10 เรื่องที่ควรรู้ในการทำงานสิ่งพิมพ์ (ตอนที่ 1)


"เลิกส่งไฟล์ภาพที่จะใช้ในงานพิมพ์ ผ่านโปรแกรม Power Point กันเถิด"

"ส่งภาพไปพิมพ์หนังสือเหรอ...ก็ส่งไฟล์ Power Point ที่เรามีให้เขาไปได้เลย รูปรวมอยู่ในนั้นหมดแล้ว" 

ได้ยินประโยคนี้แล้ว ผู้เขียนหายใจไม่ทั่วท้องเลยทีเดียว ด้วยเหตุว่าความเชื่อดังกล่าวนี้ถือว่าบั่นทอนคุณภาพ "ภาพ" ในงานพิมพ์ไปมากทีเดียว

จริงอยู่ค่ะว่า ในบางครั้งภาพต้นฉบับนั้นอาจมีการสูญหายไป เหลือแต่ภาพที่เคยใช้ในโปรแกรมพรีเซ้นต์เตชั่นแบบ Power Point ก็เลยต้องส่งภาพในไฟล์ Power Point มาให้แทน เหตุผลนี้อาจยอมรับได้ แต่ลูกค้า (หรือผู้สั่งพิมพ์) ก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า คุณภาพของ "ภาพ" ที่ได้ออกมานั้นอาจจะไม่คมชัดหรือไม่ดีเท่าไฟล์ที่มีนามสกุล .jpg (ดั้งเดิม) อย่างแน่นอน ซึ่งควรจะส่งเป็นไฟล์เดี่ยวๆ ไม่ใช่แปะอยู่ในโปรแกรม Power Point

โดยทั่วไป ผู้เขียนมักแนะนำให้ลูกค้าหรือผู้ที่ต้องทำงานสิ่งพิมพ์ ส่งไฟล์ภาพที่มีนามสกุล .jpg มาให้ (ยิ่งถ้าเป็นไฟล์ Original ที่ไม่ผ่านการลดขนาด (Resize) หรือตกแต่งมาด้วยแล้วจะยิ่งดี) เพราะไฟล์นามสกุล .jpg นั้นเป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไปมากที่สุด เพราะมักจะเป็นไฟล์ต้นฉบับที่ได้มาจากกล้องดิจิตอล หรือจากเครื่องสแกน เสียเป็นส่วนใหญ่ คุณภาพที่ได้จึงค่อนข้างดี (ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ input อีกต่อหนึ่ง)

ที่นี้ภาพที่อยู่ในโปรแกรม Power Point นั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โปรแกรมของ microsoft นั้นเน้นการใช้งานที่ง่ายและสะดวก เป็นประเภทโปรแกรม plug&play คือคลิ๊กๆ ลากๆ ก็ได้ผลลัพท์ออกมาถูกใจ แต่ในกระบวนการที่แสนง่ายและสะดวกนั้น โปรแกรมจะทำการลดขนาดของภาพที่ถูกเรียกเข้ามาวางให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ไฟล์มีขนาดใหญ่เกินไป (ซึ่งจะทำให้โปรแกรม hang บ่อยๆ) และด้วยเหตุนี้ภาพที่อยู่ในโปรแกรม Power Point จึงมีขนาดเล็กเพราะถูกทำให้สูญเสียความคมชัดไปในระดับหนึ่ง (ซึ่งเทียบไม่ได้กับความคมชัดแรกที่เรียกภาพเข้ามาใช้งาน) และที่สำคัญร้อยละ 99.99 ของการนำภาพไปใช้ในโปรแกรม Power Point มักจะมีการลดขนาด ย่อ-ขยาย จับภาพยืดหรือหดอย่างไม่ได้สเกล (ลากตามใจฉัน) ภาพเหล่านั้นจึงถูกลดคุณภาพไปอย่างที่ใครบางคนอาจนึกไม่ถึง

ดังนั้นถ้าใครก็ตามที่ส่งภาพจากโปรแกรม Power Point ให้กับผู้ออกแบบเพื่อวางอาร์ตเวิร์ค กรรมวิธีต่อจากนั้นก็คือ ผู้ออกแบบต้อง copy ภาพจากโปรแกรม Power Point มาใส่ในโปรแกรมจัดการไฟล์ภาพประเภทโฟโต้ช็อปกันอีกที แล้วจึงเรียกภาพนั้นไปใช้วางในโปรแกรมสำหรับจัดวางอาร์ตเวิร์คอื่นๆ ต่อไป (เช่นIllustrator / InDesign / PageMaker หรือQuarkXpress) ภาพที่ได้จึงสูญเสียความคมชัดไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในแต่ละขั้นตอนเหล่านั้น กรรมวิธีแบบนี้จึงไม่เหมาะกับการทำงานเพื่อผลิตสื่อสิ่งพิมพ์

ถ้าจะให้เปรียบเทียบเพื่อให้นึกภาพออกเห็นทีจะต้องเปรียบเทียบกับไฟล์เพลง เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าคุณภาพสูงสุดของไฟล์เพลงโดยทั่วไปนั้นมักมีนามสกุลประเภท .wav หรือ .aif ซึ่งคุณภาพเสียงจะค่อนข้างดีและมีขนาดไฟล์ที่ใหญ่ (เป็นไฟล์ประเภท Audio) เมื่อฟังเสียงจากซีดีแผ่นแท้ประเภทออดิโอ เราจะได้ยินเสียงที่ใสไพเราะเพราะพริ้ง

แต่หากเปิดฟังเพลงเดียวกัน แล้วเลือกฟังจากไฟล์ที่ถูกบีบอัดแล้วไม่ว่าจะเป็น .wma หรือ .mp3 ก็ตาม ผู้อ่านจะเห็นชัดเลยว่า คุณภาพเสียงนั้นมันต่างกันมาก เสียงมันจะอู้อี้และไม่สดใส ไฟล์ภาพที่ถูกเอาไปวางในโปรแกรม Power Point ก็เช่นกันค่ะ มันได้สูญเสียความคมชัดไปแล้ว เราจะไปเรียกความคมชัดนั้นกลับคืนมาอีกก็ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะมาผ่านการตกแต่งภาพอย่างไรก็จะไม่มีวันกลับมาคมชัด สวยใสได้เหมือนไฟล์ดั้งเดิมอีกเลย จึงขอบอกว่า "เลิกส่งไฟล์ภาพที่จะใช้ในงานพิมพ์ ผ่านโปรแกรม Power Point กันเถิด"

หมายเลขบันทึก: 291156เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท