ไข้หวัด 2009 และการเรียนรู้


องค์ความรู้พื้นบ้าน

mask

.

เราได้เรียนรู้อะไรจากการใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันไข้หวัด 2009

.......................................................................................................................................................

เป็นเวลากว่าสามเดือนแล้วกับการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยใช้ผ้าปิดปากปิดจมุกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส H1N1  หรือไข้หวัด 2009 นั้น ดิฉันเห็นความเปลี่ยนแปลง และเห็นความลั่กลั่นในการนี้ระหว่างหมู่ผู้ใกล้ชิด และผู้คนที่เกี่ยวข้องในสังคม  ขอนำมาเสนอแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันดังนี้

1)       โรงเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายหลายแห่งรณรงค์ให้นักเรียนใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกในการใช้ชีวิตที่โรงเรียน ในชั้นเรียน  ใครที่ลืมเอาผ้านี้ไปโรงเรียนจะถูกปรับเงิน 50-100 บาท  เป็นมาตรการส่งเสริมการใช้ผ้าปิดปากจมูกในโรงเรียนที่ไม่ได้ปลูกฝังถึงความตระหนักรู้และการสร้างสรรค์  เด็กนักเรียนหลายคนบ่นว่า ได้ยินแต่ครูสอนให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก และล้างมือบ่อย ๆ  ทุกชั่วโมง

2)       นักเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเป็นเวลาหลายวัน  จันทร์ถึงศุกร์บ้าง จันทร์ถึงเสาร์บ้าง  โดยที่ไม่มีการซักทำความสะอาด แม้ว่าผู้ปกครอง และครูจะบอกให้ซักบ้างก็ตาม แต่ก็ยังมิได้เป็นไปตามที่คาดหวัง  กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดีโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

3)       ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่เมื่อสนทนากับใครก็ตาม จะต้องมองริมฝีปากผู้ร่วมสนทนา  โดยเฉพาะผู้สนทนาที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยในการฟัง   สร้างความเข้าใจตาม  วิเคราะห์การสื่อความหมาย  เมื่อใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกแล้ว  ทำให้ดิฉันหมดความสนใจในการสนทนาได้โดยง่าย

4)       คืนก่อนนั่งรถทัวร์จากเชียงรายเข้ากรุงเทพ  มีด่านตรวจบัตรประจำตัวประชาชนบริเวณกลางทาง เข้าใจว่าบริเวณจังหวัดลำปาง ขณะนั้นเป็นเวลา 2230 น.  ดิฉันและผู้โดยสารบางท่านก็กำลังหลับ   อาสาสมัคร หรือ อส.กรมการปกครองเดินขึ้นมาบนรถและ ใช้ข้อศอกปลุกผู้โดยสารให้ตื่นเพื่อตรวจบัตรประจำตัวประชาชน แทนการใช้มือเนื่องจากกลัวติดเชื้อไข้หวัด 2009 และอส.ท่านนั้นก็ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกด้วย ดิฉันพยายามมองหาป้ายชื่อของ อส. ซึ่งไม่มีติดที่หน้าอก และไม่มีป้ายชื่อคล้องคอ  เห็นแต่ลูกกะตาที่มีแต่ความน่าสงสัย   ด้วยท่าทีลุกรี้ลุกลนของเขาทำให้ดิฉันสนใจเป็นพิเศษ  แต่ไม่สามารถบอกได้เลยว่าอาสาสมัครท่านนี้ของกรมการปกครองมีหน้าตา อย่างไร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน   กรมการปกครองน่าจะสนับสนุนและรณรงค์ให้อส.ของกรมของตนเอง คล้องคอด้วยป้ายชื่อที่มีรูปถ่ายหน้าตาที่ชัดเจน พร้อมกับมีชื่อนามสกุล และตำแหน่ง เพื่อแสดงตัวว่ามิใช่เป็นโจร หรืออาชญากร  เพียงเครื่องแบบอาสาสมัครของกรมการปกครองนั้นมิเพียงพอแก่การให้ข้อมูลแก่ประชาชน และมาขอดูข้อมูลของประชาชนโดยอ้างว่าเพื่อตรวจตราความสงบเรียบร้อย

5)       ดิฉันได้มีโอกาสดูโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือชวนเชื่อให้คนไทยสวมผ้าปิดปากปิดจมูก ด้วยคำพูดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องสวมหน้ากากเข้าหากัน   การใส่หน้ากากตามความหมายดั้งเดิมนั้นหมายถึงการไม่มีความจริงใจต่อกัน  การปิดบังแอบแฝงซ่อนเร้น  หลายปีก่อนอาจารย์อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัยกุล ได้แปลหนังสือเรียนชื่อ เบื้องหลังหน้ากาก สำหรับนักวิจัย และนักมานุษยวิทยา  เพื่อการทำงานเก็บข้อมูลและศึกษาวิจัยในพื้นที่   สำหรับแวดวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสื่ออาจคิดว่าท่านคิดค้นและสร้างสรรค์คำพูดเผยแพร่ได้สวยหรู โดนใจ เก๋ เท่ห์   ท่านอาจจะคิดว่าเป็นเพียงกายภาพเท่านั้น  แต่อย่าลืมว่าท่านคือสื่อที่สามารถสร้างบรรทัดฐานบางอย่างให้กับสังคมได้โดยที่ท่านไม่รู้ตัว  การที่คนไทยจะใส่หน้ากากเข้าหากัน แสดงว่าเราจะต้องมีสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้น  แสดงถึงความไม่จริงใจต่อกัน  แล้วเราจะไปแสวงหาน้ำใจ ความเป็นคนนไทยกันได้อย่างไรในสังคมยุคปัจจุบัน  เราจะต้องสวมหน้ากากเข้าหากันไปอีกนานเท่าไร   และมันคือความยั่งยืนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพของสังคมใช่หรือไม่

6)       วิธีการรณรงค์เพื่อป้องกันไข้หวัด 2009 และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้นั้น  ประเทศไทย และกระทรวง ทวง กรม ควรจะมีวิธีการรณรงค์อย่างแยบคาย มีกลยุทธ์  และอย่างน้อยแสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่อยู่บนฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาของประเทศเรา  มากกว่าการสร้างค่านิยมใหม่ที่เป็นสิ่งแปลกปลอม ตามตะวันตก  สร้างความเสื่อมในสังคม  สร้างความเสื่อมถอยในการศรัทธาองค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นไทย  ดิฉันกำลังจะบอกว่า การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่ดีที่สุดคือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์  อาหารคือยา บริโภคพืชผักพื้นบ้านที่สร้างภูมิคุ้มกันและมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักคาวตอง ฟ้าทะลายโจร ผักเซียงดา เป็นต้น   การดูแลสุขภาพใจด้วยการ ชำระล้างจิตใจให้สะอาด ผ่องใส คลายความเครียด ออกกำลังทางจิตใจบ้างด้วยการทำจิตให้สงบนิ่ง  การสร้างเสริมคุณภาพทางจิตวิญญาณให้เข้มแข็ง ด้วยการสร้างศรัทธาในใจ เพิ่มหรือเสริมขวัญกำลังใจด้วยการเรียกคืนชีวิตรวมหมู่ หรือ คือการใช้ชีวิตแบบ สังฆะ  และลดการใช้ชีวิตแบบ ปัจเจก ให้เหลือน้อยที่สุด

การรณรงค์ในบ้านเราอาจยังไม่ใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันเราต้องเรียนรู้ และเปิดกว้างที่จะปรับให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของเราด้วย อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ระดับสูงในสังคมไทยเปิดใจมากเพียงไร การมีเพียง เงิน หรือ งบประมาณ ในการดำเนินงานนั้น บางครั้งไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้ได้อย่างแท้จริง  ต้องอาศัยปัญญา ความกล้า และความอดทนด้วย

.....................................................................

ขอขอบคุณอาจารย์เสรี พงศ์พิศ และอาจารย์เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ  ผู้จุดประกายแนวคิดในการดำเนินงานและการดำเนินชีวิต

ขอขอบคุณน้องเก็ดถวาผู้ให้ยืมภาพจากเอ็นทรี่

http://www.oknation.net/blog/gedtawa/2009/07/09

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 291399เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 06:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท