Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๒ : รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชายขอบอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ? : การกระทำของตำรวจรถไฟตามข้อเท็จจริงนี้ ทำให้รัฐตกเป็นผู้ละเมิดข้อ ๙ และ ๑๕ แห่ง ICCPR หรือไม่ ?


อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้คิดว่า ควรจะต้องเดินทางไปเยี่ยมสำนักงานตำรวจแห่งชาติและจังหวัดเชียงใหม่ (๑) อ.แหววเดาว่า นายอ่องอ่องน่าจะเป็นคนเชื้อสายไทยใหญ่ที่เดิมอพยพจากประเทศพม่า เข้ามาในประเทศไทย และในวินาทีที่เข้ามาอาจจะเป็นคนไร้รัฐ แต่ก็เป็นไปได้ในวันนี้ ที่จะมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในช่วงที่พม่ายอมรับเพิ่มชื่อคนเชื้อสายไทยใหญ่ในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในช่วงที่มีการประชาพิจารณ์กฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ของพม่า แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่นายอ่องอ่องอาจไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า กล่าวคือ ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ (๒) อ.แหววสรุปได้ว่า เมื่อนายอ่องอ่องถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นายอ่องอ่องจึงมีสถานะบุคคลเป็นคนที่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนั้น แม้จะเป็นคนต่างด้าว หรืออาจจะไร้สัญชาติ แต่ก็มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในลักษณะถาวรในประเทศไทย เขาเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ถาวร (๓) เขาเป็นมนุษย์ที่ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเขาและรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดการละเมิด (๔) เขามีสิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของตน บุคคลใดจะถูกจับกุมหรือคุมขังโดยพลการมิได้ตามข้อ ๙ แห่ง ICCPR และเขามีสิทธิที่จะไม่ต้องรับผิดทางอาญา หากเขามิได้กระทำความผิดทางอาญา (๕) อ.แหววจึงเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการหยิบยกขึ้นมาโดย “เพลิงมรกต” นี้จึงควรจะได้รับการอธิบายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ตำรวจรถไฟ” จึงเลือกสถานการณ์นี้เพื่อตั้งคำถาม “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ถึงความเข้าใจของเหล่าตำรวจถึงความอาจเป็น “ราษฎรไทยไร้สัญชาติ” ของคนในสถานการณ์ดังนายอ่องอ่อง และการคุ้มครองพวกเขาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่เกิดขึ้น

นายอ่อง อ่อง คนต่างด้าวสัญชาติพม่า บ้านอยู่ ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนว่า เมื่อค่ำวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ผ่านมา เขาเดินทางจาก จังหวัดเชียงใหม่ เข้ากรุงเทพฯ

หลังรถไฟออกจากสถานีเชียงใหม่ไม่นาน มีตำรวจรถไฟเดินมาตรวจบัตรประชาชน

เขายื่นบัตร "ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว" ให้ดู ในใบสำคัญของเขามีลายเซ็นตำรวจ ประทับตรา และใช้เดินทางได้ทั่วประเทศ

ตำรวจรถไฟคนนั้นเอาไปดูแล้วบอกว่า ไม่มีลายเซ็นตำรวจ  ต้องถูกดำเนินคดี เขายืนยันว่า มีลายเซ็นตำรวจถูกต้องแล้ว และแจ้งย้ายทะเบียนบ้านแล้วด้วย

ตำรวจคนนั้นไม่ฟังพูดว่า "อย่าเถียง ปรับคดีเลยดีไหม"

จากนั้นก็ขอดูตั๋วรถไฟ แล้วยึดเอาใบสำคัญกับตั๋วรถไฟไป โดยบอกให้เตรียมตัวลงรถไฟที่สถานีลำพูน

พอถึงสถานีลำพูน ตำรวจคนนั้นก็ให้เขาลงจากรถไฟ มีตำรวจนอกเครื่องแบบอีกคนรออยู่ อ้างว่าเป็น "สารวัตร"

ทั้งคู่พาเขาเดินไปขึ้นรถระหว่างทาง เขาถามว่าเอกสารของเขาถูกต้องแล้ว จะต้องมีลายเซ็นอะไรอีก

ตำรวจคนนั้นตบหน้าเขาอย่างแรง เขาถามว่า มาตบผมทำไม ตำรวจคนนั้นไม่ตอบแต่เตะเขาที่ขาจนล้มลงแล้วบอกว่า "ใหญ่นักหรือ นั่งยางเลยดีไหม"

ทั้งคู่ให้เขาขึ้นรถกระบะขับกลับไปที่สถานีรถไฟเชียงใหม่

รับพม่าชาวมุสลิมขึ้นมาบนรถอีก ๓ คน แล้วพาไปที่บ้านพักตำรวจรถไฟใกล้สถานี

ไปถึงพม่าชาวมุสลิมทั้ง ๓ คน ถูกพาไปอีกห้อง ส่วนเขา ตำรวจพาแยกไปอีกห้อง ให้เอาของในกระเป๋าออกมาให้ตรวจ ไม่พบอะไรผิดกฎหมาย

ตำรวจรถไฟหยิบใบเสร็จออกมาบอกว่า ถ้าไปโรงพักจะต้องเสียค่าปรับ ๕,๐๐๐ บาท แต่จะช่วยให้เสียเงินน้อยแค่ ๑,๒๐๐ บาท และเขียนชื่อคนอื่นในใบเสร็จจะได้ไม่เสียประวัติ

เขาไม่มีทางเลือกต้องจ่ายเงิน ๑,๒๐๐ บาท เพื่อจะได้รับการปล่อยตัว ทั้งที่ไม่มีความผิด ในใบเสร็จที่ตำรวจให้มาไม่ระบุว่า ใครรับเงิน เป็นค่าอะไร ไม่มีตราประทับ ไม่มีคำว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เขาไปร้องทุกข์ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ จนถึงตอนนี้ไม่มีอะไรคืบหน้า จึงขอให้ ผบก.รฟ.จัดการกับตำรวจนอกแถวกลุ่มนี้ให้เข็ดหลาบ

อย่าคิดว่าเป็นชาวพม่าแล้วจะไม่กล้าร้องเรียน.

---------

หมายเหตุที่ ๑

ข้อบทของ ICCPR ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนายอ่องอ่อง

---------

ข้อ ๙ : สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของตน 

---------

.  บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของตน  บุคคลใดจะถูกจับกุมหรือคุมขังโดยพลการมิได้  บุคคลใดจะถูกริดรอนเสรีภาพของตนมิได้ยกเว้นโดยเหตุและอาศัยกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

๒.  บุคคลผู้ถูกจับกุมย่อมได้รับการแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุมและการแจ้งข้อหาอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนโดยพลันในเวลาที่มีการจับกุม

๓.  บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาย่อมต้องถูกนำตัวไปศาลหรือเจ้าที่อื่นผู้มีอำนาจตามกฎหมายโดยพลัน  เพื่อที่จะมีการใช้อำนาจทางตุลาการ และได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควรหรือมีการปล่อยตัว  มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องคุมขังบุคคลผู้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี  แต่จะปล่อยชั่วคราวโดยอาจให้มีหลักประกันว่า จะกลับมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีหรือในกรณีจำเป็นตามโอกาส  จะกลับมารับราชการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาในระหว่างกระบวนพิจารณาขั้นใดก็ได้

๔.  บุคคลใดที่ถูกริดรอนเสรีภาพโดยการจับกุมหรือควบคุมตัวย่อมมีสิทธิร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาโดยมิชักช้าได้ถึงความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวผู้นั้น และหากมีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็อาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวได้

๕.  บุคคลใดที่ตกเป็นผู้ถูกจับหรือควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

---------

ข้อ ๑๕ : สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษในการกระทำในการกระทำที่ไม่เป็นความผิดในขณะที่ได้ลงมือกระทำ

---------

๑.  บุคคลจะไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด  ถ้าไม่ถึงกับเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศในขณะที่กระทำการนั้น  โทษที่จะลงก็จะต้องไม่หนักกว่าโทษที่มีอยู่ในขณะกระทำการอันเป็นความผิด  หากภายหลังการกระทำความผิดนั้น ได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดโทษน้อยลง  ผู้กระทำผิดย่อมได้รับประโยชน์จากการนั้น

๒.  ข้อนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาคดีและการลงโทษบุคคลซึ่งได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นความผิดอาญาตามหลักกฎหมายทั่วไปอันรับรองกันในประชาคมแห่งชาติทั้งหลายในขณะที่มีการกระทำนั้น

-------------------------------------

หมายเหตุที่ ๒

ที่มาของข่าว

 

ข่าวชื่อ "พม่าโวย ตร. โดย เพลิงมรกต"

http://www.thairath.co.th/content/region/27668

ไทยรัฐ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒

--------------------------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #iccpr reporting
หมายเลขบันทึก: 290117เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2009 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นี่ก็เป็นเรื่องน้ำเน่าอีกเรื่อง (พูดไม่เพราะแต่เช้าเลย สำหรับวันอาทิตย์ซึ่งควรเป้นวันสุขสันต์ เพราะได้หยุดสอน 1 วัน)ถามว่าคนไทยไม่รู้เรื่องนี้ใช่มั๊ย อาจใช่ในปัญหาข้อเท็จจริงในแต่ละราย แต่ลองได้ลงนั่งนินทากันและเลาเรื่องพรรณนี้ ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่จะไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะยังเกิดอยู่ในบ้านเรา โดยเฉพาะถ้าเรื่องนี้เกิดในหมู่คนมีสี

แล้วเจ้านายของท่านที่ถูกพาดพิงจะว่าจั๋งได

เล่าเรื่องดีมั่งดีกว่า เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหา นี้ ตืนมาแต่เช้า 6.00น.ที่บ้านกรุงเทพ พบว่ามีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้น คือลิ้นชักตู้ทุกใบเปิดหมด ไฟฉายถูกเปิดทิ้งไว้ มีร่องรอยการรื้อค้นเล็กน้อย หลัวคาห้องครัวเปิด มีไวน์ขวดหนึ่งวางไว้ในครัว รอการหิ้วผ่านหลังคา สรุปด้วยสมองน้อยๆว่า ขโมยขึ้นบ้านคับพี่น้อง !!!

ไม่รีรอ โทร 191 แล้วโชคดีสุด สิบตำรวจตรี วัฒนารับสาย (มีการแซ่วกันเล็กน้อยเพราะฟังไม่ชัด นึกว่าเป็นพตต. ท่านก็ว่าไม่ใช่ครับ ถ้าเป็นพตต.ไม่ต้องมารับสายแล้วคับ 5555)เดี๋ยวจะแจ้งสน.เตาปูนให้

ห้านาทีผ่านไป เสียงหล่อโฟนมาว่าเดี๋ยวมาครับ อีกสัก5-10 นาทีถึง ไวเหมือนโกหก ตำรวจร่างเล็กรูปหล่อคมเข้มชื่อ รตท.นฤมิตรก็มากดออดหน้าบ้านพร้อมกับสหายร่างบึกบึ่น (ขอโทษด้วยที่จำชื่อท่านไม่ได้)พบกันแล้วท่านก็เข้ามาทำงาน และเนื่องจากบ้านเราดูหนังเยอะ เลยสั่ง freeze ทุกอย่างให้อยู่อย่างเดิม ทุกคนใส่ถุงมือเดินตรวจตราตั้งแต่ตำรวจยังมาไม่ถึง (ตื่นเต้นนะ)และขอให้ท่านเก็บลายนิ้วมือด้วย ตอนแรกท่านก็ทำท่าคิด สักครู่ก็ติดต่อผู้มีหน้าที่ แล้วบอกเราว่าได้ครับ แล้วก็เลือกวัตถุ2-3 ชิ้นใส่ถุงก็อปแก็ปไปสน.เมื่อดูทุกอย่างจนพอใจและให้เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ถ่ายรูปสภาพบ้านไป และบอกเราว่าขอใ ห้ใครสักคนไปโรงพักเพื่อให้ปากคำ เราก็พากันไป กว่าจะเสร็จเรื่องราวก็ 10โมงเช้า

ที่ว่าเป้นเรื่องดีคือ ตำรวจที่191และสน.เตาปูนส่งมาให้นั่น มีบุคลิกที่น่าไว้วางใจ มีความใส่ใจในสาระทุกข์สุกดิบของชาวบ้านอย่างเรา และทำงานอย่างตั้งใจ นี่ความรู้สึกครั้งแรกที่รู้สึกก่อนไปให้ปากคำ ตรงนี้สำคัญเพราะเราตัดสินท่านจากพฤติการณ์และท่าทีระหว่างทำงานของท่าน เราไม่ได้มีข้อมูลที่จะทำให้มีอคติทั้งในทางบวกหรือทางลบกับท่านได้

และเมื่อได้ไปถึงสถานีตำรวจระหว่างบันทึกปากคำที่เรียกว่าการสอบสวน จึงได้สนทนากัน และทราบว่า คุณตำรวจท่านนี้เพิ่งเข้ามารับราชการด้วยวุฒินิติ+เนติ เป็น1 ใน400 ชีวิตที่ท่านเสรีพิสุทธิ์รับเข้าทำงานในฐานะพนักงานสอบสวน (ปัจจุบันลาออกไปกว่า 20 นายแล้ว)

ไม่รู้ว่าหน่ายงานตามข่าวนี้จะอยากลองใช้แนวคิดของท่านเสรีพิสุทธิ์บ้างมั๊ย เผื่ออะไรๆจะเป็นมนุษย์ขึ้นบ้าง

ขอถือโอกาสบล็อคนี้ขอบคุณตำรวจทั้งสองท่านแม้ว่าท่านจะจับคนร้ายไม่ได้ โน้ตบุค มือถือเก่าๆ ฯลฯ จะไม่ได้คืนก้ตาม แต่เราเห็นแล้วว่าท่านตั้งใจทำงาน และขอชื่นชมท่านเจ้าของโครงการอย่างท่านเสรีพิสุทธิ์ที่ผลักดันโครงพสส.ที่มีคุณวุฒิที่ถูกกำกับด้วยจริยาธรรมบางอย่าง

แล้วจะทำไงต่อสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นและยังคงเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ(?)

ตุ๊กคะ

ที่เล่ามานี้ คงเสนอ อ.ณรงค์ ซึ่งจะเขียนเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมไทยภายใต้ ICCPR

แต่ของ อ.แหวว ต้องเขียนเรื่องสิทธิตาม ICCPR ของคนชายขอบ

ตกลงเรื่องญวนอพยพที่เรารับรู้ ตุ๊กกับรัตน์สนใจจะสานต่อไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท