่าเต่อกลอ

     (ผู้ทีไม่สามัคคีกันทำบุญ  กั้นเขตด้วยไม่ไผ่หนึ่งท่อน     ผู้ที่ไม่มีความพร้อมใจกันทำบุญ  กั้นเขตด้วยไม้ไผ่หนึ่งกอง)

 

     เสียงลำนำยังดังต่อเนื่องออกมาจากที่เดิม แต่ดูเหมือนว่าเสียงดังขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีคนเฒ่าคนแก่จากบ้างต่างที่เดินทางมาถึงเข้าไปสมทบ

     จวบจนใกล้จะเที่ยงวันเสียงขับลำนำก็ยุติลง คนเฒ่าคนแก่ลงจากศาลาพาตนเองกับเพื่อน ๆ หายเข้าไปในหมู่บ้านเช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่น ๆ

..........

 

     เอาะเดะเต่อเบะ เอาะดิ้เซาะ   เอาะแด๊วะเต่อเบะ  เอาะดิ้เซาะ     กินเขียดตัวหนึ่งกินด้วยกัน  กินตั๊กแตนตัวหนึ่งกินด้วยกัน

     เป่อเอาะ เซ่อเก๊าะ หวิ   เป่อมีเซ่อเกาะ เลอ     เรากินด้วยกันจะอร่อย  เรานอนด้วยกันจะอุ่น

     โอะเต่อกา โอะเต่อ มึบ่า   เอาะ เต่อ กา เอาะ เต่อ หวิ บ่า     อยู่คนเดียวไม่สนุก  กินคนเดียวไม่อร่อย

 

     ลำนำข้างต้นเป็นคำสอนที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพชน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตเกี่ยวกับการกิน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายธรรมเนียมการเรียนแขกกินข้าวของชาวปกาเกอะญอ

     พะตี พะตี เอาะเม..”.

     เสียงดังออกมาจากในบ้าน เมื่อเจ้าบ้านเห็นกลุ่มคนเฒ่าคนแก่เดินผ่าน เป็นเสียงของแม่บ้านคนหนึ่ง เชิญชวนผู้ผ่านไปผ่านมาซึ่งถือเป็นแขกของหมู่บ้านให้ขึ้นเรือนกินข้าวปลาอาหาร

     นอกชานของบ้านเรือนมีสำรับอาหารวางไว้ให้แขกเยือนล้อมวงกินร่วมกัน อาหารวันนี้จึงเป็นอาหารที่พิเศษกว่าวันอื่นที่เคยกินกันตามปกติในครอบครัว

     คนเฒ่าคนแก่นั่งล้อมลงกินอาหารที่เจ้าบ้านเตรียมไว้อย่างเอร็ดอร่อย อาหารที่วางอยู่ตรงหน้ามีข้าวสุกเม็ดอ้วนสั้นสีขาวนวล เป็นข้าวที่ได้จากไร่หมุนเวียน รวมทั้งแกงข้าวเบ๊อะ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดของชาวปกาเกอะญอ หากรู้ว่าจะมีแขกมาเยือนเจ้าภาพมักจะเตรียมอาหารชนิดนี้ไว้ต้อนรับเสมอ

     กินอาหารกันคนละสองสามคำ    พูดคุยกับเจ้าบ้านพอหอมปากหอมคอ ก็ร่ำลาลงจากบ้าน เพราะยังมีอีกหลายหลังที่เตรียมต้อนรับขับสู้ เพราะหากขืนกินมากกว่านี้ท้องอาจมีไม่พอสำหรับบรรจุอาหารที่เจ้าภาพบ้านอื่นเตรียมไว้เลี้ยงต้อนรับ

     ขึ้นบ้านโน้น ลงบ้านนี้จนอิ่มหนำสำราญ ทั้งอิ่มกายและอิ่มใจ อิ่มกายจากอาหารนานาชนิด อิ่มใจจากการพบปะเยี่ยมเยียนพูดคุย ธรรมเนียมนี้คือการเรียกแขกกินข้าวชาวปกาเกอะญอ เรียกว่าเก๊าะปอเส่อมีเอาะเม

     ย้อนหลังไปเพียงราว ๑ ปี เราไม่อาจเห็นธรรมเนียมเรียกแขกกินข้าวของชาวบ้านจันทร์ เนื่องจากธรรมเนียมนี้ได้ค่อยจางหายไปเรื่อย ๆ หลังจากความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างบ้านคลายตัวลง การไปมาหาสู่ของชาวบ้านมีน้อยลงกว่าเมื่อครั้งในอดีต ทั้งที่ถนนหนทางเอื้อต่อการเดินทางให้สะดวกสบายมากขึ้น หากตั้งใจจะไปจริง ๆ ก็สามารถใช้ยานพาหนะเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยใช้เวลาไม่มากนัก

     หลังการเกิดขึ้นของการทำบุญสัญจร การทำบุญสัญจรในครั้งแรก ๆ ทางวัดจะเป็นเจ้าภาพทำอาหารเลี้ยงผู้มาทำบุญจากต่างบ้าน โดยมีกลุ่มแม่บ้านจะเป็นผู้มาประกอบอาหารที่วัด หลังจากกินอาหารมื้อกลางวันที่ทำเลี้ยงแล้วจึงจะเริ่มพิธี

     การพบปะพูดคุยในงานบุญสัญจร เรื่องราวที่มักหยิบยกมาพูดคุยกันบ่อย ๆ คือการรื้อฟื้นประเพณีของชาวปกาเกอะญะที่เริ่มจะสูญหายไปไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษาเขียน รวมทั้งธรรมเนียมเรียกแขกกินข้าว

     ธรรมเนียมเรียกแขกกินข้าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย และได้เริ่มต้นฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรมในงานบุญสัญจรเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เหตุผลที่รื้อฟื้นธรรมเนียมนี้มิใช่เป็นเพราะการผลักภาระการทำอาหารเลี้ยงแขกของทางวัด แต่เป็นเพราะธรรมเนียมนี้เป็นประเพณีที่สืบทอดที่แผงไว้ด้วยคุณค่าต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน การกระชับความสัมพันธ์ การพบปะพูดคุยไถ่ถามเรื่องราวจากกันและกัน

     อาจารย์ปรารถนา  จันทรุพันธ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนและร่วมงานบุญสัญจร วิเคราะห์ธรรมเนียมเรียกแขกกินข้าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

     “...อาหารเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำหน้าที่สร้างความมั่นใจ สุขใจ ภูมิใจ ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการจัดสำรับสำหรับแขก ชาวบ้านอาจรู้สึกว่าอาหารก็คืออาหารแต่ในวันงานอาหารเป็นมากกว่านั้น ประเพณีเรียกแขกกินข้าวที่ถูกรื้อขึ้นมาพร้อมงานบุญสัญจร ทำให้อาหารทำหน้าที่มากกว่าช่วยให้อิ่มท้อง เพราะยังช่วยให้อิ่มใจตามไปด้วย ทั้งคนกิน และคนทำ ทั้งเจ้าบ้าน และแขกที่มา ต่างคนจึงต่างพกพาความสุขจากการผลัดเปลี่ยนเป็นผู้ให้ และผู้รับ หมุนเวียนการเป็นแขกและเป็นเจ้าบ้านผ่านงานบุญสัญจรที่เวียนไปทุกบ้านในแต่ละเดือน...

     ...ในงานบุญ การทำอาหารสร้างความรู้สึกพิเศษขึ้นมาให้กับแม่บ้านชาวปกาเกอะญอ เพราะอาหารที่ทำในวันงานบุญสัญจร ไม่ใช่แค่อาหารในฐานะส่วนหนึ่งของปัจจัยสี่ แต่เป็นหน้าเป็นตา เป็นความภาคภูมิใจเมื่อแขกมากินข้าว การตักกับข้าวเติมอยู่เสมอ การที่แขกแวะเวียนขึ้นบ้านไม่ขาดสาย เปลี่ยนความเหน็ดเหนื่อยเป็นรอยยิ้ม สังเกตได้จากสีหน้าของแม่บ้านทุกบ้านในงานบุญนี้ เมื่อมีแขกขึ้นไปกินข้าว ผู้หญิงจะตักทั้งข้าวและกับออกมาเติมโดยไม่รีรอและไม่เปิดโอกาสให้ขาดตอน งานบุญสัญจร จึงเป็นอีกวันที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงปกาเกอะญอมีโอกาสอวดฝีมือผ่านอาหารทุกจาน...

 ..........

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 292086เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ธุค่ะ..

ปกาเกอะญอ กับ กะเหรี่ยง คือชนเผ่าเดียวกันไหมคะ?   ต้อมตะโกนถามเพ่อนๆ บอกว่า "ใช่ค่ะ"  

ต้อมเคยมีคนที่บ้านเป็นกะเหรี่ยง    ต้อมชอบฟังเขาร้องเพลงภาษาบ้านเขาค่ะ    ฟังไม่รู้เรื่องหรอกแต่รู้สึกว่าเพราะจับจิต

ตามน้องนางเอกมาฟังเพลงค่ะ

ชอบเสียงดนตรีเตหน่า ปูมีเทปเพลงด้วยนะคะ ฟังบ่จ้าง ชอบทำนอง จินตนาการเห็น ...

... หมอกหยอกเอินขุนเขายามเช้า และรอยยิ้มใสๆ ของชาวบ้านค่ะ ...

อ่านคำแปลลำนำแล้ว คิดถึงเรื่องทรัพย์ในดิน ค่ะ ความสามัคคีของชุมชนทำให้เกิดความยั่งยืน เข้มแข็ง และมีอำนาจต่อรอง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์

 

P สวัสดีครับ

จริง ๆ ครับ เตหน่า ไพเราะมาก

ผมได้ยินแรก ๆ เนี่ยคิดว่าเทวดากำลังดีดพิณให้ฟัง (รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ)

ยิ่งได้ฟังคู่กับการขับลำนำแม้ฟังไม่รู้เรื่องก็น่าฟัง

ผมมีเสียงบันทึกเตหน่าในรูปแบบ MP3 อยู่หลายเพลงครับ

ถ้าสนใจแบ่งปันให้ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท