โรงสีข้าวพระราชทานพิกุลทอง


หลักการสหกรณ์สู่เศรษฐกิจพอเพียง

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ยากจน จึงได้มีพระราชกระแสกับนายสิทธิลาภ  
วสุวัต เลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ให้จัดสร้างโรงสี ณ บริเวณโครงการชลประทานมูโน๊ะ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 และ ม.จ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ได้ประทานชื่อโรงสีนี้ว่า
โรงสีข้าวพิกุลทอง  เมื่อวันที่ 13 กันยายน  2528 เริ่มทำการก่อสร้างโรงสีตั้งแต่เดือนมกราคม 2528 โรงสีสามารถเปิดบริการได้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำเนินการ โดยใช้วิธีการสหกรณ์ ยึดหลักการสหกรณ์ในการดำเนินการ  เพื่อให้บริการสมาชิกสหกรณ์ และประชาชนทั่วไป ให้มีภูมิคุ้มกันในเรื่องข้าวสารให้มีเพียงพอต่อการบริโภคอย่างสม่ำเสมออันเป็นแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวลาต่อมา

           

          โรงสีตั้งอยู่ที่ หมูที่ 1 บ้านปูยู ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีกำลังการผลิต 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง บริหารจัดการโดยสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองจะรับสมาชิกโดยสมัครใจ และเปิดกว้างผู้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าใช้บริการ การสีข้าว การรับฝากข้าวเปลือก สมาชิกสหกรณ์การเกษตรพิกุลทองมีสิทธิที่จะเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการสหกรณ์เพื่อบริหารโรงสีข้าวพระราชทานพิกุลทอง ตามหลักการสหกรณ์ สมาชิกหนึ่งคนออกเสียงได้หนึ่งเสียง (one member one vote) โดย ไม่คำนึงถึงจำนวนหุ้นที่สมาชิกถืออยู่ ตอนปลายปีเมื่อสหกรณ์มีส่วนเกิน (surplus) สมาชิกสหกรณ์ก็จะมีการประชุมใหญ่เพื่อจัดสรรส่วนเกินที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาสหกรณ์ เพื่อเป็นทุนสำรอง เพื่อเฉลี่ยคืนแก่สมาชิกที่มาใช้บริการตามสัดส่วนที่มาใช้บริการ (benefiting members in proportion to their transactions with the co-operative) และเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการ

                                                                                   

            เมื่อวันที่ 24 กันยายน  2551  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส  ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโรงสีข้าวพระราชทานพิกุลทองโดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนราธิวาส และราษฎรในพื้นที่ เข้าเฝ้า ฯ รับเสด็จ มีพระราชกระแส แก่ผู้เข้าเฝ้า ฯ รับเสด็จว่า ... โรงสีข้าวพิกุลทองแห่งนี้มีอายุการใช้งานมานานกว่า 20 ปี แล้ว เครื่องจักรมีสภาพทรุดโทรม ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นโรงสีขนาดเล็ก เครื่องจักรอุปกรณ์ในโรงสีเป็นของเก่า จึงอยากให้เก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ และขอให้สำนักงาน กปร.หาโรงสีที่ทันสมัยมาให้ชาวบ้านในพื้นที่แทนโรงสีข้าวเดิม แต่ขอให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยให้ไปดูแบบที่เคยสร้างที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพิจารณาดูว่าถ้าจะสร้างในที่ตั้งเดิม พื้นที่ และบริเวณจะเพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องปรับปรุงอาคารที่ทำการใหม่เพื่อรองรับ ... และยังมีพระราชกระแสเพิ่มเติม ว่า ...ให้นำคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทอง จำกัด ได้มีโอกาสไปเรียนรู้และศึกษาดูงานโรงสีข้าวชุมชนที่มีการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ ...    

                                       

จากพระราชกระแสรับสั่งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกล ถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทรงแนะนำให้เก็บโรงสีข้าวเก่าไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้ราษฎรในพื้นที่ได้ทราบความเป็นมาและพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานโรงสีข้าวให้แก่ราษฎรเพื่อใช้สีข้าวและ ฝึกทักษะการใช้วิธีการสหกรณ์ให้ประสบความสำเร็จ      ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีความศรัทธาในอุดมการณ์สหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน มีความพอประมาณในการบริโภคด้วยขนาดของโรงสีที่เหมาะสมกับชุมชน มีภูมิคุ้มกันในการที่จะมีข้าวสารบริโภคอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ จึงมีพระราชกระแสให้สำนักงานกปร. หาโรงสีที่ทันสมัยมาให้ชาวบ้านในพื้นที่แทนโรงสีเดิม  พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารให้เหมาะสม   และการที่มีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะกรรมการการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทอง จำกัด ไปเรียนรู้และศึกษาดูงานโรงสีข้าวชุมชนที่มีการดำเนินการประสบความสำเร็จ คือ ทรงแนะนำให้ใช้การศีกษาการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเป็นแนวทางในการพัฒนา ดังเช่น ที่ทรงถามนักเรียนในโรงเรียน ตามโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในสถานศึกษาตามพระราชดำริฯ  ถึงผลการไปดูงานที่สหกรณ์ตัวอย่าง  ว่าได้รับความรู้ใดบ้าง (จากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดให้นักเรียนในโครงการดังกล่าวไปดูงานปีละ 1 ครั้ง) เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอเนาะ)ในโครงการ ฯ 

หลังจากได้รับพระราชกระแสรับสั่งแล้ว จังหวัดนราธิวาส  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยนางสาวสุพัตรา ธนเสนียวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมจัดทำโครงการสนองพระราชดำริดังกล่าว เสนอไปยังคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อดำเนินโครงการ ฯ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์แล้ว  คาดว่าอีกไม่นานโรงสีข้าวแห่งความสุขร่วมกันแห่งใหม่คงจะลุล่วง ตามพระราชประสงค์

เห็นได้ชัดว่าการบริหารจัดการโรงสีข้าวพระราชทานพิกุลทอง ด้วย วิธีการสหกรณ์ที่ดำเนินไปตามหลักการสหกรณ์ โดยประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในการดำเนินการ นั้นเป็นแนวปฏิบัติที่จะนำพาราษฎรไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแท้จริง

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล :  โคออบนิวส์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

                                    "สู่ทศวรรษใหม่  เพื่อการปฏิรูป  สหกรณ์ไทย"

คำสำคัญ (Tags): #สหกรณ์
หมายเลขบันทึก: 289392เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ด้วยพระบารมีปกกล้าปกกระม่อน  ทำให้ใต้ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสุข ขอพระองค์ทรงพระเจริญ 

วิธีการสหกรณ์ที่ดำเนินไปตามหลักการสหกรณ์ โดยประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในการดำเนินการ นั้นเป็นแนวปฏิบัติที่จะนำพาราษฎรไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแท้จริง

ชื่นชมสหกรณ์ครับ

  • สวัสดีค่ะพี่สารินี
  • แวะมาทักทายค่ะ
  • มาอ่านบันทึกพี่ด้วยค่ะ
  • คิดถึงพี่  สบายดีหรือป่าวค่ะ
  • สวัสดีค่ะคุณสารินี
  • แวะมาอ่านบันทึกค่ะเป็นข้อมูลที่ดีมาก
  • ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
  • สวัสดีค่ะ...น้องชล
  • สวัสดีค่ะ...คุณช่อลัดดา
  • พี่สบายดีจ๋า

    

           

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท