ชิต บุรทัต มหาเศรษฐีแห่งศัพท์ภาษา


                

 ชิต บุรทัต มหาเศรษฐีแห่งศัพท์ภาษา

  

 

    นายชิต บุรทัต เป็นกวีเอกที่มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์คนหนึ่ง  ได้รับการยกย่องว่าเป็น "มหาเศรษฐีแห่งศัพท์ภาษา" ร่ำรวยถ้อยคำจนสามารถนำไปใช้ได้อย่างงดงาม ให้อารมณ์ และเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง

 

    คำประพันธ์ประเภทฉันท์ถือว่าเป็นร้อยกรองชั้นสูง  นิยมใช้แต่งเรื่องที่แสดงความสูงศักดิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ความอลังการ และความสง่างาม  ไม่นิยมแต่งเรื่องที่ธรรมดาสามัญ  ฉันท์เป็นร้อยกรองที่แต่งยากเนื่องจากบังคับคำครุ คำลหุ  คำไทยนั้นมีคำลหุน้อยมากจึงหาคำที่เหมาะสมในการแต่งฉันท์ยาก  ทำให้จำเป็นต้องใช้คำบาลีสันสกฤตแต่ง  ฉันท์จึงเป็นร้อยกรองที่แต่งยากกว่าร้อยกรองชนิดอื่น ๆ 

 

        อย่างไรก็ตามการแต่งฉันท์ไม่จำเป็นต้องใช้คำบาลีสันสกฤตเท่านั้น  ยิ่งนำคำบาลีสันสกฤตมาแต่งมากเท่าใดก็ทำให้ฉันท์ขาดรสแห่งความเรียบง่ายและขาดความเป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น  นอกจากนายชิต  บุรทัตจะแต่งสามัคคีเภทคำฉันท์แล้ว  ยังมีผลงานอีกเรื่องหนึ่งเป็นคำฉันท์เรื่องสั้น ๆ ที่ใช้คำสามัญแต่งเรื่องธรรมดาสามัญ  ครูแป๊วเคยนำเรื่อง "ตาโป๋คำฉันท์" มาให้อ่านแล้วในเรื่องอารมณ์ขันในวรรณคดี   คราวนี้จะนำอินทรวิเชียรฉันท์ของนายชิต บุรทัต มาให้อ่านกัน  เพื่อให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ร่ำรวยถ้อยคำ สามารถเรียกใช้ได้ดังใจ  ฉันท์บทนี้ใช้คำไทยพื้น ๆ แต่งเรื่องราวสามัญ ชื่อว่า "ปากบอน" ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า "แมวคราว" ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม  ลองอ่านกันดูนะคะ 


 

 

            ปากบอนเถอะกูรู้          หละก็กูจะตบมึง

เรื่องนั้นจะดันดึง                      และแดะแด๋เพราะเดือดดาล

            รู้เห็นอะไรหน่อย          สิก็คอยเสนอขาน 

เสือกแส่จะรังควาน                  เอะอะอึงตะบึงไป 

            ถ้าหนักกบาลมึง          จะทะลึ่งก็ตามใจ

น่าเล่าก็เปล่าไย                       เสาะแสะเสือกมิเห็นสม

            เรื่องกูก็เรื่องกู             ผิวะรู้ก็ควรอม

อย่าคายระบายลม                   เหลาะแหละให้กะใครฟัง

            ก่อนมึงก็มีคาว            ระบุฉาวกระฉ่อนดัง

กูสู้สงบบัง                               มิแคะไค้กะใครเลย

            หากกูมิช่วยดับ           จะระงับกระไรเหวย

ป่านนี้น่ะคงเผย                       กระจะหมดกระจ่างเมือง

            เรื่องใดก็ดีกู                เจาะและรู้แน่ะเนืองเนือง

แม้ขุ่นและครุ่นเคือง                 ก็มิคิดจะไขขาน

           เรื่องใครก็เรื่องใคร      เกาะแกะไยแฮะป่วยการ

มีงานประกอบการ                   เฉพาะตอนก็เย็นใจ

           เรื่องกูกระนี้มึง             สะเออะอึงกะใครใคร

เป็นไรก็เป็นไป                        เถอะจะตบมินับหน

           แก้ปากคะเยอคัน         มิฉะนั้นจะเคยตน

ต่อไปอะไรดล                        ก็จะแดงเพราะมึงบอนฯ

 

        การใช้คำไทยแต่งฉันท์นั้นได้อารมณ์จริง ๆ แต่ทว่าก็ทำได้ยากเพราะคำไทยมีคำลหุน้อย ผู้ที่จะทำได้ดีก็คงมีเฉพาะผู้เป็นเศรษฐีแห่งศัพท์ภาษาเช่น นายชิต  บุรทัตเท่านั้น

       

 (ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ ปากกาบางกอก ของ คุณอาจิณ จันทรัมพร  สำนักพิมพ์ดอกหญ้า)

                                            

หมายเลขบันทึก: 291483เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีเนื้อหา สาระที่เข้าใจง่ายกระทัดรัดดีครับ

ได้รู้ว่าใครเป็นคนเเต่ง เเละ รู้เพิ่มมาอีกว่า

การแต่งฉันท์ไม่จำเป็นต้องใช้คำบาลีสันสกฤตเท่านั้น ~!!

เนื้อหาสาระ เยี้ยม ไปเลย... อ่านแล้วสนุก ...ไปเลย...

ตามหาคนที่อยู่ในตระกูลของเณรชิต อยากอ่านสมุดบันทึกของเขา อยากรู้เรื่องราวส่วนตัวและผลงานของเขาทั้งหมด หาได้ที่ไหน มีความสำคัญกับเรามาก หากมีข้อมูลบอกด้วยนะค่ะ

สวัสดีค่ะ

ครูแป๊วก็อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านายชิต บุรทัตไม่มีทายาท และเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้ว ประการหนึ่งที่ทราบคือท่านเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งฉันท์ของกวีหนุ่มสาวในสมัยนั้น ซึ่งรวมถึงบิดาของครูแป๊วด้วย แต่กวีสมัครเล่นในยุคนั้นหากท่านมีอายุยืนมาจนวันนี้คงจะอายุเกือบ ๙๐ ปีแล้ว

เด็กโรงเรียนเตรียมอุดม

การเเต่งฉันท์ เป็นการเเต่งที่ยากมาก.... สมัยนี้ครูไทยบางคนก็ยังเเต่งไม่ได้

สมัยนั้นท่านคงเก่งมากเพราะเเค่คำด่า ก็ด่าเป็นฉันท์ได้ยอกเยี่ยมเเละน่าสนุกสนาน

สวัสดีค่ะ  เด็กโรงเรียนเตรียมอุดม

   นักเรียนเข้าใจได้ถูกต้องแล้ว  ฉันท์เป็นคำประพันธ์ที่แต่งยาก  อ่านก็ยาก  เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมามีผู้นิยมแต่งฉันท์กันมาก  แม้ไม่ใช่ครูภาษาไทยก็สามารถแต่งได้ดี  ครูได้เห็นตัวอย่างจากคุณพ่อของครูเอง  ท่านไม่ใช่ครูภาษาไทย  เป็นเพียงผู้ที่ชื่นชอบคำประพันธ์  ก็ยังสามารถแต่งฉันท์ได้ดี  หากนักเรียนคิดจะฝึกหัดแต่งฉันท์ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยาก  เริ่มจากวิชชุมมาลาฉันท์ซึ่งง่ายที่สุดก่อน  แล้วจึงฝึกหัดแต่งอินทรวิเชียรฉันท์  ลองฝึกหัดดูนะคะ

ผมมีหนังสือ "สามัคคีเภท คำฉันท์" ของ ชิต บุรทัต พิมพ์ครั้งที่4 เป็นตัวอย่างแบบเรียน ใครสนใจติดต่อได้นะครับ 0840550709

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท