ประชุมสภามหาวิทยาลัยสัญจร ไปพบเทศบาลที่เน้นจัดการศึกษาเพื่อสร้างเยาวชนพันธุ์ใหม่



          วันที่ ๒๘ ก.ค. ๕๒ สภาสถาบันอาศรมศิลป์ ไปประชุมที่วัดไชยศรี  ต. สาวะถี  อ. เมือง  จ. ขอนแก่น   แต่ก่อนหน้านั้นเราไปเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย    เพื่อไป ลปรร. เรื่องราวของการ transform รูปแบบการจัดการเรียนรู้   จากการเรียนรู้ตามแนวทางเดิมๆ ไปสู่การเรียนรู้แนวจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้งอกงามจากภายใน    ที่ทำให้เด็กมีความมั่นใจตนเอง มีความสุข รักการเรียนรู้ มีสัมมาคารวะ    และครูก็กลายเป็นครูพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะในการออกแบบการเรียนรู้ ที่เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง    ที่มีทักษะในการทำงานเป็นทีม และเรียนรู้ระหว่างกัน   ซึ่งเท่ากับโรงเรียนนี้หันมาดำเนินการตามแนวทางของเครือข่ายโรงเรียนไทยไทนั่นเอง    โดยผมตีความว่า สิ่งที่เด็กที่เรียนแนวใหม่นี้ได้รับคือ ได้ซึมซับและปลูกฝังทักษะ how to learn ไว้แก่ตน

          มองในมุมหนึ่ง เท่ากับกรรมการสภาสถาบันอาศรมศิลป์ได้เรียนรู้ผลงานของ รร. รุ่งอรุณ – สถาบันอาศรมศิลป์ ในการทำงานร่วมมือเป็นเครือข่ายกับภาคี    และในกรณีนี้คือเทศบาลนครขอนแก่น    ที่นายกเทศมนตรีและทีมไปหา รศ. ประภาภัทร ถึง รร. รุ่งอรุณ เพื่อขอให้ช่วย เทศบาลนครขอนแก่นฝึกครูของโรงเรียนในสังกัดเทศบาล  

          เราได้รับฟังคำพูด ลปรร. จากใจของนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นนายกเทศมนตรี  รองนายกเทศมนตรี  ประธานสภาเทศบาล  ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี    ก็มั่นใจว่าได้มาพบ อปท. ที่มุ่งมั่นจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาเยาวชนของท้องถิ่น    โดยมุ่งปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปโรงเรียนในสังกัดเทศบาล  ที่มี ๑๑ โรงเรียน  ครู ๖๕๐ คน  นักเรียน ๑๒,๐๐๐   โดยมุ่งเปิดโอกาสและส่งเสริมให้โรงเรียนปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้    และกระจายอำนาจให้แก่โรงเรียน

          ตอนพูด ลปรร. กันแบบเปิดใจ เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลง และความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการศึกษาในสังกัดเทศบาลชัดเจนมาก   จนคุณบุญญวัฒน์ ทิพทัส อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ของ กทม. ที่เกษียณอายุราชการมา ๗ – ๘ ปี บอกว่ารู้สึกช็อก   เพราะไม่เชื่อว่าจะมีสภาพการบริหารงานของ อปท. ที่เป็นอย่างที่ผู้บริหารของเทศบาลนครขอนแก่นเล่า   แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะมาเห็นกับตา    แต่เมื่อผมกลับมาบ้านและเข้าไปดูในเว็บไซต์ทั้งของเทศบาล และทั้งของโรงเรียนบ้านโนนชัย เราไม่ได้สัมผัสกลิ่นไอของการปฏิรุปนี้เลย น่าเสียดาย 

          รองนายกเทศมนตรี คุณธวัชชัย รื่นรมย์ศิริ กล่าวบรรยายสรุปแทนนายกเทศมนตรีว่า อุดมการณ์ด้านการศึกษาดำเนินตามข้อเขียนของ ส. ศิวรักษ์ ว่า “การศึกษาน่าจะเป็นขบวนการปลุกมโนธรรมสำนึกของแต่ละคนให้ตื่นขึ้น   เพื่อรู้จักศักยภาพที่แท้ของตน   แล้วนำเอามาประกอบสัมมาชีพ    เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น   เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม   โดยมุ่งเน้นที่ ความงาม ความดี และความจริง   ด้วยความสงบ สะอาด และสว่าง  อย่างสมภาคภูมิ” 

          ที่จริงเทศบาลนครขอนแก่นมีโครงการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนและประชาชนหลากหลายโครงการ    ได้แก่ แหล่งความรู้นอกโรงเรียน  สร้างสังคมรักการอ่าน  กระจายอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้โรงเรียน  หลักสูตรท้องถิ่น  โรงเรียน ๓ ภาษา  โรงเรียนวิถีชุมชน   แต่ละโครงการมีปรัชญา เป้าหมาย และวิธีดำเนินการที่สะท้อนความเอาจริงเอาจังของนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้   

          ระหว่างรับประทานอาหารเย็น ผมมีโอกาสแนะนำคุณธวัชชัย รองนายกเทศมนตรีว่า    เทศบาลควรตีความหน้าที่สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นเสียใหม่    ว่าไม่มีอะไรสำคัญต่อความเจริญระยะยาวของท้องถิ่นเท่ากับคน    การจัดการเรียนรู้ของคนในเทศบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด   และต้องไม่จำกัดอยู่แค่นักเรียน    ต้องเอาใจใส่คนทุกกลุ่มอายุ    เทศบาลต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกคน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ   เครื่องมือสำหรับการนี้คือ KM  กับการวิจัยท้องถิ่น   ผมคิดว่า สกว. น่าจะเอา “การวิจัยท้องถิ่น” ไปเสนอให้เทศบาลนครขอนแก่นสนับสนุน   และ มข. อาจเสนอฝึก “คุณอำนวย” KM ให้แก่เทศบาล

          ความเอาจริงเอาจังของเทศบาลนครขอนแก่นพิสูจน์ได้จากการสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน และครู ไปเรียนรู้ หรือเชิญวิทยากรมาอบรม “ศาสตร์การเรียนรู้ที่เน้นสมองซีกขวา”   นอกจากโรงเรียนรุ่งอรุณ-อาศรมศิลป์ แล้ว ยังมีสถาบันขวัญเมืองที่เชียงราย   และสถาบันยุวโพธิชน ของ อ. ประชา หุตานุวัฒน์    รวมแล้วมีคนในเขตเทศบาลที่ผ่านการอบรมแบบนี้กว่า ๑ พันคน   และผู้เป็นวิทยากร บอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในคนเหล่านี้ 

          นอกจากเทศบาล และโรงเรียนดี เรายังไปพบวัดดี และพระดี อีกด้วย    พระดีคือท่านพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรีนั่นเอง    ท่านได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ    ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา   ประเภทส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทยทางพุทธศาสนา    ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือภาพจิตรกรรมฝาผนังสิม (โบสถ์) อายุกว่า ๑๐๐ ปีในวัดนั่นเอง    แต่ฟังดูแล้วท่านไม่ได้มีผลงานเด่นแค่ด้านอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น    ท่านยังได้ฟื้นความเข้มแข็งของชุมชนขึ้นมาด้วย    เท่ากับวัดที่ดีได้ช่วยสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นอย่างชัดเจน    เห็นได้จากคำพูดของชาวบ้านที่มาเลี้ยงพระที่วัด และร่วมกินอาหารเที่ยงกับพวกเรา    ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า    ตั้งแต่หลวงพ่อมาเป็นเจ้าอาวาส สังคมของตำบลสาวะถีดีขึ้นมาก    และผมก็สังเกตเองว่าชาวบ้านเอาอาหารใส่ปิ่นโตมาถวายพระมากมาย    ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนวัยผมหรือแก่กว่า และเป็นผู้หญิงทั้งหมด    ผมถามชาวบ้านว่าผู้ชายวัยนี้ไปไหน    ชาวบ้านบอกว่ากลับบ้านเก่าไปแล้ว  

          ผมตีความว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยสัญจรแบบนี้ เป็นการทำหน้าที่ governance แนว generative อย่างหนึ่ง    ที่ช่วยหนุนให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงกับภาคีอย่างได้รับความศรัทธาเชื่อมั่นยิ่งขึ้น   และได้ให้คำแนะนำเชิงวิชาการเป็น value – add แก่ความร่วมมือ    ท่านนายกสภาฯ ศ. ระพี สาคริก เป็นหลักมั่นรวมศรัทธาที่ดียิ่ง  

          นับเป็นบุญ ที่ผมได้มีโอกาสไปประชุมครั้งนี้   ได้เรียนรู้และชื่นชมทั้งเทศบาล  โรงเรียน  วัด  พระ  และภาพฝาผนังที่งดงาม   รวมทั้งได้เรียนรู้วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง สินไซ   ได้รู้จักตัวเอกทั้ง ๓  คือ สินไซ  สังข์ทอง  และสีโห   อ่านบทย่อของวรรณกรรมสินไซได้ที่นี่    คือผมได้ความรู้ด้านที่ผมอ่อนด้อย คือศิลปะและวัฒนธรรมอีสานเพิ่มขึ้น  

          ข้างบนทั้งหมดเป็นบันทึกการเรียนรู้ของผม    ต่อไปนี้จะเป็นการทำการบ้านส่งครู    ว่าผมเห็นโอกาสสร้างสรรค์ต่ออย่างไร    โอกาสนี้สะดวกขึ้นเพราะในคณะของเรามีท่านอาจารย์สุชาติ เป็นผู้แทน สพฐ. อยู่ด้วย    คือผมเห็นโอกาสสร้างเครือข่าย อปท. ปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน    ที่จริงๆ แล้วน่าจะมี อปท. หลายแห่งทำอยู่แล้ว    เพียงแต่เข้าไปเชื่อมโยง อปท. ที่มีความสำเร็จ    ชักชวนกันนำเอาความสำเร็จที่เกิดขึ้นและวิธีการดำเนินการออกเล่าลือและหาทางขยายเครือข่าย    ออกสู่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.    ซึ่งโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวนหนึ่งก็น่าจะได้ดำเนินแนวทางนี้อยู่บ้างแล้ว    ก็น่าจะได้นำเอาความสำเร็จมา ลปรร. กัน    โดยทางสถาบันอาศรมศิลป์-โรงเรียนรุ่งอรุณและเครือข่าย มีทักษะในการจัด ลปรร.  และจัดกระบวนการสะกัดความรู้ออกมาจากกิจกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จเหล่านั้น    เท่ากับผมเห็นโอกาสในการใช้ SSS เป็นเครื่องมือขยายการปฏิรูปการเรียนรู้นั่นเอง

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ค. ๕๒

         
         
         
         

หมายเลขบันทึก: 288288เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท