องค์ประกอบของชุมชนบำบัด



คำว่า “ชุมชนบำบัด” นี้เป็นคำที่รู้จักกันโดยทั่วไปและบางครั้งก็ไม่มีความหมายที่เฉพาะเจาะจงถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลุมเครือในรูปแบบของการทำงาน เพราะบางสถานที่ ที่ใช้วิธีการชุมชนบำบัดก็อาจไม่ได้ใช้วิธีการทางสังคมและรูปแบบของการบำบัดเชิงจิตวิทยาอย่างที่ควรจะเป็น

การจะบอกว่าเป็นชุมชนบำบัดหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือการบอกความหมายของชุมชนบำบัดและอธิบายถึงส่วนประกอบทั่วไปของรูปแบบชุมชนบำบัดซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของชุมชนบำบัดได้

องค์ประกอบของชุมชนบำบัด (Components of a Generic Therapeutic Community)


1 การแยกชุมชนเป็นเอกเทศ (Community Separateness)
การตั้งศูนย์ชุมชนบำบัดแต่ละศูนย์จำเป็นต้องมีชื่อเป็นของตนเอง โดยมากจะเป็นการตั้งชื่อจากสมาชิกในกลุ่ม และมีการจัดในสถานที่ที่แยกออกอย่างเป็นเอกเทศจากโครงการ/หน่วยงานอื่นๆขององค์กร และต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เห็นชัดว่าเป็นการตัดขาดจากการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างชัดเจน


2 สภาพแวดล้อม (Community Environment)
การจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกคนในชุมชน เพื่อสร้างความรู้สึกในการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนด้วยกัน เช่นการประชุมกลุ่ม เป็นต้น ควรมีการติดโปสเตอร์ที่ผนังห้องซึ่งสื่อถึงปรัชญาต่างๆ ของชุมชนบำบัด และสื่อถึงการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขและเหมาะสม มีบอร์ดใหญ่ที่มีชื่อของผู้เข้าร่วมกลุ่มทุกคนและบอกถึงลำดับอาวุโสและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในชุมชน มีตารางกิจกรรมประจำวันติดให้เห็นชัดเจน การจัดสื่อต่างๆ ดังนี้จะช่วยให้บุคคลในชุมชนสามารถเข้าใจและมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้


3 กิจกรรม (Community Activities)
การบำบัดหรือการให้การให้ความรู้ที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ จะต้องเป็นการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในเนื้อหาของการบำบัดหรือการศึกษานั้นๆ ดังนั้น นอกเหนือไปจากการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล หรือการทำกิจกรรมในรูปแบบกลุ่มที่ถูกจัดให้แล้ว ยังต้องมีการร่วมกันจัดอาหารและบริการเรื่องอาหารอย่างน้อย 1 มื้อ ซึ่งจะช่วยฝึกเรื่องการจัดตารางการทำงานเป็นกลุ่ม การประชุมและสัมมนาเพื่อวางแผนงาน การมอบหมายหน้าที่ในการทำงานเป็นทีม และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ซึ่งอาจจะทำได้ในการจัดงานเลี้ยงวันเกิดให้คนในชุมชนที่เกิดในช่วงนั้นๆ หรือการจัดงานเลี้ยงเพื่อมอบประกาศนียบัตร


4 กลุ่มเพื่อน (Peers as Community Members)
สมาชิกทุกคนจะต้องเป็นผู้แสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถสะท้อนค่านิยมของกลุ่ม และสอนคนอื่นๆ ในชุมชนจากการเป็นตัวอย่างที่ดีของตนเอง ความเข้มแข็งภายในชุมชนในแง่ของการเรียนรู้ทางสังคมจะดูได้จากจำนวนและคุณภาพของบุคคลตัวอย่างในชุมชนเหล่านี้ ดังนั้นสมาชิกทุกคนจึงจำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กันเอง ชุมชนบำบัดจำเป็นต้องมีตัวอย่างที่ดีที่หลากหลาย เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนอย่างกว้างขวาง


5 นักบำบัด (Staff as Community Members)
คณะนักบำบัดในชุมชนบำบัด จะต้องประสานความร่วมมือระหว่างบุคลลากรวิชาชีพ(Professional Staff) และนักบำบัดที่สำเร็จโปรแกรมชุมชนบำบัด(Graduated Staff/Ex-addict Staff) เช่น เรื่องการแก้ไขความประพฤติ สุขภาพกายและจิต รวมทั้งการให้ความรู้  ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทีมนักบำบัดที่จะต้องผ่านการอบรมเบื้องต้นเกี่ยวกับมุมมองต่อชุมชนบำบัด และการทำชุมชนบำบัดให้ประสบความสำเร็จ ทีมงานซึ่งอาจจะมีทั้งพยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ คนเหล่านี้จะต้องเข้าใจในบทบาทของตนเองในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนอย่างชัดเจน ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้ชี้แนะ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชน


6 ตารางกิจกรรมประจำวัน (A Structured Day)
ไม่ว่าระยะเวลาของการบำบัดรักษาจะนานแค่ไหน ทุกวันจะต้องมีกำหนดตารางเวลาที่แน่นอนสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายในการให้การศึกษาและการบำบัด มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน และมีกระบวนการที่ต้องทำเป็นประจำ ซึ่งโครงสร้างของชุมชนบำบัดจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับมุมมองต่อชุมชนบำบัด มุมมองของผู้เข้ารับการรักษาและการบำบัดรักษา มีกิจกรรมที่เป็นไปตามขั้นตอนในแต่ละวันสำหรับการเผชิญหน้ากับชุมชนเพื่อพูดถึงชีวิตของผู้เข้ารับการรักษาที่อาจมีทั้งบุคลิกที่ผิดปกติ การคิดด้านลบหรือปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด

7 แผนการบำบัด (Phase Format)
แผนการบำบัดฟื้นฟูและให้ความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ นั้น จะถูกจัดไว้เป็นขั้นตอนเพื่อให้มองเห็นพัฒนาการของกระบวนการเปลี่ยนแปลง มีการเน้นจุดสำคัญในการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองในแต่ละขั้นตอน และสามารถบำบัดรักษาในขั้นตอนต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

8 งาน  (Work as Therapy and Education)
งานเป็นทั้งการรักษาและการให้ความรู้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือตนเองให้หายขาดได้จริง ทุกคนจะต้องทำหน้าที่ในแต่ละวัน ทั้งการทำความสะอาด การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ การจัดเตรียมอาหาร ช่วยกันทำตารางประจำวันให้เป็นไปอย่างราบรื่น การเข้าร่วมประชุม และอื่นๆ ซึ่งการรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายอย่างหลากหลายนี้จะมีผลอย่างมากต่อการให้การศึกษาและการบำบัด

9 แนวคิดของชุมชนบำบัด (TC Concepts)
ชุมชนบำบัดต้องจัดสิ่งที่เน้นจะคอยตอกย้ำถึงแนวคิดของชุมชนบำบัด ทั้งเรื่องมุมมองต่อชุมชนบำบัด แนวคิดในการช่วยเหลือตนเองในการบำบัดรักษา และมุมมองต่อการมีชีวิตที่เหมาะสม แนวคิด ข้อมูลและบทเรียนต่างๆนี้จะมีการพูดถึงซ้ำๆ กันทั้งในการเข้ากลุ่ม การประชุม การสัมมนา และคุยกันในกลุ่มเพื่อน รวมทั้งข้อมูลที่ให้อ่าน ป้ายประกาศ และงานเขียนของแต่ละคน

10 กลุ่มเผชิญหน้า (Peer Encounter Group)
นอกเหนือจากที่มีกลุ่มและกิจกรรมอื่นๆ เช่น กลุ่มให้ความรู้ กลุ่มให้กำลังใจแล้ว ชุมชนบำบัดจะต้องมีการจัดกลุ่มเผชิญหน้า การเผชิญหน้านี้ก็เป็นวัตถุประสงค์หลักอีกอย่างของชุมชนบำบัด เพื่อให้สมาชิกได้ตระหนักถึงทัศนคติหรือพฤติกรรมบางอย่างของแต่ละคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง

11 การฝึกความตระหนัก (Awareness Training)
การให้ความรู้และการบำบัดทั้งหมดจะเน้นที่การเพิ่มจิตสำนึกต่อตนเองในแต่ละบุคคล ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนความประพฤติ รวมทั้งทัศนคติต่อตนเองและต่อสังคมรอบข้าง และจะช่วยเพิ่มให้เขาตระหนักถึงการกระทำและทัศนคติของบุคคลอื่นที่มีผลต่อตัวเขาเองและสังคมรอบข้างด้วย

12 การฝึกความเจริญเติบโตทางด้านอารมณ์ (Emotional Growth Training)
การจะให้บุคคลมีพัฒนาการทางด้านบุคลิกภาพและสังคมนั้น จะต้องให้บุคคลนั้นสามารถวิเคราะห์อารมณ์ของตนเองได้ มีการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสม และสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนได้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

13 ระยะเวลาในการบำบัด (Planned Duration of Treatment)
ระยะเวลาที่แต่ละคนจะอยู่ในกระบวนการบำบัดรักษานั้น  ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกอยู่ในขั้นตอนใดของการบำบัด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่สั้นเพียงไหน ก็จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่ครบถ้วนในการให้ความรู้ต่อชุมชน ระยะเวลาที่กำหนดจะต้องขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการบำบัดรักษาและกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สามารถมองเห็นพัฒนาการได้อย่างชัดเจน

14 การติดตามผลบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง (Continuance of recovery)
ความสำเร็จในการบำบัดรักษาในระยะแรกนั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการบำบัดรักษาเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การให้การดูแลหลังจบโปรแกรมการรักษา  เพื่อเป็นการปรับทัศนคติและชี้แนะเรื่องการใช้ชีวิตหลังการบำบัด

..................................................................................................

อ้างอิง

คัดลอกจากบางส่วนของหนังสือ รู้ลึก....ชุมชนบำบัด โดย นรัญชญา ศรีบูรพา

หมายเลขบันทึก: 289214เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 02:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท