หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ไร่หมุนเวียน : วิถีชีวิต วิถีทำมาหากิน


ไร่หมุนเวียน

 

      ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคา จะทำไร่ข้าวปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งแปลง ในพื้นที่ราว ๓-๕ ไร่ ในไร่ข้าวปลูกพืชผักทุกชนิดที่ใช้บริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี

      การทำไร่ จะเริ่มต้นจากการเลือกพื้นที่ซึ่งเป็นไร่เหล่า ซึ่งจะต้องเป็นไร่เหล่าแก่ พื้นที่ทำไร่เดิมที่ถูกปล่อยพักให้ผืนดินได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ราว ๖-๘ ปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของผืนดิน บางแห่งใช้เวลา ๖ ปี บางแห่ง ๗ ปี และบางแห่งต้องใช้เวลาถึง ๘ ปี โดยมากแล้วพื้นที่ที่อยู่บนที่สูงผืนดินจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าพื้นที่ที่อยู่ในที่ต่ำ

      การเลือกพื้นที่ทำไร่ในแต่ละปี จะดำเนินการอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงตรวจสอบดูสภาพผืนดินผืนป่าเท่านั้น ชาวบ้านผู้จะเลือกพื้นที่ทำไร่ยังต้องทำการเสี่ยงทายตามแบบที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษด้วย หากการเสี่ยงทายนั้นไม่เป็นผลก็จะต้องไปเลือกพื้นที่แห่งใหม่

      เมื่อได้พื้นที่แล้ว ก็จะเริ่มลงมือถางไร่ ซึ่งการถางไร่นี้จะไม่ตัดโค่นต้นไม้แบบขุดรากถอนโคน แต่จะตัดให้เหลือตอสูงพอประมาณ พอที่จะแตกช่อออกในปีถัดไป ต้นไม้ต้นใหญ่ก็จะไม่โค่นลง เพียงแค่ลิดกิ่งไม้ออกเพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึงพื้นไร่ และจะเหลือกิ่งก้านเล็กๆ บริเวณปลายยอดเหลือไว้บ้างเพื่อเป็นที่เกาะของนกพญาไฟ ตามความเชื่อที่สืบทอดมา

      เศษกิ่งไม้ที่ถูกลิดและแผ้วถางจะถูกปล่อยให้แห้งสนิทจากการแผดเผาของแสงแดดราวหนึ่งเดือน แล้วก็จะถูกเผา ก่อนเผาไร่เจ้าของไร่และเพื่อนบ้านจะช่วยกันทำแนวกันไฟและต้องคอยดูอยู่ตลอดเวลาการเผาไร่จนไฟดับเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลามเข้าสู่พื้นป่า

      วันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะเริ่มลงมือปลูกข้าวโพดในไร่ โดยจะเลือกพื้นที่บริเวณที่เศษไม้ถูกเผาไหม่เป็นกองใหญ่ วันถัดมาก็จะเริ่มปลูกพืชผักอื่น ๆ เช่น เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น

      การปลูกพืชผักจะเป็นหน้าที่ของแม่บ้านและลูกสาว ซึ่งในระหว่างนั้นพ่อบ้านกับลูกชายก็จะช่วยกันปลูกกระท่อมและล้อมรั้วไร่ โดยใช้ไม้จากการแผ้วถางไร่ เศษไม้บางส่วนก็จะนำไปซุกไว้ใต้ถุนกระท่อมไว้เป็นไม้ฟืนสำหรับใช้ในไร่ บางส่วนก็จะแบกไปใช้ที่บ้าน

      จากนั้นราว ๑ สัปดาห์ชาวบ้านก็จะเริ่มลงมือปลูกข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะนำไปปลูกจะถูกเมล็ดพืชผักอื่นผสมปนลงไปด้วย เช่น ผักชี แตงกวา มะเขือ มะเขือเทศ ผักกาด ฯ

      การปลูกข้าวพ่อบ้านหรือฝ่ายชายจะขุดดินด้วยเสียมกว้างราวสามนิ้ว ลึกลงไปราวหนึ่งนิ้วพอที่จะฝังกลบเมล็ดข้าวที่หยอดลงไปได้ ฝ่ายแม่บ้านหรือฝ่ายหญิงจะเดินตาม หยอดเมล็ดข้าวและพืชพันธุ์ที่ผสมปนเปกันลงหลุมแล้วก็กลบ

      หลังจากปลูกข้าวแล้ว ชาวบ้านก็จะปลูกพืชผักอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น พริก งา ต้นหอม ผักชี บวบ ฝ้าย ฯลฯ ลงไปด้วย

      เมล็ดข้าวและพันธุ์พืชต่าง ๆ เมื่อได้รับน้ำฝนและความชุ่มชื้นจากผืนดินก็เริ่มงอกเงย ในขณะที่ต้นหญ้าวัชพืชนานาชนิดก็แข่งกันงอกงาม งานในไร่ของชาวบ้านยามนี้คือการดายหญ้าเพื่อไม่ให้บดบังต้นข้าวและพืชไร่อื่น ๆ การดายหญ้านั้นเท่ากับเป็นการพรวนดินไปในตัว ต้นหญ้าที่ถูกดายออกก็ถูกฝังกลบกลายเป็นปุ๋ยพืชสดให้ต้นข้าวในเวลาต่อมา

      ระยะผ่านไปราวสองเดือนต้นข้าวเขียวชอุ่มเต็มผืนไร่ ข้าวโพดที่ปลูกไว้เริ่มให้ฝัก ชาวบ้านทยอยเก็บเกี่ยวมากินเป็นระยะ เช่นเดียวกับพืชผักอื่น ๆ เช่น ผักกาด หอม ผักชี เผือก มัน ฯลฯ

      จนกระทั่งข้าวโพดในไร่เริ่มวายแล้ว แตงกวาก็จะเริ่มออกลูกอ่อน ๆ ส่วนแตงลายออกลูกมาก่อนหน้าเริ่มเก็บกินได้บ้างแล้ว

      เวลาผ่านไปจนกระทั่งต้นข้าวตั้งท้องออกรวงเริ่มสุก สีเขียวอมเหลืองช่วงนี้แตงลายวายแล้ว ขณะที่แตงกวาออกลูกเต็มไปทั้งไร่

      หลังจากข้าวในไร่ข้าวสุกเหลืองอร่าม ชาวบ้านก็จะเก็บเกี่ยว โดยจะมีเพื่อนบ้านในหมู่บ้านหมุนเวียนมาช่วยกันเกี่ยวข้าว บรรดาพืชผักต่างๆ ในไร่ เช่น แตงกวา ยามที่นั่งพักเหนื่อยก็จะนำมาหั่นกินกันสด ๆ พืชผักอื่น ๆ ก็จะนำมาประกอบอาหารเลี้ยงเพือนบ้านที่มาช่วยงานกันตอนกลางวัน

      ฟ่อนข้าวที่เกี่ยวแล้วจะถูกตากไว้ราวสามวัน คนในครอบครัวจะช่วยกันทำลานตีข้าวแล้วนำรางตีข้าวไปไว้ที่กลางลาน จากนั้นก็ขนฟ่อนข้าวมาช่วยกันตี ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปเก็บไว้ที่กระท่อมที่ถูกแปลงสภาพเป็นฉางข้าว

      อีกสองสามวันถัดมาก็จะแบกข้าวกลับบ้าน ไร่ข้าวอยู่ใกล้บ้านก็จะขนได้เร็ว แต่หากไร่ข้าวอยู่ห่างออกไปไกล ก็จะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะขนเสร็จ

      ผืนไร่ที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เต็มไปด้วยตอฟางและพืชผลต่าง ๆ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวได้ระยะหนึ่งแม่บ้านจะเดินทางเข้าออกไร่เพื่อเก็บพืชไร่นานาชนิดไว้เพื่อทำพันธ์ในปีต่อไป เมล็ดพันธ์บางอย่างจะห่อด้วยผ้า บางอย่างใส่หม้อดิน บางอย่างใส่กระบอกไม้ไผ่ บางอย่างมัดไว้เป็นพวง นำขึ้นตากบนชั้นเตาไฟ ให้ความร้อนจากเตาไฟช่วยทำเมล็ดพันธ์แห้งและป้องกันเชื้อรา แมลง ปลวก มอด ที่จะมากัดกิน

      พืชผักที่ยังคงเก็บกินต่อไปได้เรื่อย ๆ อีกหลายเดือนได้แก่ ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา เผือก มัน เมล็ดถั่ว เมล็ดงา แต่พืชผลบางอย่างยังไม่เก็บในช่วงนี้แต่ต้องรอหลังจากนั้น เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น

      นอกจากเก็บพืชผักแล้ว สมาชิกในครอบครัวก็จะไปช่วยกันเก็บท่อนไม้จากไร่ ที่กองฟาดอยู่ตามขอนไม้ วางฟาดทำรั้ว เพื่อนำมาทำฟืนสำหรับการหุงต้มในครัวเรือนตลอดทั้งปี ฟืนที่นำมาจะถูกตัดเป็นท่อน ๆ กองไว้ใต้ถุนเรือน

 

หมายเลขบันทึก: 291163เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท