"สื่อใหม่สร้างสรรค์" เมื่อเยาวชนใช้ภาพเคลื่อนไหวบอกเล่าความคิด


โครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการสื่อใหม่สร้างสรรค์” ที่มีผู้ใหญ่ใจดีอย่างนิตยสารฟิ้ว ในเครือนิตยสารไบโอสโคป รับหน้าที่เป็นแม่งาน

 

 

ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้อาศัยช่วงเวลาสั้นๆ มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่เขา “รัก” และสนใจที่จะเรียนรู้ อย่าง หนังสั้น หนังสารคดี โมชั่นกราฟฟิก หรือจะเป็นทักษะ การเป็นโปรดิวเซอร์ โดยเป็นกิจกรรมในโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการสื่อใหม่สร้างสรรค์” ที่มีผู้ใหญ่ใจดีอย่างนิตยสารฟิ้ว ในเครือนิตยสารไบโอสโคป รับหน้าที่เป็นแม่งาน ภายใต้การสนับสนุนของหลายหน่วยงาน อาทิ เทศบาลนครขอนแก่น ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT จังหวัดขอนแก่น และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดูตัวอย่างสื่อภาพเคลื่อนไหวที่ผ่านการคัดสรร
ก่อนเกิดไอเดียพัฒนาให้เกิดเป็นผลงานตนเอง

กิจกรรมเวิร์กช็อปสื่อภาพเคลื่อนไหวที่น้องๆ นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกว่า 100 ชีวิต รักที่จะเรียนรู้คราวนี้แบ่งเป็นการเติมเต็มทักษะในห้องการทำหนังสั้น ห้องหนังสารคดี และห้องโมชั่นกราฟฟิก โดยทีมงานนิตยสารฟิ้วและวิทยากรรับเชิญนับสิบชีวิต อาทิ อ.บุญส่ง นาคภู่ นักทำหนังและอาจารย์พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสารฟิ้ว ทีมงานผลิตหนังสั้น Thaishortfilm คุณศิวดล ระถี ผู้กำกับหนังสั้น-สารคดี และกลุ่มผู้ผลิตโมชั่นกราฟฟิก “อะโพสโตรฟีเอส”ส่วนเยาวชนซึ่งสนใจการเป็นโปรดิวเซอร์จะได้เรียนรู้ทักษะและประสบการณ์จากคุณโสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง Wonderful Town 
 

“สุภาพ หริมเทพาธิป” บรรณาธิการบริหารนิตยสาร   ไบโอสโคป กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมว่า เพื่อเป็นการจุดประกายให้เยาวชนรุ่นใหม่ มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการใช้ “ภาพเคลื่อนไหว” เป็นช่องทางการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ ในยุคที่เทคโนโลยีมัลติมีเดียก้าวเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารมากขึ้น

 ตลอด 3 วันของกิจกรรม คาดว่าจะทำให้เยาวชนเกิดทัศนคติที่ดีต่อการผลิตสื่อใหม่ว่าเป็นเรื่องไม่ยากและไม่ไกลตัวอย่างที่คิด ตลอดจนเปลี่ยนจากการเป็นผู้เสพสื่อมาเป็นผู้ผลิตสื่อบ้าง โดยปีนี้ ทีมงานนิตยสารฟิ้วจะเดินสายจัดกิจกรรม ชักชวนเยาวชนทุกภาคให้รู้จัก และ “คันไม้คันมือ” อยากทดลองผลิตสื่อใหม่ด้วยตนเอง

      สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อใหม่สร้างสรรค์ประกอบด้วย การอบรมการผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหวครอบคลุมทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐานแนวทางการคิด ขั้นตอนการเขียนบท การสาธิตใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือการผลิต การสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของทีมงาน รวมถึงการเสริมทักษะเชิงเทคนิคในการตัดต่อภาพและเสียงจนได้ผลงานที่พร้อมนำออกเผยแพร่



เพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่เยาวชน หลังจากได้รับคำแนะนำในการทำสื่อภาพเคลื่อนไหวจากทีมวิทยากรตลอด 2 วันเต็มๆ แล้ว วันสุดท้ายของกิจกรรม เยาวชนยังได้แบ่งกลุ่มลงสนามเก็บภาพและเรื่องราวมาผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหวด้วยตนเอง ในหัวข้อ “บ้านใกล้เรือนเคียง” เพื่อบอกเล่าสิ่งที่พบเห็นในจังหวัดขอนแก่น และนำเสนอใน “งานถนนศิลปะ หรือ Art Lane ครั้งที่ 6” จัดโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวชิ้นแรกของตนเอง โดยผลงานเหล่านั้นยังได้รับความสนใจจากผู้เยี่ยมชมงานถนนศิลปะเป็นจำนวนมาก

ด้านเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม “ประพัฒน์ วุฒพันธ์” หรือ โม นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสนใจการผลิตหนังสั้น กล่าวอย่างภูมิใจว่า เขาเคยผลิตหนังสั้นมาแล้วเรื่องหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพราะต้องการเรียนรู้ทักษะการผลิตหนังสั้นเพิ่ม โดยพยายามตักตวงความรู้และประสบการณ์กลับไปให้มากที่สุด ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะได้เรียนรู้กลับไปมากมาย โดยเฉพาะคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการผลิต การวางโครงเรื่องและแก่นเรื่องที่ชัดเจน การลำดับเรื่องราวที่เข้าใจง่าย รวมทั้งการใช้ภาพและภาษาท่าทางเล่าเรื่องแทนคำพูด ซึ่งทำให้เขาเข้าใจกระบวนการผลิตหนังสั้นมากขึ้น

สุภาพ หริมเทพาธิป
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร
ไบโอสโคปในฐานะแม่งาน

น้องโม ประพัฒน์ วุฒพันธ์

“ผมชอบหนังสั้นเพราะเป็นการถ่ายทอดความคิดของเราให้คนอื่นได้รับรู้ นำสิ่งดีๆ ในสังคมซึ่งบางคนอาจมองไม่เห็นหรือมองข้ามไปมาทำให้เขาได้เห็น ไม่บอกตรงๆ แต่จะสื่อสารแบบอ้อมๆ ให้เขาคิดเอง และใช้ภาพเป็นตัวสื่อสาร ต่างจากการเขียนหนังสือที่แม้จะเป็นการถ่ายทอดความคิดเหมือนกัน แต่ผู้อ่านจะไม่เห็นภาพเหมือนกับหนังสั้น” โมให้เหตุผล

ในการเวิร์คช็อปครั้งนี้ โมได้ทำหนังสั้นร่วมกับเพื่อนๆ ภายใต้ชื่อเรื่อง “คนบ้านเดียวกัน” เป็นการนำเสนอเรื่องของคนในบ้านเดียวกันแต่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน เป็นผลมาจากการเสพข่าวสารทางทีวีที่ฉายภาพให้เห็นความขัดแย้งอย่างชัดเจน ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว คนเหล่านั้นก็ยังคงเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน และยังคงนั่งล้อมวงรับประทานอาหารจากข้าวหม้อเดียวกันได้อย่างมีความสุข

ส่วน “มยุรีย์ สามารถ” หรือ จิ๋ว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกหนึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม และได้ผลิตสารคดีสั้นเกี่ยวกับคณะเชิดมังกรเก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นบอกว่า การทำกิจกรรมหนนี้ทำให้เธอได้รับความรู้ใหม่ๆ และมีโอกาสสัมผัสกับเรื่องราวจริงๆ อย่างคณะเชิดมังกรที่เธอใช้เวลา 1 วันเข้าทำสารคดี ทำให้รู้จักคณะเชิดมังกรดังกล่าวมากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่เพียงพบเห็นและเข้าไปซักถามบ้าง โดยจุดประสงค์ของการหยิบยกเรื่องนี้มากล่าวถึงเพราะต้องการประชาสัมพันธ์คณะเชิดมังกรคณะนี้ให้เป็นที่รู้จัก และได้รับการสนับสนุนให้ดำรงอยู่คู่จังหวัดขอนแก่น

ในส่วนของสารคดี ยังมีผลงานสารคดีน่ารักๆ เรื่อง “เปลี่ยน” ซึ่งใช้ภาพถ่ายสถานที่สำคัญในอดีตของจังหวัดขอนแก่นตัดสลับกับบทสัมภาษณ์ของผู้พักอาศัยในปัจจุบันเป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทว่าสิ่งหนึ่งที่สารคดีพยายามบอกแก่ผู้ชมคือ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใด แต่ความสัมพันธ์ของชาวขอนแก่นก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และชาวขอนแก่นยังคงมีรอยยิ้มให้แก่กันและกันเสมอๆ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่นักเรียน นักศึกษา เท่านั้นที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม “สามเณรพงษ์เทพ บุญไทยชุบ” ที่มาไกลจากวัดทรงเมตตาวนาราม จังหวัดชลบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมกิจกรรมที่มีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม โดยสามเณรพงษ์เทพ กล่าวว่า ตั้งใจมาร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้การผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคโมชั่นกราฟฟิกเพื่อนำกลับไปพัฒนาสื่อการสอนธรรมะให้แก่นักเรียน ซึ่งโรงเรียนในพื้นหลายแห่งมักนำนักเรียนเข้ารับการอบรมอยู่บ่อยครั้ง

ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรมตลอด 3 วัน สามเณรพงษ์เทพ กล่าวว่า จะนำกลับไปผลิตสื่อเช่น การ์ตูนธรรมะแอนิเมชั่น ที่มีทั้งความสวยงามและดึงดูดความสนใจ เหมาะสำหรับเด็กนักเรียน และอาจผลิตแจกจ่ายเป็นธรรมทานในรูปของแผ่นวีซีดีแก่ญาติโยมพุทธบริษัท โดยการมาเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้สามเณรพงษ์เทพได้รู้จักโปรแกรมและเทคนิคใหม่ๆ ที่ใช้ผลิตสื่อการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้งานและศึกษาเพิ่มเติมเองได้

สามเณรพงษ์เทพ บุญไทยชุบ

ขณะที่ “สุทิน ศิรินคร” จากโครงการต่อยอดพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า เป็นกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่งภายใต้โครงการ “IT สีขาวเพื่อการเรียนรู้ของเยาวชน” ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลให้การสนับสนุนร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีนิตยสารฟิ้วและไบโอสโคป โดยการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนในการนำศิลปะมาใช้กับการผลิตหนังสั้น สารคดี การทำโมชั่นกราฟฟิก ตลอดจนการเป็นโปรดิวเซอร์ อันจะเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเรื่องราว มุมมองความคิด การนำเสนอผลงาน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานความสำเร็จของเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งหมายของมูลนิธิสยามกัมมาจล

เรียกได้ว่าเป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจในยุคไอที ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้เทคโนโลยีไอซีที แสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างลงตัวและมีความน่าสนใจยิ่ง

คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์
บรรณาธิการนิตยสารฟิ้ว

อาจารย์บุญส่ง นาคภู่ วิทยากรพิเศษที่ให้
ทั้งความรู้แก่เยาวชนในบรรยากาศสบายๆ

คุณโสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์ตัวจริง
ที่มาให้ความรู้แบบหมดเปลือก

ลงสนามเก็บภาพและ
เรื่องราวมาทำหนังสั้น.

หลังจากได้ข้อมูลก็มาถึง
ช่วงการตัดต่อภาพและเสียง

แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังจากได้นำเสนอ
ผลงานต่อผู้มาร่วมงานถนนศิลปะ

Source : http://www.scbfoundation.com/news_info_detail_th.php?cat_id=1&nid=297

หมายเลขบันทึก: 290599เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดี ครับ

มานั่งแถวหน้าบ้าง ครับ เพราะแย่งที่นั่งกับ fanclub ของคุณนงนาทไม่ค่อย ทัน

และจะตั้งใจอ่านอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ ครับ

ขอบคุณค่ะ คุณแสงแห่งความดี ที่มาเยี่ยมคนแรก ช่วงนี้กำลังทะยอยนำกิจกรรมของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อยู่ในสต็อค มาเผยแพร่ให้ทราบ ระหว่างรอกิจกรรมใหม่ๆที่กำลังเข้าคิวแน่นเอียดในช่วง สองสามเดือนข้างหน้านี้...

สวัสดีค่ะ

  • กิจกรรมเพื่อสังคม..ดีมากค่ะ
  • ตั้งใจอ่านเหมือนคุณแสงฯ ค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะแม่ครูคิมที่มาเยี่ยม...ขอให้มีความสุขนะคะ...

8844 

ขอบคุณค่ะ อ.ขจิต..แม้ว่าพี่ใหญ่ไม่ได้ไปร่วมสนุกด้วย...แต่ทุกความเคลื่อนไหวและเรื่องเล่า..สะท้อนความสุขของผู้ให้และผู้รับได้มีร่วมกัน...และจะกลายเป็นความทรงจำของทุกคน..รวมทั้งกัลยาณมิตรผู้อ่านชาว gotoknow ด้วยนะคะ..

Thachaic41 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท