ทำความเข้าใจกับเกษตรกรเรื่องการทำประกันภัยข้าว


ถอดบทเรียนเป็น ก็ได้ความรู้เยอะ และที่สำคัญได้วิธีการทำงานกลับมาจากพื้นที่ด้วย ดังนั้น ไปพื้นที่แต่ละครั้งก็ได้กำไรความรู้ให้กับตนเอง เพราะ "พื้นที่สอนให้เรียนรู้วิชาการทำงานกับชุมชน"

   เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ได้มีโอกาสลงไปพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อไปติดตามงานของกรมส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวกับโครงการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ร่วมกับทีมงาน ได้แก่  กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร  สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  และสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย  ณ  อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร  ดังนั้น เมื่อกลับจากการลงพื้นที่ดังกล่าว ก็ได้รายงานสรุปผลการปฏิบัติได้ดังนี้

1.  ความเป็นมา

                การจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเรื่องแนวทางการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ได้จัดเวทีชุมชน ณ  ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลวังควง  อำเภอพรานกระต่าย  จังหวัดกำแพงเพชร  ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าวในปี 2552 กลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นเกษตรกรที่มีอาชีพทำนาข้าวในพื้นที่ตำบลวังควง อำเภอพรานกระต่าย  จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 40 คน  เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย  และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

 

2.  วัตถุประสงค์

                การดำเนินงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ  1)  เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรเรื่องแนวทางการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว  และ 2)  เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกษตรกร จำนวน 40 คน ที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ของตำบลวังควง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

 

3.  บทบาทหน้าที่ที่ร่วมดำเนินงาน

                โดยสังเกตการณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เป็นทีมวิจัยของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  ร่วมกิจกรรมการจัดเวทีชุมชนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ  จัดเก็บข้อมูลเกษตรกร  บันทึกผลการดำเนินงานโครงการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าวในเหตุการณ์จริง

4.  กระบวนการจัดเวที

                ขั้นที่ 1  ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดย นายคำปลิว  จันทร์ประทักษ์  เกษตรอำเภอพรานกระต่าย  ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ตลอดจนชี้แจงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ขอบเขตงาน แนวคิดในการวิจัย ขั้นตอนการปฏิบัติ การจัดเก็บข้อมูล เงื่อนไข/หลักเกณฑ์ และอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรได้ทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะยกกรณีตัวอย่างการทำประกันชีวิตมาเปรียบเทียบกับการทำประกันภัยข้าวสำหรับใช้ในการอธิบายและขยายความให้เกษตรกรเข้าใจได้อย่างชัดเจน

                ขั้นที่ 2  ทบทวนเนื้อหาและจัดเก็บข้อมูล โดย คุณรัตติยา ขวัญคำ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบตำบลวังควง  อำเภอพรานกระต่าย  ได้เชื่อมโยงข้อมูลและเนื้อหาในขั้นที่ 1 มาสู่การจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรเป็นรายบุคคล  ใช้วิธีการอ่านประเด็นข้อมูลทีละข้อ ๆ แล้วให้เกษตรกรบันทึกข้อมูลตนเองตามไปด้วย  ส่วนเกษตรกรที่มองไม่เห็น อ่านไม่ออก  และเขียนไม่เป็น ก็แยกออกมาจากกลุ่ม แล้วให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในทีมงานเดียวกันทำหน้าที่สัมภาษณ์เกษตรกรรายนั้น ๆ และบันทึกข้อมูลแทน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

                ขั้นที่ 3  สรุปและปิดเวที  โดย นายคำปลิว  จันทร์ประทักษ์  เกษตรอำเภอพรานกระต่าย ร่วมกับ นายบุญรัตน์  สุขมาก  ผู้แทนจากกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร  ได้สรุปถึงความจำเป็นในการจัดทำโครงการ  ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร  และความร่วมมือในการจัดเวทีที่เกษตรกรทุกคนให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือและช่วยบันทึกข้อมูลของตนเองได้จนแล้วเสร็จ  ยกเว้นการวาดแผนที่แปลงนาของตนเองที่ยังต้องจัดเก็บข้อมูลในครั้งต่อไป เพราะการวาดแผนที่เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน  ก็จะให้  ต้นกล้าเกษตรกรเข้ามาช่วยบันทึกและวาดแผนที่ดังกล่าวกับเกษตรกรเป็นรายครัวเรือนต่อไป

 

4.  ผลที่เกิดขึ้น

                4.1  เจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ครบถ้วน โดยใช้เวลาประมาณ 3  ชั่วโมง  กับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30 คน  ยกเว้นการวาดแผนผังแปลงนาที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็จะเก็บงานดังกล่าวในภายหลังโดยทีมงานของ ต้นกล้าเกษตรกร

                4.2  การจ่ายเบี้ยประกันที่เกษตรกรพึงพอใจและร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้นั้น จะอยู่ในวงเงิน 200 บาทต่อไร่ (กรณีที่เป็นนาน้ำฝน)

                4.3  ทีมงานเจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหา มีการจัดเตรียมสื่อที่พร้อมสำหรับการชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และมีเทคนิควิธีการในการสื่อสารและจูงใจเกษตรกรได้ดีมาก ทำให้เกษตรกรเข้าใจเนื้อหาสาระและรายละเอียดได้ค่อนข้างชัดเจน

  

   เป็นการทำงานที่ต้องมีการบันทึกข้อมูลและเนื้อหาสาระเพื่อจะได้ไม่ลืม และที่สำคัญคือ เจ้าของงานจะได้มีรายละเอียดเนื้อหาไปประมวลภาพรวมของทั้งประเทศต่อไปได้  แต่ความรู้ที่เกิดขึ้นก็คือ "วิธีการจัดกระบวนการเพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจและให้ความร่วมมือได้ดี"

 

หมายเลขบันทึก: 289056เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
โรงเรียนบ้านหนองโสน

ภาพของคุณดูดีมากค่ะ

สวัสดีครับ ตุณจือ

เรื่องดีๆมีประโยชน์..ตนdoae ควรรู้

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท