Rain
นางสาว วารุณี จิรัญเวทย์

ผู้เรียนเป็นสำคัญ


อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม และอย่าเพิ่งหมดหวังในสิ่งที่ยังไม่เริ่มต้น

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนหลาย ๆ  ท่าน  เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้   โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ    นึกหาตัวอย่างที่เหมาะใจ สำหรับอธิบายให้คุณครูฟังไม่ได้   วันนี้ไปเดินซื้อต้นไม้ที่ร้านขายต้นไม้ ได้เห็นคนสวนกำลังปลูกต้นไม้ ได้เข้าไปพูดคุยเลยทำให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้

                                คนสวนเขารู้จักต้นไม้เป็นอย่างดีว่า  ต้นไหนชื่ออะไร  เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์อะไร  มีถิ่นกำเนิดที่ไหน   ( คุณครูก็รู้จักเด็กเป็นรายบุคคลเหมือนกัน )  นอกจากนี้คนสวนยังรู้ว่าต้นไม้แต่ละชนิด ชอบดินอย่างไร  แสงแดดเพียงใด   ชอบน้ำหรือไม่   ชอบอากาศอย่างไร  (คุณครูก็ควรจะรู้จัก Learning  Style  ของนักเรียนแต่ละคนว่า จะเรียนรู้ได้ดีโดยวิธีใด)  เมื่อทราบข้อมูลต่าง ๆ แล้ว  คนสวนก็จะลงมือปลูกต้นไม้นั้น  และเฝ้าดูแลบำรุงรักษาตามความชอบของต้นไม้  เพื่อให้ต้นไม้นั้นเจริญงอกงาม  (คุณครูก็จะจัดการเรียนการสอนตามความชอบ  ความถนัด   และความสนใจของผู้เรียนโดยคำนึงถึง Learning  Style ของผู้เรียนเป็นหลัก)  คนสวนจะคอยเฝ้ากำจัดวัชพืช และแมลงที่จะมารบกวนไม่ให้ต้นไม้นั้นงอกงาม  (คุณครูก็ต้องคอยจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้)  เมื่อปลูกไปได้สักระยะหนึ่ง   คนสวนก็จะคอยสังเกต (ประเมินผล) ว่าต้นไม้นั้นเจริญงอกงามได้ดีมากน้อยเพียงใด  เมื่อต้นใดแสดงอาการว่าจะไม่งดงาม หรือใบเปลี่ยนสี  คนสวนก็จะต้องให้ปุ๋ย โดยจะต้องมีความรู้ว่าถ้าอาการของต้นไม้เป็นอย่างนี้จะต้องให้ปุ๋ยอย่างไร (คุณครูก็ต้องประเมินผลว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามจุดประสงค์หรือไม่  ถ้านักเรียนคนใดแสดงอาการให้เห็นว่าจะไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ คุณครูก็ต้องจัดการซ่อมเสริมให้   ซึ่งคุณครูก็ต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมใดในการซ่อมเสริมให้แก่นักเรียน)

                                ใครที่เคยไปร้านขายต้นไม้  คงจะสังเกตเห็นว่า  เขาจะจัดต้นไม้ไว้เป็นกลุ่มเป็นพวกตามความชนิดและความชอบของต้นไม้   พวกที่ชอบแดดจัดก็จะถูกจัดวางไว้กลางแดด  พวกที่ชอบแดดรำไรก็จะจัดไว้ในที่ที่มีวัสดุพรางแสง  ไม้ในร่มก็จะอยู่ในชายคาของร้านที่ได้รับแสงน้อย  ( คุณครูเราจัดแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเหมือนกัน  แต่ให้ปุ๋ยให้น้ำเหมือนกันหมดเลย)   เราจะสังเกตได้ว่าคนสวนเขาปลูกต้นไม้และดูแลรักษาตามสภาพของต้นไม้แต่ละชนิดแต่ละต้น  เขาสามารถบอกได้ว่าต้นไม้ชนิดนี้ใช้เวลาในการเพาะต้นกล้าเท่าไรจึงจะย้ายไปปลูกลงดินหรือกระถางได้  ถ้าเร็วกว่านั้นต้นกล้าก็จะไม่แข็งแรงอาจจะตายได้  หรือถ้าปล่อยไว้นานเกินไปต้นกล้าก็อาจจะมีรากที่ยาวเกินไป  เมื่อจะย้ายไปปลูกลงกระถางหรือลงดิน ก็จะทำให้รากขาดหรือกระเทือน  ต้นไม้ก็อาจจะตายได้เช่นกัน  ( คุณครูของเราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าใดนักเรียนจึงจะอ่านออกเขียนได้   นักเรียนจะมีคุณภาพอย่างไรในเวลา  1 ภาคเรียนหรือ  1 ปี  )หากคุณครูใช้การสังเกตและประเมินผล(วิจัย)ควบคู่ไปกับการทำงานในหน้าที่  คุณครูก็คงจะบอกได้ว่านักเรียนของคุณครูต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เท่าใดจึงจะเกิดคุณภาพตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้   

                                ถ้าคุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามความชอบ   ความถนัด  และความสนใจของผู้เรียนโดยยึด Learning  Style  ของเด็กแต่ละคน นักเรียนได้แสดงบทบาทในการเรียนรู้เอง  คุณครูเป็นเพียงผู้คอยจัดสถานการณ์และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้    นักเรียนก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุข  และได้พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ได้ถึงขีดสุด    คุณครูก็จะเหมือนคนสวนที่เฝ้าปลูกต้นไม้และบ่มเพาะเมล็ดพันธุทางปัญญาให้เกิดแก่อนาคตของชาติ   

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 291331เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะ  อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม และอย่าเพิ่งหมดหวังในสิ่งที่ยังไม่เริ่มต้น

ขอขอบคุณค่ะ สำหรับกำลังใจ ที่ติชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท